ดูเหมือนทุกครั้งที่มหกรรมกีฬา ‘ซีเกมส์’ (Sea Games) เวียนบรรจบกลับมาชิงชัยจะต้องมีวลีอมตะตามมา นั่นคือ ‘ซีโกง’ ที่เรามองเป็นเรื่องตลกขำขัน ชาชิน เบ้ปากยักไหล่เออออกันไป ด้วยอิทธิฤทธิ์ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ของเจ้าภาพ ที่สามารถเสกชนิดกีฬาพื้นบ้านประจำชาติขึ้นมาเบียดกีฬาสากล พร้อมโควตาเหรียญรางวัลที่มากชนิดมองส่องมาจากดาวอังคารยังรู้ ว่าช่างไม่ปกติเอาเสียเลย จวบจนถึงการจัดการความสะดวกสบายของผู้เข้าแข่งขันที่ลำบากบนเหลือคณา
เฉกเช่นในปี 2023 นี้ ที่ประเทศกัมพูชารับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพในช่วงเดือนพฤษภาคม ความไม่ชอบมาพากลดังกล่าวถูกเผยผ่านหน้าสื่อโจ๋งครึ่ม ราวกับขนบธรรมเนียมปฏิบัติของทัวร์นาเมนต์ เริ่มตั้งแต่ประเด็นเปลี่ยนชื่อและกติกาจาก ‘มวยไทย’ เป็น ‘กุน ขแมร์’ (Kun Khmer) หน้าตาเฉย พร้อมเพิ่มเหรียญรางวัลเต็มอัตรา 19 เหรียญทอง ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากสหพันธ์มวยไทยนานาชาติ (IFMA) ลุกลามกลายเป็นสงครามเคลมรากเหง้ามรดกวัฒนธรรม ว่าใครเป็นต้นตำหรับคิดค้นศิลปะป้องกันตัวประเภทนี้ก่อนแน่
ต่อมาคือ ‘ฟุตบอลชาย’ กีฬายอดนิยมอันดับหนึ่งที่ถูกปรับเปลี่ยนกฏอายุผู้เล่น จากเดิมที่สามารถส่งรายชื่อนักเตะชุดอายุไม่ต่ำกว่า 23 และนักเตะอายุเกินได้ 3 ราย มาเป็นส่งรายชื่อนักเตะได้ไม่เกิน 22 ปี และห้ามส่งนักเตะอายุเกินทุกกรณีด้วยเหตุผลว่า เพื่อผลักดันวงการลูกหนังอาเซียนให้ประสบความสำเร็จในการคัดเลือกโอลิมปิก 2024 ร้อนถึงสมาคมกีฬาฟุตบอลชาติอื่นที่ซุ่มซ้อมเก็บตัวผู้เล่นมาได้พักใหญ่ แต่กลับถูกพังแผนขณะที่เหลือเวลา 3 เดือนกว่า
อีกมุมหนึ่ง อาจมองได้ว่ากติกาที่ปรับแก้เอื้อความได้เปรียบแก่ทีมฟุตบาลชายกัมพูชา ซึ่งอุดมไปด้วยนักเตะชั้นยอดที่มีค่าเฉลี่ยอายุ 20 ปี อย่างเซียง จันเทียะ กองหน้าดาวรุ่ง ที่โชว์ฟอร์มร้อนแรงในทัวนาเมนต์มิตซูบิชิอิเล็คทริคคัพ 2022
หวยมาออกต่อที่กีฬาหมากรุกสากล หลังถูกถอดออกและเปลี่ยนเป็นหมากรุกเขมรในโควตาชิงชัย 6 เหรียญทอง ท่ามกลางความงุนงงของชาติเพื่อนบ้านว่าหมากรุกเขมรเล่นอย่างไร ควรส่งนักกีฬาแข่งขันดีไหม
ที่น่าสนใจคือกีฬาประเภท ‘อีสปอร์ต’ เมื่อเจ้าภาพเลือกถอดเกม ROV และ FIFA Online ออกจากโปรแกรม และแทนที่ด้วยเกมแนว FPS อย่าง Valorant เหตุผลง่ายๆ เพราะ 2 ชนิดกีฬาที่ถูกถอดออกไทยกับเวียดนามคือตัวเต็งนอนมา อุดมผู้เล่นคุณภาพระดับเมเจอร์ ฉะนั้นการหาเกมที่ได้รับความนิยมในประเทศดูจะเพิ่มเปอร์เซ็นต์คว้ารางวัลได้มากกว่า ถามว่าน่าเกลียดไหม หันไปขอคำตอบจากบรูไนและสิงคโปร์ที่ถอนตัวไปแล้วได้เลย
ไม่นับรวมเรื่องหมู่บ้านนักกีฬานะครับ เพราะถึงเวลานี้ยังก่อสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ ทั้งมีข่าวคราวจาก ธนา ไชยประสิทธิ์ หัวหน้าคณะนักกีฬาทีมชาติไทย ชุดซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ว่า เจ้าภาพมีแววจะโยกบรรดานักกีฬาไปพักตามโรงแรมชั่วคราว ผิดจากสโลแกน ‘คุณภาพชีวิตดุจนักกีฬาโอลิมปิก’ ที่ตั้งไว้ตอนแรกลิบลับ
กุน ขแมร์ (Kun Khmer)
