“ใครจะอยากเห็นพวกผิดเพศในหนังกันล่ะ”

“อีกแล้ว ตัวละครเป็นเกย์อีกแล้ว”

“เลิกยัดเยียดเรื่องพวกนี้ใส่ในหนังโดยไม่จำเป็นได้ไหม”

เรามักจะเห็นหรือได้ยินเสียงวิจารณ์ถึงการสร้างตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศในหนังเรื่องต่างๆ ผู้ชมบางกลุ่มอาจรู้สึกว่าหนังบางเรื่องไม่จำเป็นต้องมีความลื่นไหลทางเพศขนาดนั้น หลายคนมองว่าบท LGBTQ+ ของบางตัวละครคือการยัดเยียดใส่เข้ามาเพื่อให้รู้ว่ามี และไม่อยากเห็นการยัดเยียดแบบนี้บ่อยๆ แต่สถิติรายได้และคำวิจารณ์ส่วนใหญ่กลับไม่เป็นอย่างนั้นเสียทีเดียว เมื่อผลสำรวจล่าสุดเผยว่า หนังที่มีตัวละคร LGBTQ+ มีแนวโน้มสร้างรายได้และถูกใจผู้ชมส่วนใหญ่มากกว่าหนังที่ไม่มีความลื่นไหลทางเพศ

มหาวิทยาลัยโมนาช (Monash University) ประเทศออสเตรเลีย ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และความหลากหลายทางเพศ จากการวิเคราะห์ภาพยนตร์ฮอลลีวูดจำนวน 4,216 เรื่อง ที่ออกฉายในช่วงปี 2007-2014 จนพบสถิติน่าสนใจว่า หนังที่มีตัวละครเป็น LGBTQ+ หรือสอดแทรกความหลากหลายทางเพศ จะค่อนข้างเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมทั่วไป และมีรายได้ในบ็อกซ์ออฟฟิศสูงกว่าภาพยนตร์ที่ไม่มีตัวแทนความหลากหลายทางเพศมากถึง 29 เปอร์เซ็นต์

ในปี 2019 รายได้รวมของบ็อกซ์ออฟฟิศมีมูลค่ากว่า 4.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมี LGBTQ+ สอดแทรกอยู่เป็นจำนวนมาก ในตอนนี้ ภาพยนตร์ที่มี LGBTQ+ มีส่วนสำคัญในการสร้างความตื่นรู้ในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ และความหลากหลายของมนุษย์ ทั้งยังส่งผลต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจของวงการภาพยนตร์ โดยหนังที่งานวิจัยยกตัวอย่างถึงความสำเร็จคือ A Single Man (2009) เรื่องราวของอาจารย์มหาวิทยาลัยภูมิฐานที่มีทุกอย่างทั้ง เงิน ฐานะทางสังคม และความเคารพยกย่อง แต่เขากลับมีบาดแผลทางใจที่ทำให้จมจ่อมอยู่กับความเศร้าเพราะสูญเสียชายที่เป็นคนรัก หรือ The Kids Are All Right (2010) เล่าถึงชีวิตคู่ของผู้หญิง 2 คนที่เลี้ยงลูกให้เติบโตมาได้อย่างไม่บกพร่อง

ภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องที่ถูกยกตัวอย่าง โดดเด่นด้วยการเล่าเรื่องความรักของผู้มีความหลากหลายทางเพศได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่เน้นย้ำว่าพวกเขา 2 คนคือคนเพศเดียวกัน แต่นำเสนอว่าความรู้สึกและความสัมพันธ์ปกตินี้ก็เป็นสิ่งปกติธรรมดาเหมือนกับคู่รักชายหญิงคู่อื่นๆ ที่ทำให้เห็นว่าหนังยุคหลังก็เล่าในทำนองนี้เช่นกัน

แต่กว่าจะมีผลสำรวจออกมาว่า หนังที่มีตัวละคร LGBTQ+ อยู่ในเรื่อง มีแนวโน้มได้รับความนิยมและสร้างรายได้มากขึ้น ในปี 2014 เคยมีบทความ ‘เพราะอะไร ภาพยนตร์ LGBTQ+ ถึงไม่ทำเงินในบ็อกซ์ออฟฟิศได้อีกแล้ว’ ที่วิเคราะห์ถึงความหลากหลายทางเพศที่อาจล้มเหลวในวงการภาพยนตร์ เพราะตั้งแต่ปี 2010 มีหนังที่ใช้ LGBTQ+ เป็นตัวหลักเพียงแค่ 7 เรื่องเท่านั้นที่ทำรายได้เกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

