1.

แม้ควันหลงจากมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ 2022 ที่ประเทศจีน เมืองหางโจว จะจางหายไปแบบเงียบๆ เหลือไว้เพียงผลงานของนักกีฬาทีมชาติไทย ด้วยจำนวน 12 เหรียญทอง 14 เหรียญเงิน และ 32 เหรียญทองแดง จบอันดับที่ 8 ด้วยยอดรวม 58 เหรียญรางวัล เอวังตามมาตรฐานที่ควรทำได้ในเวทีระดับเอเชีย

ถึงกระนั้น ช่วงหลายวันที่ผ่านมากระแสกีฬาทีมชาติกลับปะทุเดือดแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เมื่ออยู่ๆ พันตำรวจโท สืบศักดิ์ ผันสืบ หรือ ‘โจ้หลังเท้า’ อดีตนักเซปักตะกร้อทีมชาติไทยระดับตำนานพร้อมทีมงาน พากันยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ บุญชัย หล่อพิพัฒน์ รองประธานสหพันธ์เซปักตะกร้อนานาชาติ ว่าด้วยปัญหาของนักกีฬาเซปักตะกร้อหลายรายที่ถูก ‘หักหัวคิว’ เงินรางวัลที่ควรจะได้อย่างไม่เป็นธรรม

แต่ที่สำคัญ คือ นี่ไม่ใช่เรื่องผิดเพี้ยนที่เกิดขึ้นในวงการเซปักตะกร้อ และไม่ใช่ครั้งแรกที่วงการกีฬาบ้านเรามีปัญหากับเงินๆ ทองๆ ทั้งที่นักกีฬาผู้เสียสละหยาดเหงื่อแรงกายสร้างชื่อเสียงให้ชาติไม่สมควรได้รับผลตอบแทนเช่นนี้

จึงไม่น่าแปลกใจ หากวงการกีฬาไทยจะก้าวไปไม่สุด เพียงเพราะหลังบ้านจ้องจะหาผลประโยชน์กันเอง บ้างก็ไม่ใส่ใจไยดีทำเอาคนอยู่เบื้องหน้าขวัญหนีดีฝ่อ ต้องมาตามเรื่องเองดุจเจ้าหนี้

2.

เคสแรกตามที่เกริ่นนำไปว่า พันตำรวจโท สืบศักดิ์ ผันสืบ อดีตนักกีฬาเซปักตะกร้อไทยได้เข้าร้องต่ออุปนายกสมาคมตะกร้อฯ ถึงเรื่องที่มีนักกีฬารุ่นน้องถูกทีมสต๊าฟโค้ชหักหัวคิวเงินรางวัลแข่งขันอย่างเป็นกระบวนการ แท้จริงนั้นมีจุดเริ่มต้นเล็กๆ ดุจไฟบนก้านไม้ขีด จากการที่ ธิดาวรรณ ดาวสกุล อดีตนักกีฬาเซปักตะกร้อและหนึ่งในฮีโร่เหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2010 รวมถึงอีกหลายทัวร์นาเมนต์ ออกโรงโพสต์บนแอ็กเคานต์โซเชียลฯ ว่า ระหว่างการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว กำลังใจและสภาพร่างกายของเธอกับเพื่อนๆ ในทีมกำลังไปได้สวย เช่นเดียวกับผลงานประเภททีมที่อยู่ในผลงานไร้พ่าย ทว่าเมื่อถึงคราวต้องตัดตัวเลือกผู้เล่นลงแข่งขันประเภทเดี่ยวกลับมีผู้ใหญ่แจ้งว่า จะเลือกเธอเป็นตัวแทน อย่างไรก็ตาม เธอจะต้องจ่ายเงินให้กับทีมสต๊าฟโค้ชตกคนละราวสองแสนบาท จากเงินรางวัลเหรียญทอง 1 ล้านบาท (ภายหลังปรับเป็น 2 ล้านบาท ตามข้อบัญญัติของคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ พ.ศ. 2562) 

แน่นอนว่านี่คือจำนวนเงินที่อยู่นอกเงื่อนไข มิหนำซ้ำยังไร้ข้อชี้แจงว่า เหตุใดเธอจึงต้องจ่ายเงินให้กับทีมสต๊าฟ ทั้งที่หากได้รับเงินรางวัลทีมสต๊าฟก็จะได้รับผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้ออยู่แล้ว ขณะเดียวกันธิดาวรรณยังระบายว่า ที่ผ่านมาทางสมาคมตะกร้อฯ ก็ไร้การช่วยเหลือสร้างความมั่นคงในอาชีพให้แก่นักกีฬา และปัญหาเหล่านั้นก็มากพอที่จะทำให้เธอหมดศรัทธา พลันสิ้นปริศนาว่า ไฉนตัวฟาดฝีมือดีอย่างเธอถึงตัดสินใจอำลาอาชีพทั้งที่ ณ เวลานั้น มีอายุ 28 ปี ซึ่งตามหลักควรจะเป็นช่วงพีคของนักกีฬา

