หลังจากแฟนบอลของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดร่วมพันคน ประท้วงขับไล่ตระกูลเกลเซอร์ เจ้าของสโมสร ที่หน้าสนามโอลด์แทรฟฟอร์ด ไม่กี่ชั่วโมงก่อนการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกระหว่างแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดและลิเวอร์พูลจะเริ่มขึ้น เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้การแข่งขันในวันนั้นต้องยกเลิกและเลื่อนออกไป แม้จะมีกระแสต่อต้านจากแฟนบอลอีกจำนวนหนึ่ง แต่การกระทำของกลุ่มผู้ประท้วงนั้นก็บรรลุเป้าหมาย เพราะพวกเขาได้ป่าวประกาศความไม่พอใจและความต้องการขับไล่ตระกูลเกลเซอร์ออกไปจากทีมให้สาธารณะได้รับรู้เรียบร้อยแล้ว

อะไรคือชนวนของความบาดหมางระหว่างผู้บริหารและแฟนคลับของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด The Momentum ได้พูดคุยกับ ณรินทร์ภัทร บุณยวีรพันธ์ เจ้าของเพจ ดูบอลกับแนท ที่จะมาอธิบายถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยลงรอยระหว่างแฟนบอลและเจ้าของทีม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความพิเศษของธุรกิจฟุตบอล ซึ่งผูกติดกับพื้นที่ ผู้คน และความศรัทธา

โดยก่อนจะเริ่มเรื่องราวของตระกูลเกลเซอร์ ณรินทร์ภัทรได้อธิบายถึงวิธีบริหารการเงินของสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นต้นเหตุของเรื่องราวทั้งหมดเสียก่อน ว่าเป็นไปในรูปแบบ ‘บริษัทจำกัด’ กล่าวคือแฟนบอลจะสามารถเข้าถือหุ้นของสโมสรได้เพื่อช่วยพยุงให้ทีมที่ตนรักมีเงินในการพัฒนาทีมต่อไปในอนาคตข้างหน้า 

“ในทศวรรษ 90s หลังจาก มาร์ติน เอ็ดเวิร์ด ได้รับมรดกเป็นจำนวนหุ้นมากกว่าร้อยละ 54 หลุยส์ เอ็ดเวิร์ด ผู้เป็นพ่อของเขา ได้ลงทุนกับสโมสรด้วยการซื้อหุ้นในราคา 40,000 ปอนด์ ส่งผลให้เขากลายเป็นคณะกรรมการบริหารโดยทันที ด้วยวิสัยทัศน์ทางการเงิน และความต้องการให้สโมสรประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น เขาจึงเปิดโอกาสให้แฟนบอลเข้ามาถือหุ้นจำนวนหนึ่ง ดังที่ปรากฏเป็นเหตุการณ์สำคัญของทีม อย่างการปล่อยหุ้นให้แฟนบอลเข้าซื้อเพื่อสร้าง Stretford End อัฒจันทร์ชื่อดังที่ตั้งอยู่ในสนามโอลด์แทรฟฟอร์ด

“โดยข้อแม้สำคัญคือ เขาจะไม่ให้บริษัทหรือใครหน้าไหนเข้ามาถือหุ้นรายใหญ่ในสโมสรเด็ดขาด ซึ่งแฟนบอลก็เห็นด้วยเช่นนั้น

“มีเหตุการณ์สำคัญในปี 1998-1999 ที่ทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดได้ทริปเปิลแชมป์ (พรีเมียร์ลีก, ยูฟ่าแชมป์เปี้ยนลีก และเอฟเอคัพ) รูเพิร์ต เมอร์ด็อก เจ้าของบริษัทถ่ายทอดสดบริติชสกาย ตั้งใจจะมาซื้อสโมสรด้วยเงินจำนวน 600 ล้านปอนด์ แต่ไม่ว่าจะยื่นข้อเสนอไปเท่าไร มาร์ติน เอ็ดเวิร์ด และที่สำคัญคือแฟนบอลเอง ก็จะคัดค้านอยู่เสมอ คัดค้านจนถึงขนาดที่แฟนบอลได้ก่อตั้งกลุ่มหุ้นส่วนยูไนเต็ดต่อต้านเมอร์ด็อก (Shareholders United Against Murdoch) ที่ต่อมากลายเป็น แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ซัพพอร์เตอร์ ทรัสต์ (Manchester United Supporters Trust) กลุ่มผู้ถือหุ้นส่วนของสโมสรเพื่อพยายามป้องกันการครอบงำกิจการ

