หลังจากที่เกรตา ธันเบิร์ก นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนวัย 16 ปีกล่าวตำหนิผู้นำและเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างๆ ระหว่างการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยภูมิอากาศที่มหานครนิวยอร์ก ในวันจันทร์ที่ 23 กันยายน เธอก็ทวีตข้อความว่า เธอและเด็กอีก 15 คนจากทั่วโลกยื่นฟ้องต่อองค์การสหประชาชาติว่า ประเทศอาร์เจนตินา บราซิล ฝรั่งเศส เยอรมนี และตุรกี ละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กจากการที่ไม่ลงมือทำอะไรกับปัญหาสภาวะโลกร้อน เยาวชนกลุ่มนี้เรียกร้องให้ประเทศเหล่านี้ปรับปรุงเป้าหมายด้านภูมิอากาศของตัวเองและทำงานกับชาติอื่นๆ เพื่อแก้วิกฤต

ในปี 2014 อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กซึ่งหลายประเทศเข้าเป็นภาคีเปิดช่องทางให้เด็กสามารถยื่นฟ้องต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กขององค์การสหประชาชาติได้ เนื้อหาในคำร้องระบุว่า ชาติต่างๆ ที่ได้ลงนามเข้าเป็นภาคีไม่ปฏิบัติตามหลักการในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยไม่ได้ใช้ทรัพยากรของตนเองเพื่อป้องกันผลที่คาดการณ์ได้ว่าจะอันตรายต่อชีวิตจากวิกฤตภูมิอากาศ และขาดการร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา แผนการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศเหล่านี้ยังไม่มากพอที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงด้านสภาวะภูมิอากาศปารีส เมื่อปี 2015 ได้ พวกเขาจึงเรียกร้องให้ประเทศเหล่านี้ปรับเป้าหมายด้านภูมิอากาศและร่วมมือกับชาติอื่นๆ 

ทั้ง 5 ประเทศที่ถูกฟ้องร้องนี้ และอีก 44 ประเทศที่รับรองเข้าฟังเรื่องร้องเรียนของเด็กๆ ในการประชุมครั้งนี้ เป็นภาคีในอนุสัญญาสิทธิเด็ก และ 5 ประเทศที่ถูกฟ้องร้องนั้น ถือเป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลกอันดับต้นๆ เช่นเดียวกันกับสหรัฐอเมริกาและจีน แต่ทั้งสองประเทศนี้ไม่ได้ลงนามรับรองอนุสัญญาที่ยอมให้เด็กๆ ฟ้องได้ หากถูกละเมิดสิทธิ จึงไม่ได้อยู่ในรายชื่อประเทศที่ถูกฟ้อง โดยต่อจากนี้คณะกรรมการจะต้องสอบสวนก่อนที่จะให้คำแนะนำกับประเทศที่ถูกฟ้องต่อไป 

หลังทราบข่าว เอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสกล่าวว่า เกรตา ธันเบิร์กจะทำให้สังคมเป็นศัตรู มาครงให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า จุดยืนของธันเบิร์กสุดโต่งมากๆ และดูเหมือนจะทำให้สังคมเป็นตัวร้าย

มาครงบอกว่า การเคลื่อนไหวของเยาวชนหรือคนหนุ่มสาวเป็นประโยชน์ แต่พวกเขาต้องเน้นไปที่คนที่พยายามปิดกั้นหนทาง คนที่อยู่ไกลที่สุด เขาไม่รู้สึกว่า รัฐบาลฝรั่งเศสหรือเยอรมนีปิดกั้นหนทางใดๆ เขายังบอกว่า อยากให้คนหนุ่มสาว “ช่วยพวกเรากดดันคนที่ปิดกั้น และมีส่วนร่วมด้วยวิธีการที่ชัดเจน

ในการประชุมครั้งนี้ ผู้นำชาติต่างๆ ต่างก็นำเสนอแผนของตนเองเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตภูมิอากาศ อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีกล่าวว่า เยอรมนีมีแผนที่จะเลิกใช้ถ่านหินภายในปี 2038 และจะเลิกปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2050 ส่วนมาครงเรียกร้องให้ผู้นำชาติต่างๆ ในอียูลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 55% ภายในปี 2030 เพิ่มจากเดิมที่เคยให้คำมั่นว่าจะลดลง 40%

กลุ่มเยาวชนบอกว่า แผนการต่างๆ ไม่หนักแน่นมากพอ เพราะช่วยลดการปล่อยก๊าซลงไปได้ครึ่งเดียวในเวลา 10 ปี ซึ่งทำให้โอกาสของการลดอุณหภูมิลง 1.5 องศาเซลเซียสเหลือ 50% เท่านั้น เยาวชนที่ยื่นฟ้องในครั้งนี้ต่างอยู่ในกลุ่มเสี่ยง  แรนตัน อันเจน อายุ 17 ปีจากหมู่เกาะมาร์แชลล์ ประเทศของเธอกำลังเผชิญกับปัญหาระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเรื่อยๆ และโรคต่างๆ จากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ไข้เลือดออกสายพันธุ์เดงกี่ จนทำให้ประเทศต้องประกาศภาวะฉุกเฉินติดต่อกันมาแล้ว 2 ปี  หรือเดบอราห์ อะเดจไบล์ อายุ 12 ปีจากไนจีเรีย ประสบปัญหาน้ำท่วมบ่อยจากฤดูฝนที่ยาวนานขึ้นกว่าเดิม ธันเบิร์กบอกว่า พวกเธอต้องอยู่กับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

ที่มา:

https://www.businessinsider.com/french-president-reacts-to-greta-thunbergs-climate-change-lawsuit-2019-9

https://qz.com/1714484/greta-thunberg-files-climate-lawsuit-after-passionate-un-speech/

https://edition.cnn.com/2019/09/23/world/united-nations-greta-thunberg-children-climate-change-human-rights-complaint/index.html

ภาพ : REUTERS/Carlo Allegri

Tags: , , ,