เชื่อไหมครับว่าอากัปกิริยาของคุณ ไม่ว่าจะเป็นการยืน การนั่ง หรือการทำท่าทางต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีส่วนช่วยเสริมสร้างความมั่นใจของตัวเองโดยที่คุณอาจไม่รู้ตัว

เอมี คัดดี้ (Amy Cuddy) นักจิตวิทยาสังคม และอาจารย์โรงเรียนธุรกิจฮาวาร์ด ผู้มีความสนใจเรื่อง ‘อวัจนภาษา’ การแสดงออกถึงพลังอำนาจ และการครอบงำที่ถ่ายทอดทางภาษากายเป็นพิเศษ เจ้าของงานวิจัยเรื่อง ‘การแสดงออกทางอวัจนภาษาที่สื่อถึงพลังอำนาจ’

วันหนึ่งขณะที่คัดดี้สอนหนังสือเด็กๆ ในชั้นเรียน เธอมักจะพบว่ามีเด็กอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรกคือ เด็กที่เข้ามาในห้องเรียนแล้ววางตัวใหญ่โต (ในที่นี้คือการแสดงออกแบบผ่อนคลาย ยืดแขนยืดขาสบายๆ ประหนึ่งว่ารู้จักทุกคน) ส่วนอีกประเภทคือเด็กที่ทำตัวเองให้ลีบแบน กลมกลืนไปกับเพื่อนๆ ในห้องให้มากที่สุดเพื่อไม่ให้ทุกคนจับจ้อง

และเนื่องจากวิชาของคุณครูคัดดี้เน้นเรื่องการมีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดเห็นและการถาม-ตอบเป็นหลัก สิ่งที่เธอเห็นได้ชัดจากการตั้งข้อสังเกตคือ เด็กที่วางตัวใหญ่โต ผ่อนคลาย มักจะมีส่วนร่วมในชั้นเรียนด้านการแสดงความคิดเห็นอยู่เสมอ ในขณะที่เด็กที่วางตัวลีบแบนมักจะถูกกลบและกลืนไปกับเพื่อนฝูง และสอบตกเรื่องการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน

ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นตัวจุดประกายให้เธอเห็นว่า ภาษากายเหล่านี้น่าจะมีนัยยะเชิงความสัมพันธ์แบบลับๆ กับอารมณ์ของมนุษย์

Photo: STr New, Reuters/profile

ทฤษฎีสมคบคิดระหว่างการแสดงออกและอารมณ์

นอกเรื่องนิดหนึ่งครับ หากใครเป็นแฟนฟุตบอล ครั้งหนึ่งคุณน่าจะจำผู้รักษาประตูที่ชื่อ ปีเตอร์ ชไมเคิล (Peter Schmeichel) ได้ ในสมัยที่ชไมเคิลยังสวมถุงมือลงสนาม เทคนิคในการป้องกันประตูที่เขามักจะใช้คือ การกางแขนกางขา ทำตัวให้ใหญ่ที่สุด ในเชิงปฏิบัติ เราย่อมเข้าใจได้ว่าการแสดงออกเช่นนั้นคือการพยายามปิดมุมประตู เพื่อลดช่องทางในการยิงประตูจากกองหน้าฝั่งตรงข้าม แต่ในเชิงทฤษฎี มีการวิเคราะห์กันว่าการทำตัวให้ใหญ่คับปากประตูของชไมเคิลมีผลทางด้านจิตวิทยาในการขู่ขวัญผู้เล่นฝั่งตรงข้ามให้รู้สึกตัวเล็กกว่า และไร้อำนาจในการต่อกร

ไม่เพียงแต่มนุษย์ที่มีกลไกทางการแสดงออกที่ส่งผลต่อระบบทางอารมณ์เช่นนี้ สัตว์ก็เช่นเดียวกัน เรามักจะเห็นแมวโก่งหลังให้สูงขึ้นอย่างผิดรูป อึ่งอ่างพองตัวให้ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือแม้แต่งูแผ่แม่เบี้ยยามที่พวกมันต้องการสร้างความมั่นใจให้ตัวเองในการป้องกันตัวจากศัตรู

ฮอร์โมนในตัวคุณมีผลกับอารมณ์ที่ปรวนแปร

คัดดี้ตั้งสมมติฐานว่า การแสดงออกของมนุษย์น่าจะมีผลสัมพัทธ์กับฮอร์โมนในร่างกาย 2 ตัว ได้แก่ เทสโทสเตอโรน (Testosterone) ฮอร์โมนเพศที่คัดดี้นิยามว่าเป็นฮอร์โมนแห่งความโอ่อ่า การมีพลังอำนาจ ยิ่งคุณมีค่าฮอร์โมนตัวนี้สูง ความมั่นใจในตัวคุณก็ยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย และคอร์ติซอล (Cortisol) ฮอร์โมนแห่งความเครียด ความกดดัน ที่หากคุณมีเจ้าฮอร์โมนตัวนี้ในร่างกายมากเท่าไร คุณก็จะยิ่งอยู่ในภาวะเครียดมากเท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนั้นคัดดี้และผู้ช่วยจึงเริ่มทำการทดลองทฤษฎีดังกล่าว โดยการนำคนจำนวนหนึ่งมาเป็นตัวอย่างในการทดลอง โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้ทำท่า Power Poses วางตัวโอ่อ่า ผ่อนคลาย ปล่อยตัวสบายๆ ให้มากที่สุดเป็นระยะเวลา 2 นาที โดยมีท่าบังคับคือ ท่า ‘Wonder Woman’ (เท้าเอว ไหล่ผึ่ง กางขา) ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งให้ทำท่า Low Power Poses วางตัวห่อเหี่ยวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่งขดๆ กอดอก ในระยะเวลาที่เท่ากัน

