ก่อนหน้านี้มีเหตุการณ์สำคัญของโลกฟุตบอลเกิดขึ้น เมื่อ วิลฟรีด ซาฮา กองหน้าตัวเก่งจากสโมสรคริสตัล พาเลซ แห่งพรีเมียร์ลีก อังกฤษ กลายเป็นนักเตะรายแรกที่ปฏิเสธการคุกเข่าต้านเหยียดผิวก่อนเริ่มเกม หลังพรีเมียร์ลีกเริ่มแคมเปญแสดงออกทางสัญลักษณ์ด้วยการนั่งคุกเข่าก่อนเกม เพื่อต่อต้านปัญหาการเหยียดผิวที่มีมายาวนาน
ภาพคุ้นตาของก่อนเริ่มเกมการแข่งขันในแต่ละแมตช์ คือการที่นักเตะทั้งสองฝั่งจะทำการคุกเข่าเป็นเวลาไม่กี่วินาทีก่อนกรรมการจะเป่านกหวีดเริ่ม แต่ในแมตช์ที่คริสตัล พาเลซ พบกับ เวสต์บรอมวิช อัลเบียน เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ศูนย์หน้าวัย 28 กลับเลือกที่จะยืนนิ่งเอามือไขว้หลัง ในขณะที่นักเตะทั้งสนามคุกเข่าตามธรรมเนียม
อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวของซาฮาไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย เพราะก่อนหน้านี้เจ้าตัวเคยออกมาให้สัมภาษณ์ถึงแคมเปญนี้ว่า เขาเองเคารพในสิ่งที่ทางพรีเมียร์ลีกทำ แต่ส่วนตัวเขาตัดสินใจจะไม่คุกเข่าก่อนเกมมาหลายสัปดาห์แล้ว เพราะมองว่าการกระทำดังกล่าวกลายเป็นเพียงกิจกรรมที่ต้องทำเท่านั้น ในขณะที่คนดำหลายคนยังคงถูกเหยียดผิวอยู่เช่นเดิม
“ในความเป็นสังคม ผมรู้สึกว่าเราควรส่งเสริมให้มีการศึกษาที่ดีขึ้นในโรงเรียน และบริษัทโซเชียลมีเดียควรดำเนินการอย่างเข้มงวดมากขึ้นกับผู้ที่ล่วงละเมิดผู้อื่นทางออนไลน์ ไม่ใช่แค่นักฟุตบอลเท่านั้น” เขากล่าว
การเหยียดผิวในโลกเป็นประเด็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนบ่งบอกว่า เรื่องราวเหล่านี้ไม่เคยหายไปจากสังคมมนุษย์ที่มีความแตกต่างมากมาย เช่นเดียวกันกับในโลกกีฬา ที่ควรจะเต็มไปด้วยน้ำใจนักกีฬา และการรวมกันเป็นหนึ่ง
สิ่งเหล่านี้ทำให้เหล่านักกีฬาหรือทีมกีฬาต้องลุกขึ้นมาต่อต้าน ต่อสู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกปัจจุบันที่ประเด็นเรื่องการเหยียดผิวหรือเชื้อชาติเป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความสนใจอย่างมาก โลกของกีฬาที่มีอิทธิพลสูงยิ่ง และควรมีภาพลักษณ์ของความสมัครสมานสามัคคี จึงพยายามร่วมกันเป็นหัวหอกในการผลักดันประเด็นการเหยียดให้เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนัก
เพราะเราไม่ควรให้ความแตกต่างมาลดทอนความเป็นมนุษย์ของใคร และทำให้เกิดความแตกแยก ไม่ว่าในสังคมใดก็ตาม
เมื่อนักฟุตบอลผิวดำร่วมต้านเหยียวผิวในแฮชแท็ก #BlackLivesMatter
ภายหลังการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ เดเรก ชอวิน กระทำการเกินกว่าเหตุในการใช้เข่ากดคอเขากับพื้นจนเสียชีวิต แม้เขาจะพยายามส่งเสียงร้องขอชีวิตแล้วก็ตาม ก่อให้เกิดกระแสการเดินขบวนและประท้วงต่อต้านการเหยียดผิวไปทั่วโลก จนกลายเป็นจลาจลในหลายแห่ง