อย่างไรก็ดี กรณีทำตัวผิดวิสัยการเป็นเจ้าภาพที่ดีไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับกัมพูชาแน่ๆ หากมองภาพรวม 14 ครั้งหลังสุดหรือนับตั้งแต่ซีเกมส์เชียงใหม่ 1995 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ มีเพียง 4 ครั้งเท่านั้นที่เจ้าภาพพลาดท่าการเป็นอันดับ 1 ได้แก่
ปี 1999 เจ้าภาพบรูไน – ไทยคว้าเหรียญรางวัลรวมอันดับ 1
ปี 2009 เจ้าภาพลาว – ไทยคว้าเหรียญรางวัลรวมอันดับ 1
ปี 2013 เจ้าภาพเมียนมา – ไทยคว้าเหรียญรางวัลรวมอันดับ 1
ปี 2015 เจ้าภาพสิงคโปร์ – ไทยคว้าเหรียญรางวัลรวมอันดับ 1
ส่วน 10 ครั้งที่เจ้าภาพประสบความสำเร็จก็มีเหรียญรวมทิ้งห่างชาติอันดับ 2 อย่างน้อย 40 เหรียญขึ้นไป
ไม่ได้ความว่าชาติเจ้าภาพที่เข้าวินจะต้องโกงเสมอไปนะครับ แต่กรณีที่เห็นได้ชัดแจ้งมากพอจะเป็นหลักฐานก็มีอยู่ร่ำไป ยกตัวอย่างเช่นซีเกมส์ ฮานอย 2021 ที่เจ้าภาพเวียดนามจู่ๆ ยัด ‘โววีนัม’ (vovinam) ศิลปะป้องกันตัวพื้นบ้านมากถึง 15 เหรียญทอง
หรือกรณีตัดแข้งขาชาติคู่แข่งอันดับ 2 ทางอ้อม เช่นการแข่งขันกีฬาปันจักสีลัต รุ่นคลาสเจ (น้ำหนัก 90-95 กิโลกรัม) คู่ระหว่างสรานนท์ กล่อมพันธ์ กับ ชีค ฟาร์ฮัน บิน ชีค อลาอุดดิน จากประเทศสิงคโปร์ ที่ตัดสินได้กังขาตลอดทั้งเกม เตะคู่แข่งเสียงดังฟังชัดแต่คะแนนไม่ขึ้น ถูกตัดคะแนนเพราะยกมือประท้วงและอ้างว่ามีเจตนาทำร้ายคู่แข่ง จนสุดท้ายสรานนท์ตัดสินใจวอล์กเอาต์กลายเป็นฝ่ายถูกปรับแพ้ ภายหลังสืบค้นโปรไฟล์ทีมชุดตัดสินจึงพบว่ามี บิน ชีค อลาอุดดิน เป็นประธานกรรมการ
ชื่อคุ้นๆ ใช่ไหมครับ เขานี่แหละคือบิดาบังเกิดเกล้าของชีค ฟาร์ฮัน บิน ชีค อลาอุดดิน แล้วไฉนเวียดนามชาติเจ้าภาพไม่นึกเอะใจตรวจสอบความโปร่งใสสักนิด ทั้งที่รอบก่อนหน้ามาเลเซียก็ส่งเรื่องคัดค้านไปแล้ว
ทั้งนี้ การแข่งขันกีฬาที่ดูจะไร้ซึ่งสปิริตผิดจุดประสงค์ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะชาตินั้นๆ บ้าพลังอยากจะครองเจ้าอาเซียนเสียทีเดียว อีกนัยหนึ่งการที่ชาติเจ้าภาพกล้ามือสกปรกเพราะทุกอย่างล้วนมีผลประโยชน์แอบแฝงจากเหล่าผู้บริหารประเทศ
จะเพราะประกาศศักดาว่าพวกข้านี่แหละบริหารได้ดิบได้ดีจนกีฬาในประเทศแข็งแกร่ง เพราะสร้างแรงจูงใจแก่ประชาชน หรือเพื่อกลบปัญหาในประเทศก็ล้วนใช่ทั้งนั้น
โววีนัม (Vovinam)
ขอยกตัวอย่างอีกสักกรณี เผื่อคุณผู้อ่านจะเห็นภาพสิ่งที่ผมเกริ่นในย่อหน้าข้างต้นชัดเจนขึ้น
ปี 2017 ที่มาเลเซียเป็นเจ้าภาพ สถานการณ์บ้านเมืองภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค กำลังสั่นคลอน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ คอร์รัปชัน กับข้อกล่าวหาที่ว่านายกรัฐมนตรีนาจิบ เป็นตัวการคอรัปชันเงินกองทุนพัฒนามาเลเซีย มูลค่าหลักพันล้านดอลลาร์ฯ
สถานการณ์บีบบังคับในขณะที่ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ณ เวลานั้นอย่างอันวาร์ อิบราฮิม รุกกดดันอย่างหนัก และข่าวลือที่ว่ามหาเธร์ โมฮัมหมัด พร้อมประกาศแย่งชิงเก้าอี้นายกฯ นโยบายที่สามารถดึงความเชื่อมั่นคนในชาติกลับมาให้ได้ จึงตกอยู่ที่การทำทุกวิถีทางเพื่อกลับมาครองเจ้าซีเกมส์ในรอบ 16 ปี
