“พวกใคร่เด็กชัดๆ น่ากลัวมาก”
“แต่งงานตอน 9 ขวบเนี่ยนะ โชคดีที่เราไม่ได้เกิดในศาสนานี้”
“พ่อแม่ฝ่ายหญิงคิดอะไรอยู่ ทำไมยอมให้ลูกแต่งงาน”
จากกรณีที่ชายคนหนึ่งออกมาโพสต์เฟซบุ๊กบอกเล่าเรื่องราวของตนเองว่า เมื่อตอนอายุ 20 ปี เขาได้แต่งงานกับเด็กหญิงวัย 9 ขวบ หลังจากนั้นเธอตั้งครรภ์ตอนอายุเพียง 13 ปี โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ 15 ปีก่อน ปัจจุบันทั้งคู่มีลูกด้วยกันทั้งหมด 4 คน และครองรักกันอย่างมีความสุข
แต่การแต่งงานระหว่างคนอายุ 20 ปี กับเด็กอายุ 9 ปี จะถือว่าเป็นความรักที่มาจากความยินยอมได้อย่างไร?
แน่นอนว่ากรณีดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย บ้างว่าการแต่งงานกับเด็กนั้นผิดกฎหมาย หรือต่อให้ไม่ผิดกฎหมายก็ยอมรับไม่ได้อยู่ดี บ้างว่าเป็นความผิดของผู้ปกครอง ขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนมากที่มุ่งความสนใจว่า เป็นเรื่องของช่องโหว่ทางศาสนาที่เอื้อให้เกิดการแต่งงานในรูปแบบนี้
การแต่งงานในวัยเด็ก (Child Marriage) หมายถึงการแต่งงานที่เกิดขึ้นในคนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี อาจเกิดขึ้นได้ทั้งระหว่างเด็กกับเด็กและระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ เป็นไปได้จากหลายสาเหตุ ทั้งเรื่องทางเศรษฐกิจ การล่วงละเมิดทางเพศ และลงเอยด้วยการแต่งงานตามค่านิยมในบางวัฒนธรรมหรือการขาดกลไกคุ้มครองสิทธิเด็ก โดยการแต่งงานในวัยเด็กไม่ว่าจะกรณีใดก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และถือเป็นการบังคับแต่งงานในทุกกรณี
แม้ว่าการแต่งงานในเด็กจะสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ แต่ก็มีแนวโน้มเกิดขึ้นกับฝ่ายหญิงมากกว่า มีการแต่งงานในเด็กที่เกิดขึ้นกับเด็กชายเพียง 1 ใน 6 หากเทียบกับเด็กหญิง จึงถือว่าเป็นหนึ่งในความรุนแรงต่อเด็กบนพื้นฐานเพศภาวะที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมทางเพศ
หลายครั้งภาพจำของการแต่งงานในเด็กถูกนำไปผูกติดอยู่กับวัฒนธรรมและความเชื่อ ทั้งที่จริงสิ่งที่ดูเป็นธรรมเนียมเหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจากความไม่เท่าเทียมทางเพศที่ฝังรากลึก รวมถึงความยากจน เช่นพิธีแต่งงานของเด็กหญิงชาวอินเดีย ที่บางครอบครัวจำเป็นต้องให้ลูกแต่งงานตั้งแต่เด็กเพราะหวังให้ลูกมีชีวิตที่ดีกว่าตนเองด้วยการแต่งงาน หรือบางครอบครัวก็มองลูกสาวเป็นเหมือนหนี้สินที่ต้องขายออกไป ความเชื่อทางศาสนาที่คนมองว่าเป็นปัญหาหลัก แท้จริงก็เกิดจากความไม่เท่าเทียมทางเพศที่แฝงอยู่ในความเชื่อต่างๆ นั่นเอง และแม้ในปี 1929 อินเดียจะถือว่าการแต่งงานในวัยเด็กเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ธรรมเนียมนี้ก็ยังคงมีคนปฏิบัติอยู่ดี
สำหรับประเทศไทย นอกจากกรณีการแต่งงานในวัยเด็กที่มักจะถูกพูดถึงเมื่อเกิดกับเด็กเล็ก อีกหนึ่งปัญหาที่เด่นชัดคือไทยยังมีปัญหาด้านสิทธิในเชิงตัวบทกฎหมาย เพราะกฎหมายไทยมีการกำหนดอายุของผู้ที่จะมีอำนาจในการแต่งงานไว้ที่ 17 ปีเท่านั้น ทั้งที่ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เด็กหมายถึงคนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำให้เกิดช่องโหว่ในการคุ้มครอง
ข้อมูลจากองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) เผยว่า เด็กหญิงกว่า 650 ล้านคนตกเป็นเหยื่อของการแต่งงานในวัยเด็ก โดยในแต่ละปีมีเด็กหญิงกว่า 12 ล้านคนที่เผชิญกับสถานการณ์นี้ แม้จะรับรู้กันว่าการแต่งงานในวัยเด็กเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ หรือมีกฎหมายระบุชัดเจน แต่ก็ยังคงดำเนินอย่างเป็นปกติอยู่ทั่วโลก เป็นปัญหาในระดับสากลที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่บางพื้นที่หรือความเชื่อ โดยเอเชียใต้และแอฟริกาใต้ถือเป็นพื้นที่ที่มีเจ้าสาววัยเด็กมากที่สุด
ยกตัวอย่างในประเทศมาลาวี ที่แม้ว่าการแต่งงานในวัยเด็กจะผิดกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2560 แต่เนื่องด้วยเหตุผลทางวัฒนธรรมที่ปฏิบัติกันมายาวนาน ปัจจุบันเด็กผู้หญิงชาวมาลาวีกว่า 40% ก็ยังคงต้องเผชิญกับการแต่งงานในวัยเด็ก และได้รับผลกระทบในหลายด้านจากการแต่งงานที่ไม่ยินยอมเช่นนี้
“มันยากเมื่ออีกฝ่ายอายุมากกว่า เขาเคยทำร้ายร่างกายฉันด้วยการกัดเพื่อเป็นการลงโทษทุกครั้งที่ฉันทำผิด” ทามารา (นามสมมุติ) อายุ 12 ปี ณ ขณะนั้น เด็กสาวชาวมาลาวีที่เคยตกเป็นเหยื่อของการแต่งงานในวัยเด็กให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN เธอถูกคนในครอบครัวบังคับให้แต่งงานกับชายวัย 20 ปี โดยเขาขอให้เธอลาออกจากโรงเรียนเพื่อที่จะไปอยู่กับเขาแทน
การแต่งงานในวัยเด็กเป็นปัญหาที่ส่งผลเสียโดยตรงต่อตัวเด็กจากการขาดอิสรภาพ และโอกาสที่จะได้เติบโตในฐานะเด็กคนหนึ่ง ทั้งขาดโอกาสในการศึกษา การเติบโตตามวัย เกิดการตั้งครรภ์อันไม่พึงประสงค์ ฯลฯ แทนที่จะได้ใช้ชีวิตแบบเด็กสาว กลับต้องใช้ชีวิตเจ้าสาว แทนที่จะได้เรียนรู้โลก กลับต้องติดอยู่ในความสัมพันธ์ภายใต้อำนาจที่ไม่เท่ากันโดยไม่มีสิทธิที่จะเลือกเอง หลายคนถูกทำให้เชื่อในตัวผู้กระทำมาตั้งแต่เด็กจนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตนเองถูกกระทำ
“เธอเป็นเหมือนรักแรกพบ ผมเลือกที่จะมีภรรยาเด็กเพราะอยากเลี้ยงดูเธอ เธอต้องเชื่อฟังผมทุกอย่าง ล้างจาน ทำความสะอาดบ้าน เตรียมน้ำอุ่นให้ผม และต้องรับใช้ครอบครัวผมด้วย” เนื้อหาถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงปลายปี 2023 เมื่อชายวัย 29 ปีอธิบายเหตุผลว่าทำไมเขาจึงบังคับเด็กหญิงวัย 13 ปีให้แต่งงานกับตนเอง
แม้ปัจจุบันการแต่งงานในวัยเด็กมีแนวโน้มลดลง ถึงอย่างนั้นก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ปัญหานี้ยังคงดำเนินอยู่เรื่อยๆ และคาดว่าอีก 300 ปีข้างหน้า การแต่งงานในวัยเด็กจึงจะหมดไป ข้อมูลในปี 2021 เผยว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็กจำนวนมากประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ต้องออกจากระบบการศึกษา ไปจนถึงสูญเสียครอบครัว ซึ่งก็จะนำไปสู่การแต่งงานในที่สุด
ความใคร่เด็กไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นรสนิยม หรืออ้างว่าเป็นไปด้วยความรัก เพราะความรักเกิดได้โดยไม่ต้องบังคับหรือละเมิดสิทธิใคร
ที่มา:
https://data.unicef.org/wp-content/uploads/2023/05/Is_an_End_to_Child_Marriage_Within_Reach-3.pdf
https://ngthai.com/cultures/9881/indias-forgotten-child-brides/
https://www.bbc.com/thai/thailand-45140391
https://www.bbc.com/news/world-africa-67549633
https://twitter.com/Shunyaa00/status/1736762965368721625
Tags: ใคร่เด็ก, Pedophile, ChildMarriage, การแต่งงานในวัยเด็ก