นักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจะได้เรียนคอร์สออนไลน์ การนอน 101 (Sleep 101) ในวันย้ายเข้าหอพักปีนี้

โรคจากการนอนหลับที่ผิดปกติรุนแรงมากขึ้นในนักศึกษามหาวิทยาลัย มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาปัญหาคุณภาพการนอนของนักศึกษา เมื่อปี 2010 มีการศึกษาพบว่านักศึกษาประมาณ 60% มีคุณภาพการนอนต่ำ ส่วนอีกชิ้นระบุว่านักศึกษา 27% เสี่ยงต่อการเป็นโรคที่เกี่ยวกับการนอนหลับผิดปกติ ปัญหาการนอนไม่หลับของนักศึกษายังเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ เช่น มักมีปัญหาด้านสุขภาพจิตเรื้อรัง เครียด ภาวะซึมเศร้า มองโลกในแง่ร้าย

ในมหาวิทยาลัย การนอนน้อยกลายเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ นักศึกษามักจะอวดกันว่าตัวเองนอนนัอยแค่ไหน การอดนอนถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายาม และการนอนหลับให้เต็มอิ่มกลับเป็นเรื่องยากมากสำหรับนักศึกษาปีแรก

เมื่อเร็วๆ นี้ จากการสำรวจปัญหาการนอนหลับของนักศึกษา 55,000 คน โดย โมนิกา อี ฮาร์แมนน์ และพริชาร์ด อาจารย์สาขาจิตวิทยาและประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยเซนต์โธมัส สหรัฐอเมริกา พบว่า การนอนเกี่ยวข้องกับการเรียน  นักศึกษา 60% บอกว่าต้องการให้มหาวิทยาลัยแนะนำว่าจะจัดการกับปัญหาการนอนหลับอย่างไร

ปีนี้ในวันย้ายเข้าหอ 27 ส.ค. 61 นักศึกษาปีที่ 1 รุ่นจบการศึกษาปี 2022 มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจะต้องเรียนวิชา ‘การนอน 101 (Sleep 101)’ ด้วยแบบเรียนอินเทอร์แอคทีฟออนไลน์ ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้นักศึกษาตระหนักถึงสุขภาพและผลจากการนอนหลับ มีการแนะนำเคล็ดลับและวิธีที่จะทำให้การนอนหลับตามตารางเวลา (ที่ดีต่อสุขภาพ) นั้นเป็นไปได้ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่วุ่นวายและเต็มไปด้วยการแข่งขันในมหาวิทยาลัย

ในปี 2017 มีการตีพิมพ์ผลการศึกษาเรื่อง ผลของการใช้โมดูลเพื่อให้ความรู้ด้านการนอน ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคจากการนอนหลับ พบว่า นักศึกษาเซื่องซึมและอดนอนข้ามคืนน้อยลง

โปรแกรมที่ใช้กับนักศึกษาปีนี้ออกแบบโดย เรย์มอนด์ โซ (Raymond So) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ซึ่งเคยเข้าเรียนวิชาสัมมนาของนักศึกษาปี 1 ที่ชื่อ ‘ถึงเวลานอนแล้ว: ผลกระทบของการอดนอนและการรบกวนจังหวะรอบวันในวัฒนธรรม 24/7 ของเรา’ (Time for Sleep: Impact of Sleep Deficiency and Circadian Disruption in our 24/7 Culture) ที่สอนโดย ชาร์ล ไชล์เลอร์  (Charles Czeisler) ศาสตราจารย์ด้านโรคจากการนอนหลับ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

โซได้ทำโครงงานปลายเทอมออกมาเป็นแบบสอบถามสำรวจการนอนหลับของนักศึกษาในหอพัก the Yard ว่าเสียงรบกวนมีผลต่อคุณภาพการนอนของพวกเขาอย่างไร ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่รู้สึกว่าระฆังที่ดังทุกเช้าเป็นเสียงที่รบกวนการนอนของพวกเขา

จากผลของแบบสอบถาม โซจึงยื่นโครงการเสนอต่อสภานักศึกษา ขอให้มีเสียงระฆังสายกว่าเดิมในตอนเช้า แต่ก็ถูกปฏิเสธ โซจึงได้ขอทุนสนับสนุนเพื่อทำโปรแกรมริเริ่มด้านการนอนหลับศึกษา (sleep-education initiative) จนกลายเป็น Sleep 101 ที่ตอนนี้ใช้สอนนักศึกษาที่จะจบการศึกษาปี 2022 แล้ว และต่อจากนี้จะนำไปฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยอีก เช่น ติวเตอร์

 

 

ที่มา:

Tags: , , , , ,