ค่ำคืนของ ‘ฮาวานา’ เฉิดฉายด้วยแสงไฟหลากสีที่ขับออกมาจากป้ายนีออนติดตั้งใหม่บนอาคารย่านบันเทิงยามราตรี เมืองหลวงเก่าแก่และสวยงามของคิวบาถูกปลุกให้ตื่นจากการหลับใหลอันยาวนาน นับตั้งแต่ฝ่ายสังคมนิยมมีชัยชนะในการปฏิวัติปี 1959
คิวบา ประเทศใต้เงื้อมเงามหาอำนาจ
คิวบาเป็นประเทศที่เคยตกอยู่ภายใต้การยึดครองของมหาอำนาจมาเป็นเวลานาน นับตั้งแต่สเปนในคริสตศตวรรษที่ 16 ต่อด้วยการครอบงำโดยสหรัฐอเมริกาภายหลังคิวบาเป็นอิสระจากสเปนช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จนกระทั่งเกิดขบวนการปฏิวัติที่นำโดยฟิเดล คาสโตร และเช เกบารา สามารถโค่นล้มบาติสต้า ผู้นำเผด็จการภายใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ ลงได้สำเร็จในวันที่ 1 มกราคม 1959 จากนั้นคิวบาก็เปลี่ยนเป็นประเทศสังคมนิยม
ในระหว่างที่สหรัฐฯ มีอิทธิพลเหนือคิวบา ได้เข้าครอบงำทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง อุตสาหกรรมน้ำตาลที่ตกทอดมาจากสมัยอาณานิคมเกือบทั้งหมดตกอยู่ในมือของนายทุนสหรัฐฯ สาธารณูปโภคสำคัญอย่างโทรศัพท์ ไฟฟ้า กิจการธนาคาร การรถไฟ เหมืองแร่และน้ำมัน ล้วนมีนายทุนสหรัฐฯ เป็นเจ้าของหรือเป็นหุ้นส่วนขนาดใหญ่ นอกจากนี้คิวบายังนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี ทำให้ไม่มีการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ เศรษฐกิจของคิวบาจึงขึ้นอยู่กับสหรัฐฯ โดยที่ไม่สามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาของตัวเองได้เลย
ส่วนในทางการเมือง ผู้นำคิวบาก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ และปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการ นโยบายและมาตรการต่างๆ ที่บังคับใช้มักเป็นไปเพื่อสนองต่อประโยชน์ของสหรัฐฯ ทำให้ธุรกิจภายในประเทศไม่สามารถเติบโตได้
หลังจากฟิเดล คาสโตรนำกำลังเข้ายึดครองฮาวานาและตั้งรัฐบาลสังคมนิยมขึ้นบริหารประเทศ อิทธิพลของสหรัฐฯ ที่เคยครอบงำคิวบาก็สิ้นสุดลง สหรัฐฯ ตอบโต้โดยตัดความสัมพันธ์ทางการทูตและใช้มาตรการปิดล้อมทางการค้า ทำให้คิวบาหันไปพึ่งพาด้านเศรษฐกิจกับสหภาพโซเวียตซึ่งอยู่ในฐานะผู้นำโลกฝั่งค่ายสังคมนิยม
ฮาวานา ‘ปารีสแห่งละตินอเมริกา’
ในทศวรรษ 1930s จนถึงก่อนการปฏิวัติ ถือเป็นยุครุ่งโรจน์ของฮาวานาในท่ามกลางความทุกข์ยากของชาวคิวบา มันเป็นสถานที่หย่อนใจยอดนิยมของบรรดาอเมริกันชน มีโรงแรมที่พักหรูหรา ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ คาบาเรต์ ผับดนตรีแจ๊ซ ไนต์คลับบางแห่งอ้างว่าเคยให้การต้อนรับแขกดาราดังจากฮอลลีวูดอย่าง แฟรงก์ ซินาตรา และฮัมฟรีย์ โบการ์ต ส่วนที่ด้านหน้าอาคารร้านรวงต่างๆ ประดับประดาด้วยป้ายไฟนีออนรวมแล้วนับพันชิ้น เปล่งแสงสีประชันกันยามค่ำคืน ทำให้เมืองมีชีวิตชีวาและคึกคัก จนมีคนเปรียบฮาวานาว่าเป็น ‘ปารีสแห่งละตินอเมริกา’
เมื่อคิวบาเปลี่ยนการปกครองเป็นสังคมนิยม ธุรกิจต่างๆ ในฮาวานาที่เจ้าของเป็นชาวอเมริกันก็เริ่มปิดตัวลง ป้ายไฟนีออนที่เป็นสัญลักษณ์ของทุนนิยมถูกทำลาย ฮาวานาที่เคยเจิดจ้าเริ่มสลัวและหลับใหลไปในความมืดอันยาวนาน และเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของคิวบาจนอยู่ในขั้นวิกฤต อาคารที่เคยหรูหราสวยงามในยุครุ่งเรืองถูกทิ้งร้างให้ทรุดโทรม ป้ายไฟนีออนที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในสภาพชำรุดเสียหาย
แสงสว่างสู่ยุคใหม่ของฮาวานา
ปัจจุบันสหรัฐฯ เริ่มฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับคิวบา และผ่อนคลายมาตรการปิดกั้นทางการค้าที่มีมานานกว่าห้าทศวรรษ รวมทั้งเปิดประตูการค้าและการท่องเที่ยวกับคิวบาอีกครั้ง
ในปี 2014 โลเปซ เนียวาส ศิลปินชาวคิวบา และอดอลโฟ โนดาล ลูกครึ่งคิวบา-อเมริกันซึ่งเป็นผู้จัดการของกิจการด้านวัฒนธรรมแห่งลอสแอนเจลิสมานาน 12 ปี ร่วมกันทำโครงการฟื้นคืนชีวิตให้กับป้ายไฟนีออนในฮาวานาชื่อ ‘ฮาวานาไลต์’ โดยเริ่มจากใช้เงินส่วนตัวทำป้ายไฟนีออนขึ้นมาใหม่จำนวน 12 แผ่น นำไปติดตั้งที่ด้านหน้าของโรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร ร้านคาบาเรต์ ในแบบที่เคยเป็นในยุครุ่งเรืองของฮาวานา
พวกเขาใช้ภาพถ่ายเก่าซึ่งเป็นภาพขาว-ดำเป็นข้อมูลและร่างแบบ เนียวาสบอกว่า ใช้การเดาว่าป้ายไฟนีออนเคยเป็นสีอะไร จากนั้นก็ทำออกมาให้ดีที่สุด
ปัจจุบันพวกเขาติดตั้งป้ายไฟนีออนคืนให้กับอาคารและตึกที่เคยเป็นโรงแรม โรงภาพยนตร์ ภัตตาคารต่างๆ ทั่วทั้งฮาวานารวมแล้ว 58 ชิ้น และจากโครงการส่วนตัวขณะนี้ได้กลายเป็นโครงการของสังคมที่ได้รับความชื่นชมจากผู้คนในเมือง
เงินที่ใช้ในการทำป้ายมาจากการระดมทุนแบบคราวด์ฟันดิ้งผ่านทางออนไลน์ และอีกส่วนหนึ่งมีผู้ให้เงินทุนสนับสนุน ซึ่งค่าใช้จ่ายในการทำป้ายนีออนแต่ละชิ้นอยู่ระหว่าง 700-3,000 ดอลลาร์
นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจหลังโซเวียตล่มสลาย คิวบาเริ่มผ่อนคลายให้เงินทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศได้ และอนุโลมให้ประชาชนทำธุรกิจส่วนตัวขนาดเล็กและทำการเกษตรพาณิชย์ขนาดเล็กได้ภายใต้การควบคุมของรัฐ ในปี 2011 มีการแก้ไขข้อกฎหมายให้ประชาชนมีสิทธิ์ครอบครองทรัพย์สิน และเริ่มมีการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารต่างๆ ที่เคยเป็นของรัฐมาสู่ประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ
เนียวาสบอกว่า หลังจากฤดูกาลแห่งความมืดอันยาวนาน ท้ายที่สุดคิวบาก็เปิดตัวออกสู่โลก และโลกก็กำลังเริ่มเปิดเข้าหาคิวบาด้วยเช่นกัน เขาบอกว่า ความสัมพันธ์กับสหรัฐที่พัฒนาไปในทางที่ดีจะช่วยให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนได้ง่ายขึ้น ธุรกิจต่างๆ ในฮาวานาก็กำลังจะฟื้นกลับคืนมาใหม่อีกครั้ง และผู้ประกอบการชาวคิวบาอาจเริ่มเปิดร้านค้าเล็กๆ ของตัวเอง
โนดาลบอกว่า สิ่งที่พวกเขาทำเป็นการจุดประกายความสนใจต่อป้ายนีออน ธุรกิจต่างๆ ที่กำลังคืนชีพจะสนใจและเลือกใช้พวกมัน โนดาลบอกว่าป้ายนีออนรับใช้เมืองในแง่ที่ทำให้ฮาวานาสวยงาม และมันคือประติมากรรมสาธารณะ
เนียวาสบอกว่า เขาจะรักษาความรู้ในการทำป้ายนีออนด้วยการทำโครงการต่อไป พวกเขาการตั้งศูนย์นีออนขึ้นที่ Cine Rex ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์ยุคอาร์ตเดโคที่ถูกทิ้งร้าง โดยตั้งใจจะให้เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์และที่ฝึกอบรม เตรียมที่จะเปิดในเดือนธันวาคมปีนี้
Tags: คิวบา, ระบอบสังคมนิยม, Havana, ฮาวานา, Cuba