นายกรัฐมนตรีนาจิบ ยินดีกับการบรรลุเป้าหมายสำเร็จ สวนทางจากเพื่อนร่วมอาเซียนที่แทบสาปส่ง เมื่อตลอดทั้งทัวร์นาเมนต์เจอวางยาสารพัดทันทีที่เท้าแตะพื้นสนามบินนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ อาทิ ไม่มีรถบัสรับส่งนักกีฬา ไม่มีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกตลอดการลงแข่ง อุปกรณ์ซ้อมไม่ครบ ไม่มีถ่ายทอดสดกีฬาที่ไม่มีเจ้าภาพลงแข่ง ตัดประเภทกีฬาที่คาดว่าจะไม่ชนะออกจากโปรแกรม ฯลฯ
คำถามสำคัญครับ ว่าทัวร์นาเมนต์ซีเกมส์มีขึ้นด้วยจุดประสงค์ใด หากเป็นสมัย 30 กว่าปีนู้นเราคงตอบได้เต็มปากว่า เพื่อเป็นการผูกมิตรประเทศแทบอาเซียนด้วยกัน แต่ในเมื่อซีเกมส์ทุกวันนี้แทบจะเป็นการแข่งขันกีฬาที่ไม่ใช่กีฬา ทุกฝ่ายต่างเข้าห้ำหั่นเอาเป็นเอาตาย ครั้นอ้างว่าเป็นสังเวียนทดลองนักกีฬาเยาวชนก่อนออกเวทีระดับเมเจอร์คงจะไม่ใช่ เผลอๆ เจอลูกตุกติกบั่นทอนจิตใจจะนึกอยากเลิกเล่นเสียด้วยซ้ำ
ฟาก พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ ไม่รู้ไปกินดีหมีหัวใจเสือมาจากไหน หลังการประชุมคณะกรรมการบริหารคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ ปลายปี 2022 ประกาศกร้าวว่าทัพช้างศึกต้องคว้าเหรียญทองซีเกมส์ ที่กัมพูชา โดยมีตำแหน่งประธานสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยของ พลตํารวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง พาดอยู่บนเขียงรอเชือด มองเป็นนัยได้เหมือนกันว่ากีฬาชนิดอื่นก็คงถูกไซโคไม่ต่าง
ด้าน ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเสนอตัวเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ ครั้งที่ 33 และอาเซียนพาราเกมส์ ในอีก 2 ปีข้างหน้า ในวงเงินค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ราว 2,055 ล้านบาท ในขณะที่ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยว่านับตั้งแต่ปี 2021 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ยากไร้ราว 4.4 ล้านคน และอาจส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน เช่น การศึกษา สุขภาพ และหลักประกันรายได้ ทั้งยังติดอันดับประเทศที่มีปัญหาทุจริตที่ 101 ของโลก ไม่นับรวมปัญหายิบย่อยอีกนับไม่ถ้วน
คงไม่ต้องบอกนะครับว่าสิ่งใดควรแก้หรือให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งก่อนกัน และหวังว่ารัฐบาลชุดหน้าจะมองเห็นวิสัยทัศน์ด้านกีฬาที่ชัดเจนยิ่งขึ้น หากสุดท้ายอยากก้าวข้ามผ่านภูมิภาคเล็กๆ นี้ ไปสู่เวทีระดับโลก ถ้าตรงไหนไม่ดีก็เลือกเดินออกมา น่าจะดีกว่าย่ำอยู่กับที่เน่าเฟะไปพร้อมกัน
อาจจะดูแดกดันไร้มารยาท แต่วลีที่ว่า ‘ครื้นเครงกันเองในกะลา’ ดูจะเป็นคำที่เหมาะสมที่สุดกับซีเกมส์แล้วละครับ
อ้างอิง
https://freedomhouse.org/country/malaysia/freedom-world/2017
https://www.dw.com/en/corruption-scandals-plague-philippines-southeast-asian-games/a-51517693
https://asianmma.com/muay-thai-or-kun-khmer-cambodia-and-thailand-clash-again/
https://en.wikipedia.org/wiki/Southeast_Asian_Games
https://www.prachachat.net/finance/news-1151649
https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1034770
https://www.komchadluek.net/news/politics/531308
Tags: SEA Games, SEA Games 2023, ซีเกมส์, กัมพูชา, corruption, Game On