ไปทำหมันซะ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องมีเซ็กซ์กันอีก

จะทำหมันหรือจะให้เปลี่ยนผัว

ก็บอกดีๆ แล้ว เคยฟังไหมคะ ทำสักที จบๆ

กลายเป็นหัวข้อถกเถียงร้อนแรงบนโลกโซเชียลฯ เมื่อ ลีเดีย-ศรัณย์รัชต์ ดีน ยื่นคำขาดต่อสามี แมทธิว ดีน ผ่านทั้งทางบัญชีอินสตาแกรม (Instagram) ส่วนตัวและป้ายโฆษณาบิลบอร์ด แม้หลายฝ่ายจะลงความเห็นว่า นี่อาจเป็นเพียง ‘คอนเทนต์’ ของครอบครัวดีนในการโปรโมตรายการเรียลลิตี้ ‘DEANE’S DYNASTY’ ที่มีกำหนดออนแอร์บนแพลตฟอร์มสตรีมมิง HBO เร็วๆ นี้ โดยเฉพาะหลังจากที่เรื่องทุกอย่างคลี่คลายลงอย่างรวดเร็วจนน่าสงสัย ด้วยข้อความในโพสต์ของแมทธิวที่ว่า

ผมทำเพื่อคุณได้ทุกอย่าง ผมเห็นใจความเหนื่อยของคนเป็นแม่ที่ต้องแพ้ท้องและอุ้มท้องตลอด 9 เดือนจนคลอดลูก มันเหนื่อยจริงๆ ผมเห็นคุณมาในทุกช่วงเวลา

ที่คิดอยากมีลูกอีกคน ก็เพราะเห็นครอบครัวเรามีความสุขมากเวลาอยู่กับลูกๆ บวกกับการที่เดมี่อยากมีน้องสาวมากๆ แค่นี้แหละ แต่ถ้าที่รักยืนยันว่าจะให้ทำหมันจริงๆ ก็พร้อมตามใจภรรยาอยู่แล้ว ไม่เคยขัด

แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้บทสนทนาเกี่ยวกับหัวข้อนี้ลดน้อยลง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะจุดยืนในอดีตของแมทธิวเกี่ยวกับการทำหมันชาย และความพยายามในการต่อรองให้สามีไปทำหมันของลีเดีย ที่ผ่านช่วงล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด แม้เจ้าตัวจะเริ่มเปรยกับนักข่าวว่าอยาก ‘ปิดอู่’ หลังคลอดลูกสาวคนที่สอง เมื่อปี 2019 จนกระทั่งตั้งท้องอีกครั้งและคลอดลูกชายคนที่สาม เมื่อปี 2022

ไม่ว่านี่จะเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจริง หรือเป็นคอนเทนต์ประชาสัมพันธ์อย่างที่ผู้คนคาดเดากัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ของพวกเขา สามารถสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเกี่ยวกับอำนาจต่อรองระหว่างคู่รักในการวางแผนครอบครัว กับทางเลือกการคุมกำเนิดของเพศชายที่มีอยู่อย่างจำกัด

ส่วนแบ่งตลาดการ ‘คุมกำเนิดชาย’ ที่แสนจะไม่สมดุล

การคิดค้น ‘ยาเม็ดคุมกำเนิด’ คือหมุดหมายที่สำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์เฟมินิสต์และการเคลื่อนไหวสิทธิสตรี สิทธิในการควบคุมร่างกายของตัวเองและเลือกที่จะไม่ตั้งครรภ์ คือประตูบานสำคัญที่นำพาผู้หญิงเข้าสู่โลกแห่งการศึกษา และหน้าที่การงานที่มั่นคงมากขึ้น

ถัดจากยาคุมแบบกินแล้ว ก็ยังมีวิธีการคุมกำเนิดผ่านร่างกายของผู้หญิงแบบใหม่ที่ถูกคิดค้นขึ้นหลังจากนั้นอีกมากมายหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นวิธีคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่ออกฤทธิ์นาน (Long-Acting Reversible Contraception: LARC) เช่น การฉีดยาคุม การฝังยาคุม หรือการใช้ห่วงคุมกำเนิด

