หากพูดถึงพระเอกคิวบู๊ที่อยู่คู่วงการฮอลลีวูดมานาน ชื่อของ ทอม ครูซ (Tom Cruise) คงเป็นตัวเลือกลำดับแรกที่ผุดขึ้นมาในใจใครหลายคน
เพราะตั้งแต่เริ่มเป็นที่รู้จักในบทบาทนักแสดงแอ็กชันจากภาพยนตร์เรื่อง Top Gun (1986) รวมไปถึงแฟรนไชส์ภารกิจเหนือโลกอย่าง Mission: Impossible ผู้ชมก็มักจะเห็นนักแสดงคนนี้ออกลวดลายบู๊ระห่ำทั้งต่อสู้ ยิงปืน ขับรถผาดโผน ปีนหน้าผา ขับเครื่องบิน และอีกสารพัดของความเอ็กสตรีม ที่ผู้ชายคนนี้ยืนกรานว่า หากยังมีแรงไหว ก็จะขอแสดงด้วยตัวเอง ชนิดเล่นจริง เจ็บจริงอยู่ตลอด
แต่หากจะให้พูดถึงหนึ่งในภาพจำที่เด่นชัดที่สุดของทอมในหนังแอ็กชัน คงหนีไม่พ้น ‘การวิ่ง’ ที่มักจะเห็นเขาวิ่งหน้าตั้ง คล้ายกำลังหนีหรือไล่ล่าอะไรบางอย่างอยู่เสมอ
ความน่าสนใจคือ แม้เขาจะอายุมากถึง 61 ปี แต่ทุกครั้งที่เขาต้องเข้าฉากเพื่อทำการวิ่งนั้น ทอมยังคงไว้ซึ่งท่าทางที่แข็งแรง มั่นคง และรวดเร็วเช่นเคย ราวกับว่าอายุและกาลเวลาไม่สามารถลดทอนประสิทธิภาพการวิ่งของเขาแม้แต่น้อย
เช่นนั้น เราขอชวนผู้อ่านมาวิเคราะห์รูปแบบการวิ่งของทอมว่าทำไมจึงดูแข็งแรง และทรงพลังในหนังทุกเรื่องที่เขาเล่น อีกทั้งหากอ้างอิงตามหลักการวิ่งที่ถูกต้องแล้วนั้น มีอะไรที่ทอมควรต้องปรับเพื่อให้ฟอร์มการวิ่งของเขาสมบูรณ์แบบที่สุด
หากจะวิเคราะห์อันดับแรกต้องพิจารณาถึงรูปแบบการวิ่งของทอมในหนังก่อน ว่าเขาคือนักวิ่งประเภทใด โดยอ้างอิงจากข้อมูลจากเว็บไซต์ Rottentomatoes ตลอดการแสดงอาชีพของทอมตลอดระยะเวลา 37 ปี เขาวิ่งในหนังมาแล้วกว่า 9.134856 กิโลเมตร ผ่านหนังทั้งหมด 44 เรื่อง โดยหนัง 10 เรื่องที่ปรากฏภาพทอมวิ่งมากที่สุดนั้น ได้แก่
1. Mission: Impossible III (2006) วิ่งทั้งหมด 970 เมตร
2. Mission: Impossible–Ghost Protocol (2011) วิ่งทั้งหมด 930 เมตร
3. Mission: Impossible–Fallout (2018) วิ่งทั้งหมด 800 เมตร
4. Mission: Impossible–Dead Reckoning, Part One (2023) วิ่งทั้งหมด 640 เมตร
5. War of the Worlds (2005) วิ่งทั้งหมด 530 เมตร
6. Minority Report (2002) วิ่งทั้งหมด 470 เมตร
7. Mission Impossible–Rogue Nation (2015) วิ่งทั้งหมด 460 เมตร
8. The Firm (1993) วิ่งทั้งหมด 370 เมตร
9. Edge of Tomorrow (2014) วิ่งทั้งหมด 320 เมตร
10. Jack Reacher: Never Go Back (2016 ) วิ่งทั้งหมด 320 เมตร
