ไม่ว่าจะเป็นภาพของพนักงานมนุษย์เงินเดือนที่กำลังเดินขวักไขว่อย่างเร่งรีบ เพื่อพาตัวเองไปให้ถึงออฟฟิศก่อนที่จะเข้างานสาย หรือภาพของคนในโรงงานที่กำลังแพ็กของเตรียมส่งออกไปยังห้างร้านต่างๆ ตลอดจนภาพของชาวสวนที่กำลังดูแลต้นไม้ให้โตเต็มที่เพื่อให้ได้มาซึ่งผลไม้รสเลิศ ไม่เร็วไม่ช้าภาพกิจกรรมเหล่านั้นจะค่อยๆ จางออกไปจากสังคมไทย

ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นผลมาจากการดีดนิ้วของธานอสแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะ ‘แรงงาน’ ของไทยจะค่อยๆ แก่ขึ้นจนต้องเกษียณอายุออกจากงาน อีกทั้งพิษจากอัตราการเกิดต่ำทำให้แรงงานหน้าใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนมีน้อยลงเรื่อยๆ

อ้างอิงข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2566 สังคมไทยมีจำนวนผู้สูงอายุมากถึง 13 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ถือเป็น ‘สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์’ (Aged Society) แล้ว อีกทั้งการคาดการณ์ในอนาคตสัดส่วนผู้สูงอายุจะยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ

จากปัญหาดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะแรงงานในตลาดจะมีน้อยลง ส่งผลให้ต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ภาคการบริโภคในภาพรวมจะชะลอตัวลงตามไปด้วย เป็นผลจากการรายได้ของผู้สูงอายุมีจำกัด เท่านั้นยังไม่พอประเทศยังต้องเจอกับภาระทางการคลังที่หนักอึ้งมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะรัฐจะต้องทุ่มงบประมาณจัดสรรด้านสวัสดิการสุขภาพผู้สูงอายุมากขึ้น 

การเดินหน้าไปสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ ไม่เพียงส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อกระดูกสันหลังของแรงงานในประเทศอย่าง ‘กองทุนประกันสังคม’ ที่เป็นไม้เท้าค้ำยันไม่ให้แรงงานได้รับผลกระทบมากนักหากเกิดเหตุไม่คาดคิด ตลอดจนเป็นแหล่งทุนในช่วงท้ายของชีวิตที่ว่างเว้นจากการทำงาน

ลองนึกภาพง่ายๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับกองทุนฯ หากไม่มีแรงงานใหม่ที่ทำงานจ่ายเงินสมทบ แต่กลับมีแรงงานเก่าที่ทยอยเกษียณจากการทำงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และดึงเอาเงินจากกองทุนฯ ออกไป เพราะเป็น ‘เงินบำนาญ’ ของพวกเขา ที่มีสิทธิได้ตอบแทนจากความเหนื่อยยากจากการทำงานมาทั้งชีวิต

เมื่อเจอกับสถานการณ์บีบเช่นนี้ ทำให้หลายประเทศที่เจอกับสังคมผู้สูงอายุเลือก ‘ขยายอายุเกษียณ’ เพื่อต่อชีวิตให้กับกองทุนประกันสังคม อีกทั้งยังยืดเวลาการทำงานให้กับแรงงานมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาให้แรงงานยังคงอยู่ในระบบต่อไป

ในหลายประเทศที่เจอปัญหาเช่นเดียวกับไทย ก็เลือกวิธีการขยายอายุเกษียณ เพื่อรักษาไว้ซึ่งกองทุนประกันสังคมเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างประเทศจีน ด้วยปัญหาโครงสร้างเชิงประชากรที่มีจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อย ทำให้ในปี 2567 สภานิติบัญญัติแห่งชาติจีนอนุมัติข้อเสนอการปรับอายุเกษียณ จากเดิมที่เพศชายเกษียณที่ 60 ปี มาอยู่ที่ 65 ปี ขณะที่เพศหญิงที่ทำงานออฟฟิศจากเดิมที่เกษียณอายุ 55 ปี มาเป็น 58 ปี และผู้หญิงที่ทำงานโรงงานจากเดิมที่เกษียณอายุ 50 ปี มาเป็น 55 ปี ถือว่าเป็นการปรับอายุเกษียณครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ทศวรรษของประเทศ

