หลังจากสิ้นสุดการจับฉลากแบ่งกลุ่มการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 (World Cup 2022) ในคืนวันที่ 3 เมษายน 2022 ที่ผ่านมา แฟนบอลคงเริ่มรู้สึกถึงบรรยากาศความคึกคักของเทศกาลลูกหนังระดับนานาชาติที่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ โดยครั้งนี้ประเทศจากตะวันออกลางอย่างกาตาร์ รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพระหว่างปลายเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนธันวาคม นับเป็นครั้งแรกของทวีปเอเชียที่ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกอีกครั้ง หลังจากครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2002 บนดินแดนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ หรือเมื่อ 20 ปีก่อน
เช่นเดียวกับผู้เขียน ความสวยงามของมหกรรมฟุตบอลโลกอัดแน่นอยู่ในความทรงจำ ภาพธงทีมชาติโบกไสวหน้าร้านค้า หนังสือพิมพ์และแมกกาซีนแทรกแผ่นพับตารางแข่งขัน มาสคอตหน้าตาน่าจดจำ เพลงเชียร์ประจำทัวนาเมนต์ ดึกแค่ไหนก็พร้อมถ่างตาขึ้นมาเปิดจอทีวี ปรับเสาก้างปลา เพื่อดูนักฟุตบอลซูเปอร์สตาร์เก่งมากมาย ที่ลงสนามบรรเลงแข้งตลอดหนึ่งเดือน เรียกได้ว่าเป็นความสุขเหลือล้นของคอลูกหนัง
แต่นั่นอาจเป็นความทรงจำจากวัยเด็กที่ยังไม่ประสีประสาต่อโลกแห่งความเป็นจริง ฟุตบอลโลกที่หน้าฉากเต็มไปด้วยโมเมนต์ความทรงจำมากมาย แต่เบื้องหลังที่แท้จริงอาจมีเรื่องราวที่ดราม่าเกินคาดเดา
ย้อนกลับไปยังช่วงฟุตบอลโลกปี 2014 ที่ประเทศบราซิลเป็นเจ้าภาพ ก่อนจะถึงนัดเปิดสนามเพียงไม่กี่วัน ประชาชนชาวบราซิลที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงานต่างลุกฮือออกมาเดินขบวนชูป้ายประท้วง นำล้อรถยนต์มากองจุดไฟเผาตามหัวเมืองสำคัญ สาเหตุเพราะพวกเขาไม่พอใจกับการที่รัฐบาลของ จิลมา รูเซฟ (Dilma Rousseff) นำงบประมาณกว่า 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปถลุงปรับปรุงและสร้างสนามแข่งจำนวน 12 สนาม ขณะที่ระบบสาธารณูปโภคและปากท้องของประชาชนเข้าขั้นติดลบ
ภายหลังสิ้นสุดทัวร์นาเมนต์ตลอด 1 เดือน กำไรรายรับของเจ้าภาพบราซิลได้กลับคืนมาเพียง 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากจินตนาการที่ว่าจะมีเงินสะพัดเข้ามาช่วยให้ตัวเลข GDP ขยับขึ้นพ้นโซนแดง กลับกลายเป็นติดลบหนักยิ่งขึ้นกว่าเดิม หนำซ้ำเจ้าภาพยังโดนเยอรมนีแชมป์ปีนั้น ไล่ถล่มไป 7 – 1 ในรอบรองชนะเลิศ ก่อนสุดท้ายจบลงด้วยการเป็นอันดับ 4 เสียรังวัดคาบ้าน เสียทั้งเงิน และเสียทั้งใจ กระทั่งต่อมาความล้มเหลวโดยไม่สนปากท้องประชาชนยิ่งชัดเจนขึ้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญบราซิลวินิจฉัยความผิดต่อรัฐบาลที่ไม่นำเงินจำนวนมหาศาลนั้นไปโอบอุ้มประชาชน ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวสามารถบริหารใช้ได้ถึง 2 ปีเต็ม
นี่คือกรณีตัวอย่างแรกที่ความสวยงามของฟุตบอลโลกกลบซ่อนปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนไว้
ล่าสุดกับเจ้าภาพกาตาร์ในปี 2022 นี้ ที่ไม่ใช่กับกรณีปัญหาปากท้องคนในประเทศ แต่เป็นปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อบรรดา ‘เเรงงานข้ามชาติ’ นับหลายหมื่นชีวิตที่ถูกจ้างมาเร่งโปรเจกต์ก่อสร้างสนามให้เสร็จตามกำหนดการเปิดสนามในเดือนพฤศจิกายน เพราะก่อนจะได้รับไม้ต่อจากรัสเซียเจ้าภาพคราวที่แล้ว กาตาร์มีสนามฟุตบอลในประเทศเพียง 2 สนาม ดังนั้นจึงต้องเร่งสร้างสนามเพิ่มเติมอีก 6 สนาม เพราะในข้อตกลงของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า (FIFA) ระบุว่า สนามต้องมีความจุไม่ต่ำกว่า 40,000 ที่นั่ง มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบจบ และมีเครื่องปรับอากาศช่วยลดอุณหภูมิที่สูงราว 30 องศาเซลเซียส ภายใต้กรอบระยะเวลา 12 ปี ฟังดูเหมือนเยอะ ทว่าหากเปรียบกับสนามทีมฟุตบอลชั้นนำในทวีปยุโรป เช่น ลอนดอนสเตเดียม, ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ สเตเดียม หรือเอมิเรตส์ สเตเดียม คิดคำนวณเบ็ดเสร็จสนามเดียวยังใช้เวลาวางแผนพร้อมก่อสร้างอย่างต่ำ 4-5 ปี
