“คุณช่อ ผมรู้ว่าถ้าผมพูด คุณช่อก็คงจะด่าผม แต่คุณช่อแต่งตัวปกติดีไหม มันเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด เราจะได้จบเรื่องนี้และสื่อสารเมสเสจการเมืองของเราได้”
ปิยบุตร แสงกนกกุล เอ่ยเตือน และแน่นอน พรรณิการ์ วานิช เข้าใจดีว่า เจตนาของเพื่อนร่วมงานคือความเป็นห่วงและความหวังดี แต่ถึงอย่างนั้น เธอตอบกลับไปอย่างไม่หวั่นไหวว่า
“ไม่ได้ค่ะอาจารย์”
หลังจากพรรคอนาคตใหม่เข้าไปทำงานในสภาผู้แทนราษฎรได้ไม่นาน สมาชิกพรรคกลับต้องเผชิญกับปัญหา อุปสรรค และแรงเสียดสีมากมายนับไม่ถ้วน โดยหนึ่งในมูลเหตุที่ทำให้พรรคตกเป็นเป้าเพ่งเล็ง จับผิดโดยฝ่ายตรงข้ามในจังหวะหนึ่ง คือสูทแจ็กเก็ตไล่ระดับสีขาว-ดำแบบออมเบร (Ombre) รุ่น Charon จากแบรนด์ POEM ที่พรรณิการ์สวมเข้าร่วมประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562
ณ ขณะนั้นเป็นช่วงไว้อาลัย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ซึ่ง ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ให้สภาฯ แต่งดำไว้อาลัยพลเอกเปรม ทว่าชุดของพรรณิการ์ทำให้หลายคนเพ่งเล็งว่าเป็นการตั้งใจ ‘เสียดสี’ พลเอกเปรม และทำให้เกิดวิวาทะกับสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน
หากจะกล่าวว่าคำเตือนของปิยบุตรในวันนั้น มีที่มาจากความไม่เข้าใจว่าแฟชั่นและการแสดงอัตลักษณ์ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองเช่นกัน ก็คงไม่ใช่เสียทีเดียว
คงเป็นเพราะเข้าใจดีเสียมากกว่า ว่ารูปลักษณ์และการแต่งกายมักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการด้อยค่านักการเมืองหญิงอยู่เสมอ เขาจึงไม่อาจเชื่อมั่นว่าฝ่ายตรงข้ามจะพลาดโอกาสทอง ในการเบี่ยงเบนความสนใจของมวลชนจากประเด็นทางการเมืองอื่นๆ ไปยังคำถามที่น่าตื่นตาตื่นใจกว่าอย่าง ‘วันนี้พรรณิการ์สวมชุดอะไรมาประชุมสภาฯ’
‘เฮเลน’ กับความงามที่ ‘ล่มเมือง’ และ ‘เคลื่อนทัพเรือพันลำ’
แม้ความงามจะเป็นคุณลักษณะซึ่งเป็นที่ปรารถนาทั้งในวรรณคดีและชีวิตจริง ทว่าในขณะเดียวกัน มนุษยชาติก็มีแนวโน้มที่จะโบ้ยความฉิบหายทั้งหมดทั้งปวงให้มีต้นเหตุจากหญิงงามที่รู้จักบริหารเสน่ห์ของตัวเองอยู่เสมอ
การลักพาตัวเฮเลนแห่งสปาร์ตา (Helen of Sparta) คือหนึ่งฉากที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในประวัติศาสตร์วรรณคดี โดยเฉพาะ ‘ความงาม’ ของเธอที่ว่ากันว่าเป็นต้นเหตุของสงครามกรุงทรอย หนึ่งในมหาโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญที่สุดในปกรณัมกรีก
ภาพ: Evelyn De Morgan
หากจะให้เล่าโดยสังเขปที่สุด ตามเนื้อเรื่องดั้งเดิม สงครามในครั้งนี้อุบัติขึ้นจากการวิวาทระหว่างเทพีอะธีนา (Athena) เฮรา (Hera) และอะโฟรไดต์ (Aphrodite) เพื่อแย่งชิง ‘แอปเปิลสีทองแด่ผู้ที่งามที่สุด’ ที่อีริส (Eris) เทพีแห่งความบาดหมางโยนเข้าไปกลางงานเลี้ยง โดยหวังให้เหล่าเทพขัดแย้ง ซุส (Zeus) จึงตัดรำคาญด้วยการส่งเทพีทั้งสามไปให้ปารีส (Paris) โอรสเมืองทรอยช่วยตัดสิน