เช่นเดียวกันกับประเทศสิงคโปร์ ที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุขั้นสุด (Super Aged Society) ในปี 2569 ก็ได้ปรับเพิ่มอายุเกษียณตั้งแต่ปี 2562 ภายหลังคณะทำงานไตรภาคีว่าด้วยแรงงานผู้สูงอายุ ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน สหภาพแรงงาน และนายจ้างสิงคโปร์ ได้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายเกษียณอายุและการจ้างงานใหม่ (Retirement and Re-employment Act: RRA) ที่ปรับเกณฑ์อายุเกษียณอยู่ที่ 65 ปี และสามารถกลับเข้ามาทำงานได้จนถึงอายุ 70 ปี เพื่อคงไว้ซึ่งจำนวนของประชากรแรงงานในประเทศ 

อย่างไรก็ตามอีกกรณีที่มีความน่าสนใจคือ ประเทศฝรั่งเศส ที่ในปี 2566 รัฐบาลภายใต้การนำของ เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ได้ผ่านกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญ โดยเพิ่มอายุเกษียณจากเดิมที่ 62 ปีเป็น 64 ปี เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้สูงอายุในประเทศมีมากขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องสร้างความมั่นคงให้กับระบบบำนาญ ทว่าผลจากกฎหมายดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนในประเทศเป็นจำนวนมาก มีผู้ออกมาประท้วงกว่า 7 แสนคน เพราะมองว่าไม่ยุติธรรมที่พวกเขาจะต้องทำงานเพิ่มขึ้น 2 ปี

สำหรับประเทศไทยเองที่ปัจจุบัน ‘อายุเกษียณ’ ถูกกำหนดไว้ที่ 60 ปี ตั้งแต่ปี 2494 หลัง พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มีผลบังคับใช้ และยังไม่ได้มีการปรับแก้ แม้ข้อมูลจากสํานักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กลุ่มงานพัฒนาดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย จะมีการศึกษาแสดงข้อมูลว่า อายุคาดเฉลี่ย (Life Expectancy) ของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นจากอดีต

แน่นอนว่า การขยายอายุเกษียณจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย เพราะในอดีตเคยมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ที่จะขยายอายุเกษียณราชการให้มากขึ้นจากเดิมที่ 60 ปีเป็น 63 ปี โดยคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และความหลากหลายทางสังคมของวุฒิสภา ชุดที่ 12 แต่แล้วการพิจารณาแผนดังกล่าวต้องชะงักลงไป เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบเหตุผลสำคัญคือ

1. ขณะนี้รัฐบาล (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) กำลังปรับเปลี่ยนแผนการบริหารกำลังคนภาครัฐเพราะค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของงบประมาณทั้งหมดในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งอาจส่งผลต่อการลดกำลังคน มีการนำเทคโนโลยีมาใช้แทน

2. จากสถานการณ์โควิด-19 คาดว่า จะส่งผลกระทบด้านการเงินการคลังเป็น 10 ปี ถ้ามุ่งขยายเกษียณอายุราชการ ก็จะมีข้าราชการจำนวนมากที่ยังได้รับเงินเดือน และเป็นภาระค่าใช้จ่ายต่อภาครัฐต่อไป

มาถึงตอนนี้ต้องยอมรับว่า แนวทางการขยายอายุเกษียณเป็นหนึ่งในทางออกของการแก้ไขปัญหาจำนวนแรงงานที่มีน้อยลง อีกทั้งยังเป็นมาตรการที่บังคับใช้ในหลายประเทศ ซึ่งมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย The Momentum จึงขอความเห็นในประเด็นนี้จาก พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) และศุภลักษณ์ บำรุงกิจ อนุกรรมการศึกษาและปรับปรุง พัฒนาเกี่ยวกับขอบข่ายความคุ้มครองประกันสังคม การจัดเก็บเงินสมทบและการพัฒนาสิทธิประโยชน์ กองทุนประกันสังคม (เรียกอย่างสั้นว่า อนุสิทธิประโยชน์) พูดคุยในประเด็นข้อดี-ข้อเสียของเรื่องดังกล่าว

พิพัฒน์กล่าวถึงข้อดีของการ ‘ขยายอายุเกษียณ’ ไว้ว่า เป็นการรักษาไว้ซึ่งจำนวนประชากรแรงงานให้ยังคงอยู่ในระบบ ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดโดยรวม เพราะปัจจุบันสัดส่วนแรงงานหน้าใหม่ในตลาดมีน้อยลงไปเรื่อยๆ