เมื่อเรื่องอื้อฉาวถูกจุดลุกลามปานไฟลามทุ่ง ในฐานะรุ่นพี่วงการตะกร้อ พันตำรวจโทสืบศักดิ์จึงออกโรงแฉกระบวนดังกล่าว และแน่นอนว่าในเอเชียนเกมส์ 2022 ก็มีการหักหัวคิวเช่นกัน รายละเอียดคือทีมชุดชาย จำนวน 12 คน และทีมเดี่ยวชาย จำนวน 5 คน ที่ได้เหรียญทอง จะได้เงินอัดฉีดจำนวนคนละ 2 ล้านบาท จากเงินรางวัลรวม 34 ล้านบาท เช่นเดียวกับทีมชุดหญิงและทีมเดี่ยวหญิงที่จะได้ส่วนแบ่งเงินรางวัลเท่ากับฝั่งชาย 

ขณะที่ทีมสต๊าฟโค้ช 3 ราย จะได้เงินจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ คนละ 1.93 ล้านบาท จากเงินรวม 5.8 ล้านบาท ทว่าทีมสต๊าฟกลับหักเงิน 50% ของนักกีฬาที่ได้เหรียญทองเอเชียนเกมส์ โดยอ้างว่า จะนำเงินนั้นไปให้แก่นักกีฬาเซปักตะกร้อที่ไม่ติดทีมชาติแต่มีส่วนมาช่วยซ้อม ซึ่งถ้าอ้างตามกฎของกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติไม่เคยมีระบุไว้ และหากอิงจากความเป็นจริง นั่นควรเป็นเงินบำรุงจากสมาคมฯ ที่เป็นเงินคนละส่วนจริงหรือไม่?

3.

เรื่องเหมือนจะจบแค่ว่าต้องสืบสวนความผิดหักหัวคิว แต่พันตำรวจโทสืบศักดิ์เผยต่อว่า ความมิชอบมาพากลนี้มีมากกว่าที่แฟนกีฬาจินตนาการ ยกตัวอย่างในรายของ พิกุล สีดำ และ นิตินัดดา แก้วคำไสย์ ที่เคยออกมาแฉพฤติการดังกล่าวหลังจบภารกิจในเอเชียนเกมส์ 2010 จนสุดท้ายถูกสมาคมฯ ตัดหางปล่อยวัดออกจากสารบบแม้จะมีผลงานดีเลิศเพียงใด จนจำใจเปลี่ยนอาชีพเพราะความลำบาก

“ทั้ง พิกุล สีดำ และ นิตินัดดา แก้วคำไสย์ เคยออกมาพูดถึงปัญหานี้ จนสุดท้ายรายการต่อๆ มากลับหลุดจากทีมชาติ อย่างพิกุล ต้องเปลี่ยนอาชีพไปเก็บผลไม้ที่ต่างประเทศ ทั้งที่การเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยควรมีเกียรติมีศักดิ์ศรี” ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ของพันตำรวจโทสืบศักดิ์

นอกจากนี้ พันตำรวจโทสืบศักดิ์ยังระบุว่า พฤติกรรมหักหัวคิวของสต๊าฟนั้นดูไม่ต่างจากการกระทำแบบฉบับ ‘มาเฟีย’ ที่ขูดรีดชาวบ้าน แบ่งเป็น 2 กรณี คือ

1. ให้นักกีฬารับเงินจำนวนเต็มมาก่อน จากนั้นโยกเงินไปยังบัญชีพักเพื่อตกลงสัดส่วนกันอีกที

2.2. ให้นักกีฬาถอนเงินออกมาทั้งหมด จากนั้นค่อยนัดวันเวลาสถานที่เพื่อตกลงแบ่งเงินกัน เพื่อไม่ให้เหลือหลักฐานทางธุรกรรม 