“ทั้งหมดนี้คือวิถีและความสัมพันธ์ระหว่างแฟนบอลและสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด

“แต่ทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อ จอห์น แมกเนียร์ และ เจ.พี. แมกมานัส ผู้ถือหุ้นของสโมสร 28.9 เปอร์เซ็นต์ มีปัญหากับเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ผู้จัดการทีมในขณะนั้น เรื่องราวใหญ่โตถึงขั้นมีการเดิมพันถึงการมีอยู่ระหว่างผู้ถือหุ้นเกือบ 1 ใน 3 ของสโมสร กับผู้จัดการคนเก่งของทีม แต่สุดท้ายบอร์ดบริหารก็เลือกที่จะรั้งเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสันเอาไว้ เป็นเหตุให้ 2 เศรษฐีชาวไอริชขายหุ้นทั้งหมดทิ้ง ตรงนี้เองที่ตระกูลเกลเซอร์ ภายใต้การดำเนินงานของ มัลคอม เกลเซอร์ เข้ามามีบทบาทกับสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในที่สุด”

ตระกูลเกลเซอร์ทำอะไร ทำไมแฟนบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดถึงต่อต้านพวกเขา

‘เกลเซอร์’ เป็นตระกูลเศรษฐีจากสหรัฐอเมริกา เจ้าของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ชื่อว่า First Allied Corporation ก่อนจะขยับขยายเส้นทางธุรกิจมาประสบความสำเร็จในด้านบริหารทีมกีฬา พวกเขาเป็นเจ้าของทีมอเมริกันฟุตบอล แทมปาเบย์ บัคคาเนียร์ส ที่ประสบความสำเร็จทั้งในแง่ของผลการแข่งขันและรายได้อย่างล้นหลาม ซึ่งจำนวนเงินตรงนี้เองที่ทำให้พวกเขามาพร้อมกับเงินก้อนใหญ่ มูลค่าเกือบ 800 ล้านปอนด์ เพื่อเข้าเทกโอเวอร์สโมสร หลังทยอยซื้อหุ้นสะสมจากผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ

ในเดือนพฤษภาคม 2005 มัลคอล์ม เกลเซอร์ เข้าซื้อหุ้นร้อยละ 28.7 ที่ว่างอยู่ จากนั้นเขาทยอยช้อนหุ้นที่ว่างมาเรื่อยๆ จนสุดท้ายเขาสามารถถือหุ้นได้เกือบ 75 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด ส่งผลให้ตอนนั้น ตระกูลเกลเซอร์มีอำนาจกำหนดทิศทางสโมสร จนสุดท้ายได้ทำการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน J.P. Morgan ประมาณ 800 ล้านปอนด์ เข้าซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดอย่างสมบูรณ์แบบ

แน่นอนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนำไปสู่ความไม่พอใจของแฟนบอลอย่างมาก โดยเฉพาะพฤติกรรมที่หวังฟันผลกำไรของตระกูลเกลเซอร์

เพราะหลังจากนั้น สิ่งที่สโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดภายใต้การควบคุมของตระกูลเกลเซอร์ต้องทำเป็นอันดับแรกคือการชดใช้หนี้ที่พวกเขากู้ยืมมา ที่ตอนนี้มีจำนวนเหลือ 520 ล้านปอนด์ โดยสโมสรต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยจำนวน 60 ล้านปอนด์ต่อปี 

“ส่วนนี้ผมมองว่า การเข้ามาซื้อแบบ Leveraged buyout หรือซื้อหุ้นของสโมสรโดยที่ไม่ได้แลกกับอะไร มันทำให้เขาเป็นเสือมือเปล่า เงินที่ทุ่มซื้อก็เป็นของสถาบัน ตอนชำระหนี้ก็เป็นเงินของสโมสร แต่สิ่งที่สำคัญคือ จะมีการปันผลให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทุกปี ปีละ 20 ล้านปอนด์” ณรินทร์ภัทรได้ให้ความเห็นถึงวิธีการบริหารเงินของตระกูลเกลเซอร์ที่แฟนบอลและทีมที่เขารักนั้นไม่ได้ผลประโยชน์แต่อย่างใด