เมื่อปารีสเลือกให้อะโฟรไดต์ ‘ผู้งามที่สุด’ ได้รับแอปเปิลไป อะโฟรไดต์จึงเสกให้เฮเลน หญิงงามที่สุดในโลกมนุษย์ ผู้เป็นมเหสีของพระเจ้าเมเนเลอัส (Menelaus) ตกหลุมรักเขาเป็นการแลกเปลี่ยน หนุ่มน้อยปารีสผู้ไม่สามารถขัดขืนความลุ่มหลงใน ‘ความงามตามอุดมคติ’ ของเฮเลนได้ จึงชิงตัวนางกลับไป ทำให้เกิดสงครามกรุงทรอย อันเป็นเหตุแห่งการล่มสลายของทรอยในท้ายที่สุด
ใครที่ได้อ่านเนื้อเรื่องจริงๆ ของมหากาพย์อีเลียด (Iliad) คงพอเข้าใจว่าจุดเริ่มต้นของสงครามกรุงทรอยนั้นทั้งยืดยาวและซับซ้อนเกินกว่าจะโทษว่าเกิดจากการแย่งชิงหญิงงามนามว่าเฮเลนเพียงเท่านั้น นอกจากความขัดแย้งของทวยเทพช่วงเริ่มต้นแล้ว ยังมีเรื่องการเมือง ชาติกำเนิด รวมถึงความบาดหมางของตัวละครสำคัญอื่นๆ มากมาย ที่ค่อยๆ กลายมาเป็นชนวนของสงคราม
แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสิ่งแรก และในหลายกรณีอาจเป็นสิ่งเดียวที่หลงเหลือติดตรึงในใจผู้คน คือความงามของเฮเลน คือสาเหตุของความใคร่ที่บุรุษจากทั่วทุกสารทิศมีต่อนาง ก่อให้เกิดเป็นสงครามครั้งใหญ่
ไม่ต่างกับที่การสังหารบิดาของลิโป้ ถูกเขียนในสามก๊กว่าเป็นเพราะมารยาหญิงและกลอุบายของหญิงงามนามว่า ‘เตียวเสี้ยน’ ทั้งที่ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นถึงการมีตัวตนอยู่หญิงรับใช้ผู้นี้เลย
หรือที่ ‘กากี’ นางในวรรณคดีไทยถูกกล่าวโทษว่าอยู่ที่ไหนก็เป็นกาลกิณี เพราะรูปโฉมงดงามเกินพอดี มีแต่คนแย่งชิง ส่วนชายฉกรรจ์มากหน้าหลายตาที่ผลัดกันเข้ามาใช้อำนาจล่วงละเมิดข่มเหง กลับลอยตัวเหนือความผิด ไม่ต้องมีชื่อที่ถูกบัญญัติเป็นคำด่าเหมือนอย่างกากี
‘ช่อ-พรรณิการ์’ กับดราม่านักการเมืองสายแฟฯ
พรรณิการ์ไม่ใช่นักการเมืองหญิงคนแรกที่ออกมาแบ่งปันประสบการณ์การถูกลดทอนความสามารถและความจริงจังในการทำงานในฐานะ ส.ส.
“ถ้าการตื่นมาแต่งหน้าทำให้เรารู้สึกมีชีวิตชีวา เราก็ควรจะทำมันสิ” อเล็กซานเดรีย โอกาซิโอ-กอร์เตซ (Alexandria Ocasio-Cortez) หรือที่รู้จักกันในชื่อเรียกย่อๆ ว่า ‘เอโอซี’ (AOC) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครตกล่าว ทั้งยังเคยพูดถึงเรื่องราวทำนองเดียวกัน ในคลิปสอนแต่งหน้าลุกปากแดงอันเป็นซิกเนเชอร์ในสภาฯ ของเธอ ซึ่งถ่ายทำโดยโว้ก (Vogue)
“ในฐานะผู้หญิงที่อายุน้อยที่สุดในสภาคองเกรส แถมยังเป็นผู้หญิงผิวสีอีก มันยากเหลือเกินที่คนอื่นๆ จะจริงจังกับคำพูดของฉัน จนทำให้ฉันรู้สึกกลัวว่า การทาอายแชโดว์สีวิบวับเข้าไปในสภาฯ จะทำให้อะไรๆ มันแย่กว่าเดิม เพราะขนาดยังไม่ทา ผู้คนยังลดทอนตัวตนของฉัน ให้เป็นแค่ผู้หญิงอายุน้อยที่ไม่เอาไหนและฉลาดน้อยขนาดนี้”
ภาพ: Reuters
ผู้หญิงในโลกการเมืองมักเลี่ยงที่จะไม่พูดถึง หรือแสดงตัวตนผ่านการกระทำที่ดูมี ‘ความเป็นผู้หญิง’ มากเกินไป อย่างความคลั่งไคล้เครื่องสำอางและแฟชั่น เพราะความกังวลว่าชุดหรือสีลิปจะ ‘ไม่ปัง’ ตอนอยู่ในสภานั้น ช่างดูเป็นความรู้สึกที่ฟังดูตื้นเขิน ไม่ทรงพลัง และไม่เคารพตัวตนของตนเองเอาเสียเลย ในสายตาของโลกที่คุ้นชินกับการมีแค่นักการเมืองชาย
