ระหว่างที่เรากำลังแชตคุยกับเพื่อนที่อินเดีย สั่งซื้อของจากแอมะซอนที่สหรัฐอเมริกา พรีออเดอร์ซีดีศิลปินโปรดจากเกาหลี และไม่ยอมเช็คอีเมลจากเจ้านายที่ส่งมาจากคนละไทม์โซน ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลธุรกรรมได้ถูกส่งผ่านไปมาข้ามประเทศโดยไม่ต้องใช้วีซ่า แม้ว่าเราจะนั่งอยู่บนเตียงที่บ้านในกรุงเทพฯ ก็ตาม 

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา การไหลเวียนของข้อมูลข้ามพรมแดนมีส่วนช่วยให้จีดีพี หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก เติบโตขึ้นถึงราว 10.1 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 91.62 ล้านล้านบาท

ระหว่างปี 2005-2015 การไหลเวียนของข้อมูลในโลกเพิ่มขึ้นถึง 45 เท่า เมื่อสิ้นปี 2016 ข้อมูลที่ไหลเวียนทั่วโลกมีถึง 400 เทระบิตต่อวินาที คาดการณ์ว่าการไหลเวียนของข้อมูลข้ามพรมแดนจะเพิ่มขึ้นอีก 9 เท่าในปี 2020 นี้ สวนทางกับการเคลื่อนย้ายของสินค้าและบริการแบบเดิมที่แทบไม่โตขึ้น

ข้อมูลจาก UNCTAD ระบุว่า การค้าโลกในกิจการไอทีและบริการที่ใช้ไอซีทีเป็นพื้นฐาน มีมูลค่าเกือบ 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 48 เปอร์เซ็นต์ของบริการการค้าทั้งหมดในปี 2007

บอริส วอยแทน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายข้อมูลส่วนบุคคล สมาคมจีเอสเอ็ม หรือ GSMA ซึ่งเป็นสมาคมของบริษัทในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลก ชี้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการไหลเวียนของข้อมูลข้ามพรมแดน

ในทางตรงกันข้าม บางประเทศในเอเชียที่มีข้อจำกัดในการรับส่งข้อมูลข้ามพรมแดนนั้น มี GDP ลดลง 0.5-1.7 เปอร์เซ็นต์

วอยแทนชี้ว่า ท่ามกลางการไหลเวียนของข้อมูลจำนวนมากซึ่งมีข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้รวมอยู่ด้วยจำนวนมากเช่นกัน เราจึงมาถึงทางแยกที่ต้องเลือกระหว่างนโยบายแบบ Pro-flow ที่เชื่อว่าเราสามารถคุ้มครองความเป็นส่วนตัวได้ในขณะที่เอื้อให้ข้อมูลไหลเวียนได้อิสระด้วย กับนโยบายแบบ No-flow ซึ่งมีแนวคิดว่า ควรจำกัดการรับส่งข้อมูลระหว่างประเทศ โดยอาจให้มีการเก็บข้อมูลไว้ในประเทศในระยะเวลาหนึ่งหรือจำกัดไว้ไม่ให้ไหลออกเลย

จากรายงานของ GSMA สองฉบับเรื่อง  ‘Regional Privacy Frameworks and Cross-Border Data Flows’ และ ‘Cross-Border Data Flows: Realising Benefits and Removing Barriers

มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลลดหรือยกเลิกมาตรการจำกัดข้อมูลไว้เฉพาะพื้นที่ รวมถึงเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียร่วมกันหามาตรการกำหนดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน  เพื่อทำให้เกิดความเชื่อใจต่อกันมากขึ้น และขอให้รัฐบาลประเทศสมาชิกเอเปคและอาเซียนปรับกรอบความร่วมมือด้านข้อมูลส่วนบุคคลในภูมิภาคเอเชียให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อปิดช่องว่างความแตกต่างด้านข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศตนเอง

วอยแทนระบุว่า ในโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นประธานการประชุมอาเซียนในปีหน้า (2019) นี้ ไทยควรจะกำหนดเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญ และในโอกาสที่ประเทศไทยกำลังจะผ่านกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะมีเรื่องของการรับส่งข้อมูลข้ามพรมแดน จึงอยากให้ไทยเป็นแบบอย่างของประเทศอื่นในภูมิภาคด้วย

“ประเทศต่างๆ มักหวาดกลัวว่า การเปิดเสรีการรับส่งข้อมูลจะกระทบต่ออธิปไตย ความมั่นคง หรือวัฒนธรรม แต่ความจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น การเปิดเสรีของข้อมูลสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัลในท้องถิ่น ส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมถึงทำให้ประเทศต่างๆ ร่วมกันต่อต้านก่อการร้ายได้”

การเปิดเสรีการรับส่งข้อมูลจะกระทบต่ออธิปไตย ความมั่นคง หรือวัฒนธรรม แต่ความจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น การเปิดเสรีของข้อมูลสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัลในท้องถิ่น ส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมถึงทำให้ประเทศต่างๆ ร่วมกันต่อต้านก่อการร้ายได้

เมื่อถามว่า ประเทศไทยกำลังร่างกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ ซึ่งกฎหมายลักษณะนี้มีแนวโน้มที่จะสกัดกั้นการไหลเวียนของข้อมูล จะมีคำแนะนำอย่างไร วอยแทน ตอบว่า ครั้งหนึ่งรัฐมนตรีของบังคลาเทศบอกว่า โลกของไซเบอร์ไม่มีพรมแดน ความมั่นคงไซเบอร์ก็ควรจะไม่มีพรมแดนด้วย เขาอยากให้ประเทศต่างๆ หาวิธีร่วมมือกันในระดับนานาชาติแทน อย่างการหาวิธีการใหม่ๆ ในการรวบรวมพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

จูเลียน กอร์แมน ประธานฝ่ายกลยุทธ์ความสัมพันธ์ ประจำภูมิภาคเอเชีย ชี้ว่า เศรษฐกิจดิจิทัลมีความลื่นไหลกว่าเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมมาก ธุรกิจต่างๆ ไม่ต้องยึดติดกับทำเลที่ตั้งใดโดยเฉพาะ ประเทศที่ไม่ได้มีกฎหมายเอื้อต่อการรับส่งข้อมูลข้ามพรมแดนจะลดทอนศักยภาพทางเศรษฐกิจของตัวเองในการนำหน้าหรือแม้กระทั่งจะตามทันคู่แข่งในภูมิภาคเดียวกัน เช่น เมื่อเข้าไม่ถึงบริการคลาวด์ระดับโลก อาจทำให้ต้องมีต้นทุนในการให้บริการสูงกว่าประเทศที่เปิดให้รับส่งข้อมูลได้อิสระ

นอกจากนี้ รายงานระบุตัวอย่างด้วยว่า การจำกัดการไหลเวียนของข้อมูลในบราซิลและประเทศในสหภาพยุโรป ทำให้ค่าใช้จ่ายบริการคลาวด์สูงขึ้น 30-60 เปอร์เซ็นต์

Tags: , , , ,