ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นศิลปินกราฟฟิตีโผล่ตัวมาเพนท์กำแพงหรือผนังให้เห็นชัดๆ เพราะโดยมากก็จะเห็นผลงานศิลปะเหล่านั้นอยู่บนกำแพงเรียบร้อยแล้ว แต่งาน STREET! ที่จัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสและสถาบันเกอเธ่ประเทศไทยกับองค์กรระดับท้องถิ่นเปิดโอกาสให้คนทั่วไปเดินมาสำรวจงานศิลปะแบบ Urban art ได้อย่างฟรีสไตล์ ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน- 1 ธันวาคม 2561 ในย่านวัฒนธรรมที่เริ่มมีพลังพ่นสีแบบนี้เกิดขึ้นบ้างแล้ว อย่างย่านเจริญกรุง แถบสถานทูตฝรั่งเศส และบริเวณอื่น

งานนี้เป็นงาน collaboration ของศิลปินตัวจี๊ดทั้ง 9 คน เช่น Alex Face และ Mue Bon จากเมืองไทย Kashink และ JACE ศิลปินจากฝรั่งเศส Julia Benz และ Danny Figueroa จากเยอรมนี

อาจจะเมื่อยคอหน่อย เพราะบางงานอาจจะต้องแหงนหน้ามองศิลปินถือกระป๋องสีขึ้นไปพ่นบนรถเครน แค่มองก็เหนื่อยแทน แต่ศิลปินบางคนบอกว่าเขาชอบมาก เปิดเพลงซัลซ่าไปด้วยฟังเสียงมอเตอร์ไซค์ไปด้วยก็ได้ใจมากอีกต่างหาก

“งานของฉันได้แรงบันดาลใจมาจากหน้ากาก เพราะว่ามันคือวัฒนธรรมที่แฝงอยู่ในทุกสังคมทั่วโลก เป็นสิ่งที่มนุษย์ทั่วไปมีเหมือนกัน ดังนั้นทุกครั้งที่ฉันเพนท์หน้ากาก ฉันจะรู้ทันทีว่าใครๆ ก็สามารถเข้าใจได้ เพราะความเป็นภาษาสากลของมัน

“ส่วนใหญ่แล้วคาแร็กเตอร์ของกราฟฟิตีฉันจะชัดเจนมากๆ เพราะฉันวาดหน้าและชุดดวงตาที่หลากหลายซึ่งมันสื่อความหมายได้แตกต่างกัน แถมสีสันก็จัดจ้านมากๆ เพราะฉันเป็นพวกถูกโรคกับสีสุดๆ แล้วอย่างงาน collaboration ในครั้งนี้ฉันก็ได้คุยกับศิลปินอีกสองคนว่าเราจะสร้างสรรค์โปรเจ็กต์ที่เชื่อมโยงกันและกันให้ออกมาสวยได้อย่างไรบ้าง”

Kashink เป็นศิลปินสาวชาวฝรั่งเศสผู้ที่ทำงานในวงการ urban art ตลอดเวลา เธอตั้งคำถามกับกฎเกณฑ์เรื่องสุนทรียะและนิยามของอัตลักษณ์ ในด้านการเป็นนักเคลื่อนไหว เธอสนใจเรื่องความหลากหลายและจารีตทางสังคมด้วย ซึ่งถ่ายทอดผ่านคาแร็คเตอร์ใบหน้าที่เป็นลายเซ็นของเธอมากว่า 12 ปีแล้ว

“ฉันมาทำงานที่เมืองไทยครั้งแรก ดังนั้นทุกอย่างจึงใหม่หมดเลย ฉันสนใจสำรวจวัฒนธรรมใหม่ๆ อาหาร พวกแมวที่เดินอยู่ตามซอย หรือแม้กระทั่งสี ตัวฉันเองมีความรู้สึกลึกซึ้งกับสีสันอยู่แล้ว และฉันรู้ว่าที่ประเทศไทย การใช้สีก็มีความหมายในตัวของมัน ดังนั้น จึงสำคัญมากที่จะใช้สีให้มากและเป็นประโยชน์ที่สุด หนึ่งก็คือเป็นสไตล์ของฉันอยู่แล้ว และสุดท้ายคือใช้สีเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่มีสีสันของเมืองไทย”

“ฉันคิดว่าจะลองใส่พวกเครื่องประดับลงไปในงานด้วยเพราะย่านนี้ (บางรัก) มีร้านเครื่องประดับและหินสีเยอะมากๆ ในฝรั่งเศสหาไม่ได้ง่ายขนาดนี้ ฉันเลยคิดว่าจะวาดสร้อยคอและเครื่องประดับลงไปแถวๆ คาแร็คเตอร์ที่ฉันวาด”

