‘ขยะ’ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ‘ขยะล้นโลก’ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องเกินจริงแต่อย่างใด เมื่อพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็น ‘ถังขยะ’ ใบใหม่ของโลก เนื่องมาจากขยะล้นเกินที่ไหลทะลักมาจากต่างประเทศ จนก่อให้เกิดปัญหาการค้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ และยังมีการคาดการณ์อีกว่า ภายในปี 2030 หรืออีก 11 ปีต่อจากนี้ พื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีปริมาณขยะพลาสติกที่ไม่มีที่อยู่ถึง 111 ล้านตัน  แต่น่าแปลกใจ ที่ปัญหาวิกฤตเช่นนี้กลับไม่ได้เป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วนสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในวันที่ 20-23 มิถุนายนนี้ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability)

    การที่การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กำลังจะมาถึงไม่ได้บรรจุประเด็นเรื่องการค้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลงในวาระเร่งด่วนนี้ ทำให้กลุ่มปกป้องสิทธิสิ่งแวดล้อมของชุมชนจากมาเลเซีย ฟิลิปปินส์และไทยร่วมกันเรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนกำหนดนโยบายระดับภูมิภาคที่เป็นรูปธรรมและก้าวหน้ากว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการออกข้อห้ามไม่ให้เคลื่อนย้ายขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน รวมถึงการออกกฎเพื่อควบคุมการผลิตและการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน เนื่องจากพื้นที่ในบริเวณดังกล่าวประสบปัญหาขยะล้นเกินอันเนื่องมาจากการไหลทะลักของขยะจากต่างประเทศ จนทำให้ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ถูกเรียกว่าเป็น ‘ถังขยะ’ ใบใหม่ของโลก

ข้อเรียกร้องดังกล่าวมีขึ้นในการแถลงข่าวที่จัดโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศและกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ซึ่งได้นำเสนองานวิจัยและข้อเสนอเชิงนโยบายที่บอกเล่าถึงปัญหาการนำเข้าขยะของเสียที่ประเทศไทย รวมทั้งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศอินโดนีเซียกำลังเผชิญ

ทำไมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงกลายเป็น “ถังขยะ” ใบใหม่ของโลก

ปัญหาที่ทำให้พื้นที่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นแหล่งทิ้งขยะของโลกคือ การที่ประเทศเหล่านี้มีแรงงานราคาถูกและมีมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมที่ต่ำกว่าพื้นที่อื่น อีกทั้งโรงงานที่เกี่ยวข้องยังมีมาตรฐานต่ำกว่าประเทศอื่น นอกจากนี้ ประเทศที่ยากจน มีกฎหรือช่องว่างต่างๆ ทำให้ถูกเอาเปรียบจากประเทศที่มั่งคั่งกว่า

เลอา เกเรโร ผู้อำนวยการประจำประเทศฟิลิปปินส์ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “น่าเศร้าที่ภูมิภาคอาเซียนยังคงเป็นศูนย์กลางของการเคลื่อนย้ายกากของเสียของประเทศต่างๆ มากำจัดทิ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากมาตรการห้ามนำเข้าขยะพลาสติกของจีนเมื่อปี พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา”

นอกจากนี้ การที่ประเทศฟิลิปปินส์ได้รับผลกระทบเรื่องขยะพลาสติกที่นำเข้ามาจนล้นเกินจนเข้าขั้นวิกฤต ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากความสามารถที่ไม่มากพอในการรีไซเคิลขยะทั้งหมด และขยะบางชนิดก็ไม่สามารถรีไซเคิลได้ อีกส่วนหนึ่งก็มาจากช่องว่างทางนโยบายของอนุสัญญาบาเซลที่ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัดนั้น ไม่ได้ครอบคลุมการขนย้ายขยะบางชนิดและสิ่งนี้จำเป็นต้องทำการรับรองจากทุกประเทศในอาเซียน

สำหรับปัญหาเกี่ยวกับขยะที่ล้นเกินในประเทศมาเลเซีย เฮง เคียะ ชุน  ผู้ประสานงานรณรงค์ กรีนพีซ มาเลเซีย เล่าถึงปัญหาว่า หลังจากที่ประเทศจีนออกกฎแบนการนำเข้าขยะพลาสติกจากประเทศอื่นๆ เพียงปีเดียว มาเลเซียก็กลายเป็นประเทศที่รับนำเข้าขยะพลาสติกมากที่สุดของโลก ในปี 2018

แม้ว่ารัฐบาลมาเลเซียจะมีมาตรการส่งกลับขยะนำเข้าหลายร้อยตันไปยังประเทศต้นทาง ก็ยังมีเศษพลาสติกที่ไม่สามารถกำจัดได้หลงเหลืออยู่ในพื้นที่อยู่ดี

เฮงยังกล่าวอีกว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นกับมาเลเซียมันเป็นปัญหาอาเซียน แต่ส่วนตัวแล้วมองว่ามันคือปัญหาของโลก แต่ละประเทศในอาเซียนจึงต้องมีกลยุทธ์ที่จะยุติการส่งออก นำเข้าขยะพลาสติกเหล่านี้จากประเทศรอบอาเซียน ให้มีระบบมากยิ่งขึ้น และต้องหาวิธีทำให้โลกไม่มีพลาสติก ไม่ใช่แค่การหยุดขนย้ายขยะเท่านั้น แต่เราต้องหยุดผลิต หยุดสร้างด้วย”