เวลาต่อมาไม่นาน ธนา ชัยประสิทธิ์ ได้ออกโรงตอบโต้การแฉดังกล่าวในฐานะ นายกสมาคมกีฬาตะกร้อแห่งประเทศไทยว่า ตนเองได้ทราบถึงปัญหาดังกล่าวแล้ว แต่มีความสงสัยว่า เหตุใดพันตำรวจโทสืบศักดิ์ถึงไม่แจ้งเรื่องไปยังพลเรือโท บุญชิต พูลพิทักษ์ ซึ่งเป็นเลขาฯ สมาคม แต่กลับแจ้งต่อบุญชัย ซึ่งเป็นรองประธานสหพันธ์ฯ และตนยังสงสัยว่า เรื่องที่ยื่นฟ้องนั่นเกิดขึ้นเกิน 10 ปีแล้ว แต่เหตุใดพันตำรวจโทสืบศักดิ์จึงเพิ่งนึกร้องเรียน อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ทางสมาคมฯ จะเร่งสืบสวนให้เร็วที่สุด

น่าสนใจว่า สิ่งที่ควรให้ความสำคัญตอนนี้ไม่ใช่ว่า ใครควรยื่นเรื่องกับใคร แต่จะดีกว่าไหมถ้าให้คำมั่นว่าจะหาตัวคนผิดมาลงโทษ หรือหาข้อชดเชยให้กับอดีตนักกีฬารวมถึงนักกีฬาที่เสียผลประโยชน์อย่างไร 

4.

จบจากปัญหาหักหัวคิวในกีฬาเซปักตะกร้อ ผมขอพาท่านผู้อ่านมาต่อที่วงการลูกหนัง ว่าถึงทีมฟุตบอลชาย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ที่สามารถคว้าเหรียญเงินทัวร์นาเมนต์ซีเกมส์ 2023 ไปครอง แม้รอบชิงชนะเลิศจะทำผลงานได้น่าผิดหวังแพ้อินโดนีเซียช่วงต่อเวลาไป 2-5 แต่ด้วยปัญหาเชิงโครงสร้างหลายๆ อย่างที่กระท่อนกระแท่นระหว่างทาง ก็นับว่าสมเหตุสมผล

แต่ถึงตรงนี้เวลาผ่านไป 6 เดือนกว่าแล้วที่ทีมช้างศึกกหนุ่มกลับยังไม่ได้รับรางวัลเงินรางวัลอัดฉีดจำนวน 3 ล้านบาท หรือไม่ต่ำกว่าคนละ 75,000 บาท ร้อนถึง ‘บิ๊กอ๊อด’ พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ต้องออกโรงถามหา 

ถึงกระนั้น เหตุผลที่เงินอัดฉีดจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติล่าช้ามาไม่ถึงมือนักกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ที่เป็นผู้ดูแลเงินดังกล่าวให้คำตอบว่า มาจากพฤติกรรมไม่เหมาะสมในนัดชิงชนะเลิศที่มีนักเตะบางรายทะเลาะวิวาทตะลุมบอนกับฝั่งอินโดนีเซีย ส่งผลให้สมาคมฯ สั่งลงโทษสต๊าฟโค้ช 3 ราย ได้แก่ ประสบโชค โชคเหมาะ ผู้ฝึกสอนผู้รักษาประตู และ 2 เจ้าหน้าที่ทีม มายีด หมัดอะด้ำ และ ภัทราวุธ วงษ์ศรีเผือก ห้ามยุ่งเกี่ยวกับฟุตบอลทีมชาติไทยจำนวนคนละ 1 ปี รวมถึงสั่งห้าม สภณวิชญ์ รักญาติ และ ธีรภักดิ์ เปรื่องนา สองนักเตะที่มีส่วนทะเลาะห้ามยุ่งเกี่ยวกับทีมชาติเช่นกันคนละ 6 เดือน

ข้างต้นดูเป็นบทลงโทษที่สมเหตุสมผลและเหมาะสำหรับคนกีฬาผู้มีใจคึกคะนองให้ใช้เวลาพินิจตัวเองเพื่อกลับตัว แต่ที่น่างุนงงคือการกีฬาแห่งประเทศไทยกลับชี้แจงว่า ขอใช้เวลาสอบสวนก่อน เมื่อคลี่คลายจึงจะมอบเงินอัดฉีด และที่สำคัญคือนักกีฬาที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมจะไม่ได้รับเงินรางวัลเสียอย่างนั้น

ข้อสงสัยมี 2 ประการ 1.เหตุใดการกีฬาแห่งประเทศไทย ถึงใช้เวลาพิจารณาเรื่องทะเลาะวิวาทนานเช่นนี้ จนส่งผลกระทบต่อนักเตะพฤติกรรมดีจนได้รับเงินล่าช้าตามไปด้วย 2.จริงอยู่ที่นักกีฬามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในนัดชิง แต่ที่ผ่านมาพวกเขาก็ตั้งใจซ้อม อยู่ในกฎระเบียบมาตลอดมิใช่หรือ? ขณะเดียวกันก็ได้รับบทลงโทษสาสมไปแล้ว ถ้าจะยกเลิกเงินรางวัลส่วนจริงๆ ก็ควรบัญญัติข้อตกลงไว้แต่แรกไม่ใช่มานึกเอาดื้อๆ หลังเกิดเรื่อง

