เวลาเดินทางไปที่ไหน ผมอดถามตัวเองไม่ได้ว่า กว่าเราจะได้มาอยู่ที่ตรงนี้ เรามาถึงช้าเกินไปหรือเปล่า

สมมติว่าที่แห่งนั้นมีชื่อในเรื่องประวัติยาวไกล นั่นแสดงว่ามีคนเคยเดินทางมาก่อนหน้าเราแล้วนับไม่ถ้วน…ยิ่งเป็นสถานที่ยอดนิยมมีแต่คนอยากไปเยือนด้วยแล้ว หรือเป็นที่ที่ผ่านการการสำรวจจนไม่เหลืออะไรให้ค้นหา เราก็คงโทษตัวเองไว้ก่อนเสมอว่า “ผิดด้วยเหรอที่เกิดมาช้าเอง”

คนที่เพิ่งมีโอกาสไปเยือน โตเกียว ปารีส โรม ในยุคหลังๆ อาจรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังเสียเปรียบคนที่เคยไปเยือนมาแล้วก่อนหน้าอย่างนั้นหรือเปล่า หรือคนที่เคยไปเห็นเกาะเสม็ดในเวลาที่บ้านพักยังเป็นเรือนไม้ย่อมโชคดีกว่าคนที่ได้ไปเยือนในเวลาที่รีสอร์ตห้าดาว บูทีคโฮเต็ลผุดขึ้นมาแทนที่ไหม เช่นเดียวกับประเทศข้างบ้านกลุ่มประเทศ LCVM ทุกวันนี้ ย่อมต่างกับที่เคยเป็นมาก่อนหน้าเมื่อ 20-30 ปีที่แล้วเพราะทุกประเทศต่างก็แข่งขันแบบไม่มีใครยอมน้อยหน้าใคร โดยเฉพาะการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองทันสมัยของเอเชีย

เมื่อนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่พบว่า การเดินทางตามแหล่งยอดนิยมเริ่มจะกลายเป็นความจำเจไร้ความท้าทาย สู้ไปเห็นที่ๆ คนจำนวนไม่มากเคยเข้าไปสัมผัส เพราะขืนช้า วิถีชีวิตพื้นถิ่นแบบดั้งเดิมอาจถูกทำลายในทันทีที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น วิธีคิดนี้อาจกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของการท่องเที่ยว ตามด้วยการบุกรุกโดยกลุ่มนักลงทุนและแสวงกำไรบนความสะอาด บริสุทธิ์และไร้เล่ห์เหลี่ยมบนดินแดนที่แทบจะยังไม่ค่อยมีใครรู้จักหรือเดินทางไปถึง อย่างภูฏาน เนปาลซึ่งกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลัง

ความรู้สึกคงไม่ต่างไปจากเวลาที่ คุณอยากเห็น ‘เมืองปาย’ ขณะที่เมืองปายจริงๆ อย่างที่เราอยากเห็นในชั่วโมงนี้ไม่มีให้คุณเห็นอีกต่อไปแล้ว วิธีเดียวที่ทำได้ก็คือต้องไปดั้นด้นหาเอาเองจากที่อื่นแทน ซึ่งประเทศอย่าง เนปาล ภูฏาน กลายเป็นที่มั่นสุดท้าย เป็น last resort ที่หลายฝ่ายเริ่มหวั่นเกรงว่าจะครองความใสบริสุทธิ์ต่อไปได้อีกไม่น่าจะนานเสียแล้ว

เพราะเช่นนั้น การได้เดินทางไปเยือนเมืองหลวงของเนปาลอย่างกาฐมาณฑุก็ดี หรือแม้แต่เมืองเล็กๆ อย่าง ‘กัตลัง’ จึงเป็นมากกว่าการเดินทาง ซึ่งมิใช่จบลงแค่การวัดกันด้วยระยะทาง แต่ยังมีความหมายถึงการได้ย้อนเวลากลับไปเห็นวันเวลาเก่าๆ ที่ประเทศและแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในเอเชียเคยมี เคยเป็น แล้วก็ลืมไปแล้วจนหมดสิ้น

ค่อนข้างแน่นอนว่า นักแสวงหาย่อมได้โอกาสที่ดีกว่าผู้ติดตามรุ่นหลังๆ ภาพยนตร์สารคดีอย่าง ‘กัตลัง’ ซึ่งทุกวันนี้อาจดูสุ่มเสี่ยงต่อการถูกมองข้ามตามสายตาของคนส่วนหนึ่งที่เลือกแลเห็นเฉพาะความใสซื่อของผู้คนผ่านการให้สัมภาษณ์ แต่หากนึกถึงวันเวลาที่กำลังคืบคลานเข้ามาในอนาคตอีกไม่นาน เมื่อดินแดนประเทศเนปาล หรือแม้แต่ตัวเมืองกัตลังเองก็ตามเปลี่ยนตัวเองกลายเป็นประเทศทุนนิยมเต็มตัว ที่อาจเกิดขึ้นตามหลังการเข้ามาของธุรกิจการท่องเที่ยว และเมื่อวิถีชาวเมืองเปลี่ยน การพัฒนาและยกระดับความทันสมัยผ่านระบบโลจิกติกส์ที่ทำให้การเข้าถึงพื้นที่กระทำได้โดยง่าย ซึ่งเข้ามาแทนที่ความยากลำบากของการเดินทาง อีกไม่นานชะตากรรมของ ‘กัตลัง’ เองก็คงไม่ต่างอะไรกับเมืองปายและหลวงพระบาง ภาพยนตร์สารคดีกัตลังอาจกลายเป็นบันทึกอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์