จะเห็นได้ว่าภาพจำของทอมในหนังนั้น คือนักวิ่งระยะสั้นที่สปรินต์สุดกำลังเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง ดังนั้น การวิ่งที่ปรากฏในหนังของเขา คือการวิ่งแบบสุดกำลัง ใส่จนหมดแรง จึงทำให้การจัดระเบียบร่างกาย ต้องถูกต้องตามหลัก ‘กลศาสตร์’ เพื่อให้การวิ่งคล่องตัวและรวดเร็วมากที่สุด
(ดูคลิป ทอม ครูซ วิ่งแบบจัดเต็มได้ในวิดีโอนี้)
สำหรับจุดเด่นในการวิ่งของทอม ทางด้าน อลิซ ฮอลแลนด์ (Alice Holland) แพทย์ด้านกายภาพบำบัด โค้ชวิ่ง และผู้อำนวยการของ Stride Strong Physical Therapy ในรัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า ทอมถือเป็นนักวิ่งระยะสั้นที่ยอดเยี่ยม โดยให้เหตุผลทั้งหมด 3 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. แกนกลางลำตัวที่นิ่งตรงและแข็งแรง
อลิซระบุว่า จุดเด่นที่สุดของทอมในการวิ่ง นั่นคือลำตัวที่นิ่งตรง ไม่สะบัดไปมาระหว่างวิ่ง เพราะการสะบัดของลำตัวนั้น จะทำให้นักวิ่งใช้พลังงานมากเกินความจำเป็น และส่งผลให้นักวิ่งไม่สามารถทำความเร็วได้ดีเท่าที่ควร โดยนักวิ่งที่จะวิ่งสุดกำลังโดยที่ลำตัวไม่สะบัดได้นั้น ต้องมีกล้ามเนื้อส่วนแกนกลาง (Core Body) ที่แข็งแรง รวมไปถึงกล้ามเนื้อสะโพกที่ทำงานสอดรับกับแกนกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. การแกว่งแขนระหว่างวิ่งที่ถูกต้อง
ตลอดการวิ่งของทอม เราจะเห็นการแกว่งแขนที่สัมพันธ์กับขาโดยตลอด กล่าวคือ หากแขนข้างใดขยับขาอีกข้างก็จะขยับตาม การวิ่งเช่นนี้จะทำให้นักวิ่งใช้ประสิทธิภาพทั้ง ‘มัดกล้ามเนื้อ’ และ ‘ระบบประสาท’ ครบทุกส่วนของร่างกาย ไม่ใช่เพียงแค่ช่วงล่างในส่วนบริเวณขาเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าการใช้พลังงานและแรงจากกล้ามเนื้อทุกส่วน ย่อมส่งผลให้ประสิทธิภาพในการวิ่งดีมากยิ่งขึ้น
ในส่วนนี้ ฮอลแลนด์กล่าวว่า มักเป็นจุดที่นักวิ่งส่วนใหญ่มองข้ามและละเลย ทำให้การวิ่งนั้นไม่พัฒนาเท่าที่ควร เพราะนักวิ่งส่วนใหญ่มักจะสะบัดแขนหรือข้อศอกออกนอกลำตัว และไม่แนบเอาไว้อย่างที่ทอมทำ รวมถึงพวกเขามักปล่อยให้แขนตกลงไปอยู่บริเวณเอว มากกว่าจะยกมาสะบัดแบบที่ทอมทำในฉากแอ็กชันที่เขาแสดง
3.จำนวนก้าวที่ถี่และมั่นคง
จำนวนก้าวขา (Cadence) เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้นักวิ่งพัฒนาความเร็วได้แบบก้าวกระโดด หากนักวิ่งคนใดที่สามารถก้าวเท้าได้ถี่ โดยที่อัตราการเต้นของหัวใจไม่พุ่งสูงขึ้นตาม ก็จะทำให้เขาได้เปรียบมากยิ่งขึ้น และยังหมายถึงนักกีฬาคนนั้นมีระบบแอโรบิกในร่างกายที่ค่อนข้างแข็งแรงพอสมควร