ในประเทศไทยเอง เราก็ประสบกับปัญหาขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่แพ้ประเทศอื่นๆ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ อธิบายว่า สนธิสัญญาบาเซลไม่สามารถคุ้มครองดูแลประเทศไทยได้ เพราะมีช่องว่างและข้อยกเว้นบางอย่าง อีกทั้งหลังจากที่จีนห้ามนำเข้าขยะในประเทศ ขยะก็มากองอยู่ที่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากยังมีอีก 80 กว่าประเทศที่ส่งออกขยะพลาสติกมายังประเทศไทย จนทำให้เกิดปัญหามลภาวะ สิ่งแวดล้อมเป็นพิษในหลายๆ พื้นที่ เช่น ที่ตำบลท่าถ่าน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ก็ได้สร้างความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ด้วยการเรียกร้องให้ปิดโรงงานขยะที่เปิดโดยชาวจีน แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปของการปิดโรงงานดังกล่าว

ในจังหวัดเพชรบุรี พื้นที่ในหมู่บ้านพุหวายก็เช่นกัน ที่นี่ถูกเรียกว่าเป็นประเทศจีนใหม่ แต่ชาวบ้านได้ต่อสู้เพื่อไม่ให้มีโรงงานพลาสติกเพิ่มในพื้นที่นี้ ขณะที่ตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ก็เป็นพื้นที่ที่มีขยะอยู่จำนวนมาก  ชาวบ้านได้ฟ้องร้องคดีแบบกลุ่มไปสองคดีแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาใหม่ที่เพิ่มเข้ามาคือ กำลังจะมีโรงงานพลาสติกไปสร้างในพื้นที่ที่นั้นอยู่ถึง 9 โรงงานด้วยกัน

ส่วนรัฐบาลไทยนั้น เธอมองว่า แม้จะไม่ได้นิ่งเฉย เพราะมีการออกนโยบายที่จะแบนประเภทขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด 422 ประเภท แต่ก็ยังไม่มีการกำหนดแน่ชัดว่ามีขยะประเภทไหนบ้างที่ถูกแบน และประเภทที่แบนอยู่ภายใต้การควบคุมของอนุสัญญาบาเซลหรือไม่

แม้จะมีคนตั้งข้อสงสัยว่า สาเหตุที่ไม่ได้มีการกำหนดให้เรื่องขยะเป็นวาระเร่งด่วนเพราะประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมอาเซียนซัมมิตที่จะถึงนี้เพิ่งจะผ่านการเลือกตั้งและได้รัฐบาลชุดใหม่หรือไม่ ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลับมองว่า การทำให้เรื่องขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์นี้เป็นประเด็นพูดคุยไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมีการจัดประชุมอยู่หลายครั้ง เพียงแค่หยิบประเด็นดังกล่าวให้เข้าไปอยู่ในวาระการประชุม ไม่ว่าจะเป็นเวทีเศรษฐกิจหรือเวทีใดก็ตาม โดยไม่จำเป็นจะต้องรอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ และหวังว่าจะเห็นวาระนี้เกิดขึ้นด้วยการอาศัยแรงผลักดันจากแต่ละภาคส่วนในการขยับให้ทุกประเทศสนใจปัญหาที่มีอยู่นี้ร่วมกัน

ทั้งนี้ กรีนพีซยังเดินหน้าล่ารายชื่อออนไลน์ “อาเซียนไม่ใช่ถังขยะโลก” เพื่อเปิดให้สาธารณชนร่วมเรียกร้องต่อผู้นำอาเซียนกอบกู้วิกฤตมลพิษพลาสติกตามข้อเสนอต่อไปนี้ด้วย

  • ประเทศสมาชิกอาเซียนทำงานร่วมกันเพื่อบังคับใช้การห้ามนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ในระดับภูมิภาค รวมถึงกากของเสียที่นำเข้ามาในนามของการ “รีไซเคิล” โดยรับรองว่าประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดจะให้สัตยาบันในข้อแก้ไขการห้ามส่งออกของเสียอันตรายภายใต้อนุสัญญาบาเซล (Basel Ban Amendment) เพื่อป้องกันการเล็ดลอดข้ามพรมแดนของกากของเสียอันตราย
  • สร้างนโยบายระดับภูมิภาคแบบองค์รวมที่มุ่งสู่การลดการผลิตผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างมีนัยสำคัญ
  • ผลักดันกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีความยั่งยืนและเป็นธรรมบนพื้นฐานของแนวทางขยะเหลือศูนย์ (zero waste) ที่ปกป้องสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนสามารถพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่ต้องพึ่งพาแบบแผนการถลุงใช้ทรัพยากรที่เกิดของเสียอย่างไร้ขีดจำกัด

 

Tags: , , , , ,