อะไรดูพื้นๆ ดาษๆ เราชอบเรียก ‘บ้านๆ’ แต่เรื่องบ้านบ้านนี่ล่ะคือธีมของกับงานสถาปนิกปีนี้ บ้านมีเรื่องอะไรให้เรามองทบทวนและมีความสำคัญอย่างไร เราไปเปิดฟลอร์แพลนและส่องดูกันให้ครบเซ็กชั่น
งานสถาปนิกเป็นกิจกรรมประจำปีของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อส่งเสริมและแสดงผลงานทางวิชาชีพ วัสดุก่อสร้าง และนวัตกรรมทางสถาปัตยกรรมที่ผ่านการจัดงานมาแล้ว 30 ครั้งนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 เป็นต้นมา (ยกเว้นปี 2533) หากจะกล่าวว่างานนี้จัดขึ้นเพื่อคนในแวดวงด้วยกันเองเท่านั้น นั่นอาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปหน่อย เพราะที่ผ่านมาแต่ละปีมีผู้เข้าชมโดยเฉลี่ยถึง 350,000 คน สำหรับกิจกรรมในครั้งที่ 31 นี้น่าจับตามองอย่างไร เราคัดสรรนิทรรศการน่าสนใจส่วนหนึ่งมาฝากก่อนจะไปพบกับบรรยากาศจริงในวันที่ 2 ถึง 7 พฤษภาคมนี้ที่ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
งานสถาปนิกปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘บ้านบ้าน: BAAN BAAN Reconsidering Dwelling’ โดยคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ปี พ.ศ. 2559-2561 เห็นถึงความสำคัญของบ้านซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีพ เป็นรากฐานของชุมชนและเมือง อีกทั้งเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว ก่อนขยายไปสู่เพื่อนบ้านและสังคมระดับชุมชนหรือเมืองที่ดีในมิติต่างๆ จึงต้องการมุ่งเน้นให้ทุกคนหันมาทบทวนแนวคิดการอยู่อาศัยในรูปแบบต่างๆ ผ่านนิทรรศการที่แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ประกอบด้วย บ้าน องค์ประกอบบ้าน และพื้นที่นอกบ้าน โดยจะมีการพูดถึงประเภทลักษณะของกลุ่มต่างๆ (Typology) เทคนิคการการก่อสร้าง (Tectonic) และแนวความคิดต่างๆ (Thought)
นิทรรศการบ้าน (Dwelling)
นิทรรศการสำคัญในหมวดบ้านคือ ‘นิทรรศการในหลวงรัชกาลที่ 9’ จัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ‘นิทรรศการสถาปนิกแห่งแผ่นดิน ‘บ้าน’ บ้านในพระราชานิยม (Architect of the land)’ ซึ่งเป็นการแสดงถึงพระปรีชาญาณและพระราชนิยมในเรื่องที่อยู่อาศัยของพระองค์ ตลอดจนแนวคิดทฤษฎีความพอเพียงที่พึงปฏิบัติตาม โดยนำเสนอผ่านสื่อมัลติมีเดียรูปแบบใหม่ให้ผู้ชมได้รับรู้ผ่านวิธีการที่แตกต่างออกไป และ ‘นิทรรศการภาพของพ่อ’ นำเสนอภาพวาดหรือภาพถ่ายแบบ 2 มิติขนาด A3 โดยไม่จำกัดเทคนิคจากการร่วมส่งผลงานเข้ามาของบุคคลทั่วไป ความน่าสนใจของนิทรรศการดังกล่าวคือทีมออกแบบ Apostrophy’s และ Hypothesis นำไม้เท้าค้ำยันและตะแกรงเหล็กสำเร็จรูปมาดัดแปลงเป็นโครงสร้างนิทรรศการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำไปบริจาคสร้างประโยชน์ได้ต่อ พร้อมกับช่วยลดปัญหาขยะเหลือทิ้งตอนงานจบไปโดยปริยาย
นิทรรศการบ้านบ้านจำลอง (BAAN BAAN Mockup)
