ถ้าคุณเรียกตัวเองว่าเฟมินิสต์ ย่อมมีความเป็นไปได้สูงว่าคุณจะไม่เห็นด้วยกับการบังคับกะเกณฑ์ให้ผู้หญิงเข้าครัว เลี้ยงลูก รอปรนนิบัติสามีอยู่ที่บ้าน นอกจากนี้ คุณอาจรู้สึกขยาดภาพจำเดิมๆ ของเด็กสาววัยรุ่นคนหนึ่งที่ถูกผลิตซ้ำไปซ้ำมาในสื่อ

เราอาจพบเจอเธอในชื่อ รูปลักษณ์ และภูมิหลังที่อาจแตกต่างออกไปบ้างตามโอกาส แต่เธอยังคงเป็นเด็กสาวคนเดิมที่ใช้ชีวิตเวียนวนอยู่กับความหมกมุ่นว่าผู้ชายที่ชอบจะสนใจเธอ มองมาที่เธอ หรือเห็นเธออยู่ในสายตาบ้างหรือไม่

ภาพ: ภาพยนตร์ สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก (2010)

หนึ่งในเรื่องราวที่หลายคนได้ยินเรื่องย่อแล้วต้องส่ายหน้า ก่อนบ่นอุบว่าช่าง ‘ไม่เฟมินิสต์’ และ ‘ไม่เสริมสร้างพลังหญิง’ เอาเสียเลย คงหนีไม่พ้น เงือกน้อยผจญภัย (The Little Mermaid) ภาพยนตร์ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของ แอเรียล เงือกสาวผู้ยอมสละเสียงอันไพเราะของตนเองแลกกับการมีขา เพียงเพื่อให้สามารถยืนเคียงข้างกับเจ้าชายรูปงามได้

อันที่จริง ไม่ว่าจะในหนังเวอร์ชัน 2023 ที่เพิ่งเข้าฉายเมื่ออาทิตย์ก่อน หรือในเวอร์ชันเดิมที่เป็นที่นิยมมาตั้งแต่ปี 1989 ความหลงใหลในโลกมนุษย์ของแอเรียลเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ก่อนที่เธอจะได้เจอกับเจ้าชายอีริกด้วยซ้ำ จะเรียกว่าเธอ ‘หนีขึ้นบกเพื่อไปตามผู้ชาย’ ก็คงไม่ถูกเสียทีเดียว

ภาพ: ภาพยนตร์ The Little Mermaid (2023)

แต่หากลองสมมติว่าแอเรียล ‘บ้าผู้ชาย’ จนถึงขั้นยอมเสียสละเสียงร้องเพลง ซึ่งเป็นพรสวรรค์อันล้ำค่าของชาวเงือก เพียงเพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตคู่กับชายที่เธอรักจริงๆ ล่ะ สิ่งที่เธอตัดสินใจทำนั้น จะถือว่าผิดหลักการสตรีนิยมมากมายถึงเพียงนั้นเลยหรือ?

เฟมินิสต์กับการใช้ชีวิต ‘เพื่อผู้ชาย’

ในบรรดาตัวละครที่มีชื่อเสียงที่สุดจากตำนานกษัตริย์อาร์เธอร์ หนึ่งในนั้นคือ ‘แลนเซอล็อต’ ผู้ใกล้ชิดของกษัตริย์อาร์เธอร์และหนึ่งในอัศวินโต๊ะกลม โดยต้นสายปลายเหตุที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักถึงขนาดนี้ คือความรักแบบเทิดทูน (Courtly Love) ที่เขามีต่อพระนางกวินิเวียร์ ซึ่งมากล้นจนทำให้เขาทรยศนายเหนือหัวที่รักและไว้ใจเขาในที่สุด

เรื่องราวความรักระหว่างเขากับกวินิเวียร์กลายเป็นตำนานรักที่โรแมนติกที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีทั้งคนรักและคนชังด้วยเป็นรักต้องห้ามที่พ่วงมากับการนอกใจ

อย่างไรก็ดี เราแทบไม่เคยได้ยินใครดูแคลนแลนเซอล็อตที่ตัดอนาคตของตัวเองในฐานะอัศวินด้วยการเป็นชู้กับเมียของเจ้านาย อย่างที่แอเรียลโดนวิจารณ์ว่าทิ้งชีวิตเดิมของตัวเองเพราะความ ‘บ้าผู้ชาย’ สักเท่าไร

เขาอาจเป็นคนบาป เป็นคนทรยศในสายตาใครหลายคน แต่ท่ามกลางเสียงตอบรับทั้งด้านบวกและด้านลบที่ผู้คนมีต่อเขา ความรักของเขาไม่ได้ถูกลดทอนคุณค่าให้เป็นแค่ความ ‘บ้าผู้หญิง’

