การฉีดโบทูลินัมท็อกซินเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาริ้วรอย
ที่มีใช้มาเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีแล้ว เป็นการรักษาที่จัดว่าปลอดภัย
อาจมีผลข้างเคียงได้บ้าง ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ฉีด และความชำนาญของแพทย์
“ฉีดโบๆ”
เชื่อว่าทุกคนเคยได้ยินคำนี้ อาจจะเป็นจากในสื่อต่างๆ จากเพื่อนรอบข้าง หรือบางคนก็อาจมีประสบการณ์ตรงเคยฉีดมาแล้ว ในขณะที่บางคนอาจยังกลัวๆ กล้าๆ เพราะไม่แน่ใจว่าจริงๆ แล้วการฉีดโบที่ว่าคืออะไร มีข่าวลือประเภท ‘เขาว่ากันว่า’ ทั้งจริงและเท็จมากมายเกี่ยวกับการฉีดโบท็อกซ์ เรามาทำความเข้าใจกันทีละประเด็นดีกว่าค่ะ
‘โบท็อกซ์’ เป็นชื่อยี่ห้อ ไม่ใช่ชื่อยา
เช่นเดียวกับ แฟ้บ ซีร็อกซ์ มาม่า โกเต๊กซ์ ชื่อแบรนด์ที่เข้ามาบุกตลาดเป็นรายแรกและประสบความสำเร็จ มักถูกนำมาเรียกแทนตัวสินค้าไปโดยปริยาย จริงๆ แล้ว Botox® ที่เราเรียกกันติดปากนั้น คือสารที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Botulinum Toxin หรือโบทูลินัมท็อกซิน (แต่ถ้าออกเสียงแบบฝรั่ง จะอ่านว่า โบ-ทู้-ไล-นั่ม-ท็อก-ซิน) และมีหลายยี่ห้อให้เลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็น Dysport®, Xeomin® หรืออื่นๆ
ฉีดโบท็อกซ์ รักษาริ้วรอยได้ทุกรูปแบบ
โบทูลินัมท็อกซิน เป็นโปรตีนที่ออกฤทธิ์ตรงปลายประสาท ส่งผลยับยั้งการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณที่ฉีด จึงได้ผลในการลดริ้วรอยที่เกิดจากกล้ามเนื้อ เช่น รอยย่นบนหน้าผาก รอยย่นที่หว่างคิ้ว ตีนกา หรือใช้ในการปรับรูปหน้า เช่น ฉีดเข้าไปที่กล้ามเนื้อกราม เพื่อให้กล้ามเนื้อบริเวณกรามฝ่อและลดขนาดลง ส่งผลให้หน้าเรียวขึ้น รวมไปถึงกล้ามเนื้อมัดใหญ่อย่างกล้ามเนื้อน่อง ส่งผลให้น่องเรียวเล็กลง (แต่แน่นอนว่า ความสวยที่ได้มาย่อมมีผลข้างเคียงได้)
แต่สำหรับร่องอารยธรรมความแก่ที่ไม่ได้เกิดจากกล้ามเนื้อ เช่น ร่องแก้มที่ลึก ร่องใต้ตา หรือแก้มที่หย่อนคล้อยลงมามากจากแรงโน้มถ่วง การฉีดโบทูลินัมท็อกซินจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด
เมื่อหยุดฉีด กล้ามเนื้อจะค่อยๆ ฟื้นกลับมาตามเดิม และใบหน้าก็จะกลับไปเหี่ยวเท่าๆ เดิม ไม่ได้มากขึ้น แต่บางครั้งคนไข้อาจจำไม่ได้ว่าตัวเองเคยเหี่ยวในระดับไหน!
ฉีดเพื่อความสวยงามเท่านั้น
แรกเริ่มเดิมที การฉีดโบทูลินัมท็อกซินถูกนำมาใช้เพื่อการรักษาโรคตาเหล่โดยจักษุแพทย์ก่อน ต่อมาจึงมีการนำมาประยุกต์ใช้กับกล้ามเนื้อใบหน้าเพื่อความสวยงาม แต่ในปัจจุบันการฉีดโบทูลินัมท็อกซินถูกนำมาใช้รักษาโรคหลากหลาย ซึ่งไม่จำกัดแค่ในเรื่องความสวยความงามเท่านั้น เช่น ป้องกันไมเกรนเรื้อรัง เหงื่อออกมากผิดปกติที่รักแร้ กล้ามเนื้อคอหดเกร็ง ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน และยังมีการทดลองใช้แบบ ‘off-label’ คือใช้ในลักษณะการทดลอง ซึ่งยังไม่ถือเป็นการรักษามาตรฐานในอีกหลายโรค เช่น ซึมเศร้า ปวดหลัง แผลเป็นจากภาวะปากแหว่ง รวมไปถึงภาวะล่มปากอ่าวในผู้ชาย!
เลิกฉีดแล้วจะเหี่ยวกว่าเดิมไหม
เป็นคำถามที่ถูกคนไข้ถามบ่อยครั้ง ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อหยุดฉีด กล้ามเนื้อจะค่อยๆ ฟื้นกลับมาตามเดิม และใบหน้าก็จะกลับไปเหี่ยวเท่าๆ เดิม ไม่ได้มากขึ้น แต่บางครั้งคนไข้อาจจำไม่ได้ว่าตัวเองเคยเหี่ยวในระดับไหน!
สรุปแล้วการฉีดโบทูลินัมท็อกซินเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาริ้วรอยที่มีใช้มาเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีแล้ว เป็นการรักษาที่จัดว่าปลอดภัย อาจมีผลข้างเคียงได้บ้าง ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ฉีด และความชำนาญของแพทย์ แต่ผลข้างเคียงส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและไม่ร้ายแรง โบทูลินัมท็อกซินกำลังถูกนำมาใช้รักษาโรคที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับคนไข้อีกมากมายในอนาคตอันใกล้นี้
ภาพประกอบ: คุณเค
Tags: health, Botox, BotulinumToxin