วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2560 ข่าวในประเทศที่เห็นว่าจะถูกพูดถึงมากที่สุดข่าวหนึ่ง คือการจับกุมตัว เท่า-เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร พร้อมยึดของกลางที่ใช้ผลิตคราฟต์เบียร์สัญชาติไทยชื่อ Taopiphob
จากการรายงานข่าวของสำนักข่าวหลายสำนักในประเทศ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันต่างๆ นานา เกี่ยวกับการ ‘ทำผิดกฎหมาย’ ของเท่า บ้างมีการออกความคิดเห็นว่าเสียดายวุฒิปริญญาที่เรียนมา เพราะเท่าจบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยชื่อดัง หรือหยิบยกเอาหลักศีลธรรมขึ้นมาประกอบเนื่องจากมองว่า ‘เบียร์’ เป็นสินค้ามอมเมาขัดกับหลักศาสนา ทำให้ภาพรวมของข่าวที่ออกมาสร้างการรับรู้ (perception) กับคนในวงกว้าง ราวกับการทำคราฟต์เบียร์ไม่ต่างอะไรกับการก่ออาชญากรรม
แต่การผลิตคราฟต์เบียร์เป็นการก่ออาชญากรรมจริงหรือ?
The Momentum ชวนคุณทำความเข้าใจความจริงของ ‘คราฟต์เบียร์’ ในประเทศไทย ในวันที่ ‘การโดนปรับ’ ก่อให้เกิดภาพที่รุนแรง ก่อนที่จะส่งผลให้เกิดการ ‘ไม่ให้โอกาส’ กับผู้ผลิตรายย่อยในตลาดต่อไป
เพราะภายใต้การตกเป็นจำเลยของเท่าและคราฟต์เบียร์ไทย มีเรื่องบางเรื่องที่ไม่ชอบมาพากลซ่อนอยู่
รู้จักกฎหมายไทยก่อน
พ.ร.บ. สุรา ที่เราพูดถึงกันอยู่ในข่าวนี้คือ พ.ร.บ สุรา พ.ศ. 2493 มีใจความเกี่ยวกับการอนุญาตให้ทำเบียร์อย่างถูกต้องตามกฎหมายว่า จริงๆ แล้วเราสามารถผลิตเบียร์ได้ภายได้สองกรณีคือ
- การทำ Brewpub หรือโรงเบียร์ประเภทที่มีโรงงานผลิตเบียร์อยู่ภายในร้าน สามารถจำหน่ายได้ในร้านเท่านั้น กรณีนี้ห้ามบรรจุขวดขาย และมีกำหนดปริมาณการผลิตคือ ขั้นต่ำ 1 แสนลิตรต่อปี แต่ไม่เกินหนึ่งล้านลิตรต่อปี
- ประเภทโรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ ที่กำหนดให้มีกำลังการผลิตอย่างน้อย 10 ล้านลิตรต่อปี
จะเห็นว่าการอนุญาตให้ผลิตเบียร์ทั้งสองประเภทที่กำหนดให้ถูกกฎหมายนั้นเป็นสเกลขนาดใหญ่ที่เกินกำลังของผู้ผลิตแบบ homebrew รายย่อยอยู่มาก อีกทั้งโรงเบียร์แบบ brewpub นั้นในอดีตก่อนที่เทรนด์คราฟต์เบียร์จะมาถึง กลุ่มผู้บริโภคชาวไทยก็เห็นจะมีแต่โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงที่อยู่มาได้อย่างยาวนาน
คราฟต์เบียร์คืออะไร
ทุกวันนี้เราได้ยินคำว่าคราฟต์เบียร์กันจนชินไปแล้ว ไม่ว่าจะในฐานะของเบียร์ทางเลือกสำหรับกลุ่มคนที่ต้องการประสบการณ์ใหม่ๆ จากการดื่มเบียร์ หรือเบียร์ที่เขาว่ากันว่าดีกว่าจากกลุ่มคนเสพเบียร์ที่นิยมลองของใหม่
ในอเมริกามีวัฒนธรรมการต้มเบียร์ดื่มเองที่บ้าน ซึ่งเบียร์ประเภทนั้นจะเรียกว่า homebrew หรือเบียร์ที่อย่างมากก็เรียกเพื่อนมาดื่มเวลาจัดปาร์ตี้กันที่บ้าน