เท่าที่ดูจากสารคดีเกี่ยวกับกัตลัง ผู้คนในหมู่บ้านหรือแม้แต่ในกาฐมาณฑุเองดูจะมี ความพร้อมและศักยภาพที่จะขับเคลื่อนความเป็นอยู่ไปสู่ความทันสมัย มีคนทำสารคดีหลายโปรเจ็กต์ดั้นด้นเข้าไปให้ถึงแหล่ง หนึ่งในนั้นยังมี The Adventures of Maiko McDonald (2018, Michael Cobalt) ซึ่งเล่าบันทึกการเดินทางของ มัลคอล์ม แม็คดาวล์ ซึ่งเป็นการพาตัวเองเข้าไปทำความรู้จักหมู่บ้าน ขณะที่ผลงานสารคดีโดย เป็นเอก รัตนเรืองและภาสกร ประมูลวงศ์ กลับเป็นการพาคนพื้นเมืองแท้ๆ ซึ่งอยู่ตรงนั้นจริงๆ มานำเสนอขึ้นจอ

สองผู้กำกับ ภาสกรและเป็นเอกทำความรู้จักกับคนในท้องถิ่น จนกระทั่งพบว่าคนที่กัตลังก็เริ่มพร้อมที่จะทะยานและขับเคลื่อนตัวเองสู่ความทันสมัยด้วยเวลาที่ไม่ช้าก็เร็ว (ซึ่งเริ่มจากเขตตัวเมืองของกาฐมาณฑุที่การจราจรเริ่มหนาแน่น การกระจุกตัวของตัวอาคารร้านรวง ในย่านการค้า) มองออกไปตามเขตหมู่บ้าน ชาวบ้านส่วนหนึ่งพูดภาษาอังกฤษ ขณะที่ดนตรี เสียงเพลง การขับกล่อมและระบำพื้นเมืองต่างหากที่กลับสร้างพลังทางความรู้สึกที่ทั้งใกล้ตัวและใกล้ชิด จนกระทั่งพบว่า ‘เรา’ กับเขาแทบจะไม่ได้ห่างไกลกันเลย เมื่อมองในแง่ของมิติทางวัฒนธรรม

ขณะที่โปรเจ็กต์ของแม็คดาวล์มีเรื่องของการวัดใจคนพื้นเมือง ว่าสมมติมีดาราดังระดับโลกเข้ามาเดินปะปนกับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก จะยังมีคนจดจำเขาได้แค่ไหน (จากประวัติผลงานระดับคลาสสิคอย่าง A Clockwork Orange (1971), ไตรภาค If … (1968), O’ Lucky Man (1973), Britania Hospital (1982) ที่ผลปรากฎว่า นอกจากชาวตะวันตก ก็แทบจะไม่มีใครจำเขาได้เลย และนอกจากจะไม่มีแล้ว ยังเรียกชื่อเขาเพี้ยนไปเป็น Mai ko ส่วนนามสกุลก็ถูกลากเข้าหาเฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ดราวกับจะประชดประชันกับความไม่ยั่งยืนของชื่อเสียงที่อิงเข้ากับวัยและรูปร่างหน้าตา (ในทางกลับกัน บางส่วนอาจตั้งคำถามถึงช่องว่างทางวัฒนธรรมตะวันตกที่ส่งไปไม่ถึงคนเนปาล)

ภายใต้รูปโฉมที่อยู่ในรูปของสารคดีบันทึกกึ่งเรียลลิตีผ่านตัวแม็คดาวล์ ซึ่งเป็นเรื่องของคนข้างนอกกำลังเข้าหาข้างใน แต่สำหรับสารคดีกัตลัง ถูกสร้างขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายคนละอย่าง นั่นคือเป็นการดึงเอาคนของเขาแท้ๆ ออกมาให้โลกภายนอกได้รู้จักหน้าค่าตา (ในภาพยนตร์สารคดีไม่ได้ให้ชื่อไว้ว่าชื่ออะไร แต่ยกไปรวมไว้ในช่วงเครดิตตอนท้าย) ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่แทบจะไม่ต่างกันเลย