เช่นเดียวกัน อย่างที่เรารับรู้กันตั้งแต่มีข่าวว่าชุดสูท POEM ที่พรรณิการ์สวมไปสภาในวันนั้น ทำให้เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีจากภายนอกพรรคว่าเป็น ‘ผู้แทนสายแฟชั่น’ ตอกย้ำภาพจำนักการเมืองหญิงที่สวยแต่โง่ วันๆ ไม่ทำงาน มัวแต่แต่งตัว ใช้เงิน และทำตัวฟุ้งเฟ้อ
สิ่งที่หลายคนอาจไม่คาดคิดมาก่อน คือสูทตัวนั้นนำมาซึ่งเสียงคัดค้านไม่ใช่เพียงจากภายนอกพรรคอนาคตใหม่เท่านั้น แม้แต่ภายในพรรคในขณะนั้นเอง ก็มีสมาชิกอีกหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการขับเคลื่อนสภาฯ ด้วยแฟชั่นของพรรณิการ์
หนึ่งในนั้นคือ ปิยบุตร แสงกนกกุล สมาชิกพรรคคนสำคัญผู้ควบ 3 ตำแหน่ง ได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และเลขาธิการพรรคในขณะนั้น
อย่างไรก็ดี พรรณิการ์ยืนหยัดในจุดยืนของเธอและปฏิเสธข้อเสนอแนะด้วยความหวังดีของปิยบุตรไป
“เราต้องสู้สิคะ เรื่องนี้คือการต่อสู้ทางความคิด ว่าคนเราสามารถแต่งตัวได้ ตามแฟชั่นได้ และสามารถทำงานการเมืองในขณะเดียวกันได้ เราไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
“ในชีวิตมนุษย์ปกติ เราสามารถกินข้าว ฟังเพลง เช็กไอแพดไปพร้อมๆ กันได้ เช่นเดียวกัน เราสามารถอภิปรายเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ของรัฐบาลจีน และสวมใส่ชุด POEM ไปพร้อมๆ กันได้”
เมื่อไม่นานมานี้ คำบอกเล่าของเธอเกี่ยวกับเหตุการณ์ในตอนนั้นผ่านรายการ ‘ป๋าเต็ดทอล์ก’ ได้ถูกยกมาพูดถึงอีกครั้ง ทำให้ปิยบุตรและสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ (ซึ่งบางส่วนอยู่กับพรรคก้าวไกลในขณะนี้) ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ใช้โซเชียลมีเดียว่าน่าผิดหวัง
“เคยคิดว่าอนาคตใหม่/ ก้าวไกลน่าจะเป็นพรรคที่บุคลากรโดยรวมเข้าใจเรื่องนี้ที่สุดแล้ว แต่จริงๆ หนทางยังอีกยาวไกลสำหรับประเทศไทย”
“แทนที่จะไปช่วยด่าพวกที่แซะเขา เสือกไปโทษผู้หญิงที่แต่งตัวสวย พวกผู้ชายนี่มัน”
“เป็นถึงสมาชิกสภาฯ ผู้ทรงเกียรติ แต่ไม่สามารถหักห้ามใจได้เวลามีนักการเมืองหญิงสวยๆ ไปคุย”
ฯลฯ
อ้างอิง
Ruffner, Z. “Congresswoman Alexandria Ocasio-Cortez on Self-Love, Fighting the Power, and Her Signature Red Lip” Vogue. August 21, 2020. https://www.vogue.com/article/alexandria-ocasio-cortez-beauty-secrets.
Long, S. “Reparations to Helen: On Beauty, War, and Personal Responsibility” Common Era. February 14, 2021. https://commonera.com/blogs/the-common-cause/reparations-to-helen-on-beauty-war-and-personal-responsibility.
Wilson, E. “Slut-Shaming Helen of Troy: If we blame her for the Trojan War, what does it say about us?” New Republic. April 27, 2014. https://newrepublic.com/article/117430/helen-troy-beauty-myth-devastation-ruby-blondell-reviewed.
ป๊าเต็ดทอล์ก. ‘การตัดสินใจของช่อ | PANNIKA WANICH’ ผู้หญิงในแวดวงสื่อ THE SERIES. https://www.youtube.com/watch?v=IFH6GXwKTE0&t=3843s.
Tags: ความงาม, อนาคตใหม่, ก้าวไกล, พรรณิการ์ วานิช, เฮเลนแห่งกรุงทรอย, การเมือง, Gender, ผู้หญิง, แฟชั่น