ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันตัดสินให้อดีตฆาตกรในปี 1982 ใช้สิทธิที่จะถูกลืม เพื่อให้เว็บไซต์ต่างๆ ลบชื่อจริงของเขาที่เคยปรากฏในข่าวออกจากอินเทอร์เน็ต
เมื่อปี 1982 ชายคนนี้เป็นลูกเรือของเรือ Apollonia เขายิงคนเสียชีวิตสองคน อีกคนหนึ่งบาดเจ็บสาหัส เขาต้องโทษจำคุกและถูกปล่อยตัวจากเรือนจำในปี 2002
คดีนี้เป็นข่าวใหญ่ในเยอรมนี ชื่อของเขาอยู่ในสื่อและในอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา ในปี 1999 นิตยสารเดอ สปีเกิล อัปโหลดรายงานสามชิ้นเมื่อปี 1982-1983 ที่มีชื่อจริงของเขาอยู่ด้วยบนเว็บไซต์ บทความนี้ค้นเจอได้ง่ายๆ ด้วยกูเกิล
ในปี 2009 ชายคนนี้ตระหนักถึงเรื่องนี้ เขาจึงยื่นคำร้องต่อศาล ศาลรัฐบาลกลางเยอรมันไม่รับคำร้อง โดยให้เหตุผลว่า สาธารณะจะได้ประโยชน์จากการเรียนรู้เกี่ยวกับคดีนี้ และชื่อของเขาในฐานะฆาตกรก็ผูกติดกับคดีนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้
ขณะที่เขาแย้งว่า คลังอินเทอร์เน็ตละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวและความสามารถในการพัฒนาบุคลิกภาพของเขา
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ศาลรัฐธรรมนูญกลับคำตัดสินและให้เหตุผลว่า เมื่อค้นหาข่าวอาชญากรรมข่าวนี้ในคลังข่าวอินเทอร์เน็ต ชื่อเขาขึ้นมาเป็นลำดับแรก ผู้พิพากษาระบุว่า เสิร์ชเอนจิ้นสามารถรายงานข่าวอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ แต่เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ ควรจะทำให้การระบุตัวตนผู้กระทำผิดได้ยากขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป
คำตัดสินที่ออกมาทำให้สื่อเยอรมันยังคงเก็บข่าวเก่าๆ ไว้และให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ แต่ต้องนำออกในกรณีที่มีผู้ขอให้เอาออก ศาลจะตัดสินเป็นรายกรณีว่า เวลาผ่านไปนานมากพอจะเอาออกจากบันทึกเก่าหรือไม่ และควรลบข้อมูลแค่ไหน
ทนายความและนักรณรงค์เสรีภาพสื่อยินดีกับคำตัดสิน โดยบอกว่า ผู้กระทำความผิดมีสิทธิที่จะถูกลืม หรือ The Right to be Forgotten และมีโอกาสใหม่ในสังคม กลุ่มเสรีภาพสื่อของเยอรมันยินดีกับคำตัดสินนี้ เพราะผู้พิพากษาเน้นย้ำถึงความสำคัญของเสรีภาพสื่อ
ที่มา:
- https://www.dw.com/en/germanys-top-court-upholds-murderers-right-to-be-forgotten/a-51436980
- https://www.bbc.com/news/world-europe-50579297
- https://www.theguardian.com/world/2019/nov/28/german-court-backs-murderers-right-to-be-forgotten-online
ที่มาภาพ: REUTERS/Alex Domanski
Tags: เยอรมนี, สิทธิที่จะถูกลืม, The Right to be Forgotten