มัลคอล์ม ด้วยวัยและรูปโฉมขณะถ่ายเมื่อวัย 74 ปี ไม่มีใครจำเขาได้แล้ว กับชาวบ้านคนรุ่นใหม่ (ซึ่งเผลอๆ ก็น่าจะอยู่ในวัยไล่เลี่ยกับมัลคอล์มช่วงถ่าย A Clockwork กับคิวบริค) แต่ด้วยความที่ไม่มีใครเป็นดารา ไม่มีการแนะนำ+บอกกล่าวให้คนดูรู้จัก สุดท้ายไม่ว่าคุณจะ (เคย) เป็นดาราหรือชาวบ้าน ก็ไม่มีใครเด่นใครด้อยไปกว่ากัน

กว่าโลกภายนอกจะหันมาจับตามองประเทศเนปาลก็เกิดเหตุแผ่นดินไหว ทำเอาประเทศเนปาลมีพื้นที่อยู่บนสื่อกระแสหลัก (แม้ด้วยช่วงเวลาสั้นๆ เพียงวันเดียว) ก็อาจจะยังไม่พอต่อการเป็นที่จดจำ เพราะกว่าทีมสร้างสารคดีจะไปถึง ตัวภัยพิบัติก็ผ่านพ้นไปแล้ว

ในหนังกล่าวถึง ‘สี’ ทั้งห้าสีที่มีความหมายสำหรับชาวเนปาล หนึ่งในนั้นคือสีขาว โดยมีการใส่เข้ามาในซีนที่กล่าวถึงเหตุแผ่นดินไหว ใช้ความคละคลุ้งตลบอบอวลของฝุ่นสร้างความรู้ สึกเชิงเปรียบเปรย และเป็นประสบการณ์ซึ่งมีความหมายทั้งกับคนเนปาลเท่าๆ กับคนที่เข้าไปเพื่อหวังประโยชน์ทางธุรกิจ โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารสูงๆ (ภาพข่าวเน้นที่ซากตึกในตัวเมืองกาฐกาณฑุมากกว่าเขตรอบนอก) ซึ่งความเสียหายเทียบไม่ได้กับเขตที่ความเจริญเข้าไปถึง 

ทางเขต (สมมติเทียบเท่าอบต.) มีการประกาศให้บ้านที่กำลังซ่อมแซมหลังภัยพิบัติให้หันมาปลูกบ้านชั้นเดียว แทนหลังที่ได้รับความเสียหายที่เดิมน่าจะไม่ต่ำกว่าสองชั้น ซึ่งเท่ากับเป็นการสะกัดความหรูหราที่เข้ามาพร้อมกับความเจริญ ขณะเดียวกัน ด้วยความกว้างของตัวพื้นที่เอง ก็มีมากพอต่อการแผ่ขยายในแนวราบ ซึ่งดีต่อผู้คนในพื้นที่มากกว่าที่จะรองรับคนต่างถิ่น

และเท่าที่เห็นผ่านสารคดีก็แทบไม่พบคนต่างถิ่นในกัตลัง การย้ายภูมิลำเนาจากภายนอกเข้าหมู่บ้านกัตลังนั้น นอกจากคนในพื้นที่ ซึ่งมักเดินทางเข้าตัวเมืองหลวงกาฐมาณฑุ เสร็จแล้วก็กลับ ส่วนชาวต่างชาติยิ่งไม่ต้องพูดถึงเพราะไม่มีให้เห็น และจากตัวภูมิประเทศเอง ก็ทำหน้าที่สกัดกั้นการเข้าถึง (และรุกล้ำ) จากคนภายนอกด้วย

สุดท้ายทั้งพื้นที่และผู้คนต่างมีส่วนเสริมรับและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน กลายเป็นความผูกพันที่ไม่ต้องอาศัยกลไกพร็อบพากันดา ซึ่งแทบไม่มีให้พบเห็นในที่อื่น และน่าจะเป็นเหตุผลลำดับต้นๆ ที่ทำให้หมู่บ้านกัตลังยังคงครองรักษาความผุดผ่องไว้ เพราะโลกทุกวันนี้หมุนตัวเองไปสู่ครรลองของ neo-colonial ที่สารพัดสินค้าเครื่องใช้บริการได้เข้ามาสู่ชีวิตจนมนุษย์แทบไม่หลงเหลือตัวตน ซึ่งซีนท้ายๆ ของหนังก่อนเข้า end credit น่าจะเป็นตัวขยายที่แทบไม่ต้องการคำอธิบายใดๆ

“ผู้ค้นพบมักจะเจอสิ่งที่ดีกว่าเสมอ”  สำหรับคนดูเองก็เช่นกัน หนังเรื่องนี้คือการค้นหาประตูบานใหม่เพื่อเปิดไปสู่โลกอีกซีกที่อาจแนบสนิทข้างหูหากแต่เราละเลยมานาน ส่วนใครจะค้นพบอะไรในนั้นก็ว่ากันเป็นรายบุคคลแล้วแต่ความคิดจะชักนำพาไป

ผมแค่หวังว่าทุกคนจะโชคดี

 

หมายเหตุ: ภาพถ่ายผลงานของ Clemens Kunze

Tags: , , , ,