“ผมว่ายังไงมันก็ดี เพราะมองจากฝั่งอุปทาน หรือภาคการผลิต การขยายอายุเกษียณก็คือ การยืดขยายซัพพลายของตลาดแรงงาน มันส่งก็ดีต่อสภาพเศรษฐกิจอยู่แล้ว แต่ว่าจะมีผลเสียต่อสวัสดิภาพของคนบ้าง เพราะคนที่อายุ 60 ปี เขาคิดว่าจะไม่ต้องทำงานแล้ว แต่วันนี้คุณเกษียณไม่ได้แล้วนะ คุณต้องเกษียณอายุ 65 ปีแทน”

ในทางกลับกัน ถ้าประเทศไทยยังไม่ดำเนินการปรับเพิ่มอายุเกษียณ พิพัฒน์ฉายภาพให้เห็นว่า จำนวนประชากรช่วงอายุ 20-55 ปีของประเทศไทยกำลังลดลงเรื่อยๆ ในอัตราประมาณ 0.5% ต่อปี จะทำให้ประชากรวัย 55-60 ปี เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต

พิพัฒน์กล่าวอีกว่า หากหลักใหญ่ใจความสำคัญยังมุ่งหวังเพื่อ ‘รักษาไว้ซึ่งจำนวนประชากรแรงงาน’ อีกแนวทางหนึ่งซึ่งหลายประเทศดำเนินการคือ ‘การเปิดรับแรงงานต่างชาติ’ แต่ต้องเป็นแรงงานที่มีทักษะสูงและสร้างผลผลิตต่อเศรษฐกิจได้สูง เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นที่อ่อนไหว

อีกหนึ่งข้อดีของการขยายอายุเกษียณที่ พิพัฒน์ให้ความเห็นไว้คือ ‘การยืดอายุ’ ให้กองทุนประกันสังคม 

ข้อมูลปัจจุบันของกองทุนประกันสังคมมีเงินสะสมอยู่ราว 2.5 ล้านล้านบาท โดยมีสมาชิกอยู่ประมาณ 24 ล้านคน แต่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) คาดการณ์ว่า ในอีก 30 ปีข้างหน้า เงินกองทุนประกันสังคมของไทยจะหมดลง เพราะมีแรงงานเข้าสู่ระบบน้อยลง แต่กลับมีสมาชิกที่เกษียณมากขึ้น

พิพัฒน์กล่าวว่า การขยายอายุเกษียณเป็นการยืดอายุขัยของกองทุนประกันสังคมได้อีกระยะ ถ้าไม่ยืดและปล่อยให้สมาชิกรับบำนาญตั้งแต่อายุ 55 ปี กองทุนประกันสังคมจะล้มละลายจริงๆ ไม่ใช่ว่ากองทุนประกันสังคมจะไม่พังในอนาคต เพียงแต่เป็นการยืดอายุต่อไป เพราะฉะนั้นการขยายอายุเกษียณเป็นสิ่งที่ต้องทำ ต่างประเทศก็ทำเป็นปกติ ไม่มีประเทศใดที่แรงงานเกษียณต่ำกว่าอายุ 60 ปี

“ต้องบอกทุกคนว่า คุณอย่าไปหวังพึ่งรัฐเลย ทุกคนต้องมี Financial Planning ต้องมี Financial Independence ของตัวเองให้ได้ ต้องคิดให้ออกว่า ตอนที่เกษียณคุณต้องมีเงินเท่าไร เพราะไม่อย่างนั้นทุกคนจะเป็นภาระของรัฐ และรัฐไม่มีทางช่วยได้อยู่แล้ว อันนี้คือโจทย์ของทุกคน” พิพัฒน์ระบุ

แต่ข้อเสียของการขยายอายุเกษียณก็มีอยู่ไม่น้อย

เคยมีรายงานการศึกษาจากทีมวิจัยของ 101 Pub ระบุว่า การเพิ่มขยายอายุเกษียณส่งผลต่อแรงงานในทักษะต่างๆ ที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจเป็นการซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในสังคมให้มากขึ้น กล่าวคือ แรงงานทักษะสูงจะมีการวางแผนและมีโอกาสต่อได้มากกว่า ขณะที่แรงงานทักษะต่ำซึ่งส่วนมากเป็นงานใช้แรงกายจึงอาจไม่ถูกจ้างต่อ ดังนั้นการจ่ายเงินบำนาญช้าขึ้นจะยิ่งทำให้พวกเขาเสี่ยงยากจนมากขึ้นตามไปด้วย