ด้วยจำนวนประชากรชาวกาตาร์ที่มีอยู่ 2.8 ล้านคน คงไม่เพียงพอต่อการสมัครเข้ามาเป็นแรงงานแน่ๆ รัฐบาลกาตาร์จึงต้องออกเงินจ้างแรงงานข้ามชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานราคาถูก เช่น อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และเคนยา จำนวนประมาณ 2 ล้านราย ก่อนจะมัดมือชกยึดพาสปอร์ต เพื่อให้พวกเขากลับประเทศไม่ได้จนกว่างานจะเสร็จ กับที่พักอุดอู้เบียดเสียด บ้างต้องนอนเอาถุงปูนหนุนหัว บ้างมีแค่ผ้าปูพลาสติกผืนเดียวรองพื้นนอน ทั้งรัฐบาลกาตาร์ยังละเมิดกฎหมายแรงงานประเทศตัวเอง ที่ตั้งลิมิตการทำงานสัปดาห์ละไม่เกิน 60 ชั่วโมง ตามรายงานของสื่อเจ้าดัง เช่น NBC News, The Guardian, BBC และ independent กระทั่งล่าสุดองค์กรคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่าง แอมเนสตี้ (Amnesty) ได้นำเอกสารข้อมูลสำคัญออกมาแฉรัฐบาลกาตาร์ว่า แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ล้วนถูกสั่งทำงานติดกันเกิน 84 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และถ้าขอลาหยุดจะถูกหักค้าจ้างทันที โดยไม่สนเหตุผล
นอกจากแอมเนสตี้แล้ว องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) ยังเปิดเผยข้อมูลว่าเมื่อปี 2021 มีแรงงานข้ามชาติเสียชีวิต 50 ราย บาดเจ็บ 38,000 ราย และบาดเจ็บขั้นรุนแรง 500 ราย จากการก่อสร้างสนาม และถ้านับช่วงระหว่างปี 2010-2019 มีแรงงานข้ามชาติเสียชีวิตไปแล้วถึง 15,021 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานชายอายุ 30-40 ปี ด้วยสาเหตุหัวใจล้มเหลวหรือช็อกหมดสติ จากการทำงานหนักในสภาพอากาศที่บางวันสูงถึง 40 องศาเซลเซียส
อย่างไรก็ดี รัฐบาลกาตาร์ยังคงออกโรงค้านหัวชนฝาว่านั่นไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างสนาม และประธานบริหารฟีฟ่า จานนี อินฟานติโน (Gianni Infantino) ยังเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ พร้อมออกโรงเสริมว่ากาตาร์ผ่านข้อกำหนดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ทั้งที่ทั่วโลกต่างเห็นพ้องตรงกันถึงความไม่ชอบธรรมดังกล่าว ยกตัวอย่างต้นเดือนมีนาคม การเเข่งขันฟุตบบอลโลกรอบคัดเลือกระหว่างทีมชาติเยอรมนีกับนอร์เวย์ นักฟุตบอลทั้งสองทีมต่างใส่เสื้อที่มีข้อความรณรงค์ว่า ‘Human Right’
เป็นเรื่องน่าคิดว่า องค์กรที่พยายามขับเคลื่อนรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก ต่อต้านการเหยียดผิว ผลักดันคนให้เท่ากัน ไฉนจึงมองข้ามปัญหาโดยไม่แถลงหรือตรวจสอบใดๆ ต่อปัญหาแรงงานข้ามชาติในกาตาร์แบบเป็นชิ้นเป็นอัน
ต้องย้ำว่านี่ไม่ใช่การเชื้อเชิญให้จงเกลียดจงชังทัวนาเมนต์สำคัญอย่างฟุตบอลโลกที่ 4 ปี จะมีสักครั้ง เพราะตัวผมผู้เขียนเองก็เฝ้ารอไม่ต่างจากคอบอลทั่วโลกเช่นกัน แต่จุดประสงค์สำคัญคือการย้ำเตือนถึงเพื่อนมนุษย์ ผู้กำลังประสบความไม่ชอบธรรมจากมือผู้มีอำนาจ
ไม่เช่นนั้น ประโยคที่ว่า ‘มนุษย์ทุกคนล้วนเท่ากันบนโลกแห่งฟุตบอล’ คงใช้ไม่ได้อีกต่อไป
ภาพ: AFP, Reuters
ที่มา:
- https://www.nbcnews.com/news/world/qatar-world-cup-exploited-migrant-workers-human-rights-rcna2889
- https://www.theguardian.com/world/2013/sep/25/revealed-qatars-world-cup-slaves
- https://www.amnesty.org/en/latest/news/2021/08/qatar-failure-to-investigate-migrant-worker-deaths-leaves-families-in-despair/
- https://www.independent.co.uk/sport/football/international/world-cup-2022-qatar-s-workers-slaves-building-mausoleums-stadiums-modern-slavery-kafala-a7980816.html
- https://www.mirror.co.uk/news/world-news/migrant-workers-world-cup-host-25493450
- https://www.theguardian.com/world/2013/sep/25/revealed-qatars-world-cup-slaves
- https://www.bbc.com/news/world-middle-east-28528178
- https://www.theguardian.com/world/2013/oct/03/qatar-world-cup-boss-migrant-workers
Tags: แรงงานทาส, Game On, World Cup 2022, Qatar, ฟุตบอลโลก 2022