“ผมอยากให้คุณลองคิดภาพว่า ทุกปีค่าเข้าสนาม ตั๋วรายปี เงินต่างๆ ที่แฟนบอลเข้าไปอุดหนุนเพื่อหวังให้ทีมพัฒนาขึ้น บางส่วนถูกโอนไปให้กับลูกหลานในตระกูลเกลเซอร์ที่อาจจะไม่ได้สนใจฟุตบอลเลยด้วยซ้ำ”

แต่การทำธุรกิจก็ต้องลดปัจจัยการขาดทุนให้น้อยที่สุด อีกทั้งการทำธุรกิจในแบบฉบับของตระกูลเกลเซอร์จะเห็นได้ว่าแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดก็มีรายได้เข้ามาหลังจากนั้นเป็นจำนวนมากไม่ใช่เหรอ

“ถ้าถามในมุมมองของนักธุรกิจ การที่คุณลงทุนแล้วหวังผลกำไร มันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ถือหุ้นก็หวังเงินปันผล แต่มันมีการเปรียบเทียบกับหลายสโมสร โรมัน อับราโมวิช เจ้าของทีมเชลซี หรือ ชีค มานซูร์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน เจ้าของสโมสรแมนเชสเตอร์ซิตี้ ต่างก็ใช้ทรัพย์สินของตัวเองเพื่อเข้าซื้อทั้งนั้น 

“แต่ตระกูลเกลเซอร์บริหารงานมา 16 ปี ไม่เคยนำเงินตัวเองออกมาใช้จ่ายเลยแม้แต่ปอนด์เดียว ยกเว้นอย่างเดียวที่กำลังจะเกิดขึ้นคือค่าเสียหายเรื่องซูเปอร์ลีก แบบนี้จะให้แฟนบอลเขารู้สึกอย่างไร เขาก็ต้องคิดว่ามีใครบางคนกำลังมาขูดรีด มาหาผลประโยชน์จากทีมที่เขารักจริงไหม”

ตระกูลเกลเซอร์ ส่งผลดี-ผลเสีย ต่อสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดทางไหนบ้าง

“ข้อดีก็มีบ้าง คือเขาไม่มาก้าวก่ายในเรื่องของฟุตบอล ตระกูลเกลเซอร์มาดูในสนามครั้งสุดท้ายคือปี 2019 แล้วตอนที่พวกเขาดู ก็ไม่ได้ดูเอาสนุกเหมือนที่พวกเราทุกคนดู แต่พวกเขามองทุกอย่างเป็นผลกำไร บอลลูกนี้ ป้ายสนามตรงนี้ จะทำเงินได้อย่างไรบ้าง คือเขาไม่สนเรื่องกีฬาฟุตบอลเลย

“สิ่งที่เกิดขึ้นคืออย่างน้อย เขาจะมองเป้าหมายตรงนี้และพยายามบริหารให้สโมสรมีรายได้มากที่สุด การดึงคนที่มีวิสัยทัศน์การเงินอย่าง เอ็ด วูดเวิร์ด (รองประธานในสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดขณะนี้) และลูกทีมมาดูแลเรื่องการตลาด การหาสปอนเซอร์ให้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเพื่อหวังกำไรอย่างที่เขาตั้งใจ ซึ่งเขาก็ทำได้ดีด้วย เรื่องนี้ผมยอมรับเลยว่าทีมเราไม่เป็นสองรองใคร

“คุณจะเห็นว่า แม้สโมรสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดจะตกต่ำอย่างไร แต่ก็หาสปอนเซอร์ได้เยอะมาก เครื่องดื่ม บะหมี่ บริษัทสุขภัณฑ์ สปอนเซอร์คาดหน้าอกทั้งหลาย คือความสำเร็จของทีมเอ็ด วูดเวิร์ด ภายใต้ตระกูลเกลเซอร์ทั้งนั้น ซึ่งก็จะเห็นผลว่ามันช่วยทำให้สโมรสรดำรงเสถียรภาพ อย่างในช่วงโควิด-19 แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดถือเป็นทีมหนึ่งที่ได้รับความเสียหายน้อยกว่าชาวบ้านเขา