ศุภลักษณ์ บำรุงกิจ อนุสิทธิประโยชน์ กองทุนประกันสังคม ยังเสริมว่า นอกจากความเหลื่อมล้ำข้างต้นแล้ว ‘ความเหลื่อมล้ำทางเพศ’ ก็นับเป็นอีกหนึ่งข้อกังวลของการขยายอายุเกษียณไว้ด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากด้วยปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้สัดส่วนการเข้าถึงการศึกษาของผู้หญิงมีน้อยกว่าผู้ชาย ผู้หญิงเมื่อแก่ตัวขึ้นจะมีโอกาสหลุดออกจากระบบแรงงานได้เร็วกว่าเพศชาย

เมื่อมีความเสี่ยงเช่นนั้น คำถามที่สำคัญคือ การขยายอายุเกษียณควรมีหน้าตาอย่างไร

ศุภลักษณ์ให้คำตอบว่า แนวทางการขยายอายุเกษียณที่ควรจะเป็นคือ ต้องขยายเฉพาะกลุ่มอาชีพ หากจะขยายอายุเกษียณประกันสังคมจาก 55 ปีไปเป็น 60 ปี (ผู้ประกันตนสามารถรับบำเหน็จบำนาญชราภาพได้ตั้งแต่อายุ 55 ปีเป็นต้นไป ซึ่งแตกต่างจากการเกษียณอายุราชการ) ก็ต้องเพิ่มสวัสดิการให้กับพวกเขา ตลอดจนเพิ่มการคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้ไม่ให้ลูกจ้างถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง

“ถ้าขยายกลุ่มข้าราชการ ผมว่าโอเค เพราะไม่ได้เป็นอาชีพใช้แรงงานเยอะ แต่ถ้าขยายอายุเกษียณของประกันสังคม อันนี้เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานเยอะ เมื่อเป็นเช่นนั้นผลกระทบของคนกลุ่มนี้ที่ต้องทำงานมากขึ้นจะทำอย่างไร เช่น คนที่ทำงานโรงงานประกอบรถหรือโรงงานเย็บผ้า เมื่อเขาอายุ 40-45 ปีก็เริ่มทำงานไม่ไหวกันแล้ว จำนวนมากเขาก็ออกก่อนเลย หรือถ้ามีสหภาพก็ยื่น Early Retire เลย มันก็จะเป็นโจทย์อีกว่า เราจะสร้างอาชีพให้คนเหล่านี้หลังเกษียณอย่างไร”

อีกหนึ่งความสำคัญที่ต้องให้ความสนใจ หากมีการขยายอายุเกษียณแล้วคือ การ Reskill ให้กับแรงงาน โดยศุภลักษณ์ยกโมเดลจากประเทศสวีเดนมานำเสนอ โมเดลที่ว่าคือ การเปิดโอกาสให้แรงงานที่ทำงานครบ 8 ปี สามารถกลับไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัย 1 ปี โดยที่ยังได้รับเงินเดือนอยู่ ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมด้านทักษะให้กับแรงงานในตลาดอยู่เสมอ

ขณะที่กลุ่มแรงงานทักษะต่ำ ศุภลักษณ์มองว่าเป็นเรื่องยากที่จะขยายอายุเกษียณ เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีอัตโนมัติเข้ามาช่วย หากความต้องการแรงงานทักษะต่ำมีน้อยลง กลุ่มธุรกิจก็จะเอาทุนตรงเข้ามาแทน จะเห็นได้ว่าอาชีพที่ต้องใช้แรงงานหนักเช่นแม่บ้านหรือพนักงานโรงงาน ก็ Early Retire ไปตั้งแต่อายุ 45-50 ปีแล้ว

เราจะเห็นภาพของม็อบที่ออกมาประท้วงไม่เห็นด้วยกับการขยายอายุเกษียณแบบที่ฝรั่งเศสหรือไม่ – ผู้เขียนถามต่อ

“ผมว่าคนไม่เห็นด้วยมีอยู่แล้ว ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม แต่ว่าขึ้นอยู่ว่าเห็นด้วยมากหรือเห็นด้วยน้อย ม็อบในสังคมไทยออกมาประท้วงยากอยู่แล้ว ถ้าจะเทียบขนาดของม็อบฝรั่งเศส ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย อาจจะมีประท้วงบ้าง อาจจะมีม็อบสหภาพออกมา แต่ไม่ได้สำคัญมากเท่าไร ไม่สร้างความวุ่นวายได้มากขนาดนั้น ถ้าเป็นการเรียกร้องอาจใช้วิธีล็อบบี้นักการเมืองไทยมากกว่า” ศุภลักษณ์กล่าว