ถัดมาคือ craft beer หรือเบียร์ที่มาจากโรงเบียร์ขนาดเล็กที่เรียกว่า craft brewery ที่เปรียบเสมือนเป็นสินค้า OTOP ประจำท้องถิ่น ผลิตกันน้อยๆ แต่เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่เบื่อหน่ายเบียร์จากโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่วางขายในตลาดอย่างแพร่หลาย จนเมื่อวงการการผลิตคราฟต์เบียร์ในอเมริกาสร้างที่ยืนในตลาดให้กับตัวเองได้สำเร็จ ก็มีการกำหนดกฎและนิยามของคราฟต์เบียร์อย่างเป็นทางการโดย Brewers Association ที่ระบุว่า
1. จะต้องเป็นโรงเบียร์ขนาดเล็ก
2. เจ้าของเป็นผู้ถือหุ้นมากกว่า 75% (Independent)
3. ใช้วัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติทั้งหมด ห้ามใส่วัตถุดิบสังเคราะห์กลิ่นหรือรสเพื่อลดต้นทุน ถ้าจะใส่ต้องใส่เพื่อให้มีกลิ่นและรสชาติดีขึ้นเท่านั้น (นั่นคือเหตุผลว่าทำไมคราฟต์เบียร์ถึงรสชาติ ‘เรียล’ กว่า Commercial Beer)
คำว่าคราฟต์เบียร์ในปัจจุบันถึงถูกใช้กันในบริบทข้างต้น ต่อให้สเกลอาจจะเล็กกะทัดรัดใกล้เคียง homebrew มากกว่าก็ตาม
ทิศทางของคราฟต์เบียร์ไทย ปี 2016-2017
สิ่งที่ตามมาหลังจากมีผู้ให้ความสนใจเกี่ยวกับคราฟต์เบียร์มากยิ่งขึ้นทั้งผู้ผลิตเอง และผู้บริโภค ทางฝั่งผู้ผลิตได้มีการเดินหน้าเพื่อพัฒนาให้คราฟต์เบียร์ของตัวเองนั้นถูกกฎหมาย โดยใช้วิธีการไปผลิตที่ต่างประเทศแล้วนำกลับเข้ามาในรูปแบบของเบียร์นำเข้า และเสียภาษีติดแสตมป์ตามกฎหมายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น เบียร์ชาละวันเบียร์, Stonehead, Sandport และ มหานคร
อีกกรณีตัวอย่างคือการริเริ่มโรงเบียร์มิตรสัมพันธ์ของ ชิต-วิชิต ซ้ายเกล้า จาก Chitbeer ซึ่งจะออกมาในลักษณะของ brewpub ที่ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด ซึ่งโครงการยังอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้าง
กรณีศึกษาของคราฟต์เบียร์เท่าพิภพ
จากกรณีการจับกุมตัว เท่า-เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร พร้อมยึดของกลางที่ใช้ผลิตคราฟต์เบียร์สัญชาติไทยชื่อ Taopiphob ข่าวจากสำนักข่าวมติชนระบุว่า ตำรวจเข้าจับกุมด้วย 4 ข้อหา คือ
‘พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 ว่า 1.มีภาชนะสำหรับทำสุราโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี 2.ทำสุราโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี 3 .มีไว้เพื่อขายซึ่งสุราที่รู้ว่าต้องปิดแสตมป์สุรา แต่ไม่ได้ติดแสตมป์สุรา 4. มีไว้ในความครอบครองซึ่งสุราที่รู้ว่าต้องปิดแสตมป์สุรา แต่ไม่ได้ติดแสตมป์
‘พร้อมอายัดของกลางต่างๆ ห้ามเคลื่อนย้าย อาทิ ถังหมักเบียร์ ถังต้มเบียร์ ข้าวบาร์เลย์ ยีสต์หมักเบียร์ มอลต์ น้ำตาล และน้ำเบียร์ที่ผลิตเสร็จแล้ว จึงควบคุมตัวนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.รัตนาธิเบศร์ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป’