นำเสนอโครงการที่พักอาศัยในรูปแบบหุ่นจำลองของบริษัทสถาปนิกที่ผ่านการคัดเลือกให้มาจัดแสดง รวมถึง ‘นิทรรศการบ้านบ้านตัวอย่าง (BAAN BAAN Case Study)’ ที่นำเสนอรูปแบบบ้านที่แตกต่างกันไปตามขนาดพื้นที่ใช้สอยและงบประมาณ ทั้งบ้านที่ออกแบบโดยการสร้างใหม่ (New House) และบ้านออกแบบโดยปรับปรุงจากบ้านเก่า (Adaptive Reused House) ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจรายละเอียดหรือแนวคิดในการออกแบบของสถาปนิกได้โดยง่าย ตลอดจน ‘นิทรรศการศิลปะการก่อสร้างและเทคโนโลยี (Tectonic and Technology)’ ที่ FabCafe Bangkok ผู้ดูแลนิทรรศการและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการผลิตแบบดิจิตอล (Digital Fabrication) ขนเอาเครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printer) หุ่นยนต์แขนกล (Robotic Arm) และเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) มาสาธิตกระบวนการทำงานและจัดกิจกรรมให้ผู้ชื่นชอบนวัตกรรมล้ำหน้าได้สัมผัสและร่วมสนุกอย่างใกล้ชิด เป็นต้น
นิทรรศการชิ้นส่วนของบ้าน (Dwelling’s Elements)
ตามไปดูนักออกแบบ 12 ทีม นำโดย ธ.ไก่ชน, Plural designs, EKAR Architects, ยางนาสตูดิโอ, Thingsmatter, Beautbureau, PHTAA Living Design, N7A Architects, Quintrix architects, NPDA Studio, TADAH Collaboration และ Nuzen ร่วมกันทบทวนหน้าที่ของชิ้นส่วนอันเป็นองค์ประกอบของบ้านและชิ้นส่วนลอยตัว 8 ชนิด พร้อมกับออกแบบขึ้นใหม่ให้สัมพันธ์กับผู้อยู่และบริบทอย่างมีนัยสำคัญจำนวน 24 ชิ้น ได้แก่ ประตู หน้าต่าง บันได หลังคา ผนัง ราวกันตก โต๊ะ และเก้าอี้ นอกจากนี้ ผลงานบางส่วนยังจัดแสดงภายใต้แนวคิดของอารยสถาปัตย์ (Universal Design) สำหรับสังคมผู้สูงอายุอีกด้วย
นิทรรศการพื้นที่นอกบ้าน (Dwelling’s Surroundings)
ส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับบริบทรอบบ้านที่เผยให้เห็นแนวคิดและความเป็นไปได้ในการออกแบบพื้นที่อาศัยภายนอกบ้านที่แสดงออกถึงความเป็นสาธารณะมากขึ้น เช่น สวน ตลาด ตลอดจนลานกิจกรรมสาธารณะที่เปิดโอกาสให้ผู้คนพบปะพูดคุยนั่งพักผ่อนตามอัธยาศัยเสมือนเป็นพื้นที่สาธารณะในเมือง
นอกจากนี้ยังสอดแทรกด้วยกิจกรรมน่าสนใจมากมาย เช่น ASA Sketch, ASA Workshop และ ASA Playground ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนหรือผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมได้ รวมถึง ASA Guide หรือหมอบ้านอาษา คลินิกให้คำปรึกษาปัญหาเรื่องบ้านบ้านโดยทีมงานสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น
ที่พลาดไม่ได้คืองานสัมมนาเชิงวิชาการ ASA Forum ซึ่งในปีนี้สมาคมฯ ได้เชิญ 6 สถาปนิกชั้นนำมาเป็นวิทยากรร่วมพูดคุยและเปิดมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ Chelvadurai Anjalendran จากศรีลังกา Fabrizio Barozzi และ Alberto Veiga จากสเปน Shingo Masuda และ Keisuke Maeda จากญี่ปุ่น Max Schwitalla จากเยอรมนี และ David Schafer จากไทย
ปักหมุดแล้วเจอกันที่บ้านบ้าน
อ้างอิง:
- www.asaexpo.org/
- www.asaforum.org/asaforum2017