วัฒนธรรมวาย (Yaoi) ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในสังคมอีกต่อไป ซ้ำยังก้าวจากการเป็นวัฒนธรรมย่อยที่รู้จักในวงเล็กๆ มาสู่การถูกยอมรับและได้พื้นที่จากสื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะในระยะหลังที่เรามักคุ้นเคยกับวาย ในฐานะซีรีส์ที่นำโครงเรื่องมาจากนิยาย หรือนักแสดงหนุ่มหน้าตาดีมาเป็นคู่ และมีเคมีกุ๊กกิ๊กชวนฝัน แม้จะดูรักกันแต่ก็ยังไม่ใช่แฟน
แต่หากก้าวออกมาจากโลกแฟนตาซี วายยังคงถูกมองว่าเป็นคนละสิ่งกับคำว่าเกย์ ทั้งที่เป็นชายรักชายทั้งคู่ และสังคมก็ยังไม่ใจดีกับชายรักชายสักเท่าไร เมื่อพูดถึงคำว่าวาย บ่อยครั้งที่เราจะต้องเจอข้อถกเถียงน่าคิดต่อถึงการมีอยู่และแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมนี้
‘ทำไมนักแสดงชายแท้ถึงหากินกับเกย์ ทั้งที่ไม่ได้เป็นเกย์’
‘นักเขียนนิยาย ผู้จัดซีรีส์วาย สายผลิตทั้งหลายที่สร้างภาพจำแบบผิดๆ ให้เกย์’
‘สาววาย ผู้สนับสนุนวัฒนธรรมวาย แต่ไม่ได้สนับสนุน LGBTQ+’
สิ่งที่ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์มักเป็นไปตามประเด็นข้างต้น ซึ่งยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เนื่องจากคำถามเหล่านี้ยังไม่ได้รับคำตอบที่ดีพอในรูปแบบของการกระทำ โดยเฉพาะจากผู้มีบทบาทโดยตรง ได้แก่ นักแสดงวาย ผู้ผลิตสื่อวาย และสาววาย
นักแสดงชายแท้หากินกับเกย์ ทั้งที่ไม่ได้เป็นเกย์ สิ่งนี้เป็นปัญหาหรือไม่?
จริงอยู่ที่นักแสดงมีหน้าที่ในการแสดง จึงไม่มีความจำเป็นที่ตัวตนของนักแสดงจะต้องเหมือนกับบทบาทที่ได้รับ ในเมื่อนางร้ายไม่จำเป็นต้องร้าย และนางเอกในชีวิตจริงก็อาจไม่ได้นิสัยดี แล้วทำไมนักแสดงวายจะต้องเป็นชายรักชายตามบทบาทในซีรีส์ หากเขาสามารถทำหน้าที่ในฐานะนักแสดงได้ดีอยู่แล้ว
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีคลิปวิดีโอจากผู้ใช้ TikTok เผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับนักแสดงท่านหนึ่ง ที่ออกมาบอกเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวการไปแคสติ้ง (Casting) เป็นตัวละครในซีรีส์วายว่า ทางผู้จัดมีการแบ่งว่าใครจะเล่นเป็นผัว (เกย์ฝ่ายรุก) หรือใครจะเล่นเป็นเมีย (เกย์ฝ่ายรับ) โดยที่คนในคลิปนั้นถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม ‘เมีย’ และมีการนำมาเล่าด้วยน้ำเสียงเชิงไม่เข้าใจกึ่งตลกขบขัน ว่าทำไมตนถึงได้ถูกพิจารณาในบทบาทนี้
การกระทำดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้งหนึ่ง ในแง่ที่ว่านักแสดงซีรีส์วายขาดความเข้าอกเข้าใจในอัตลักษณ์ทางเพศของตัวละคร ในระดับที่เรียกได้ว่ามีอคติ เพราะชัดเจนว่า มีการแสดงออกถึงความไม่พอใจที่ตนได้รับบทเมีย อันหมายถึงเกย์รับ ที่ผู้จัดซีรีส์วางไว้ว่าคือคนที่ดูมีความเป็นหญิง (Femininity) ที่สูงกว่า
ปัญหามากที่สุดของการให้นักแสดงชายที่มีอัตลักษณ์ตรงตามเพศ (Cisgender) มาแสดงซีรีส์วาย มักเป็นเรื่องของทัศนคติที่นักแสดงมี เพราะผู้คนส่วนใหญ่ยอมรับได้ หากว่านักแสดงซีรีส์วายมีความตั้งใจที่ดีในการที่จะสร้างความตระหนักรู้ทางสังคมผ่านตัวละคร แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังมีการถกเถียงในระดับที่ลึกลงไปอีกว่า ทุกวันนี้พื้นที่ของเพศชายเพศหญิงก็มีมากอยู่แล้ว ทำไมในบทบาทของตัวละครที่เป็นเกย์ จึงไม่ให้คนที่เป็นเกย์จริงๆ มาเล่น ทั้งที่พวกเขาน่าจะเป็นคนที่ถ่ายทอดเรื่องราวได้ดีที่สุดแท้ๆ
วงการบันเทิงยังคงมีพื้นที่ให้ผู้ที่แม้ว่าจะมีอคติต่อเกย์ แต่ก็เลือกที่จะยอมรับบทบาทเกย์ได้ หากมันจะทำให้พวกเขาได้ตอบโจทย์ความฝันในการเป็นนักแสดงของตัวเอง มีรายได้ และมีชื่อเสียง
