ชื่อของเมืองทะเคะโอะที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติชื่อดังอย่างออนเซ็น หรือประตูโรมง (Roumon) ซึ่งออกแบบโดยดีไซเนอร์คนเดียวกับที่ออกแบบสถานีรถไฟโตเกียว ได้รับความสนใจจากชาวญี่ปุ่นอีกครั้ง หลังการเกิดขึ้นของ ‘ห้องสมุด’
‘ทะเคะโอะซิตี้ไลบรารี’ ตั้งอยู่ติดกับศาลเจ้าทะเคะโอะ ห้องสมุดที่นี่ดื่มกาแฟได้ เพราะมีสตาร์บัคส์เปิดให้บริการอยู่ด้านใน และสามารถหยิบหนังสือ ไม่ว่าในส่วนของห้องสมุดหรือที่วางขายมานั่งอ่านไปจิบไปด้วยก็ได้ แค่อย่าทำเปื้อนก็พอ
ห้องสมุดในเมืองชนบทแห่งนี้เกิดจากเมืองทะเคะโอะไหว้วาน บริษัท คัลเจอร์ คอนวีเนียนซ์ คลับ (Culture Convenience Club หรือ CCC) ที่ออกแบบร้านหนังสือสุดเท่อย่าง ไดกังยะมะ ที-ไซต์ (Daikanyama T-Site) ในโตเกียว มาช่วยแปลงโฉมห้องสมุดเก่าๆ ของเมือง
อยากให้ที่นี่กลายเป็นสถานที่ที่คนอยากจะมา
จากโจทย์ดังกล่าว ห้องสมุดเก่าๆ จึงกลายเป็นห้องสมุดดีไซน์เรียบเท่ อบอุ่น และเข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนในยุคปัจจุบัน เช่น มีเพลงบรรเลงเปิดคลอ มีโซนให้คุยกันได้เบาๆ จิบกาแฟ โต๊ะทำงาน และปลั๊กไฟ
หลังการรีโนเวตครั้งใหญ่ ภายในไม่กี่เดือนจำนวนคนใช้งานก็เพิ่มขึ้นมหาศาล จาก 250,000 คนต่อปี เป็น 920,000 คนต่อปี เพราะมีนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นดั้นด้นมาชมห้องสมุดที่หลายสื่อยกย่องให้เป็นหนึ่งในห้องสมุดที่ดีที่สุดของญี่ปุ่น
ภายในอาคารสองชั้นแห่งนี้แบ่งเป็น 3 โซนหลักคือ โซนห้องสมุด โซนร้านหนังสือและของจิปาถะ และโซนเช่าซีดีและดีวีดีของร้านสึทะยะ (Tsutaya)
เกือบทุกวัน ผู้คนที่แวะเวียนต่างใช้พื้นที่บนโต๊ะและเก้าอี้ในห้องสมุดไปกับการอ่านหนังสืออย่างตั้งใจ ขณะที่โซนกาแฟจะมีคนเต็มตลอดทุกเสาร์อาทิตย์ และบางช่วงทางห้องสมุดจะมีจัดกิจกรรมพิเศษ เช่น ตลาดนัดโอท็อป การนำผลงานศิลปะของศิลปินท้องถิ่นมาขาย ฯลฯ
คนออกแบบเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาอยากให้ห้องสมุดเป็นมากกว่าที่อ่านหนังสือทั่วไป แต่เป็นสถานที่ที่คนในท้องถิ่นจะได้มาพบปะพูดคุย
ไม่น่าเชื่อว่าแค่การปรับห้องสมุดเก่าๆ ให้เขยิบใกล้ชิดกับวิถีชีวิตยุคใหม่ของผู้คน ห้องสมุดที่เคยเหงา ก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตได้
สมแล้วที่ CCC บริษัทผู้ออกแบบห้องสมุดแห่งนี้ มีความตั้งใจว่าจะ ‘พัฒนาท้องถิ่นด้วยการวางรากฐานทางวัฒนธรรม’
TAKEO CITY LIBRARY
open: 09:00-21:00 น. | ทุกวัน
map:
visit:
ติดตามบันทึกการเดินทาง สัมผัสความคราฟต์ครั้งแล้วครั้งเล่าในจังหวัดเงียบๆ จังหวัดหนึ่งบนเกาะคิวชู กับแจน-ณิชมน นักเรียนไทยในโตเกียว ผู้ท่องเที่ยวมาแล้วเกือบทั่วญี่ปุ่น ได้ใน SAGA GANBATTE! (ซะกะ กัมบัตเตะ!)
SAGA GANBATTE! (ซะกะ กัมบัตเตะ!) เขียน: ณิชมน หิรัญพฤกษ์, สำนักพิมพ์ a book