จริงๆ แล้วเบียร์เท่าพิภพไม่ใช่เจ้าแรกที่โดนปรับ และเบียร์ทั้งหมดที่โดนจับไม่ใช่เบียร์ปลอมที่ไร้คุณภาพ สิ่งเดียวที่พอจะเอาความผิดได้คือ ไม่ได้เสียภาษี ซึ่งหากอ่านเรื่องราวของข้อกำหนดในเรื่องภาษีข้างต้น จะเห็นว่าในพระราชบัญญัตินี้โอกาสในการผลิตของผู้ผลิตรายย่อยแทบจะเป็นศูนย์ ซึ่งในครั้งนี้ยังไม่มีข่าวคราวเพิ่มเติมว่าการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไปนั้นจะเป็นอย่างไรบ้าง
จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
ในเมื่อการกีดกันการผลิตคราฟต์เบียร์อาจก่อให้เกิดการคุมกำเนิดตัวเลือกที่หลากหลายสำหรับผู้บริโภค และขัดขวางความก้าวหน้าในอุตสาหกรรม แต่การให้เสรีอย่างสมบูรณ์ก็อาจนำมาซึ่งความเป็นไปได้ของทางเลือกที่มากขึ้นในเชิงปริมาณ แต่ไม่ได้บ่งบอกถึงคุณภาพ
ขณะที่ทางฝั่งกลุ่มคนทำคราฟต์เบียร์ก็คงไม่มีใครหยุดพัฒนาเบียร์ของตัวเอง กล่าวคือ กลุ่มผู้ทำเบียร์หลายๆ เจ้าตั้งเป้าหมายที่จะทำให้เบียร์ของตนเองถูกกฎหมายกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะด้วยวิธีการนำเบียร์ไปผลิตต่างประเทศ หรือทำโครงการมิตรสัมพันธ์
ทั้งยังมีผู้เริ่มต้นเรียกร้องการผลักดันให้คราฟต์เบียร์ไทยถูกกฎหมาย โดยการสร้างแคมเปญผ่านเว็บไซต์ Change.org ซึ่งมีผู้เข้าร่วมลงชื่อกว่า 5,000 คนภายในเวลาไม่ถึงสองวัน ด้วยแนวคิดที่ว่า
“เมื่อกฎหมายแก้ไข ธุรกิจ SME จะมีบทบาทมากขึ้นเกี่ยวกับการผลิตเบียร์รายย่อย จะมีการแข่งขันของอุตสาหกรรมเบียร์มากขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ผลิตรายย่อยเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการแข่งขันนี้ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายได้ระบุไว้ว่าจะทำเบียร์ให้ถูกกฎหมาย ต้องผลิตไม่ต่ำกว่า 1,000,000 แกลลอนต่อปี กฎหมายนี้ไม่ได้อำนวยความสะดวกแก่ผู้ค้ารายย่อย ปัจจุบันตลาดเบียร์ไทยที่ถูกกฎหมายนั้นมีรสชาติที่ซ้ำซากจำเจ และไม่มีการพัฒนาตัวสินค้าแต่อย่างใด (พัฒนาเพียงบรรจุภัณฑ์)
“เราจึงอยากให้ประชาชนได้รับรู้ว่าเบียร์ ใครๆ ก็ทำได้ คนไทยทำ คนไทยดื่ม คนไทยภูมิใจ” — ข้อความจาก Change.org
แต่สิ่งที่ยังมองไม่เห็นคือการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ถือกฎหมาย ที่คงต้องได้แต่คาดหวังให้ออกมาตรการตรวจสอบที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยรวม จะกำหนดตรวจสอบคุณภาพสถานที่ผลิต กำหนดทุนจดทะเบียนอย่างที่ครั้งหนึ่งประเทศเราเคยผลักดัน SMEs (ในภาคธุรกิจอื่น) มาก่อน ก็เห็นจะเป็นทางออกที่น่าสนใจ
ซึ่งถ้ากฎหมายได้รับการแก้ไข เปิดโอกาสมากกว่ากีดกัน เชื่อว่าคนทำคราฟต์เบียร์น่าจะพร้อมรับกฎกติกาใหม่
ส่วนกรอบกติกานั้น จะเป็นจริงหรือไม่ คงต้องติดตามดูกันต่อไป
Cheers!
Tags: CraftBeer, Beer, Law