เคยหิวแล้วรู้สึกหงุดหงิดบ้างไหมครับ?

ถ้าเคย อย่าเพิ่งแปลกใจหรือวิตกกังวลไปก่อนว่าคุณเป็นพวกอารมณ์ร้าย ฉุนเฉียวง่าย และก้าวร้าว เพราะอาการโมโหหิวถือเป็นเรื่องธรรมชาติและเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายมนุษย์

ไซมอน อ็อกเซนแฮม (Simon Oxenham) นักเขียนผลงานแนววิทยาศาสตร์จากเว็บไซต์ New Scientist เชื่อว่าสาเหตุหลักที่ทำให้อารมณ์ของเราแปรปรวนยามรู้สึกหิวเป็นผลมาจากระดับน้ำตาลในเลือดที่ลดต่ำลง จนทำให้ขาดสมาธิในการทำงานและแสดงท่าทีหงุดหงิดใส่คนรอบตัว

อาการหิวเป็นสัญชาตญาณที่เกี่ยวข้องกับความอยู่รอดของมนุษย์อย่างหนึ่ง
ซึ่งสัญชาตญาณใดก็ตามที่เกี่ยวกับการอยู่รอดของมนุษย์จะส่งผลทางอารมณ์ที่รุนแรงหมด

เมื่อน้ำตาลในเลือดต่ำ คอร์ติซอลจะทำให้คุณก้าวร้าว

เชื่อกันว่าเมื่อท้องว่างจนถึงช่วงที่ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ร่างกายของคุณจะปล่อยฮอร์โมนที่ส่งผลกับความเครียดอย่างคอร์ติซอล (cortisol) และอะดรีนาลีน (adrenaline) ออกมา (ชื่อทางเคมีเรียกรวมว่า ‘นูโรเปปไทด์ วาย’ –  neuropeptide Y) อารมณ์ของคุณก็จะแปรปรวน

ในงานวิจัย ‘ระดับกลูโคสต่ำทำให้คู่แต่งงานก้าวร้าว’ จากแผนกการสื่อสารภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยโอไฮโอ ที่ทำการทดลองกับคู่รักหลายคู่และตุ๊กตาวูดูด้วยการเล่นเกม

โดยกติกามีอยู่ว่า หากฝ่ายใดชนะจะสามารถตะโกนเย้ยหยันคู่รักของตัวเองผ่านหูฟังได้ และหากฝ่ายใดรู้สึกโมโหก็ให้ใช้เข็มทิ่มตุ๊กตาวูดู (ตัวแทนคนรัก) ซึ่งทีมวิจัยจะติดตามระดับกลูโคสในเลือดเพื่อวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ในเชิงอารมณ์

จากการทดลอง ทีมผู้วิจัยพบว่ายิ่งระดับน้ำตาลในเลือดของคู่สามีภรรยาต่ำลงเท่าใด จำนวนเข็มที่ใช้แทงตุ๊กตาวูดู และระยะเวลาในการตะโกนด่าอีกฝ่ายก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

จึงอาจพอสรุปได้ว่า อาการโมโหหิวไม่ใช่ความผิดปกติของสุขภาพจิตแต่อย่างใด แต่เป็นแค่กลไกธรรมชาติของร่างกาย

เพราะ ‘หิว’ คือสัญชาตญาณการอยู่รอด เราจึงหงุดหงิด

แครธริน ทรงพัฒนะโยธิน ผู้เขียนหนังสือ Genius ทางอารมณ์ และผู้เชี่ยวชาญด้าน Cognitive and Decision Sciences แสดงความคิดเห็นกรณีพฤติกรรมการหิวส่งผลต่ออารมณ์ว่า “ความหิวส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนความเครียด หรือที่เรียกว่า ‘คอร์ติซอล’ ได้จริง เพราะอาการหิวเป็นสัญชาตญาณที่เกี่ยวข้องกับความอยู่รอดของมนุษย์อย่างหนึ่ง ซึ่งสัญชาตญาณใดก็ตามที่เกี่ยวกับการอยู่รอดของมนุษย์จะส่งผลทางอารมณ์ที่รุนแรงหมด

“ส่วนพฤติกรรมการแสดงออกของอาการโมโหส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมเราในช่วงวัยเด็ก บางคนต่อให้โมโหก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องแสดงอาการหงุดหงิดกับคนอื่น เนื่องจากการเลี้ยงดูและปัจจัยแวดล้อมที่ต่างกัน”

รู้อย่างนี้แล้ว ก็อย่าปล่อยให้ท้องว่างจนพานหงุดหงิดใส่คนรอบตัวเลยนะครับ เดี๋ยวใครๆ จะไม่กล้าเข้าใกล้เอา

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai​

อ้างอิง:

www.newscientist.com/article/2119406-being-hangry-exists-why-a-lack-of-food-can-change-your-mood

www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/24733932

www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/22985695

Tags: