“ของเราใหญ่ไหม”
“อยากอ่ะ ช่วยเราหน่อย”
“ขอดู (อวัยวะเพศ) หน่อย แลกกันดู”
“เซ็กซ์ไม่ใช่เรื่องไม่ดี ลองมาเจอกันหน่อยไหม”
“อายุไม่เกี่ยวหรอก ถ้าเรายินยอมด้วยกันทั้งคู่”
หลายครั้งเวลาเล่นทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม แล้วเปิดบัญชีเป็นสาธารณะ หลายคนมักถูกทักทายจากคนแปลกหน้าด้วยวิธีแปลกๆ ถูกถามว่าเหงาไหม ถูกถามว่าคุยเล่นเป็นเพื่อนได้ไหม มีแฟนหรือยัง รวมถึงการได้รับข้อความส่วนตัวในกล่องจดหมายที่เข้าข่ายคุกคามทางเพศ
ข้อความพวกนี้ คือสิ่งที่หลายคนพบเจอจากคนที่ไม่เคยพบหน้าหรือรู้จักกันมาก่อน ชวนให้ตั้งคำถามว่าทำไมคนเราถึงพิมพ์ข้อความทำนองนี้ส่งไปยังคนอื่นได้ง่ายๆ โดยไม่รู้สึกอะไร ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากผู้ชายส่งข้อความหรือรูปอวัยวะเพศไปหาผู้หญิงเพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นโดยที่ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียจะเป็นใครหรือมีเพศอะไรก็ได้ แต่ในกรณีที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าการส่งข้อความคุกคามแบบปกติ คือการคุกคามเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะที่เกิดขึ้นทุกวันในโซเชียลมีเดีย
ในโลกโซเชียลฯ อย่างทวิตเตอร์ เราแทบไม่รู้เลยว่า คนที่พิมพ์อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ คนที่พูดคุยแลกเปลี่ยนกันโดยไม่เห็นหน้า มีอายุเท่าไหร่ ทำงานอะไร บรรลุนิติภาวะแล้วหรือยัง ทำได้เพียงแค่คาดเดาจากการบ่นกิจวัตรประจำวัน เรื่องครอบครัว ความชอบส่วนตัว ใครบ่นเรื่องเรียนก็เดาว่าน่าจะยังเรียนไม่จบ ใครบ่นเรื่องทำงานก็เดากันไปว่าเรียนจบแล้ว และตั้งขอบเขตอายุเอาไว้แบบคร่าวๆ ที่ทั้งหมดไม่สามารถการันตีได้เลยว่า เป็นชีวิตของผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์จริงๆ หรือไม่ ทุกสิ่งที่ได้อ่านอาจเป็นเรื่องจริงทั้งหมด เป็นเรื่องหลอกทั้งหมด หรือจริงบ้างไม่จริงบ้างปนกันไป ส่วนบัญชีแบบสาธารณะที่เห็นหน้าค่าตาในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ก็จะมีวิธีการเล่นในอีกแบบหนึ่ง และผู้ใช้จะพบกับการคุกคามที่แตกต่างกันไปในแต่ละแพลตฟอร์ม
แต่ละคนมีวิธีรับมือกับข้อความที่เข้าข่ายคุกคามทางเพศแตกต่างกันไป บางคนชวนคุยเรื่องอื่น แล้วแคปข้อความออกมาประจาน บางคนด่ากลับ ขู่จะแจ้งตำรวจ หรือแกล้งทำเป็นยอมคุยลามกด้วย แซวเรื่องขนาดอวัยวะเพศจนอีกฝ่ายรู้สึกอับอายและหายไปเอง แต่ก็มีคนอีกไม่น้อยที่ได้รับข้อความชวนคลื่นไส้แล้วไม่สามารถรับมือกับปัญหาได้ทั้งหมด พวกเขาหวาดกลัว รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง และไม่กล้าปรึกษาคนรอบตัวจนก่อให้เกิดความเครียด
หากใครยังพอจำได้ ไม่นานมานี้วงสังคมทวิตเตอร์ในไทยเคยพูดถึงบัญชีทวิตเตอร์หนึ่งที่มักโพสต์ภาพเด็กผู้หญิงกำลังนอนอยู่ในห้อง มุมกล้องและความคมชัดคล้ายกับการตั้งกล้องแอบถ่าย
