ประเทศผู้ผลิตรถยนต์อย่างเยอรมนีสร้างความประหลาดใจแก่ชาวโลก ด้วยข้อเสนอลดปัญหามลพิษทางอากาศ โดยให้ประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะฟรี
เยอรมนีและสมาชิกสหภาพยุโรปอีกแปดประเทศ ปฏิบัติตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรปที่ให้จำกัดปริมาณไนโตรเจนไดออกไซด์และอนุภาคขนาดเล็กไม่ทันตามกำหนดเมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา แต่ได้ยืดเวลาอีกเล็กน้อย ไม่เช่นนั้นจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายของสหภาพยุโรป
มลพิษระดับที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ส่งผลกระทบต่อประชากรใน 130 เมืองทั่วทวีปยุโรป มีผู้เสียชีวิตกว่า 400,000 คน และทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพประมาณ 24,700 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
“เรากำลังพิจารณาให้ประชาชนใช้บริการรถสาธารณะฟรีเพื่อลดปริมาณรถยนต์ลง” รัฐมนตรีจากสามกระทรวง ซึ่งรวมถึงกระทรวงสิ่งแวดล้อม เขียนจดหมายถึงกรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป รวมถึงสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่ง
ในจดหมายยังระบุว่า การต่อสู้กับปัญหามลพิษอากาศอย่างมีประสิทธิภาพอย่างไม่รอช้าเป็นปัญหาที่เยอรมนีให้ความสำคัญอันดับต้นๆ จะมีการทดสอบข้อเสนอนี้อย่างช้าที่สุดภายในปีนี้ ในห้าเมืองได้แก่ รอยตลิเง็น (Reutlingen) แฮร์เรนเบิร์ก (Herrenberg) รวมถึงเมืองหลวงเก่าอย่างบอนน์ เมืองอุตสาหกรรมอย่าง เอซเซน และแมนน์ไฮม์ด้วย
นอกจากการไม่เก็บค่าตั๋วโดยสารแล้ว ยังมีมาตรการอื่นๆ อีก เช่น การกำหนดให้มีพื้นที่ที่มีมลพิษน้อย หรือสนับสนุนการใช้รถยนต์ร่วมกัน การห้ามไม่ให้ยานพาหนะอย่างรถบัสหรือแท็กซี่ปล่อยไอเสียออกมา
ระบบขนส่งสาธารณะได้รับความนิยมสูงมากในเยอรมนี มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมามากถึง 10,300 พันล้านคนในปี 2017 เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ค่าตั๋วก็ยังถูกกว่าประเทศอื่นในยุโรป เช่น ค่ารถไฟใต้ดินราคา 2.9 ยูโร ขณะที่รถไฟใต้ดินลอนดอนราคา 5.50 ยูโร
อย่างไรก็ตาม มีคำเตือนจากหลายฝ่ายเกี่ยวกับแผนรองรับต่อไป เช่น หากการทดลองให้โดยสารรถสาธารณะฟรีประสบความสำเร็จ จะมีผู้ผลิตที่สามารถผลิตรถโดยสารไฟฟ้าเพิ่มได้มากตามต้องการหรือไม่ รวมถึงคำถามสำคัญที่ว่า จะใช้เงินจากไหน
หนังสือพิมพ์เยอรมันวิจารณ์ว่า รัฐมนตรีควรคิดอีกทีตอนที่นั่งรถไฟใต้ดินสาย U6 ตอน 7.30 น. เมื่อต้องมีขบวนรถเพิ่มขึ้น พนักงานเพิ่มขึ้น และอาจจะต้องเพิ่มเส้นทางมากขึ้น แล้วเอาเงินมาจากไหน
ที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะให้พลเมืองใช้บริการรถสาธารณะฟรีในประเทศอื่นๆ เช่น เมืองซีแอตเทิลในสหรัฐอเมริกา แต่ล้มเหลว
ที่มา: