เทศกาล Pride Month กำลังจะผ่านพ้นไป ในช่วงเดือนที่ผ่านมาเราได้เห็นผู้คนและสื่อประชาสัมพันธ์จำนวนมาก ร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความหลากหลายนี้ด้วยการแนะนำซีรีส์ หรือภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวของ LGBTQIA+ ซึ่งสามารถชมได้ทั่วไปในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า เรื่องราวของคนเพศหลากหลายในสื่อ ยังคงมีภาพจำแบบเดิมกับเมื่อหลายสิบปีก่อน คือมักมีจุดจบน่าเศร้า ตัวละครหลายตัวต้องเผชิญความโดดเดี่ยวที่ไม่ได้เลือก หากเป็นคนรักกันมักจะไม่สมหวัง ไม่จากเป็นก็จากตาย หรือบอกเล่าเรื่องราวความรักที่ดูยากลำบากหนักหนา ไม่ว่าจะเป็นตัวละครหลักหรือนักแสดงสมทบ สิ่งนี้เกิดขึ้นเพียงเพราะละครคือภาพสะท้อนของความเป็นจริงเท่านั้นหรือ?

ย้อนกลับไปในช่วงปี 1930 มีสิ่งที่เรียกว่า Hays Code คือข้อปฏิบัติในการควบคุมเนื้อหาภาพยนตร์และสื่อที่ผลิตในสหรัฐอเมริกาซึ่งถูกบังคับใช้จนถึงปี 1968 หนึ่งในประเด็นสำคัญของ Hays Code คือกฎที่ห้ามไม่ให้มีการแสดงถึงความวิปริตทางเพศ (ต้นฉบับใช้คำว่า Sex Perversion) โดยรับรู้กันว่าหมายถึงการรักเพศเดียวกันด้วย

ในยุคนั้น ผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างต้องดำเนินกิจกรรมตามแนวทางของ Hays Code ซึ่งแน่นอนว่า กฎนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อบทบาทของ LGBTQIA+ ในสื่อ ที่เห็นได้ชัดคือการเกิด ‘Queer Coding’ คือการมี LGBTQIA+ ในเรื่อง แต่เลี่ยงที่จะระบุชัดว่า ตัวละครนั้นมีอัตลักษณ์ทางเพศแบบใด

Queer Coding ทำให้ตัวละครที่เป็นเพศหลากหลายถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ นอกจากจะทำให้ขาดภาพแทนในสื่อแล้ว หลายครั้งความคลุมเครือนี้ยังสื่อว่า ความหลากหลายทางเพศคือสิ่งที่ผิดศีลธรรม และสร้างภาพเหมารวมว่า เพศหลากหลายเท่ากับสิ่งชั่วร้าย โดยการให้ตัวร้ายในเรื่องมีลักษณะที่ดูคล้ายเควียร์ เช่น เออร์ซูลา จาก The Little Mermaid (1989) ตัวร้ายในตำนานที่มีแรงบันดาลใจในการสร้างตัวละครมาจากแดร็กควีน

แม้ Hays Code จะถูกยกเลิกไป แต่เราก็ยังคงคุ้นเคยกับเรื่องราวอันน่าเศร้าของตัวละคร LGBTQIA+ ที่ยังคงเป็นแนวทางคลาสสิกของการผลิตสื่อมาถึงปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างความรักที่เป็นไปไม่ได้เพราะสังคมไม่ยอมรับ เกย์ชายที่ต้องปิดบังตัวตนแล้วไปแต่งงานกับผู้หญิง ไปจนถึงตัวละครเพศหลากหลายที่เสียชีวิตด้วยโรคติดต่อทางเพศ ไม่ว่ารายละเอียดในเนื้อหาจะต่างกันอย่างไร แต่ทั้งหมดมีจุดร่วมกันคือ ความเศร้าและน่าสลดใจ