แต่เท่าที่ทราบมาล่าสุดดูเหมือนเงินรางวัลจำนวนดังกล่าวจะถึงมือนักกีฬาทุกคน รวมถึงคนที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาทด้วย ทว่ากรรมกลับไปตกที่สมาคมฯ ตามข้อชี้แจงของการกีฬาแห่งประเทศไทยที่ระบุว่า สมาคมฯ จะถูกหักเงินสนับสนุน 30% จากปัญหาที่ว่า

นึกตามแล้วก็แปลกดี

5.

สุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือ ทัวร์นาเมนต์เอเชียนพาราเกมส์ 2022 ที่ทัพนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย สามารถทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจด้วยการคว้าอันดับดับ 7 จากผลงานทั้งหมด 27 เหรียญทอง 26 เหรียญเงิน และ 55 เหรียญทองแดง 

อย่างไรก็ตามหากมองกันที่เงินรางวัล พวกเขากลับได้น้อยกว่านักกีฬาปกติแทบจะครึ่งต่อครึ่ง เพราะจากข้อมูลของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ หากนักกีฬาปกติทั่วไปที่ลงแข่งเอเชียนเกมส์สามารถคว้าเหรียญทองจะได้เงินรางวัลเหรียญละ 2 ล้านบาท เหรียญเงินละ 1 ล้านบาท และเหรียญทองแดงละ 5 แสนบาท

สลับฟากมาที่นักกีฬาคนพิการที่ลงแข่งเอเชียนพาราเกมส์สามารถถคว้าเหรียญทองจะได้เงินรางวัลเหรียญละ 1 ล้านบาท เหรียญเงินละ 5 แสนบาท และเหรียญทองแดงละ 2.5 แสนบาท

นึกแล้วก็น่าน้อยใจ ต้องฝึกฝนเหมือนกัน ผ่านกระบวนการคัดตัวมาเหมือนกัน สร้างชื่อให้ชาติ มีธงไตรรงค์ติดที่อกด้านซ้าย มิหนำซ้ำยังเป็นคนเหมือนกัน แต่พอเงินรางวัลตอบแทนกลับแบ่งแยกไม่เหมือนกัน

และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกเพราะตั้งแต่พาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ก็มีผู้ออกมาวิพากวิจารณ์เกณฑ์ดังกล่าวเป็นว่าเล่น แต่จนบัดนี้ก็ยังไร้วี่แววตอบสนองใดๆ จากผู้มีอำนาจ

ทั้งหมดทั้งมวลผิวเผินเหมือนข้อเรียกร้องมากเรื่อง แต่หาก ‘กีฬา’ คือหนึ่งในสาขาอาชีพสากลบนโลกใบนี้ ข้อเรียกร้องที่กล่าวมาจะไม่ควรเป็นเรื่องตะขิดตะขวงใจ ขณะเดียวกันก็ยังมีจุดบกพร่องอีกมากมายในวงการกีฬาไทยที่ควรปรับปรุงแก้ไข ที่ถ้าให้กล่าวทั้งหมดก็คงยาวปานหางว่าว 

แต่อย่ารอให้ถึงวันที่ต้องออกมานั่งแฉกันให้เหนื่อยเปล่า หรือผลักภาระรับผิดชอบให้นักกีฬากันเลย เพราะพวกเขาก็ต้องกินต้องใช้เหมือนที่ท่านทั้งหลายจำต้องใช้เหมือนกัน หรือนั่งรอถึงวันที่ธงไตรรงค์บนอกซ้ายหมดความศักดิ์สิทธิ์แล้วค่อยหาทางแก้ไขตามแบบไทยแลนด์สไตล์

ถือเสียว่าเป็นการช่วยเตือนด้วยความหวังดีในฐานะแฟนกีฬาตัวเล็กๆ คนหนึ่งก็แล้วกัน

อ้างอิง:

https://nsdf.or.th/wp-content/uploads/2021/07/14-บัญชีการจ่ายเงินรางวัล-ฉบับย่อ-พ.ศ.2562-Oct-30-2019-1.pdf

https://www.siamsport.co.th/other-sports/sports-world/32497/

https://www.siamsport.co.th/other-sports/sports-world/36326/

https://www.thairath.co.th/sport/others/2738772

https://www.komchadluek.net/news/80188

https://www.dailynews.co.th/news/2506471/

https://www.dailynews.co.th/news/228277/

Tags: , , ,