เดือนกรกฎาคมของทุกปีจะมีการแข่งขันกีฬาชนิดหนึ่งที่ ‘สายปั่น’ เฝ้ารอคอย นั่นก็คือ ตูร์ เดอ ฟรองซ์ (Tour de France) ทัวร์นาเมนต์แข่งขันจักรยานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของโลก และเป็นการแข่งขันจักรยานทางไกล 1 ใน 3 รายการใหญ่ที่จัดการแข่งขันในยุโรป ซึ่งเรียกโดยรวมว่า แกรนด์ทัวร์
สำหรับปี 2022 นี้ ตูร์ เดอ ฟรองซ์ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 109 โดยจะเริ่มเส้นทางที่โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ในวันที่ 1 กรกฎาคม และสิ้นสุดที่ช็องเซลีเซ (Champs-Élysées) ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส วันที่ 24 กรกฎาคม ครอบคลุมระยะทางประมาณ 3,500 กิโลเมตร
แม้จะเป็นการแข่งขันจักรยานระดับนานาชาติที่ทุกคนต้องคุ้นชื่อ หรืออาจเคยผ่านตากับภาพบรรยากาศการปั่นจักรยานสุดทรหด ที่มีฉากหลังเป็นทิวทัศน์อันสวยงามของธรรมชาติและเมืองในยุโรป แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ที่มาของทัวร์นาเมนต์สุดเก่าแก่นี้ ซึ่งมีอายุมากกว่า 120 ปี
คอลัมน์ Game On สัปดาห์นี้ จึงอยากพาไปทำความรู้จัก ตูร์ เดอ ฟรองซ์ การแข่งขันจักรยานทางไกลที่มีจุดเริ่มต้นจากความท้าทายเพื่อเพิ่มยอดขายให้หนังสือพิมพ์ในฝรั่งเศส ก่อนจะเดินทางผ่านกาลเวลา จนกลายเป็นหนึ่งในทัวร์นาเมนต์กีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก
การแข่งขันจักรยานที่มาจากการโปรโมตหนังสือพิมพ์กีฬา
จุดเริ่มต้นของ ตูร์ เดอ ฟรองซ์ สืบเนื่องถึงการเกิดขึ้นของสองหนังสือพิมพ์กีฬาคู่แข่งในฝรั่งเศส ได้แก่ Le Vélo หนังสือพิมพ์กีฬารายวันฉบับแรกและใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส ที่มียอดขาย 80,000 ฉบับต่อวัน กับ L’Auto ที่ก่อตั้งโดยนักข่าวและนักธุรกิจ อาทิ ก็อมเต ชูลส์-อัลแบรต์ เดอ ดิออง (Comte Jules-Albert de Dion), อดอล์ฟ เคลมองต์ (Adolphe Clément) และเอดูอาร์ด มิเชแลง (Édouard Michelin) ในปี 1899
ปี 1902 ขณะที่ฝั่งหนังสือพิมพ์ L’Auto มียอดขายที่ซบเซากว่าคู่แข่ง จีโอ เลอแฟร์ฟ (Géo Lefèvre) นักข่าวกีฬาจักรยานวัย 26 ปี ของ L’Auto จึงเสนอไอเดียต่อบรรณาธิการ อองรี เดสแกรนเจส (Henri Desgranges) ให้จัดการแข่งขันจักรยานขึ้นเป็นเวลา 6 วันในฝรั่งเศส เพื่อเพิ่มยอดขายให้หนังสือพิมพ์ เพราะหากการแข่งขันได้รับความนิยม โอกาสที่ L’Auto จะเป็นที่รู้จักก็มีมากขึ้น
แม้บรรณาธิการอย่าง อองรี จะยังไม่มั่นใจกับไอเดียดังกล่าว แต่ วิกเตอร์ โกเดต์ (Victor Goddet) ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของหนังสือพิมพ์ กลับถูกอกถูกใจ และมอบหมายให้อองรีจัดการแข่งขันขึ้น โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า
“ทำอะไรก็ได้ที่คุณอยากทำ”
19 มกราคม 1903 หนังสือพิมพ์ L’Auto จึงประกาศจัดการแข่งขันขึ้น
ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ครั้งแรก
ตูร์ เดอ ฟรองซ์ เริ่มจัดครั้งแรกในปี 1903 ซึ่งจะแข่งขันกันตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม จนถึง 5 กรกฎาคม โดยเริ่มต้นที่ปารีส ลียง มาร์กเซย บอร์กโดซ์ น็องต์ ก่อนจะวนกลับไปที่ปารีสอีกครั้ง ความโหดหินของการแข่งขัน ระยะเวลา รวมถึงค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้แรกเริ่มมีผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขันเพียง 15 คนเท่านั้น จนทำให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์อย่างอองรี เกือบจะล้มเลิกความคิดในการจัด
อย่างไรก็ดี อองรีเปลี่ยนแผนการแข่งขันโดยลดเหลือเพียง 19 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1-19 กรกฎาคม และเสนอเบี้ยเลี้ยงรายวันให้กับผู้แข่งขันที่ทำความเร็วเฉลี่ยได้อย่างน้อย 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในทุกสเตจของการแข่งขัน ซึ่งเป็นรายได้เทียบเท่ากับการทำงานในโรงงานต่อหนึ่งวันเลยทีเดียว นอกจากนี้ อองรียังตัดค่าธรรมเนียมในการสมัครจาก 20 ฟรังก์ เป็น 10 ฟรังก์ และตั้งเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศไว้ที่ 12,000 ฟรังก์ และเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะในแต่ละวันที่ 3,000 ฟรังก์