เจ้าของบัญชีรายนั้นอ้างว่า เด็กสาวที่อยู่ในรูปเป็นหลานวัยมัธยม ภาพที่ได้ก็มาจากการแอบติดกล้องในห้องนอน เฝ้าดูหลานตัวเองใช้ชีวิตอยู่ในห้อง แอบดูตอนเปลี่ยนเสื้อผ้า แอบดูตอนนอนหลับ แล้วเอาคลิปกับภาพมาลงโซเชียลฯ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ ที่มีความชอบแบบเดียวกัน สิ่งที่น่ากังวลของเรื่องนี้ นอกจากการคุกคามทางเพศเด็กที่มีศักดิ์เป็นญาติ คือบัญชีนี้มีผู้ติดตามหลักหมื่นคน และพวกเขาจะพิมพ์ข้อความลามก พิมพ์ข้อความชมเรือนร่างของเด็ก พิมพ์ข้อความอิจฉาที่มีหลานแบบนี้ ล่วงละเมิดทางเพศเด็กที่ถูกแอบถ่ายโดยไม่รู้สึกผิดอะไร
เดิมทีทุกคนที่เล่นโซเชียลมีเดียมีสิทธิจะโพสต์ข้อความใดก็ได้ ตราบใดที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน หรือโพสต์ข้อความอนาจาร และหลายคนมองว่า การส่งข้อความลามก รูปโป๊ รูปอวัยวะเพศให้คนอื่น อาจไม่ได้ดูรุนแรงหรือผิดกฎหมายที่มีโทษร้ายแรงมากมายนัก แต่ก็ไม่มีใครสามารถการันตีได้เลยว่าทุกคนที่ได้รับข้อความจะเป็นผู้ใหญ่ที่บรรลุนิติภาวะ เพราะในโลกแห่งความจริง มีเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่เล่นโซเชียลมีเดีย และพวกเขาถูกคุกคามทางเพศ ถูกผู้ใหญ่บางกลุ่มเข้าหาด้วยวิธีการต่างๆ เพราะต้องการผลประโยชน์อะไรบางอย่าง
สำนักข่าว NHK ได้ขยายความประเด็นดังกล่าวด้วยการเผยแพร่สารคดีสั้นเรื่องการปลอมแปลงบัญชีโซเชียลฯ กับการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก เพื่อแสดงให้เห็นว่า ปัญหาการล่วงละเมิดเด็กในญี่ปุ่นยังคงมีให้เห็นบ่อยในสังคม ด้วยการสร้างบัญชีทวิตเตอร์ขึ้นใหม่ ใช้ภาพของทีมงานคนหนึ่งที่แต่งหน้าแต่งตัวให้เหมือนกับเด็กมัธยมศึกษามาเป็นรูปโปรไฟล์ และตั้งใจให้บัญชีผู้ใช้นี้เป็นตัวแทนของเด็กสาวอายุ 14 ปี ที่ยังเรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษา
ข้อความส่วนใหญ่ที่ทางทีมข่าวทวีตภายใต้บัญชีดังกล่าวมักเป็นข้อความทั่วไป บ่นเรื่องการเรียน บอกเล่าชีวิตประจำวัน การออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านที่สนใจ บัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าวมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ใช้งานคนอื่นตามปกติ คุยเรื่องที่ชอบ รีทวีตสิ่งที่สนใจ ยังไม่มีการลงรายละเอียดลึกซึ้งถึงชีวิตส่วนตัว ยังไม่มีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับผู้อื่นมากนัก จนกระทั่งวันหนึ่งทีมงานโพสต์ข้อความว่า “เหงา อยากมีใครสักคนที่จะคุยด้วยจังเลย” บัญชีที่เป็นของเด็กสาววัยมัธยมฯ ก็จะได้รับความสนใจมากขึ้นกว่าปกติ
หลังจากการทวีตข้อความว่าเหงาและต้องการเพื่อนพูดคุย ไม่นานนักก็มีผู้ใช้งานทวิตเตอร์จำนวนมากพากันส่งข้อความมาหารวมแล้วกว่าร้อยบัญชี มีทั้งคนที่ทักมาคุยเล่น ทักมาถามไถ่ แสดงความเป็นห่วง บ้างก็เป็นข้อความที่อ่านแล้วชวนให้รู้สึกแย่อย่างการขอนัดเจอโดยที่ยังไม่เคยคุยกัน ขอไปหาที่บ้านเพื่ออยู่เป็นเพื่อนคลายเหงา ข้อความลามก การพยายามชวนคุยเสียว (การพิมพ์ข้อความลามกที่มีทั้งการโรลเพลย์หรือชวนคุยเรื่องทางเพศ) บางคนถึงขั้นส่งรูปอวัยวะเพศของตัวเองมาให้บัญชีที่เขาคิดว่าเป็นเด็กผู้หญิงที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