นักเขียนนิยาย ผู้จัดซีรีส์วาย สายผลิตทั้งหลายที่สร้างภาพจำแบบผิดๆ ให้เกย์
เนื้อหาจากคลิปวิดีโอเดียวกันข้างต้นมีการเล่าว่า ผู้สร้างซีรีส์วายได้ใช้วิธีคัดเลือกนักแสดง โดยแบ่งเป็น ‘ฝั่งผัว’ คือผู้ชายที่มีรูปร่างสูงโปร่ง มีความเป็นชาย ดูเข้มแข็งมากกว่า และ ‘ฝั่งเมีย’ ที่มักเป็นหนุ่มร่างเล็ก ท่าทางอ่อนหวาน
ปี 2020 ทีมสื่อ Rocket Media Lab ได้ทำการสำรวจซีรีส์วายไทยบนสื่อกระแสหลักทั้งหมด 13 เรื่อง พบว่า ทุกเรื่องจะต้องมีฝ่ายหนึ่งที่ดูแมนกว่าอีกฝ่าย และฝ่ายนั้นจะได้รับบทบาทพระเอก ส่วนคนที่ดูบอบบางกว่า จะได้รับบทนายเอก ซึ่งมีลักษณะไม่ต่างจากการมีพระเอก-นางเอกในโลกละครชายหญิง
การที่ผู้ผลิตทั้งหลายยังคงยึดติดกับระบบเพศสองขั้ว (Gender Binary) เช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรในวงการวาย เพราะมันเป็นวิธีคิดเดียวกับการที่ต้องมี เมะ (เกย์รุก) และเคะ (เกย์รับ) ที่ปรากฏมากในสื่อวายตะวันออก เพียงแต่ว่าครั้งนี้มีการใช้ถ้อยคำที่ตรงไปตรงมาและฟังดูไม่เข้าหูมากกว่าเท่านั้นเอง
แต่อัตลักษณ์ทางเพศและบุคลิกของคนไม่ได้เป็นสิ่งที่ตายตัว การยึดติดกับระบบเพศสองขั้วเช่นนี้ จึงเป็นผลงานที่ไม่น่าซื้อของผู้ผลิตที่เพียงแต่จินตนาการว่า ชีวิตของเกย์ควรเป็นแบบไหน มีความน่ารื่นรมย์อย่างไร แม้จะบอกว่าวัฒนธรรมวายคือชายรักชาย แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากประสบการณ์จริงของคนในชุมชนเกย์ชายด้วยซ้ำ
ในฐานะผู้ผลิตสื่อ มีสื่อวายจำนวนมากที่สร้างความเข้าใจผิดต่อเกย์ และได้กลายเป็นความเชื่อที่ฝังรากให้แก่ผู้เสพ ทั้งเนื้อหาที่ส่วนมากจะทำให้ชีวิตของเกย์ดูง่ายเหมือนชายหญิง เช่น การร่วมเพศ ที่มักจะออกมาโรแมนติกเกินจริง โดยไม่คำนึงถึงเรื่องทางกายภาพระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย หรือการที่ชายหนุ่มทั้งสองได้รักกันอย่างเสรี กุ๊กกิ๊กกันในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างไร้อุปสรรค ซึ่งคงพบได้แค่ในซีรีส์ แม้มันควรจะเกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตจริงได้แล้ว
สาววาย ผู้สนับสนุนซีรีส์วาย ที่ไม่ได้สนับสนุน LGBTQ+ ?
‘สาววาย’ เป็นศัพท์เฉพาะกลุ่ม โดยทั่วไปหมายถึงกลุ่มผู้สนับสนุนวัฒนธรรมวาย ซึ่งเป็นไปได้ทั้งชายรักชายและหญิงรักหญิง ผ่านการเสพสื่อ หรือแม้แต่การจับคู่ผู้คนทั่วไปผ่านจินตนาการแบบวายๆ ว่าพวกเขามีเคมีบางอย่างต่อกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วกลุ่มผู้สนับสนุนนั้นมักจะเป็นเพศหญิง จึงเรียกกันว่าเป็นสาววาย
เราอาจเคยได้ยินคำกล่าวประมาณว่า ‘ผมไม่ได้เป็นเกย์ ผมแค่ชอบพี่คนเดียว เพียงแต่ว่าพี่เป็นผู้ชาย’ ซึ่งมันมีความสับสนในตัวเอง และสาววายหลายคนก็สนับสนุนวัฒนธรรมวายด้วยความคิดว่า เกย์กับวายไม่เหมือนกันตามฐานคิดเดียวกับคำกล่าวนี้ และแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เกิดจากอคติต่อเกย์ที่มีอยู่ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว
สาววายมักถูกมองในแง่ลบจากหลายมุมมอง ถึงอย่างนั้น บางคนก็ภูมิใจที่จะเรียกว่าตนเป็นสาววายไปพร้อมกับเชื่อว่า ตนสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ และมองว่าการจิ้นวาย (การจับคู่ชายรักชาย) เป็นทางเลือกหนึ่งที่ตนเลือกที่จะเสพเพื่ออรรถรสเท่านั้น
ตราบใดที่สิ่งเหล่านี้ยังคงดำเนินอยู่ วัฒนธรรมวายก็เหมือนกับสิ่งที่มีปัญหาในตัวเอง ที่ยังคงต้องถูกตรวจสอบกันไปอีกระยะใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมวายรวมถึงสังคมโดยทั่วไป ยังคงขาดความเข้าอกเข้าใจต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเช่นนี้
Tags: ซีรีส์วาย, นิยายวาย, สาววาย, Gender, yaoi