“แต่ข้อเสียก็มีเช่นกัน โดยเฉพาะหลังจากเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน วางมือไป มันแสดงให้เห็นว่า เขาไม่เคยสนใจความเป็น United Way เลยแม้แต่น้อย

“United Way เป็นคำที่ผมใช้ในเพจของตัวเอง อ้างอิงถึงวิถีและขนบที่มีมาตั้งแต่ยุคของ แมตต์ บัสบี, เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน จนถึงยุคของ โอเล กุนนาร์ โซลชา ผู้จัดการคนปัจจุบัน กล่าวคือดีเอนเอของนักเตะแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดที่มีความเป็นลูกหม้อ เป็นเด็กปั้น หรือจะซื้อตัวมานั้น ต้องมั่นใจว่าเป็นนักเตะที่รักและเคารพในสโมสรเป็นอย่างมาก แต่หลังจากพ้นยุคเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ปี 2013-2018 สิ่งที่เกลเซอร์และเอ็ด วูดเวิร์ด ทำ คือพยายามจะเป็น ‘กาลาติกอส’ รวมนักเตะระดับโลกเอาไว้ แบบที่เรอัล มาดริด เคยทำในยุค 2000

“โอเค มันเป็นจินตนาการของวูดเวิร์ด แต่ในความเป็นจริงก็ยากที่จะทำแบบนั้น คือถ้าไปดูรายชื่อนักเตะแต่ละคนที่ต้องการคือระดับโลกแทบทุกคน แต่หลายๆ คนซื้อมาก็ใช่ว่าจะเล่นเข้ากับทีม สุดท้ายก็ต้องปล่อยไป หรือถูกดองกินค่าเหนื่อยเปล่าๆ ไปหลายฤดูกาล ซึ่งมันไม่ตรงกับสิ่งที่แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเป็น ทั้งหมดนี้เลยทำให้ผมในฐานะแฟนบอลมองไม่เห็นภาพระยะไกลของทีมในเชิงกีฬา ไม่เห็นถึงอนาคตที่รุ่งโรจน์แม้แต่น้อย

“เห็นได้ว่าปัญหาใหญ่ที่สุดคือการที่ตระกูลเกลเซอร์มองทีมฟุตบอลเป็นธุรกิจไปทั้งหมด แต่ในความเป็นจริงฟุตบอล สโมสร แม้กระทั้งชื่อทีม ก็ผูกพันกับผู้คนในท้องถิ่นนั้นอย่างหนาแน่น การจะทำอะไรที่ไม่คำนึงถึงแฟนบอลและสิ่งที่พวกเขายึดถือกันมาถือเป็นเรื่องที่ผิดอย่างร้ายแรง

“ธุรกิจแฟนบอลมันผูกติดกับผู้คน ผูกติดกับถิ่นที่อยู่ ในทีมฟุตบอลอังกฤษเขามีความเชื่อเดียวกันหมดว่า แฟนบอลเวลาเขาจะเชียร์ เขายอมจ่ายค่าเหนื่อยทุกสัปดาห์ ทุกวันเสาร์เราจะเห็นเขามาดูเสมอ ดูตั้งแต่หนุ่มยันแก่ บางคนอายุ 70-80 ปี ตอนประท้วงที่ผ่านมายังมีคุณยายไปประท้วงเลย นี่เป็นหลักฐานของความรู้สึก ของความผูกพัน”

ทำไมยูโรเปียนซูเปอร์ลีก ถึงเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้แฟนบอลหมดความอดทนกับตระกูลเกลเซอร์

ยูโรเปียนซูเปอร์ลีก (European Super League) เป็นรายการฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรยุโรปซึ่งเกิดขึ้นจากแนวความคิดของ ฟลอเรนตีโน เปเรซ ประธานสโมสรเรอัล มาดริด เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2009 ที่ต้องการให้บรรดาสโมสรชั้นนำของยุโรปแยกตัวออกมาจากยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก แล้วจัดตั้งรายการฟุตบอลยูโรเปียนซูเปอร์ลีกขึ้นมา แต่สุดท้ายโปรเจ็กต์ดังกล่าวก็ล่มไป โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระแสต่อต้านของแฟนบอลแต่ละทีม โดยเฉพาะแฟนบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด

“ที่เขาโกรธกันเพราะมันเป็นการที่อยู่ดีๆ คุณไปกอบโกยเงิน กอบโกยผลกำไร โดยที่ไม่ได้ถามแฟนบอลเลย การที่คุณไปเตะซูเปอร์ลีก คุณทำลายพีระมิด ระบบโครงสร้างของระบบฟุตบอลอังกฤษทั้งหมด หมายความว่า คุณไปเตะกันเองกับทีมระดับโลก เหมือนคุณสร้างลีกการแข่งขันเองในเกมฟุตบอล แล้วขนบการแข่งขันของฟุตบอลอังกฤษจะมีอยู่เพื่ออะไร การแย่ง 4 อันดับหัวตารางเพื่อไปเล่นบอลถ้วย การหนีตกชั้น การเลื่อนชั้น เสน่ห์ของเกมดาร์บีแมตช์ระหว่างทีมร่วมมือ เหล่านี้มันจะหายไป เพราะในซูเปอร์ลีกที่คุณจะไปเตะ หากมันเกิดขึ้นจริง ก็คงจะมีแต่เงินเท่านั้น” ณรินทร์ภัทร ได้ให้ความเห็นถึงเหตุการณ์ดังกล่าว

“และที่แฟนบอลรู้สึกโมโหมากที่สุดคือ เขาไม่ถามแฟนบอลเลย ซึ่งผมก็เชื่อว่าแฟนบอลของเชลซี ลิเวอร์พูลที่ออกมาประท้วงพร้อมกับแมนยู ก็ให้คำตอบเดียวกัน คือถ้าอยากจะไปทำอะไรก็ถามพวกเขาก่อน”

โดยหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้น มีการออกมาเรียกร้องโดยกลุ่มแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ซัพพอร์เตอร์ ทรัสต์ ต่อตระกูลเกลเซอร์ ซึ่งมีข้อเรียกร้องจำนวน 4 ข้อ ดังนี้

1. เต็มใจและเปิดเผยข้อมูลต่างๆ เพื่อให้แฟนบอลเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารงานของทีม ที่ต้องจัดขึ้นโดยรัฐบาล และใช้โอกาสนี้เพื่อปรับโครงสร้างการเป็นเจ้าของทีมเพื่อให้แฟนบอลเข้าไปมีส่วนร่วม

2. แต่งตั้งกรรมการอิสระเข้าไปทำงานกับบอร์ดบริหาร โดยมีจุดประสงค์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสโมสรในฐานะสโมสรฟุตบอล ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น

3. ทำงานร่วมกับกลุ่มแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ซัพพอร์เตอร์ ทรัสต์ และแฟนบอลให้มากขึ้น เพื่อวางโครงการที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และมีหุ้นที่ทุกคนสามารถมีสิทธิ์ออกเสียงเหมือนกับตระกูลเกลเซอร์ รวมถึงตระกูลเกลเซอร์ต้องยอมรับการถือหุ้นน้อยลง หรือถูกซื้อไปทั้งหมด

4. มุ่งมั่นที่จะให้คำปรึกษาอย่างเต็มที่กับแฟนบอลที่ถือตั๋วฤดูกาล เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของสโมสรในอนาคต

 

หลังจากนี้ต้องดูท่าทีของทางตระกูลเกลเซอร์กันต่อไปว่า จะมีการออกมาแสดงความเห็นอย่างไรบ้าง รวมไปถึงอนาคตและทิศทางของทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดทั้งในแง่ของรูปแบบการทำธุรกิจ และวิธีในการทำทีมในเชิงฟุตบอลจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน

ปรากฏการณ์ระหว่างแฟนบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดและตระกูลเกลเซอร์ที่เกิดขึ้นก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ธุรกิจฟุตบอลนั้นมีเสน่ห์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นอย่างยิ่ง การเข้ามาเพื่อหวังผลกำไรในธุรกิจนี้ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ

เพราะนี่คือสถานที่ คือเรื่องราว คือปริมาณเงินของคนจำนวนมากที่อัดฉีดเข้าไปด้วยความผูกพัน โดยหวังจะเห็นสิ่งที่ตัวเองรักและศรัทธาเติบโตตามขนบที่มันควรจะเป็นอย่างเช่นเดิมเสมอมา

Tags: , , , , , ,