ความรักคือสิ่งที่ทรงพลัง และห้วงอารมณ์ความรู้สึกอันทรงอานุภาพนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ระหว่างหญิงกับชายเท่านั้น

หากคนที่เปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์เพื่อดึงดูดคนที่แอบชอบเป็นเลสเบี้ยน หรือหากคนที่ผันตัวเองมาเป็นช้างเท้าหลังอย่างเต็มตัวเพื่อสนับสนุนคนรักนั้นไม่ใช่หญิงสาว แต่เป็นเกย์หนุ่ม คงไม่มีใครคิดว่านั่นเป็นการตัดสินใจที่แสนจะ ‘ไม่เฟมินิสต์’

ฉะนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดที่เราควรให้ค่าความฝันของหญิงสาวที่จะครองรักกับชายหนุ่มน้อยลงไปกว่ากันเลย

กระนั้นก็ตาม หลายคนอาจกังวลว่าความต้องการที่แท้จริงของผู้หญิงสักคน อาจถูกกดทับโดย ‘สำนึกความเป็นหญิง’ ที่สังคมยัดเยียดให้ว่าจะต้องสวย ต้องแต่งงานมีสามี ต้องเป็นแม่ศรีเรือน

เพราะแม้ขบวนการสตรีนิยมจะขับเคลื่อนกันมาเกือบ 200 ปีแล้ว ปัจจุบันเราก็ยังอาศัยอยู่ในยุคสมัยที่สังคมตีตราหญิงแก่ที่ยังโสด เหมารวมหน้าที่ดูแลลูกให้เป็นของแม่ มีสวัสดิการลาคลอดของแม่แต่ไม่มีของพ่อ ฯลฯ

อย่างไรก็ดี เราสามารถพูดคุยถกเถียงถึงสภาพสังคมที่ไม่เท่าเทียมนี้ และในขณะเดียวกันก็เคารพความต้องการของตัวเอง (หรือผู้อื่น) ที่ยืนยันจะทำสิ่งที่ทำให้ใจมีความสุขไปพร้อมกันได้

เพราะแนวคิดสตรีนิยมไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อผลักดันให้ผู้หญิงสวมหมวก Working Women คนเก่ง ออกจากบ้านมาทำงานสัปดาห์ละ 50 ชั่วโมงแบบเลิศๆ เชิดๆ โดยไม่ต้องสนใจเรื่องสร้างครอบครัว

แนวคิดสตรีนิยมเกิดขึ้นเพื่อผลักดันให้ผู้หญิง ‘เป็นอิสระ’ จากการกดขี่ต่างหาก และชีวิตที่ปราศจากการกดขี่ก็ไม่ได้มีหน้าตาเหมือนกันสำหรับผู้หญิงทุกคน

สำหรับคนยุคใหม่หลายคน การได้ทำงานประจำที่รักไปจนเกษียณอาจเป็นความฝันสูงสุด แต่สำหรับบางคน อาจไม่มีอะไรสุขเท่ากับการได้มีความรักดีๆ หรือได้อยู่บ้านดูแลครอบครัวอีกแล้วก็ได้

“เพียงเพราะว่าความฝันของฉันแตกต่างจากเธอ 

ไม่ได้หมายความว่ามันไม่สำคัญ” 

— เม็ก มาร์ช, สี่ดรุณี (ภาพยนตร์ Little Women, 2019)

ภาพ: ภาพยนตร์ Little Women (2019)

การเปลี่ยนตัวเอง ‘เพื่อผู้ชาย’ และอำนาจเหนือเรือนร่างของเพศหญิง 

หากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราได้เงิน 100 บาททุกครั้งที่ได้ยิน หรือได้เห็นคำว่า ‘Male Gaze’ ตอนนี้เราอาจจะรวยพอๆ กับเจ้าสัวสักตระกูลก็ได้ และแน่นอนว่านี่เป็นเรื่องที่ดี

เพราะในยุคสมัยที่เรายังเผชิญกับปรากฏการณ์ที่เพศหญิงตกเป็นวัตถุเป้าสายตา ภายใต้อำนาจในการจ้องมองของเพศชายผ่านสื่อ การถกเถียงและแลกเปลี่ยนกันเรื่อง Male Gaze ย่อมมีคุณมากกว่าโทษ

ทว่าหากพิจารณาอีกคมหนึ่งของดาบฝักนี้ ข้อเสียของการที่สิ่งหนึ่งเริ่มถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง คือคำจำกัดความของสิ่งนั้นอาจถูกขยับขยาย หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

