เหตุการณ์การชุมนุมโดยกลุ่มเสื้อกั๊กสีเหลือง หรือกลุ่ม Gilets jaunes (ชีเล่ต์ โชน) ในวันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม ซึ่งเต็มไปด้วยภาพของความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ที่กำลังลุกไหม้ ด่านกั้นที่ลุกเป็นไฟ หมอกควันจากเปลวเพลิง และการใช้แก๊สน้ำตากับผู้ประท้วง ได้สร้างความกดดันต่อรัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งนำโดยประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) เป็นอย่างมาก
เพื่อยับยั้งเหตุการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเคลื่อนไหวระลอกใหญ่ของกลุ่ม Gilets jaunes ในวันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม เจ้าหน้าที่กว่า 89,000 นาย ได้ถูกส่งเข้ามารักษาความสงบ ทั่วประเทศฝรั่งเศส โดยมีเจ้าหน้าที่จำนวน 8,000 นาย เข้ามารักษาความสงบในกรุงปารีส พร้อมกับรถยนต์หุ้มเกราะกว่า 12 คัน
การประท้วงของกลุ่ม Gilets jaunes ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าหลายพันล้านยูโร รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของฝรั่งเศส บรูโน เลอ แมร์ (Bruno Le Maire) ได้ออกแถลงการณ์ต่อสื่อ หลังจากเข้าประชุมกับตัวแทนภาคธุรกิจว่า ผลกระทบจากการชุมนุม ต่อภาคธุรกิจทั้งในฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่ และฝรั่งเศสโพ้นทะเลค่อนข้าง “สาหัส” เพราะตั้งแต่มีการประท้วงเกิดขึ้น “รายได้ของกิจการค้าปลีกลดลงกว่า 20% ถึง 40% ส่วนรายได้ของภาคธุรกิจร้านอาหารนั้นลดลงกว่า 20% ถึง 50%”
ทั้งนี้ในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของภาคธุรกิจต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว การโรงแรม และธุรกิจการค้า เป็นต้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และผู้คนทั่วไปต่างออกมาจับจ่ายใช้สอย เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส และเทศกาลปีใหม่ ซึ่งตามปกติแล้วยอดขายระหว่างเดือนเทศกาลนี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ
สถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ ทำให้กิจกรรมต่างๆ ในปารีสถูกยกเลิกหรือเลื่อนออกไป รวมถึงพิพิธภัณฑ์และห้างร้านหลายแห่ง โดยเฉพาะในถนน Champs-Elysees ต่างปิดให้บริการระหว่างการชุมนุม
ความกังวลต่อสถานการณ์ความรุนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมในวันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม ทำให้ท่าทีของรัฐบาลเปลี่ยนไป นายกรัฐมนตรีเอดูอาร์ ฟิลลิป (Edouard Philippe) ซึ่งเคยยืนกรานที่จะขึ้นภาษีน้ำมันในปีหน้า ได้ออกมาประกาศการยกเลิกการขึ้นภาษีน้ำมันที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2019 ระหว่างการอภิปรายในวุฒิสภา เพียงสองวันก่อนที่จะมีการประท้วงในวันเสาร์
ทว่าการยกเลิกภาษีดังกล่าวดูเหมือนว่าจะสายเกินไป กลุ่ม Gilets jaunes ยังคงออกมาประท้วงในวันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม ตามโพสต์งานกิจกรรมบนเฟซบุ๊กที่ต่างเขียนว่า ‘Acte 4’ (องค์ที่ 4) ซึ่งหมายถึงสัปดาห์ที่ 4 ของการประท้วง