ทว่าอีกมุมหนึ่ง ก็มีโค้ชบางส่วนมองว่า ทอมมีจุดที่ต้องปรับปรุงอยู่เล็กน้อยเพื่อให้การวิ่งของเขาดูสมจริง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยแบ่งเป็นหัวข้อคือ
1. มีอาการปลายเท้าหมุนออกข้างนอก (Feet flick out)
ในการวิ่งที่ปรากฏในหนังบางเรื่อง ในช่วงท้ายก่อนที่ทอมจะหยุดวิ่ง หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่า เท้าของทอมในระหว่างวิ่งมีลักษณะปลายเท้าบิดออกไปข้างนอก อีกทั้งยังมีการเท้าสะบัดในช่วงผ่อนความเร็วก่อนจุดหยุดวิ่ง อาการเหล่านี้ส่วนใหญ่มักเกิดจากสาเหตุที่กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (Hamstring) ของนักวิ่งนั้นตึงมากเกินไป และเป็นไปได้ว่าการทำงานในส่วนของสะโพกกับกระดูกเชิงกรานของทอม ยังไม่สัมพันธ์กับการวิ่งได้ดีเท่าที่ควรนัก
2. ความเครียดที่เกิดขึ้นจากร่างกาย
หนึ่งในเฮดโค้ชจากทีมวิ่ง Mile High Run Club ในสหรัฐฯ ระบุว่า ทอมมีอาการตึงเครียดอยู่เสมอเมื่อเขาต้องวิ่งในหนัง แม้ในมุมหนึ่งอาการเส้นเลือดขึ้นหน้า แววตาที่เครียดแค้นอะไรแบบนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง แต่ภาษากายในการวิ่งของเขาก็กำลังแสดงออกมาเช่นกันว่า การวิ่งของเขาที่เป็นการกระตุกกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็วและดูใช้พลังเป็นอย่างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความเครียดที่ตัวเขาจงใจสร้างขึ้น (สำหรับการแสดง) และไม่จงใจสร้างขึ้นเช่นกัน
3. มือของทอมควรจะผ่อนคลายกว่านี้
บ่อยครั้งเราจะเห็นมือของทอมในการวิ่งนั้น มีนิ้วเรียงตรง คล้ายกับว่ากำลังทำท่าหั่นอะไรบางอย่าง หรือไม่ก็เป็นการกำมือแน่น เหมือนกับนักมวยที่พร้อมชกตลอดเวลา ในส่วนนี้ก็เป็นภาษากายที่สื่ออกมาเช่นกันว่า ในระหว่างวิ่งร่างกายของทอมกำลังใช้พลังงานมากเพียงใด
หากเป็นไปได้ การปรับมาปรับมือให้หลวมๆ ทำให้ดูผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น จะทำให้การวิ่งของเขานั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น
จะเห็นได้ว่า แม้ทอมจะเป็นนักวิ่งที่ยอดเยี่ยมทั้งในสายตาผู้ชม และโค้ชวิ่งระดับโลก แต่เขาก็มีส่วนที่ต้องพัฒนาต่อไป
แน่นอนว่าเราจะยังได้เห็นการวิ่งของทอมกันต่อไปหลังจากนี้ แม้เขาจะอายุแตะเลขหกแล้วก็ตาม โดยหนังเรื่องต่อไปที่คาดว่าจะได้เห็นทอมวิ่งสุดกำลังอีกครั้ง คือ Mission: Impossible–Dead Reckoning, Part Two ที่มีกำหนดเข้าฉายในปี 2025
Tags: ทอม ครูซ วิ่ง, วิ่ง, ทอม ครูซ, Running, Game On