ตัวละคร Lexa จากซีรีส์เรื่อง The 100 (2014) ถือเป็นตัวอย่างของตัวละครเลสเบี้ยน ที่แม้ภาพยนตร์จะมอบพื้นที่ให้ได้แสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศ แต่ต้องพบกับจุดจบอันน่าเศร้าอยู่ดี เพราะนอกจากจะต้องพลัดพรากกับคนรักหลายปี เมื่อได้พบกันเธอกลับถูกฆ่าภายในเวลาเพียง 1 คืน กลายเป็นเรื่องราวของความรักอันน่าสะเทือนใจ จนในช่วงหนึ่งมีคนนำคำว่า ‘Bury Your Gays’ หรือ ‘Dead Lesbian Syndrome’ มาใช้ในการอธิบายเหตุการณ์ที่ผู้จัดทำภาพยนตร์มักให้ตัวละคร LGBTQIA+ เสียชีวิตอย่างอนาถ และไม่สมหวังในความรักตลอดไป

แน่นอนว่า มีอีกหลายเรื่องที่ LGBTQIA+ ถูกนำเสนอเช่นนี้ ราวกับว่าเรื่องราวอันขื่นขมกับเพศหลากหลายเป็นของคู่กัน เช่น Poussey จาก Orange Is the New Black (2013), Villanelle จาก Killing Eve (2018) หรือ Oberyn Martell จาก Game of Thrones (2011) ตัวละครทั้งหมดนี้มาจากสื่อในยุคปัจจุบัน ที่แม้ความเท่าเทียมทางเพศจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากเมื่อก่อน แต่ยังคงติดภาพเหมารวมแบบเดิมอยู่ดี

ด้านภาพจำของหนังรักเกย์ชายมักเต็มไปด้วยการต่อสู้ดิ้นรนที่เป็นของคู่กัน อย่างซีรีส์เรื่อง แปลรักฉันด้วยใจเธอ (2017) หรือภาพยนตร์เรื่อง Dear Tenant (2020) จากไต้หวัน ทั้งคู่ต่างก็เป็นภาพยนตร์ที่ดีทั้งในแง่ของรางวัลการันตีและเนื้อหา และยังมาจาก 2 ประเทศในเอเชียที่ถือว่ามีความก้าวหน้าเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ถึงอย่างนั้น เนื้อหาที่สะท้อนยังเต็มไปด้วยความเจ็บปวด

นอกจากความเศร้าแล้ว ในประเทศไทยแม้เราจะมีความคุ้นเคยกับคนเพศหลากหลายในสื่อ โดยเฉพาะทรานส์เจนเดอร์และเกย์ แต่ตัวละครเหล่านั้นมักถูกนำเสนอให้เป็นตัวตลก มีเพื่อสร้างสีสันในเนื้อเรื่อง และสีสันที่ว่าก็แฝงด้วยแนวคิดเหยียดเพศ เป็นเรื่องราวของผู้ไม่สมหวังที่ถูกเล่าแบบติดตลก เช่น ตัวละครกะเทยที่ต้องบ้าผู้ชาย แต่สุดท้ายก็อยู่อย่างโดดเดี่ยว

จริงอยู่ที่ภาพยนตร์หรือบทละคร คือผลสะท้อนความเป็นจริงไม่มากก็น้อย และชีวิตของ LGBTQIA+ ทุกวันนี้ยังคงเต็มไปด้วยความยากลำบากในหลายแง่ แต่เรื่องราวของพวกเขาควรถูกเล่าในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากความไม่สมหวังอันแสนสาหัสบ้าง เพราะความหวังคือสิ่งสำคัญในการผลักดันความเคารพต่อความหลากหลายทางเพศ อย่างน้อยหากว่าความเกลียดกลัวเพศหลากหลายในโลกของสื่อลดน้อยลงได้ ผู้คนอาจมีความหวังมากขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง

ที่มา

https://www.theguardian.com/film/commentisfree/2018/oct/31/lgbt-cinema-still-needs-more-happy-endings 

https://www.scienceabc.com/humans/movies/why-are-villains-often-queer-coded.html 

https://www.out.com/television/2022/9/19/most-brutal-examples-of-bury-your-gays-trope-in-television-movies

https://www.sinema.sg/2021/01/07/why-endings-in-lgbtq-films-matter/

Tags: , , , , , ,