ไปดูงานที่ Kashink ศิลปินสาวชาวฝรั่งเศสผู้มักจะวาดหนวดเป็น everyday makeup ได้ที่ถนนศรีเวียง ด้านหลังกำแพง State Tower

Danny Figueroa หรือ WESR คือศิลปินชาวเปรูที่ทำงานกราฟฟิติตั้งแต่ปี 2539 แล้วย้ายไปทำงานที่เบอร์ลินในปี 2551 งานของเขาจึงมีกลิ่นอายที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมเปรูและเบอร์ลิน จินตนาการและการใช้สีของเขาสะท้อนให้เห็นการชนกันของวัฒนธรรมทางอเมริกาใต้และยุโรป

“ถึงแม้ว่าจะเป็นครั้งแรก แต่ทำงานที่ไทยไม่ยากเลย อาจจะสบายกว่าด้วยซ้ำ เพราะผมเกิดที่เปรู คุ้นเคยกับวัฒนธรรมแบบนี้ จึงอยากมาทำงานที่เอเชียตลอดเวลา งานที่ผมทำมีคาแร็คเตอร์ของหน้ากาก ซึ่งผมได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมเปรู แต่โดยปกติแล้วผมจะทำงานแบบ freestyle อย่างงานนี้ก็คิดว่าจะวาดตัวอะไรสักอย่างที่ดูเหมือนแมวแต่ก็ไม่ใช่ อาจจะดูเหมือนมังกรอยู่หน่อยๆ ด้วยล่ะมั้ง ยังไม่รู้เหมือนกันครับ”

“ผมตั้งใจจะไม่ให้งานออกมาเนี้ยบ ให้มันดูดิบๆ เพนท์เร็วๆ วาดโครงคร่าวๆ ก่อนที่จะเล่นสนุกไปกับมัน และผมชอบสิ่งแวดล้อมการทำงานที่นี่ ทั้งถนน ผู้คนและรถที่วิ่งไปมา อาจจะรู้สึกเหมือนอยู่กับบ้านมากกว่าเบอร์ลินด้วยซ้ำ ผมอยู่ที่ลิมามา 28 ปี ที่เบอร์ลินอีก 10 ปี ข้างในของผมจึงคุ้นเคยกับบรรยากาศวุ่นวายหน่อยๆ มีคนหัวเราะกันบนถนน คุยเล่นกันสนุกสนาน มันไม่รบกวนการทำงานของผมเลย สนุกแม้แต่การสื่อสารกับคนบังคับรถเครนด้วยซ้ำ”

“ผมอยากที่จะเก็บความสุขเอาไว้ตอนทำงาน ผมทำงานเร็วแต่มันก็ต้องเชื่อมโยงกับความรู้สึกสุขในเวลานั้นด้วย เหมือนคุณปลูกต้นไม้แล้วมันจะโตขึ้นในเวลาสั้นๆ ซึ่งระหว่างนั้นคุณไม่ย้ายมันไปที่กระถางอื่น คุณแค่รอให้มันเติบโต การทำงานของผมก็เป็นแบบนั้น ความรู้สึกต้องเข้าคู่กับการลงมือทำงานเสมอ ดังนั้นตอนที่ผมโฟกัสกับการร่างแบบมากผมก็จะเปิดเพลงซัลซ่า ละตินอะไรไปด้วย เพราะผมมีความสุขในบรรยากาศการทำงานแบบนี้”

Danny ทำงานร่วมกับ Kashink และศิลปินไทย Mue Bon อยู่ที่ถนนศรีเวียง ด้านหลังกำแพง State Tower

Mue Bon (มือบอน) คือศิลปินกราฟฟิตีไทยที่ไปเพนท์งานมาหลายประเทศทั่วโลก ผลงานที่โดดเด่นจัดๆ คือการมีโอกาสไปสร้างงานดิสเพลย์ของแบรนด์ไฮเอ็น Hermès ที่เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และคาแร็คเตอร์นกหรือสติ๊กเกอร์รูปหัวกะโหลก

“การทำงานครั้งนี้เราไม่ได้วางคอนเซ็ปต์ร่วมกันเป็นก้อนใหญ่ขนาดนั้น แต่เราให้ความสำคัญกับความฟรีสไตล์ที่มันแสดงออกถึงความประทับใจต่อกรุงเทพฯ คาแร็คเตอร์งานของเรามีอยู่ทั่วกรุงเทพฯ อยู่แล้ว แต่เราร่วงหล่นลงมาเล่นกันในพื้นที่กับเพื่อน เป็นความสนุกสนานของความหลากหลายของวัฒนธรรมที่กรุงเทพฯ มีให้เพราะว่าตอนนี้เรามีฝรั่ง และคนจากประเทศอื่นๆ มากมาย งานตรงนี้เลยเหมือนเป็นกำแพงตัวแทนความหลากหลายของวัฒนธรรม

