จนถึงวันที่ 29 กันยายน ตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทะลุเกิน 1 ล้านคนแล้ว ในระยะเวลา 9 เดือนนับตั้งแต่ที่มีการตรวจพบไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่เมืองอู่ฮั่น

ตัวเลขผู้เสียชีวิตล่าสุดที่รวมในฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ที่รวมข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกหรือ WHO  ศูนย์ควบคุมป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา และประเทศยุโรป รวมทั้งข้อมูลจากคณะกรรมการสาธารณสุขของจีนอยู่ที่ 1,000,555 คน แต่ WHO ก็เตือนว่าตัวเลขนี้อาจต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะยังขาดข้อมูลจากหลายประเทศ เช่น ซีเรีย นอกจากนี้ยังมีกรณีที่เสียชีวิตที่บ้าน โดยไม่รู้ว่ามีสาเหตุจากโควิด-19 หรือไม่ ในจำนวนนี้ สหรัฐอเมริกามีสัดส่วนผู้เสียชีวิตมากกว่า 25% โดยมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เกิน 142,000 คนแล้ว ซึ่งถือว่ามากที่สุดในโลก รองลงมาคือ บราซิล และอินเดียซึ่งมีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน

ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2020 จำนวนผู้เสียชีวิตต่ำกว่า 100 คน ไม่กี่สัปดาห์ต่อมาผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วมากในอิตาลี สเปน อิหร่าน เฉลี่ยแล้วในเมษายนมีผู้เสียชีวิตทั่วโลกประมาณ 6,400 คนต่อวัน จากนั้นลดลงเหลือ 4,449 คนต่อวัน และพุ่งกลับมาที่  5,652 คนในเดือนสิงหาคม

มาร์ค วูลเฮาส์ ศาสตราจารย์ด้านโรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัยเอดินเบอระกล่าวว่า ผู้หายจากโรคโควิด-19 ที่มีอาการผิดปกติที่หัวใจ ปอด และอาการอื่นๆ ยังคงเพิ่มขึ้น แต่คาดว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโดยตรงจะลดลง ที่ผานมาเรายังไม่รู้จำนวนผู้ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ เราเห็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งผู้เสียชีวิตอยู่ในยอดภูเขาน้ำแข็งนี้ 

อัตราการเสียชีวิตเป็นตัวเลขที่เปรียบเทียบผู้เสียชีวิตกับผู้ติดเชื้อทั้งหมด  ตอนนี้เรายังไม่รู้ตัวเลขที่แท้จริง เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้ออาจไม่แสดงอาการออกมา ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีมากกว่าที่บันทึกไว้มาก ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่า ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่จะคร่าชีวิตผู้ติดเชื้อ 0.5-1% ซึ่งถือเป็นอัตราการเสียชีวิตที่อันตราย จนกว่าจะมีวัคซีน

เมื่อจำแนกผู้เสียชีวิตออกตามอายุ นักวิจัยพบว่า 10-20% ของผู้เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุ และมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าที่ WHO คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มคนส่วนใหญ่ต่ำกว่า โดยเฉพาะผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปีมาก 

เนื่องจากการตรวจหาเชื้อเพิ่มจำนวนขึ้นมากกว่าช่วงแรกของการระบาด ตรวจพบผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อยหรือแทบไม่แสดงอาการเป็นจำนวนมาก วิธีการรักษาที่พัฒนาขึ้นจากเดิมมีส่วนช่วยลดการเสียชีวิตของกลุ่มเสี่ยงได้ 

สัปดาห์ที่แล้วเจ้าหน้าที่อาวุโสของ WHO ระบุว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วโลกอาจพุ่งไปถึง 2 ล้านคน ระหว่างที่ยังรอการผลิตและกระจายวัคซีน

ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2020/sep/29/global-coronavirus-deaths-pass-1m-with-no-sign-rate-slowing

https://edition.cnn.com/2020/09/28/health/us-coronavirus-monday/index.html

https://www.reuters.com/article/health-coronavirus-mortality-explainer-i/explainer-why-the-coronavirus-death-rate-still-eludes-scientists-idUSKBN26K09F

ภาพ: REUTERS/Kim Hong-Ji