หรือวิธีที่ให้ผลลัพธ์ในระยะสั้นๆ อย่างการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด การใช้สารฆ่าเชื้ออสุจิในช่องคลอด การใช้ฝาครอบปากมดลูก (Diaphragm) และอีกมากมาย

หากนับรวมวิธีการคุมกำเนิดแบบถาวรด้วยการทำหมันไปด้วยแล้ว ก็ถือว่าผู้หญิงมีตัวเลือกในการคุมกำเนิดรวมกันเกิน 10 วิธี ในขณะที่หากเราย้อนกลับไปมองตัวเลือกในการคุมกำเนิดของผู้ชาย จะเห็นว่าพวกเขามีวิธีการคุมกำเนิดเพียง 2 วิธีเท่านั้น ได้แก่

1. สวมถุงยาง

2. ทำหมัน

(แน่นอนว่าไม่นับ ‘การหลั่งนอก’ ซึ่งเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ประสิทธิภาพต่ำ และขาดความรับผิดชอบเกินไปเสียหน่อย)

นอกจากจะมีวิธีเพียงน้อยนิด แน่นอนว่าทุกวิธีล้วนมีข้อเสียในตัวของมันเอง การสวมถุงยาง แม้จะไม่มีผลข้างเคียงใดๆ เลย แต่ก็อาศัยวินัยและความใส่ใจ เพราะต้องไม่ลืมซื้อติดตัวและไม่ลืมสวมใส่ให้เรียบร้อยก่อนมีเซ็กซ์ทุกครั้ง ในขณะเดียวกัน การทำหมันอาจสะดวกเพราะทำแล้วคุมกำเนิดได้นาน แต่ข้อเสียคือเป็นการตัดสินใจครั้งเดียวในชีวิต ที่ไม่สามารถย้อนกลับมาแก้ไขได้อีก

ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีส่วนที่ทำให้คู่รักที่มีเซ็กซ์เป็นประจำ ยกหน้าที่เรื่องการคุมกำเนิดให้เป็นภาระของฝ่ายหญิงที่มีตัวเลือกหลากหลายกว่า

หากตัดสินจากข้อมูลเพียงแค่นี้ หลายคนอาจอนุมานเอาว่า ผู้หญิงคงถูกออกแบบให้มีร่างกายที่เหมาะสมกับการคุมกำเนิดมากกว่า จึงทำให้พวกเธอมีตัวเลือกมากกว่าผู้ชายขนาดนี้

แต่นั่นเป็นข้อสันนิษฐานที่แสนจะห่างไกลจากความเป็นจริง เพราะนับตั้งแต่ปี 1979 เป็นต้นมา ตัวยาที่ใช้ในการคุมกำเนิดเพศชายถูกคิดค้นขึ้นมามากมายหลายตัว ไม่ว่าจะเป็นยากินหรือยาฉีด

สิ่งสำคัญประการเดียวที่ขาดไปในสมการที่จะทำให้ความฝันเรื่อง ‘ยาคุมกำเนิดสำหรับผู้ชาย’ เป็นจริง คือแรงจูงใจของกลุ่มทุนในการลงทุนกับการวิจัยสินค้า และศึกษากลุ่มเป้าหมายในระยะยาว เมื่อพิจารณา ‘ผลข้างเคียงร้ายแรง’ หลายประการจากตัวยาเหล่านี้ ทำให้พวกเชื่อมั่นว่า ประชากรชายคงไม่ยอมเปิดใจรับความเสี่ยง

น่าแปลกที่ผลข้างเคียงร้ายแรงของยาที่หลายฝ่ายเชื่อมั่นว่า ผู้ชายคงรับไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น ‘อารมณ์แปรปรวนไม่คงที่’ ‘สิวขึ้น’ ‘น้ำหนักขึ้น’ หรือ ‘ความต้องการทางเพศลดลง’ กลับเป็นผลข้างเคียงอันแสนสามัญธรรมดาของยาคุมกำเนิดแบบกิน แบบฉีด และแบบฝังที่ผู้หญิงทั่วโลกต้องเผชิญมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960