เมื่อประมาณ 1 ปีก่อน เกิดเทรนด์อัดคลิป TikTok เปรียบเทียบสไตล์การแต่งตัวของตนเองสมัยที่ยังได้รับอิทธิพลจาก Male Gaze กับสไตล์การแต่งตัวของตน ภายหลังจากที่ตัวเองหลุดพ้นจากความกดดันดังกล่าวแล้วที่เรียกว่า ‘Post-Male-Gaze Look’

ภาพ: บัญชีผู้ใช้ TikTok @lola_chx และ @chloeskye

พิจารณาจากจุดร่วมของบัญชีผู้ใช้ที่เข้าร่วมเทรนด์นี้ ดูเหมือนว่าความคิดเห็นของพวกเธอจะเป็นเอกฉันท์ว่า สไตล์ดึงดูด Male Gaze ที่พวกเธอสวมใส่ในยุค ‘Before’ คือลุกผู้หญิงจ๋า หากไม่สวมกระโปรงหรือเดรสที่ดูอ่อนหวานไปเลย ก็มักนุ่งน้อยห่มน้อย หรือสวมเสื้อผ้าที่ขับเน้นส่วนเว้าโค้งของร่างกาย

ในขณะที่ในยุค ‘After’ ซึ่งพวกเธอผ่านการเติบโตขึ้นแล้ว สไตล์ก็จะเริ่ม ‘มัสคิวลีน’ (Masculine) หรือสนุกสนานมากขึ้น และ ‘โป๊’ น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

เมื่อคำว่า Male Gaze เริ่มถูกนำมาใช้กับสิ่งที่อยู่นอกเหนืออำนาจในการผลิตสื่อบันเทิง อย่างสไตล์การแต่งตัวของคนทั่วไป ความเข้าใจที่หลายคนมีเกี่ยวกับคำนี้ จึงดูจะพุ่งเป้าไปที่การแต่งตัวสไตล์ใดสไตล์หนึ่งเป็นพิเศษ โดยไม่คำนึงถึงบริบทที่ห้อมล้อมเสื้อผ้าชุดนั้นๆ สักเท่าไร

ทั้งที่เดิมทีนั้น หัวใจหลักของคำว่า Male Gaze คืออำนาจของเพศชายในการจ้องมองเรือนร่าง ซึ่งดำรงอยู่โดยที่เจ้าของเรือนร่างซึ่งเป็นเพศหญิงไม่มีอำนาจไปต่อต้านหรือหลีกเลี่ยงการจ้องมองนี้

สิ่งเหล่านี้ถูกแสดงออกในกระบวนการผลิตสื่อ อย่างการจัดวางมุมกล้องเสยใต้หว่างขา การถ่ายทำฉากเซ็กซ์ที่ไม่ได้มีผลต่อเส้นเรื่อง หรือการมุ่งความสนใจไปที่สรีระของตัวละครมากกว่าสารหลักของฉากดังกล่าว อย่างคำพูดหรือการกระทำ 

โดยที่รูปลักษณ์อาจเป็นเพียงปัจจัยรองในกระบวนการเหล่านี้ด้วยซ้ำ บริบทต่างหากคือสิ่งสำคัญ เพราะไม่ว่าตัวละครจะมีหน้าตาแบบใด เลือกแต่งตัวสไตล์ไหน แต่หากร่างกายพวกเธอไม่ได้ถูกจัดวางในฉากโดยทีมสร้าง เพื่อให้ถูก ‘โลมเลีย’ โดยสายตาของตัวละคร (และผู้ชม) ชายโดยเฉพาะ สายตาที่ทอดมองไปก็ไม่ใช่สายตาที่อยู่นอกเหนือ ‘อำนาจ’ ของพวกเธอโดยสิ้นเชิง

ภาพ: ซีรีส์ Euphoria (2019)

การเพิกเฉยอิทธิพลที่สังคมมีต่อวิธีการแสดงตัวตนของผู้หญิง แล้วลดทอนความพยายามเปลี่ยนแปลงเพื่อที่จะเป็นที่รัก ที่ปรารถนา ให้เป็นแค่เพียง ‘การยอมจำนนต่อความพึงใจของผู้ชาย’ ในทุกกรณี อาจทำให้เราละเลยความต้องการและอำนาจในการจัดการร่างกายของตัวผู้หญิงไปโดยไม่รู้ตัว

อ้างอิง

Greep, M. (2021). “Are YOU dressing for the ‘male gaze’? TikTok trend sees users ditch denim shorts and tight dresses for looser fits and psychedelic prints after ditching clothes that appeal to men” Daily Mail. https://www.dailymail.co.uk/femail/article-10127687/Are-dressing-male-gaze-TikTok-trend-sees-users-change-style-stop-pleasing-men.html 

Ramaswamy, C. (2015). “I love being a housewife and that doesn’t make me any less of a feminist” The Guardian. https://www.theguardian.com/commentisfree/2015/mar/02/housewife-feminist-baby 

Tags: , , , , , , ,