“มีฮีโร่เป็นผู้หญิงสามคน ดูทรง Woke แน่ๆ”
“บทยัดเยียดมาก คนดำอีกแล้ว”
“Woke เกินไป ทำลายภาพจำวัยเด็ก”
ช่วงปี 2023 เราได้พบกับคำวิจารณ์ภาพยนตร์ที่ออกมาในทำนองนี้เสียจนชินตา ทั้งภาพยนตร์จากค่าย Disney ที่โดนโจมตีอย่างน้อยสองเรื่องด้วยกัน คือ Little Mermaid (2023) และ Snow White ที่กำลังมีแผนจะฉายในโรงภาพยนตร์ รวมถึงฝั่ง Marvel จากเรื่อง ‘The Marvels’ ที่กำลังเข้าฉายอยู่ขณะนี้ ที่แม้ว่าคำวิจารณ์จะเป็นไปในระดับที่เบาบางกว่า แต่ก็หนีไม่พ้นคำว่า ‘Woke’ อยู่ดี
แม้คำว่า Woke ซึ่งนอกจากที่แปลว่าตื่นนอน หมายถึงการตื่นรู้ ตระหนักรู้ถึงสิทธิในประเด็นทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ ผิว เชื้อชาติ ฯลฯ และแน่นอนว่ามีความหมายในเชิงบวก โดยคำนี้เป็นที่รู้จักจากการเคลื่อนไหว ‘Black Lives Matter’ เพื่อต่อต้านการเหยียดคนผิวดำ แต่ระยะหลังคำนี้กลับถูกใช้อย่างแพร่หลาย โดยเป็นไปในเชิงล้อเลียนพฤติกรรมตื่นรู้ของกลุ่มคนที่ Woke เสียมากกว่า
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจต่างๆ มีการปรับตัวให้เข้ากับความเป็นไปในสังคมที่ผู้คนมีความตระหนักรู้มากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี 2016 หลังจากแบรนด์ Nike เลือก โคลิน แคเปอร์นิก (Colin Kaepernick) นักฟุตบอลชื่อดังจากทีม San Francisco 49ers ผู้ปฏิเสธที่จะลุกขึ้นยืนระหว่างการเปิดเพลงชาติสหรัฐอเมริกาเพื่อแสดงจุดยืนประท้วงการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อคนดำ ให้มาเป็นพรีเซนเตอร์ในแคมเปญ ‘Just do it’ ซึ่งถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ และนำมาซึ่งการจุดกระแสการตลาดแบบ Woke ให้หลายแบรนด์ได้ และแนวโน้มของผู้บริโภคก็ยังคงเป็นไปในทิศทางที่ดี ตราบใดที่การ Woke ไม่ได้เป็นไปเพียงแค่จุดประสงค์ทางการตลาดอย่างเดียว แต่ยังแสดงออกถึงความตระหนักรู้ในสังคมที่แบรนด์นั้นมีได้จริงๆ
ขณะเดียวกับที่ Woke กำลังเคลื่อนไหว กลุ่ม Anti-Woke ก็มีการเคลื่อนไหวในลักษณะที่เป็นไปในทางตรงกันข้ามกับ Woke อยู่เสมอ เช่น การต่อต้านการเปลี่ยนเชื้อชาติตัวละครในสื่อบันเทิง ซึ่งนักแสดง ฮัลลี เบลีย์ (Halle Bailey) จาก Little Mermaid และราเชล เซเกลอร์ (Rachel Zegler) จาก Snow White ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในกรณีที่ถูกโจมตีเพราะเหตุแห่งเชื้อชาติเช่นกัน
บ้างว่าปากแจ๋ว บ้างว่ามั่นใจจนเกินไป แม้ในสองกรณีดังกล่าว ผู้คนจะบอกว่า ความเกลียดชังที่เกิดขึ้นเป็นเพราะพฤติกรรมของนักแสดงเอง หรือเป็นเพียงความไม่ตรงปก ไม่ตรงใจ ไม่เหมือนภาพจำวัยเด็ก ถึงอย่างนั้น การโจมตีในลักษณะนี้ก็แทบจะไม่ปรากฏกับนักแสดงผิวขาวชาวตะวันตกเท่าไรนัก แม้ว่าหลายครั้งนักแสดงหรือการตีความเนื้อเรื่องจะไม่ตรงตามแบบฉบับเช่นเดียวกัน
“มีทั้งคนที่ชื่นชอบ เป็นแฟนตัวยง รวมถึงคนที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมีอารยธรรมด้วย แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังมีกลุ่มคนที่เหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศ พวกเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน แต่ฉันเลือกที่จะสนใจคนกลุ่มแรกมากกว่า”
เนีย ดาคอสตา (Nia DaCosta) ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง The Marvels ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ผู้คนบางส่วนมองว่า ผลงานของเธอมีความ Woke และดูยัดเยียดเกินไป จากการที่มีบทแสดงนำเป็นฮีโร่หญิงทั้งหมดและประเด็นอื่นๆ ในเรื่อง
ฮีโร่ที่มักจะเป็นผู้ชาย แอเรียลผมแดงสลวย สโนวไวท์ผิวขาว เราอาจเคยชินกับภาพจำเหล่านี้ก็จริง แต่เพียงแค่ความเคยชินคงไม่สามารถทำให้คนเราใช้คำพูดโจมตี เหยียดผิว หรือเหยียดหน้าตา เพียงเพราะว่าเขาเป็นในแบบที่ตัวเองไม่คุ้นชินได้ถึงเพียงนั้น
สิ่งที่มองลึกลงไปมากกว่า อาจเป็นเรื่องของอคติที่ผู้คนยังคงมีอยู่มาก ทั้งอคติทางเชื้อชาติและการกีดกันทางเพศ (Sexism) ซึ่งที่ผ่านมา พื้นที่ของคนที่ครองอำนาจนำในสื่อก็มักจะเป็นคนผิวขาวเป็นหลัก และในปัจจุบันก็ยังมีบทของชนชาติอื่นอยู่น้อยมาก รวมถึงเพศชายที่มักได้รับบทนำในภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่อยู่เสมอๆ จนทำให้แม้แต่ภาพยนตร์ฮีโร่หญิงยังคงถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ Woke จนเกินไปอยู่
ความแตกต่างหลากหลายก็ไม่ใช่แค่เรื่องเพศหรือเชื้อชาติ แต่โลกนี้ยังมีความหลากหลายยิ่งกว่านั้น การมีตัวแทนของคนที่เรายังไม่คุ้นชินนักในสื่อจะไม่เป็นปัญหาที่กวนใจแต่อย่างใด หากว่าเราเปิดใจและยอมรับว่า ความแตกต่างหลากหลายมีอยู่จริง และทุกสิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
ที่มา:
https://theconversation.com/nike-colin-kaepernick-and-the-pitfalls-of-woke-corporate-branding-102922
https://movieweb.com/woke-disney-movies-controversy/
Tags: Woke, Gender