เรื่องราวดังกล่าวทำให้โลกกีฬาเริ่มขยับเช่นกัน โดยในวงการฟุตบอลมีเหล่านักเตะชื่อดังหลายคนที่โพสต์รูปภาพสีดำ พร้อมติดแฮชแท็ก #BlackLivesMatter อาทิ ลิโอเนล เมสซี, เซร์คิโอ อาเกวโร, มาร์คัส แรชฟอร์ด, เวอร์กิล ฟาน ไดจ์ค และจาดอน ซานโช รวมไปถึงแอ็กเคานต์ออฟฟิเชียลของหลายสโมสรที่ออกแถลงการณ์สนับสนุนการต่อต้านการเหยียดผิว อาทิ สโมสรบาเยิร์น มิวนิก แห่งบุนเดสลีกาเยอรมัน ที่มีแถลงการณ์ว่า
“เอฟซี บาเยิร์นร่วมยืนหยัดต่อต้านโลกที่มีการเหยียดผิว การเลือกปฏิบัติ ความเกลียดชัง ความอยุติธรรม และความรุนแรง ความตายของจอร์จ ฟลอยด์ และภาพพจน์ของอเมริกาทำให้พวกเราตกใจ เราจะยืนหยัดเพื่อความสามัคคีร่วมกัน และมันจะไปได้ไกลกว่าเรื่องการกีฬา”
นอกจากนี้ บรรดานักเตะจากทั้ง 20 สโมสรในพรีเมียร์ลีกได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เพื่อต่อต้านการเหยียดผิว และร้องขอทางพรีเมียร์ลีกให้เพิ่มสัญลักษณ์ ‘Black Lives Matter’ บนเสื้อในการลงแข่งขัน 12 นัดแรกของฤดูกาล 2020/2021 และมีการคุกเข่าก่อนการแข่งขัน ซึ่งทางพรีเมียร์ลีกก็สนับสนุนความต้องการดังกล่าว
แน่นอนว่านักฟุตบอลผิวดำอาจมีความรู้สึกร่วมในประเด็นการเหยียดผิวที่ลึกซึ้งกว่าคนอื่นๆ อาทิ มาร์เซโล ฟูลแบ็กตัวเก่งของยอดทีมอย่าง เรอัล มาดริด ที่ทำท่าคุกเข่าข้างหนึ่งและชูกำปั้นขึ้นหลังทำประตูได้ในนัดที่พบกับเออิบาร์ หรือตำนานศูนย์หน้าอย่างเธียร์รี อองรี ที่คุกเข่าข้างหนึ่งและชูกำปั้นอยู่ข้างสนามเป็นเวลา 8 นาที 46 วินาที ในเกมที่มอนทรีออล อิมแพ็ค ซึ่งอองรีเป็นโค้ช แข่งขันกับนิวอิงแลนด์ เรโวลูชัน ซึ่งหลังเกมเขาออกมาพูดว่า “พวกคุณรู้อยู่แล้วว่าผมทำเช่นนั้นไปทำไม มันเป็นการรำลึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ง่ายๆ เท่านั้นเอง”
ไม่ใช่แค่นักฟุตบอลรุ่นเก๋าที่ออกมาส่งเสียงประเด็นการต่อต้านการเหยียดผิว แต่ยังเชื่อมโยงกับนักฟุตบอลรุ่นใหม่ๆ อย่าง จาดอน ซานโช ปีกดาวรุ่งเลือดอังกฤษแห่งสโมสรโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่ยอมฝ่ากฎ แสดงข้อความบนเสื้อซับในที่มีข้อความ ‘Justice for George Floyd’ หลังทำประตูได้ จนถูกผู้ตัดสินให้ใบเหลือง หลังจบเกม เขาโพสต์สเตตัสลงในอินสตาแกรมของตนเองระบุว่า “พวกเราไม่ควรหวาดกลัวที่จะออกมาพูดในสิ่งที่ถูกต้อง เราต้องรวมกันเป็นหนึ่ง และสู้เพื่อความยุติธรรม พวกเราจะแข็งแกร่งขึ้นเมื่อร่วมแรงร่วมใจ”
ยังมีอีกหลายกรณีที่นักฟุตบอลผิวดำออกมาสนับสนุนการต่อต้านการเหยียดผิวในรูปแบบต่างๆ และยังคงมีจวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ และเชื่อว่าจะกลายเป็นอีกหนึ่งการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เป็นส่วนหนึ่งในโลกฟุตบอลต่อจากนี้อย่างไม่ต้องสงสัย