ที่สำคัญคือระดับความอันตรายของอาการเหล่านี้ เทียบไม่ได้เลยกับความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงระหว่างตั้งครรภ์ และอัตราการตายของมารดาระหว่างคลอดบุตร

‘อำนาจต่อรอง’ ระหว่างคู่รักชาย-หญิงในการวางแผนครอบครัว

ครั้งหนึ่ง แมทธิวเคยเปิดอกพูดคุยถึงเหตุผลที่ทำให้ไม่สามารถตกลงปลงใจทำหมันได้เสียที แม้ภรรยาจะแสดงออกถึงความกังวลเรื่องการมีลูกคนถัดไปอยู่บ่อยๆ ทั้งต่อเขาและต่อหน้าสื่อมวลชน

ทำหมัน แผลตรงนั้นเล็ก แต่แผลที่ใจใหญ่

กลัวจะไม่เหมือนเดิม

แม้จะเคยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงเพื่อนดาราที่มีประสบการณ์ และได้รับคำตอบเป็นเสียงเดียวกันแล้วว่า ‘ไม่มีผลต่อสมรรถภาพทางเพศ’ แต่แมทธิวยืนยืนว่า ตนคงไม่สามารถปล่อยวางความกลัวนี้ได้ง่ายๆ แม้จะรู้ว่าทำหมันผู้ชายนั้นทำได้ง่ายกว่า ค่าใช้จ่ายย่อมเยากว่า เจ็บน้อยกว่า และใช้เวลาพักฟื้นสั้นกว่าผู้หญิงก็ตาม

ถือเป็นหนึ่งกรณีตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ความต้องการทางเพศและการรับรู้ถึงความสามารถในการสืบพันธุ์ของตนเอง ส่งผลสะเทือนไปถึง ‘ความรู้สึกเป็นชาย’ ของผู้ชายมากมายขนาดไหน

ในขณะที่สำหรับผู้หญิง การผ่าตัดทำหมันหลังคลอด (Post-partum Sterilization) หรือที่เรียกว่า ‘หมันเปียก’ ซึ่งสามารถทำผ่านทางช่องคลอดได้ทันที ภายใน 48 ชั่วโมงหลังคลอดบุตร กลับถือเป็นวิธีคุมกำเนิดในผู้หญิงที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในโลก

แม้บทสรุปของการปะทะครั้งล่าสุด เป็นตัวแมทธิวที่ยอมโอนอ่อนตามใจภรรยาที่อุ้มท้องและคลอดลูกมาแล้วถึง 3 คน แต่คงไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่จะมีอำนาจต่อรองกับสามีเหมือนอย่างลีเดีย

ปัจจุบัน ผู้หญิงส่วนหนึ่งที่ต้องการมีส่วนตัดสินใจในการวางแผนครอบครัว ยังคงเผชิญกับอุปสรรคในรูปแบบของข้อจำกัดทางกฎหมายที่ยังคงมีอยู่ในหลายประเทศ ซึ่งกำหนดให้ผู้ชายสามารถเลือกที่จะเข้ารับทำหมันเองได้ ในขณะที่ผู้หญิงจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากสามีหากต้องการทำหมัน

นั่นหมายความว่า สามีของผู้หญิงเหล่านี้ รวมถึงครอบครัวของพวกเขา อาจมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจให้พวกเธอเป็นฝ่ายทำหมัน ทันทีที่มีทายาทครบตามจำนวนที่วางแผนไว้นั่นเอง

ที่มา

https://journalofethics.ama-assn.org/article/contraceptive-justice-why-we-need-male-pill/2012-02

https://www.bbc.com/future/article/20180906-why-female-sterilisation-is-so-popular-in-india

https://medium.com/fearless-she-wrote/is-spousal-consent-for-sterilization-still-a-thing-ca595f0704b7

https://www.netflix.com/watch/81062195?trackId=255824129

Tags: , , , , , , , ,