“ความสนุกของการทำงานครั้งนี้ อย่างแรกคือแน่นอนว่าการทำงานร่วมกันเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของพวกที่ทำงาน street art หรือกราฟฟิติอยู่แล้ว เราสามารถพูดได้ว่า “Graffiti makes friends.”  มันทำให้เกิดเพื่อนที่ไม่มีกำแพงทางภาษา ศาสนา มีเพียงความชอบร่วมกันคือความชอบในการพ่นสี และ street art มันจึงสนุกอยู่แล้วที่คนประเภทเดียวกันได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันและความรู้ว่าจะทำงานที่ประเทศหนึ่งต้องทำอย่างไรบ้าง เผื่อวันหนึ่งเราไปประเทศเขาเราต้องเตรียมตัวอย่างไร เราก็เล่าซีนในประเทศไทยให้ฟังว่ายูมาที่นี่ไม่ต้องกลัว แค่เดินไปขอกำแพง เจ้าของกำแพงอนุญาตก็ทำเลย ไม่ต้องไปขอถึงรัฐบาล”

“ถ้าติดตามงานผมจะเห็นคาแร็คเตอร์นกอยู่เสมอๆ ธรรมดาผมทำงานที่เป็นพื้นฐานการอยู่ร่วมกันของสังคม เรื่องสิทธิเสรีภาพ สันติภาพ การอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจท่ามกลางความแปลกแยก ผมจึงใช้นกที่คนมักจะคิดว่ามันมีปีกที่แทนความหมายของเสรีภาพ ว่ามนุษย์มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน แต่จริงๆ เราไม่มี ดังนั้นงานของผมทุกชิ้นนกจะบินไม่ได้ อย่างตัวนี้ก็ไม่ได้บิน ถ้าเป็นตัวที่บินได้จะเป็นของพิเศษเสมอ เช่น มีไอเจ็ท ผ้าพันคอ สีสเปรย์ เราเลยใช้คาแร็คเตอร์นี้แทนคนเมือง สังคมเมืองที่หลากหลาย มีความไม่เท่าเทียมกัน มาเล่าด้วยความสนุกสนาน สดใส แต่เรื่องเหล่านั้นก็แฝงด้วยปัญหาที่อยู่กับเรามาตลอด”

Mue Bon ทำงานร่วมกับ Kashink และ Danny อยู่ที่ถนนศรีเวียง ด้านหลังกำแพง State Tower

JACE คือศิลปินชาวฝรั่งเศสที่คุ้นเคยกับประเทศไทยดีเพราะเขาเคยร่วมงานกับ Alex Face หรือ Mue Bon มาบ้างแล้ว ผลงานของเขาน่ารักสดใสและเป็นมิตรกับคนดู แต่มีนัยยะแฝงเสียดสีเยาะเย้ยโลกในท่าทีน่าเอ็นดู

“ปกติแล้วงานของผมจะไม่ได้ยั่วยุเชิงอารมณ์หรือดุดันอะไรแบบนั้น แต่จะเป็นแนวงานในเชิงสุนทรีย์ มีความเจ้าบทเจ้ากลอนเกี่ยวกับความรักหรืออะไรทำนองนี้มากกว่า

“ผมเคยมาเที่ยวที่เมืองไทยและทำงานกับ Alex Face บ้างแล้ว แต่ก่อนกรุงเทพฯ ยังไม่มีงานกราฟฟิตีเยอะเท่านี้ ผมสังเกตว่ามันเพิ่มขึ้นมาก ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องดีหรือไม่ดีนะครับ แต่มันเป็นความจริง”

“งานกราฟฟิตีสำหรับผมเองก็เป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่สำคัญ เพราะมันคืออีกหนึ่งแนวทางของการแสดงออกของคนในสังคม ถ้ามันไม่มีงานศิลปะปรากฏอยู่เลยก็อาจจะมองได้ว่าไม่มีใครกล้าออกมาพูดหรือลงมือทำอะไรเพื่อสังคมหรือเปล่า”

ติดตามผลงานของ JACE กับศิลปินต่างชาติท่านอื่นได้ที่ซอยเจริญกรุง 36 (กำแพงข้างร้านอาหาร Home Cuisine Isalamic)

ติดตามผลงานและสำรวจการทำงานของศิลปินอีกมากมายได้ที่ www.french-highlights.com/street ซึ่งในวันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายนนี้ รวมถึงวันที่ 27-29 พฤศจิกายนก็จะมีศิลปินไปเพนท์ผลงานตามจุดต่างๆ อีกด้วย

 

 

ภาพ: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

Tags: , , , , , ,