ทีมงานเลือกเมินเฉยข้อความที่คุกคามทางเพศอย่างชัดเจน และมุ่งความสนใจไปบัญชีทวิตเตอร์รายหนึ่ง เป็นผู้ชายที่ชวนให้รู้สึกว่า กำลังพยายามล่อลวง หรือแสดงความอบอุ่นกับเด็กอายุ 14 ปี แบบกระตือรือร้นจนเกินไป จากนั้นเริ่มแลกเปลี่ยนบทสนทนากันนานนับสัปดาห์ ก่อนทีมงานจะพิมพ์บ่นชีวิตว่า ช่วงนี้เจอเรื่องเครียดๆ เยอะ และอีกฝ่ายแนะนำวิธีคลายเครียดมาว่า “รู้ไหมว่าการมีเซ็กซ์จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นนะ”
หลังได้รับคำตอบว่าเซ็กซ์จะช่วยคลายเครียด ทีมงานพิมพ์ตอบกลับไปในทำนองว่า รู้สึกไม่สบายใจเลยที่จะคุยเรื่องนี้ เพราะยังเด็กอยู่และคิดว่าคงไม่ดีที่จะคุยเรื่องแบบนี้กับคนที่เพิ่งรู้จักกัน อีกฝ่ายพิมพ์กลับมาว่า “ไม่ต้องกังวล เซ็กซ์ไม่ใช่เรื่องไม่ดีหรอก” ชักชวนว่าเราสองคนควรหาเวลามาพบกันสักวันหนึ่ง เมื่อฝ่ายชายเปิดประเด็นนัดเจอ ทีมงานจึงสานต่อด้วยการชักชวนให้ออกมาเจอกัน และชายคนนั้นก็ยอมมาพบตามนัดจริงๆ
ในวันนัดหมายคือวันที่เฉลยว่าทุกอย่างเป็นเรื่องโกหก ชายที่มีอายุมากกว่าเด็กที่ตนคุยด้วยหลายปีกำลังนั่งรอคนที่ตนนัดหมาย ทว่า คนที่เดินมานั่งร่วมโต๊ะไม่ใช่เด็กสาวอายุ 14 ปี แต่เป็นผู้หญิงสองคน คนหนึ่งแต่งกายด้วยชุดทางการ ถือกระดาษปึกใหญ่ที่บันทึกข้อความการพูดคุยกันทั้งหมดในทวิตเตอร์ ทั้งเรื่องสัพเพเหระและเรื่องเซ็กซ์ ส่วนผู้หญิงอีกคนแต่งตัวปกติ ชายคนนั้นจำเธอได้ทันที เพราะเธอคือเจ้าของรูปโปรไฟล์ที่คุยแชตด้วยกันมาพักใหญ่
เมื่อรู้ตัวว่าถูกหลอก ซ้ำยังเสี่ยงที่จะถูกจับกุมฐานล่วงละเมิดทางเพศเด็ก เพราะทางนักข่าวถามชายคนนี้ซ้ำๆ ว่า รู้ใช่ไหมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ถูกต้อง ความสัมพันธ์ที่เขาสร้างขึ้นกับเด็กสาวในทวิตเตอร์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนกับเยาวชน แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะกับผู้ใหญ่ เขาจึงแก้ตัวว่า ที่ยอมออกมาหาเด็กผู้หญิงที่คุยกันในทวิตเตอร์เป็นเพราะอยากจะเจอตัวจริงเพื่อตักเตือนว่า อย่าไว้ใจใครง่ายๆ ยอมมาเจอเพราะหวังดีและเป็นห่วงอย่างใจจริง ก่อนทางสำนักข่าวจะเปิดเผยว่า มีคนญี่ปุ่นจำนวนมากที่คิดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ไม่ใช่เรื่องผิด หากเกิดขึ้นด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย
มีบทความหลายชิ้นระบุว่า คนบางกลุ่ม (ไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่น) จะพยายามเข้าหาเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยภาพลักษณ์ผู้ใหญ่ใจดี อบอุ่น มีความคิดความอ่าน ดูพึ่งพาได้ คนเหล่านี้จะแสดงความต้องการดูแลเอาใจใส่เหยื่อ ตีสนิทผูกมิตรจนได้รับความไว้วางใจจากเด็ก จากนั้นจึงเริ่มทำอะไรบางอย่าง โดยอ้างว่าเป็นความยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย หนักเข้าคือการหว่านล้อมให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ด้วย บางกรณีมีการแอบบันทึกภาพทำเซ็กซ์เทปเพื่อแบล็กเมล์ หรือบังคับให้เด็กไม่บอกใครแล้วยอมมีอะไรกันต่อไปเรื่อยๆ