เมื่อนักกีฬา NFL ต้องจ่ายราคาของความเท่าเทียมในการต่อต้านการเหยียดผิว
โคลิน เคเปอร์นิก ควอเตอร์แบ็กของทีมซานฟรานซิสโก โฟร์ตีไนน์เนอร์ส ต้องออกจากทีมและลีก NFL เพราะแสดงการประท้วงการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจกับชาวผิวดำเกินกว่าเหตุ
ปี 2016 เคเปอร์นิกคุกเข่าในระหว่างเพลงชาติอเมริกากำลังบรรเลงก่อนเกมเริ่มแทนที่จะยืนตามธรรมเนียม เพื่อประท้วงต่อต้านความอยุติธรรมทางเชื้อชาติ ความโหดร้ายของตำรวจ และการกดขี่ของระบบในอเมริกา เขาไม่ได้แสดงออกเช่นนั้นเพียงการแข่งขันนัดเดียว แต่สัปดาห์ถัดมาและตลอดฤดูกาล เคเปอร์นิกคุกเข่าระหว่างเพลงชาติบรรเลงทุกครั้ง
การประท้วงของเขาได้รับความสนใจอย่างมาก มีกระแสทั้งด้านดีและลบพุ่งตรงมาหาเขา บางกลุ่มยกย่องเขาและจุดยืนของเขาที่ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ แต่ก็มีอีกฝั่งที่ประนามการกระทำของเขา การกระทำดังกล่าวส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวประท้วงในวงกว้างและทวีความรุนแรงขึ้นในเดือนกันยายนปี 2017 หลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า เจ้าของ NFL ควรไล่ผู้เล่นที่ประท้วงระหว่างเพลงชาติออกจากลีกไปเสีย
หลังจบฤดูกาลดังกล่าว เคเปอร์นิกหมดสัญญากับทีม และไม่ได้รับการต่อสัญญา เขากลายเป็นผู้เล่นไร้สังกัด นั่นจึงเป็นช่องทางที่ทำให้เหล่าผู้บริหารของ NFL สบโอกาสในการรวมหัวกันเพื่อแบนการเซ็นสัญญาเคเปอร์นิกเข้าสู่ทีมในฤดูกาลถัดไป เพราะมองว่าการกระทำของเขาทำให้ภาพลักษณ์ของ NFL เสื่อมเสีย และที่สำคัญคือการทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ไม่พอใจ
เคเปอร์นิกกลายเป็นผู้เล่นอิสระ ไม่มีทีมใดเซ็นสัญญารับเขาเข้าทีม ไม่มีแถลงการณ์จาก NFL ว่าเหตุใดเขาจึงไม่ได้โลดแล่นในสนามต่อ แต่ผู้คนและสื่อต่างคาดการณ์ว่าเคเปอร์นิกได้ถูก ‘แบน’ จาก NFL ไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยสาเหตุจากเรื่องทางการเมืองล้วนๆ
ในเดือนพฤศจิกายน 2017 เคเปอร์นิกยื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อ NFL และเจ้าของ โดยกล่าวหาว่าพวกเขาสมรู้ร่วมคิดเพื่อขับไสให้เขาออกจากลีกการแข่งขัน ทาง NFL ขอให้ยกฟ้อง แต่ถูกปฏิเสธโดยอนุญาโตตุลาการ ซึ่งหมายความว่าคดีนี้จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี อย่างไรก็ตาม เขาถอนข้อกล่าวหาดังกล่าวในปี 2019 หลังจากบรรลุข้อตกลงที่เป็นความลับกับ NFL
ปัจจุบันเคเปอร์นิกยังคงตกงาน และไม่รู้ว่าจะได้รับโอกาสในการกลับมาลงเล่นในศึก NFL อีกเมื่อไหร่ ถึงแม้เขาจะถูกความอยุติธรรมเล่นงานหนักหน่วงขนาดไหนก็ตาม ความถูกต้องและความเท่าเทียมคือสิ่งที่เขายึดถือเสมอมา ทุกวันนี้เขายังไม่เคยหยุดเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมในสีผิว
ไม่ใช่แค่ในฐานะนักกีฬา แต่ในฐานะมนุษย์
นักซิ่งผู้เหยียบคันเร่งต่อสู้กับการเหยียดผิว
ในโลกของการแข่งขันความเร็ว ชื่อของ ลูอิส แฮมิลตัน เป็นตำนานที่นักแข่งรถต่างอยากแซงหน้าให้ได้
ยอดนักซิ่งชาวอังกฤษวัย 36 ปี ผู้เป็นนักแข่งผิวดำคนเดียวในโลก F1 และเป็นตำนานผู้คว้าแชมป์ฟอร์มูลาวันได้ถึง 7 สมัย เทียบเท่าตำนานนักขับชาวเยอรมันอย่าง มิชชาเอล ชูมัคเคอร์ เขาเคยกล่าวว่า การเคลื่อนไหว Black Lives Matter ช่วยผลักดันให้เขาก้าวสู่ตำแหน่งแชมป์โลก F1 สมัยที่ 7 ได้สำเร็จ “ผมมีแรงผลักดันพิเศษนี้ในตัวเพื่อไปให้ถึงจุดสิ้นสุดของการแข่งขัน ซึ่งแตกต่างจากแรงผลักดันที่ผมเคยมีในอดีตที่ผ่านมา”
แฮมิลตันบอกว่า การเป็นนักแข่งที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของฟอร์มูลาวันจะไม่มีความหมายอะไรเลย หากเขาไม่ได้เป็นผู้นำในการต่อต้านการเหยียดผิวในโลกกีฬา เขากล่าวว่าการคว้าแชมป์นั้นยอดเยี่ยม แต่ก็ไม่ได้มีความหมายอะไรหากเขาไม่ได้ช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้
หลังเกิดกระแสการประท้วงคดี จอร์จ ฟลอยด์ ไปทั่วโลก แฮมิลตันได้ออกมาแสดงพลังผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม และเป็นแนวหน้าของขบวนการ Black Lives Matter ที่กระตุ้นให้นักแข่งคุกเข่ากับเขาก่อนการแข่งขันแต่ละครั้ง รวมถึงยังโน้มน้าวให้ Mercedes ทีมของเขา เปลี่ยนลายข้างลำตัวของรถแข่งจากสีเงินเป็นสีดำ นอกจากนี้เขายังจัดตั้งคณะกรรมาธิการแฮมิลตัน (Hamilton Commission) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์ของคนผิวดำในกีฬามอเตอร์สปอร์ตอีกด้วย
แฮมิลตันเคยได้รับเลือกให้เป็นอันดับหนึ่งของบุคคลชาวแอฟริกัน, แอฟริกัน-แคริบเบียน และอเมริกัน-แอฟริกัน ที่มีอำนาจมากที่สุดในสหราชอาณาจักร เขาเรียกรางวัลดังกล่าวว่าเป็นช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่ และระบุว่า “การได้รับการยอมรับในชุมชนคนผิวดำนับเป็นความภาคภูมิใจ” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงมรดกที่เขาฝากไว้ในวงการกีฬา โดยเขาหวังว่าผลงานของเขานอกสนามแข่งจะมีผลกระทบมากกว่าความสำเร็จของเขาหลังพวงมาลัย
“มีเด็กผิวดำคนอื่นๆ อีกมากมายที่สมควรได้รับโอกาสในการก้าวหน้า มีการศึกษาที่ดี จะเป็นวิศวกรหรืออะไรก็ได้ที่พวกเขาอยากเป็น แต่ในความจริงคือ พวกเขาไม่ได้มีโอกาสเท่าเทียมกันทุกคน” แฮมิลตันกล่าว
“ไม่มีทางที่ผมจะหุบปากเงียบ เพียงครั้งเดียวที่ผมบอกกับตัวเองเช่นนั้น ผมก็ปราศจากความหวาดกลัวใดๆ ทั้งสิ้น”
ราชาแป้นบาสผู้ไม่นิ่งเฉยกับความอยุติธรรม