ทั้งนี้ Gilets jaunes ได้เคลื่อนไหว รวมตัวกันตามสถานที่สำคัญต่างๆ ในปารีส รวมถึงเมืองใหญ่อื่นๆ ในฝรั่งเศส เช่น บอร์โด (Bordeaux), ตูลูซ (Toulouse), และ มาร์เซย์ (Marseille) เป็นต้น รัฐบาลคาดว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมกว่า 125,000 คนทั่วประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีผู้ประท้วงกว่า 1,723 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสอบปากคำ ในจำนวนดังกล่าว 1,220 คนถูกควบคุมตัว ด้วยเกรงว่าผู้ประท้วงเหล่านี้อาจแอบแฝงเข้ามาเพื่อมุ่งจะทำลายร้านค้าหรือสถานที่ราชการ และใช้ความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่รัฐ
ในเมืองมองโตบอง (Montauban) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของตูลูซ เจ้าหน้าที่ตำรวจพบระเบิดขวดซ่อนอยู่ในรถตู้ใกล้กับสถานที่ที่มีผู้ประท้วง ทว่าการใช้กำลังและความรุนแรงยังคงมีให้เห็นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การประท้วงในวันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม มีผู้บาดเจ็บน้อยลง เมื่อเทียบกับการชุมนุมในวันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา
ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Financial Times อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม เซโกเลน โรยัล (Ségolène Royal) ในรัฐบาลชุดก่อน ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า กลุ่ม Gilets jaunes เป็นผลมาจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของรัฐบาลมาครงต่อนโยบายภาษี เธอเล่าว่า “ตอนที่ดิฉันเป็นรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม พวกเขาอยากให้ขึ้นภาษีน้ำมัน แต่ดิฉันปฏิเสธไป” “ประชาชน(ฝรั่งเศส)จ่ายภาษีมากพอแล้ว” ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติล่าสุดของ OECD ประเทศฝรั่งเศสถือว่าเป็นประเทศที่จัดเก็บภาษีมาที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว สัดส่วนการจัดเก็บรายได้ภาษีของรัฐ ต่อ GDP สูงถึง 46.2% (แผนภูมิที่ 1)
แผนภูมิที่ 1 : สัดส่วนภาษีต่อ GDP ของประเทศสมาชิก OECD
ความต้องการที่จะปรับขึ้นภาษีน้ำมันของรัฐบาลซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมนิโคล่าส์ อูโล่ท์ (Nicolas Hulot) นักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมต่อจากเซโกเลน โรยัล ตัดสินใจลาออกกะทันหัน เมื่อสิ้นเดือนสิงหาคม โดยไม่ได้มีการบอกกล่าวอะไรเลยกับประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง และนายกรัฐมนตรีเอดูอาร์ ฟิลลิป
ความรู้สึกโกรธแค้น และไม่พอใจของกลุ่ม Gilets jaunes ทำให้เห็นถึงวิกฤตของประเทศฝรั่งเศส ที่ได้ซ่อนไว้ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน ผู้เข้าร่วมชุมนุมซึ่งเป็นคนชนชั้นกลางระดับล่างและคนชนชั้นแรงงานต่างมีรายได้แทบไม่พอใช้ต่อเดือน รายได้ส่วนใหญ่ต้องนำไปชำระค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า เป็นต้น ทว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่สามารถรับความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐได้ เนื่องจากกลุ่มคนดังกล่าวมีฐานะทางการเงินดีเกินไปที่จะได้รับเงินอุดหนุน
นอกจากนี้ นโยบายของรัฐในอดีต ที่สนับสนุนให้ประชาชนที่ไม่สามารถหาที่พักในเมืองใหญ่ได้ออกไปอาศัยอยู่ในตามพื้นที่นอกเมืองหรือชนบท เพื่อป้องกันปัญหาการทิ้งร้าง ได้สวนทางกับนโยบายของรัฐในปัจจุบัน ซึ่งพยายามรณรงค์ให้ประชาชนใช้รถยนต์น้อยลง แต่ทว่ารถยนต์กลับเป็นพาหนะเดียวที่สามารถเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลดังกล่าว แน่นอนว่านโยบายการขึ้นภาษีน้ำมันได้ซ้ำเติมรอยร้าวระหว่างคนเมืองและคนชานเมือง-ชนบท โดยกลุ่มแรกนั้นไม่ได้พึ่งพารถยนต์มากนัก และมีรายได้ค่อนข้างสูง ในขณะที่กลุ่มที่ 2 ชีวิตประจำวันต้องพึ่งพารถยนต์ และมีฐานะทางการเงินค่อนข้างเปราะบางอยู่แล้ว