ประเด็นเรื่อง ‘เด็กคบผู้ใหญ่ไม่ใช่ความผิด เพราะเป็นเรื่องของความรู้สึกที่ห้ามไม่ได้ และยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย’ ยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หลายคนอ้างสิทธิในการคบกันว่าเป็นความพึงใจทั้งคู่ หากสังคมไม่ยอมรับก็จะแอบคนกันไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่อีกฝ่ายบรรลุนิติภาวะแล้วค่อยเปิดตัว
ส่วนใหญ่ความสัมพันธ์ประมาณนี้อาจถูกเรียกได้ว่า เป็นหนึ่งใน Attitudinal Adultism หรืออำนาจที่ผู้ใหญ่มีต่อเด็ก กับการถูกสอนให้เชื่อฟังคนที่โตกว่า ในความสัมพันธ์เชิงชู้สาวของเยาวชนกับผู้ใหญ่ พวกเขามักพูดคุยปรึกษากันอยู่แค่ 2 คน เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะจะถูกฝ่ายที่โตกว่าป้อนความคิดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นถูกต้อง พยายามทำให้เกิดความรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร จนเด็กและเยาวชนเหล่านั้นขาดวิจารณญาณแล้วคล้อยตามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องผิด ทั้งที่จริงแล้วเป็นความผิดตามกฎหมาย
กฎหมายเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็กในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 ของไทย ระบุว่า ผู้ใดกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ ใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 279 ผู้ใดกระทำอนาจารแก่เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี โดยเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำแก่เด็กอายุไม่เกิน 13 ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การล่วงละเมิดเด็กเป็นสิ่งที่ทั่วโลกพยายามจะจัดการการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวบทกฎหมาย บทลงโทษที่รุนแรง หรือการไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม แต่ปัญหานี้จะไม่มีวันหมดไปจากโลกได้ง่ายๆ เพราะเรื่องของความสัมพันธ์ซับซ้อนจะถูกตีความไปหลากหลายทิศทาง ทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ไปจนถึงการประณามสาปส่ง แต่เมื่อไหร่ที่ความสัมพันธ์นี้บานปลายกลายเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ หลายครั้งเราจะเห็นการกล่าวอ้างของผู้กระทำผิดที่พรากผู้เยาว์ว่า “ก็เด็กมันสมยอม” ใช้ความไม่รู้ของพวกเขามาทำให้ตัวเองมีความผิดน้อยลงแม้สักเล็กน้อยก็ยังดี
Tags: Gender, ใคร่เด็ก, ญี่ปุ่น, การพรากผู้เยาว์, การล่วงละเมิดทางเพศ, Global Affairs, ผู้หญิง, การคุกคามทางเพศ, ความเท่าเทียมทางเพศ, สิทธิเด็ก, ข่าวต่างประเทศ