ทั้งนี้มีการรายงานจากการศึกษาที่ระบุไว้ในวารสารประชากรศาสตร์วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉบับที่ 1 มีนาคม 2557 ที่มีการศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงอายุเกษียณเฉลี่ยที่แท้จริง ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศองค์การ เพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) พบว่า การเพิ่มอายุเกษียณอายุจะส่งผลต่อการตัดสินใจการออม กล่าวคือ เมื่ออายุเกษียณเพิ่มขึ้นจะทำให้แรงงานใช้ช่วงเวลาในการทำงานมากขึ้น และใช้ช่วงเวลาในการเกษียณน้อยลง จึงไม่จำเป็นต้องออมมากเท่าเดิมซึ่งจะส่งผลลบต่อทางเศรษฐกิจตามมา

ในรายงานจึงเสนอว่า การจัดทำนโยบายเพื่อเพิ่มอายุเกษียณเฉลี่ยจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับนโยบายอื่นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านการออม ซึ่งอาจเป็นไปในรูปแบบของนโยบายเกี่ยวกับภาษีเงินออม ที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ไว้เพื่อในยามเกษียณ เช่น การออมเพื่อการศึกษาหรือการออมเพื่อประกันชีวิต เนื่องจากเมื่ออายุการทำงานเพิ่มขึ้น แรงงานมีแรงจูงใจในการออมเพื่อใช้ในยามเกษียณน้อยลง

อีกหนึ่งทางออกในระยะยาวที่พิพัฒน์และศุภลักษณ์เห็นตรงกันคือ ‘การเพิ่มอัตราการเกิด’ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความท้าทายที่จะแก้ไขปัญหา เนื่องจากปัจจุบันโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศพลิกโฉมจากสังคมเกษตรกรรมมาสู่สังคมภาคบริการ ประกอบกับความไม่เชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเหตุผลที่ทำให้ผู้หญิงไทยเลือกที่จะไม่มีลูก

จากการสำรวจความคิดเห็นของนิด้าโพล (NIDA Poll) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 เรื่อง ‘มีลูกกันเถอะน่า’ โดยสำรวจประชาชนอายุ 18-40 ปี พบว่า คนที่ไม่อยากมีลูก ร้อยละ 38.32 ไม่อยากเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูก เป็นห่วงว่าลูกจะอยู่ในสังคมปัจจุบันอย่างไร และอีกร้อยละ 37.32 ไม่อยากมีภาระที่ต้องดูแลลูก

สำหรับปัจจุบัน อัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate: TFR) ของผู้หญิงไทย หรือจำนวนบุตรที่หญิงไทยสามารถมีได้ตลอดวัยเจริญพันธุ์นั้นอยู่ที่ 0.94 ในปี 2567 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำมาก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เสนอไว้ว่า จะต้องปรับปรุงระบบสวัสดิการของประเทศให้ดีมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษาเพื่อให้มีความมั่นใจว่า บุตรจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ

“เพราะเมื่อคนรู้สึกว่ามีลูกแล้วแพง ไม่ว่าจะด้วยต้นทุนทางตรงหรือต้นทุนทางอ้อม คือยิ่งทำให้คนรู้สึกว่า แล้วฉันจะมีลูกได้ใช่หรือไม่” พิพัฒน์กล่าว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขยายอายุเกษียณมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่มาตรการดังกล่าวในหลายประเทศเริ่มบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว ในวันที่จำนวนแรงงานกำลังลดลงจากผู้คนที่เริ่มเกษียณมากขึ้นและอัตราการเกิดของประเทศที่ยังต่ำมาก การขยายอายุเกษียณจึงเป็น ‘สิ่งที่ต้องทำ’ มากกว่าการเป็นเพียง ‘ทางเลือก’ เพื่อยืดเวลาให้กับกองทุนประกันสังคม ตลอดจนเพื่อคงไว้ซึ่งจำนวนแรงงานในตลาดแรงงานให้นานมากขึ้นกว่าเดิม

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.finnomena.com/editor/china-hike-retirement-age/

https://lawforasean.krisdika.go.th/Content/View?Id=978&Type=1

https://www.the101.world/raising-retirement-age/

https://101pub.org/raising-retirement-age/

https://prachatai.com/journal/2024/10/111218

https://www.thaipbs.or.th/news/content/296414 

https://www.theprachakorn.com/newsDetail.php?id=1002 

Tags: , , , , , , ,