ในที่สุด มีนักปั่นเข้าร่วมแข่งขัน 60 คน ซึ่งมีทั้งนักปั่นมืออาชีพและมือสมัครเล่น แต่ด้วยความโหดหินของการแข่งขัน ทำให้มีผู้ล้มเลิกและออกจากการแข่งขันเป็นจำนวนมากระหว่างแข่ง เนื่องจากต้องใช้แรงกายมากเกินไป จนสุดท้ายเหลือเพียงนักปั่นเพียง 24 คนเท่านั้น ในสเตจสุดท้าย
กฎและเส้นทางการแข่งขัน
ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ในปี 1903 ถูกแบ่งการแข่งขันเป็นทั้งหมด 6 สเตจ โดยแต่ละสเตจจะมีระยะทางเฉลี่ยมากกว่า 400 กิโลเมตร เท่ากับผู้แข่งขันจะต้องปั่นจักรยานเป็นระยะทางถึงประมาณ 2,428 กิโลเมตร นอกจากนี้ ผู้เข้าแข่งขันจะได้พัก 1-3 วัน ระหว่างการเดินทางข้ามแต่ละสเตจ และเส้นทางส่วนมากจะราบเรียบ ไม่มีการปั่นข้ามภูเขา แต่จะมีเพียงการปั่นผ่านช่องเทือกเขาเล็กน้อย
ส่วนตูร์ เดอ ฟรองซ์ สมัยใหม่ จะแข่งขันกัน 23 วัน โดยมีผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 198 คน แบ่งออกเป็น 22 ทีม แต่ละทีมมี 9 คน ซึ่งจะต้องปั่นกันเป็นระยะทางกว่า 3,500 กิโลเมตร ทั้งหมด 21 สเตจ แบ่งออกเป็นทางราบ 8 สเตจ ภูเขา 6 สเตจ เนินขึ้นลง 5 สเตจ และด่านความเร็ว (เดี่ยว) 2 สเตจ ส่วนอีกสองวันที่เหลือเป็นวันพักผ่อน
ในการแข่งขันปี 1903 จะเป็นการแข่งขันแบบรายบุคคล และเนื่องจากระยะทางที่ยาวของแต่ละสเตจ ทุกสเตจจะเริ่มการแข่งขันตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง ส่วนสเตจสุดท้ายจะเริ่มการแข่งขันตั้งแต่ 21:00 นาฬิกา โดยตลอดเส้นทางการแข่งขันจะมีเจ้าหน้าที่ประจำแต่ละจุด เพื่อคอยตรวจสอบว่าผู้เข้าแข่งขันทุกคนจะปั่นจักรยานในเส้นทางที่ถูกต้อง
อีกจุดที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันผู้ชมตูร์ เดอ ฟรองซ์ จะทราบดีว่า เสื้อสีเหลือง (Yellow jersey) จะมอบให้แก่ผู้ทำเวลารวมได้น้อยที่สุดตลอดการแข่งขัน แต่ในยุคนั้นจะเป็นการใช้สายรัดข้อมือสีเขียวแทน
ข้อแตกต่างระหว่างตูร์ เดอ ฟรองซ์ ยุคแรกกับปัจจุบันอีกข้อคือ ในสมัยนั้นจะอนุญาตให้ผู้เข้าแข่งขันซึ่งออกจากการแข่งขันกลางคันในแต่ละสเตจสามารถเริ่มการแข่งขันใหม่ได้อีกในสเตจถัดไป แต่เวลารวมที่ทำได้จะไม่นำมานับรวมสำหรับการคัดเลือกผู้ชนะที่ทำเวลารวมได้ดีที่สุด (General Classification)
ความสำเร็จที่ปูทางสู่ตูร์ เดอ ฟรองซ์ สมัยใหม่
ท้ายที่สุด ภารกิจของหนังสือพิมพ์ L’Auto ถือว่าทำสำเร็จ เพราะยอดขายของหนังสือพิมพ์เพิ่มขึ้น โดยหลังจบการแข่งขัน มีการจัดพิมพ์หนังสือฉบับพิเศษแบบจำนวนจำกัด 1.3 แสนฉบับ และยอดจำหน่ายของหนังสือพิมพ์ปกติก็เพิ่มขึ้นจากเดิม 2.5 หมื่นฉบับ เป็น 6.5 หมื่นฉบับ ที่สำคัญ ชื่อเสียงของการแข่งขันตูร์ เดอ ฟรองซ์ ก็เพิ่มมากขึ้น จนทำให้มีการจัดการแข่งขันทุกปี (ยกเว้นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2) มาจนถึงปัจจุบัน
เกร็ดเล็กน้อยอีกเรื่องสำหรับตูร์ เดอ ฟรองซ์ ยุคใหม่คือ ในปี 2020 ที่โควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก การแข่งขันตูร์ เดอ ฟรองซ์ ก็ถูกเลื่อนออกไปจัดในวันที่ 29 สิงหาคม แทน เนื่องจากรัฐบาลฝรั่งเศสขยายเวลาห้ามไม่ให้มีการรวมตัวของผู้คนจำนวนมาก ซึ่งนับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ไม่ได้จัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม
อ้างอิง
https://www.cicerone.co.uk/a-brief-history-of-the-tour-de-france
https://en.wikipedia.org/wiki/Tour_de_France
https://en.wikipedia.org/wiki/2022_Tour_de_France
https://www.ohlalakabtangmo.com/le-tour-de-france/
Tags: จักรยาน, Game On, Tour de France