เมื่อมองดูเหตุการณ์ทางการเมืองอื่นๆ ในประเทศตะวันตก อย่าง Brexit ใน สหราชอาณาจักร และชัยชนะของทรัมป์ในการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา ปัจจัยที่ Gilets jaunes มีร่วมกันกับเหตุการณ์เหล่านี้ คือ ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ผู้คนที่อาศัยอยู่นอกเมือง และพื้นที่ห่างไกล รู้สึกถูกทอดทิ้งโดยรัฐ เป็นเวลายาวนาน และเห็นว่านโยบายต่างๆ ไม่ได้ช่วยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ดี หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้คนฝรั่งเศสมากมายเข้าร่วมกับ Gilets jaunes มาจาก โครงสร้างทางภาษีของประเทศฝรั่งเศส นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศฝรั่งเศส โทมาส์ ปิเกตี้ (Thomas Piketty) ได้ออกมาระบุว่าปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งแสดงออกผ่านการประท้วงของกลุ่ม Gilets Jaunes นั้น มีต้นตอมาจาก “ความยุติธรรมทางภาษี” สำหรับปิเกตี้แล้ว ประธานาธิบดีมาครงจำเป็นต้องกลับไปบังคับใช้ภาษีความมั่งคั่ง (Wealth Tax) สำหรับคนรวยที่เคยยกเลิกไปก่อนหน้านี้ โดยให้เหตุผลว่าการมีภาษีความมั่งคั่งไม่ได้ส่งผลให้คนรวยนำเงินไปลงทุนในต่างแดนเพื่อเลี่ยงการจ่ายภาษีในประเทศ ในทางกลับกัน ภาษีความมั่งคั่งเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยให้รัฐบาลนำโดยพรรค En March (ออง มาร์ช) และ ประธานาธิบดีมาครงอยู่จนครบวาระ 5 ปี
เพื่อหาทางออกกับกลุ่มประท้วง Gilets jaunes ประธานาธิบดีมาครงอาจจะจำเป็นต้องเปลี่ยนท่าทีอย่างสิ้นเชิง โดยเปลี่ยนจาก En Marche ซึ่งแปลว่า เดินหน้า เป็น En Marche arrière (ออง มาร์ช อาร์ริแอร์) ซึ่งหมายถึง ‘ถอยหลัง’ ตามที่ปิเกตี้ได้เสนอไว้ก็เป็นได้ ทว่าการเปลี่ยนท่าทีนั้นค่อนข้างยาก เนื่องจาก สำหรับ ประธานาธิบดีมาครงแล้ว “ประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ในถนน”
อย่างไรก็ดีตั้งแต่วันที่ 1 จนถึงวันที่ 9 ธันวาคม ยังไม่มีแถลงการณ์อย่างเป็นทางการจากประธานาธิบดีมาครงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีเพียงการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี ทางช่อง TF1 เท่านั้น ซึ่งสื่อหลายสำนัก คาดว่าประธานาธิบดีมาครงจะออกชี้แจงในต้นสัปดาห์นี้
ที่มาภาพหน้าแรก: REUTERS/Stephane Mahe
อ้างอิง:
- C dans l’air – Gilets Jaunes : alerte rouge sur l’économie ?
- https://www.lemonde.fr/idees/article/2018/12/08/thomas-piketty-gilets-jaunes-et-justice-fiscale_5394443_3232.html
- https://www.lemonde.fr/politique/article/2018/12/06/edouard-philippe-confirme-l-annulation-de-la-hausse-des-taxes-sur-le-carburant_5393642_823448.html
- https://www.francebleu.fr/infos/faits-divers-justice/28-cocktails-molotov-decouvert-sur-un-barrage-des-gilets-jaunes-a-montauban-1544182282
- http://www.lefigaro.fr/flash-eco/2018/11/26/97002-20181126FILWWW00214-le-maire-les-gilets-jaunes-ont-un-impact-severe-sur-l-economie.php
- https://www.ft.com/content/594a7848-f96c-11e8-af46-2022a0b02a6c
- https://www.ft.com/content/b1cadae6-f942-11e8-8b7c-6fa24bd5409c