บทความดังกล่าวจำแนกเหตุผลว่าหนังที่มีตัวละครเป็น LGBTQ+ ไม่ประสบความสำเร็จเพราะอะไรบ้าง เช่น ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา มีคนในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์พยายามผลักดันความหลากหลายทางเพศ แต่ทำได้ไม่สำเร็จเพราะยังคงมีผู้คนอีกมาก (ในช่วงเวลานั้น) ที่หวาดกลัว LGBTQ+ ไหนจะแนวของบางกลุ่มที่มองว่าภาพยนตร์ไม่ได้มีหน้าที่ผลักดันสังคม หรือเหตุผลที่ว่า ในบางช่วงเวลามีการสร้างภาพยนตร์ LGBTQ+ น้อยลง เลยทำให้หนังที่มีรายได้ถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ น้อยลงตามไปด้วย

อีกหนึ่งเหตุผลที่คาดการณ์กันในช่วงเวลานั้นและดูมีความเป็นไปได้สูง คือ ‘ตลาดภาพยนตร์กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน’ ความหลากหลายทางเพศอาจยังไม่โดนใจนักลงทุน จึงทำให้งบการสร้างค่อนข้างมีต้นทุนที่ต่ำกว่าหนังทั่วไปที่ไม่ต้องรับความเสี่ยงเรื่องคำวิจารณ์ กระแสตีกลับที่รุนแรง หรือการถูกวิจารณ์ว่าสร้างสรรค์งานที่ยัดเยียดอัตลักษณ์ทางเพศจนเกินพอดี

ไม่เพียงเท่านี้ ผลงานที่เล่าเรื่องความหลากหลายทางเพศหรือมีตัวละคร LGBTQ+ มักถูกทำเป็นซีรีส์มากกว่าภาพยนตร์ เช่น Orange Is The New Black, Looking, Please Like Me, The Normal Heart และ Brooklyn Nine-Nine ซึ่งพันธมิตรเพื่อการต่อต้านและการหมิ่นประมาทผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ GLAAD (Gay & Lesbian Alliance Against Defamation) ระบุว่า 4.4 เปอร์เซ็นต์ ของซีรีส์มีการเขียนสคริปต์ให้มีตัวละครที่เป็นตัวแทนของ LGBTQ+ เสมอ และหลังจากนั้นเรื่อยมา เราจะเห็นว่ามีซีรีส์ที่แตะประเด็นเหล่านี้ออกมาให้ชมกันพอสมควร เช่น Gentleman Jack, Dickinson, Euphoria, Killing Eve ฯลฯ

ชาง ยี่หมิน (Cheng Yimin) อาจารย์อาวุโสของมหาวิทยาลัยโมนาช กล่าวถึงรายงานชิ้นล่าสุดของทีมวิจัยว่าชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งสังคม การเงิน และผลกระทบเชิงบวก ไม่ว่าผลงานชิ้นนั้นจะทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นตัวละครเด่นที่ส่งผลต่อเนื้อเรื่อง หรือเป็นตัวละครที่ไม่ได้ส่งผลต่อเนื้อเรื่องมากนักก็ตาม การตระหนักรู้เรื่องเพศของคนในตอนนี้แตกต่างกับเมื่อก่อนไม่น้อย ชีวิตของ LGBTQ+ ถูกนำเสนอมากขึ้น บ่อยขึ้น ทลายกรอบเดิมๆ ได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ความสำเร็จด้านรายได้ก็ส่งกลับไปยังคนทำหนัง ถือเป็นสถานการณ์น่าสนใจที่ทำให้เห็นว่าได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย

“ผลการวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์ที่มีตัวแทนของ LGBTQ+ ทำรายได้ในบ็อกซ์ออฟฟิศได้ดีกว่าภาพยนตร์ที่ไม่มีตัวแทนของผู้มีความหลากหลายทางเพศ แม้หนังที่เล่าความหลากหลายทางเพศหลายเรื่องจะไม่ถูกเรียกว่าเป็น ‘ภาพยนตร์ที่ทำผลงานได้ดีที่สุด’ แต่ผลงานของคนทำหนังแนวนี้กำลังพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

เมื่อ LGBTQ+ เข้ามามีส่วนสำคัญกับภาพยนตร์มากขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในแง่ของรายได้ ความนิยม และเสียงวิจารณ์ของผู้ชมที่เฝ้ารอ ทำให้วงการหนังต้องทำอะไรบางอย่างกับความหลากหลายทางเพศ ที่อาจจะส่งผลดีหรือผลเสียกับ LGBTQ+ ก็ได้ทั้งนั้น เช่น การได้เห็นอัตลักษณ์ทางเพศอันหลากหลายที่มีมากมายในโลกแห่งความจริงมากขึ้นกว่าเดิม หรือการได้เห็นพล็อตหนังที่เล่าความสัมพันธ์คลุมเครือของตัวละคร LGBTQ+ ที่เรียกกันว่า ‘เควียร์เบต’ เยอะขึ้นตามไปด้วยก็เป็นได้

 

อ้างอิง

Research reveals impact of LGBTQ+ inclusion in cinema

https://www.theguardian.com/film/filmblog/2010/feb/15/a-single-man-sexual-preference

https://www.indiewire.com/2014/08/why-dont-lgbt-movies-make-money-at-the-box-office-anymore-216186/

 

ภาพ: IMDb

Tags: , , , , , , ,