13 มีนาคม 2020 บรีออนนา เทย์เลอร์ ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา เจ้าหน้าที่การแพทย์ฉุกเฉินประจำสถาบันแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหลุยส์วิลล์ วัย 26 ปี ถูกยิงเสียชีวิตโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสำนักงานตำรวจหลุยส์วิลล์เมโทร (LMPD) สามนาย หลังมีปฏิบัติการตรวจค้นยาเสพติดโดยไม่แจ้งก่อน (no-knock warrant) ที่อพาร์ตเมนต์ของเธอในเมืองหลุยส์วิลล์ รัฐเคนทักกี
กรณีดังกล่าวสร้างความเศร้าโศกให้กับผู้คนทั่วอเมริกา รวมถึงราชาแป้นบาสแห่งวงการ NBA อย่างเลบรอน เจมส์ เป็นอย่างมาก เขาถ่ายทอดความรู้สึกตนเองในทวิตเตอร์ว่า “ผมหมดคำพูดจริงๆ เสียใจ เจ็บปวด เศร้า โกรธ!” หลังได้รับทราบว่าคณะลูกขุนใหญ่ตัดสินว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจหลุยส์วิลล์ทั้งสามนายไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อการเสียชีวิตของบรีอานนา ด้วยเหตุผลว่า ตำรวจทั้งสามมีความชอบธรรมในการใช้กำลัง
หลังจากการตัดสินจบลง เจมส์แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของบรีอานนา และระบุว่าเขาจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อช่วยผู้หญิงผิวดำทุกคน เขาออกมาให้สัมภาษณ์พร้อมสวมหมวกแก้บที่มีประโยคว่า ‘Make America Arrest The Cops Who Killed Breonna Taylor’ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเธอ
“เธอเป็นผู้หญิงที่มีอนาคตที่สดใส และชีวิตถูกพรากไปจากเธอ” เจมส์กล่าวถึงบรีออนนาในการสัมภาษณ์ “ไม่มีการจับกุม ไม่มีความยุติธรรม ไม่เพียงแต่สำหรับเธอ แต่รวมถึงครอบครัวของเธอด้วย เราต้องเรียกร้องให้เกิดความกระจ่างต่อสถานการณ์นี้ เพราะมันไม่ยุติธรรม”
ไม่เพียงแต่การออกมาสัมภาษณ์เท่านั้น แต่เจมส์ยังให้เกียรติบรีออนนาในเกมแรกของการแข่งขัน NBA ที่กลับมาอีกครั้งหลังหยุดไปในช่วงโควิด ด้วยการเขียนชื่อของเธอ วันที่เธอเสียชีวิต และ #Justice4BreonnaT ลงบนรองเท้าแข่งขันของเขาเอง เพื่อกดดันเรียกร้องให้มีการจับตำรวจที่ยิงเธอ
แม้การตัดสินคดีจะจบไปแล้ว แต่การกระทำของเลบรอน เจมส์ก็กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์การเรียกร้องความยุติธรรมต่อคนผิวดำ ที่ทำให้ผู้คนยังตระหนักถึงความสูญเสียจากการเหยียดเชื้อชาติ และทำให้เหล่าผู้เล่น NBA ต่างใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตนเองในการร่วมผลักดันแคมเปญ Black Lives Matter และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสิทธิพลเมือง
ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อความเป็นมนุษย์
อ้างอิง
https://www.independent.co.uk/sport/motor-racing/formula1/lewis-hamilton-f1-racism-b1724085.html
Tags: การเหยียดผิว, racism, Black Lives Matter, Game On, Sport