คัดดี้เริ่มต้นวัดผลของการทดลองครั้งนี้ด้วยการท้าเล่นพนัน ผลสรุปว่า 86% ของ Power Poses มีความกล้าได้กล้าเสียสูงที่อยากจะเล่นพนัน ในขณะที่มีเพียง 60% ของกลุ่ม Low Power Poses ที่กล้าเล่นพนัน

ด้านการวัดฮอร์โมนของกลุ่มทดลอง ผลปรากฏว่า ในกลุ่ม Power Poses มีฮอร์โมนแห่งความมั่นใจเพิ่มขึ้น 8% และมีฮอร์โมนความเครียดลดลงจากเดิมกว่า 25% ขณะที่กลุ่ม Low Power Poses มีฮอร์โมนแห่งความมั่นใจลดลง 10% และมีฮอร์โมนความเครียดเพิ่มขึ้นถึง 15%

ซึ่งการทดลองในครั้งนี้ของคัดดี้ น่าจะเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ดีว่า การแสดงท่าทางและภาษากายของมนุษย์มีผลต่ออารมณ์ในตัวเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งทางปฏิบัติ (ความมั่นใจในการกล้าเล่นพนัน) และทางทฤษฎี (ฮอร์โมน)

 

เพิ่มความมั่นใจง่ายๆ แค่ 2 นาที!

อย่าเพิ่งตกใจกับชื่อหัวข้อที่ดูเหมือนการขายตรง หรือเสมือนการเชิญชวนให้คุณซื้อคอร์สอะไรบางอย่าง แต่ 2 นาทีในที่นี้หมายถึงระยะเวลาที่คัดดี้แนะนำให้เราลองโพสท่า Wonder Woman (หากคุณผู้ชายคนไหนลำบากใจ แนะนำให้ใช้คำว่า Wonder Man แทน) หรือท่าทางที่สบายๆ ผ่อนคลาย ก่อนจะทำการใหญ่ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจในตัวคุณ และดึงความเป็นคุณออกมาให้ได้มากที่สุด

เพราะเช่นเดียวกัน หากคุณทำท่า Power Poses กลางที่สัมภาษณ์งาน โต๊ะประชุม หรือการคุยงานกับเพื่อนร่วมงาน ไปจนถึงหัวหน้า มันก็อาจจะเป็นบริบททางภาษากายที่ดูจะผิดสถานที่ไปหน่อย และอาจสร้างการตีความที่ผิดเพี้ยนจากผู้พบเห็นได้

และถึงแม้ว่าล่าสุด หนึ่งในผู้ช่วยคัดดี้จะออกมาบอกว่า ผลการทดสอบในครั้งนั้นอาจจะไม่ถูกต้อง 100% เนื่องจากกลุ่มทดลองตัวอย่างมีขนาดเล็กและฮอร์โมนในร่างกายก็อาจจะผกผันตามปัจจัยเเวดล้อมอื่นๆ ได้เช่นกัน นั่นจึงไม่อาจสรุปได้ว่างานวิจัยชิ้นนี้ของคัดดิ้งได้ผลแบบ 100% หรือไม่

แต่ถึงอย่างไรลองดูก็ไม่น่าจะเสียหายนะครับ หากการทำ Power Poses ท่า Wonder Woman ในที่ลับหูลับตาคนสัก 2 นาทีก่อนจะต้องออกไปลุยกับโปรเจกต์หรือการนำเสนองานที่น่าหวาดหวั่นจะช่วยปลุกความมั่นใจในตัวคุณให้ตื่นขึ้นจากภวังค์ได้ คุณก็น่าจะลองดูนะครับ

 

อ้างอิง:

Some examples of how power posing can actually boost your confidence

How to Be Confident and Reduce Stress in 2 Minutes Per Day


https://indy100.com/article/a-harvard-psychologist-says-this-is-the-first-thing-you-should-do-when-you-wake-up-but-theres-a-7365056
http://jetanin.com/th/service/archive_detail/10
http://tuvayanon.net/C-ep6-001001B-570623-0910.html

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

 

FACT BOX:

  • เทสโทสเตอโรน (Testosterone) ฮอร์โมนเพศที่ร่างกายของมนุษย์ทั้งหญิงและชายผลิตขึ้นมา เพื่อช่วยในการสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย
  • คอร์ติซอล (Cortisol) ฮอร์โมนแห่งความเครียด ซึ่งร่างกายจะผลิตออกมายามที่คุณมีความเครียด และแม้ชื่อของมันอาจจะดูไม่ชวนอภิรมย์สักเท่าไร แต่ฮอร์โมนชนิดนี้กลับมีความจำเป็นต่อร่างกายของมนุษย์เราเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นฮอร์โมนที่ช่วยในการสร้างสมดุลที่ดีให้กับร่างกาย หากมีฮอร์โมนชนิดนี้ในปริมาณที่พอดี ก็จะสามารถช่วยให้คุณรับมือกับความเครียดได้เป็นอย่างดี แต่หากมีมากไปก็จะยิ่งทำให้คุณมีความก้าวร้าว อยากปลดปล่อยและระบายมันออกมา ในขณะเดียวกันหากมีน้อยไปก็จะทำให้คุณซึมเศร้าจนไม่สามารถรับมือกับความเครียดความกดดันได้
  • วิธีรักษาสมดุลที่ดีของระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในร่างกายคือ การพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อดอาหาร ไม่เครียดจนเกินไป
Tags: , , ,