ศึกฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2021 (2021 FIFA Futsal World Cup) ที่กำลังฟาดแข้งกัน ณ ประเทศลิทัวเนีย มีชื่อของทีมชาติไทยในฐานะหนึ่งในห้าทีมจากเอเอฟซี หรือเอเชีย ที่ผ่านเข้ารอบพร้อมกับญี่ปุ่น อิหร่าน อุซเบกิสถาน และเวียดนาม นับเป็นครั้งที่ 6 ติดต่อกัน ที่ไทยได้เข้าร่วมการแข่งขันชิงแชมป์โลก ถึงแม้ว่าล่าสุดทีมชาติไทยจะกระเด็นตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย หลังพ่ายต่อคาซัคสถานไป 7 ประตูต่อ 0 ก็ตาม

ย้อนกลับไปครั้งแรกที่ไทยได้ผ่านเข้าไปเล่นฟุตซอลชิงแชมป์โลกรอบสุดท้าย คือปี 2000 ที่กัวเตมาลา หลังจากนั้นทุกๆ สี่ปี จะมีชื่อของทีมชาติไทยปรากฏอยู่ในการแข่งขันรอบสุดท้ายเสมอ นั่นหมายถึง ไทยไม่เคยพลาดการเข้าแข่งชิงแชมป์โลกรอบสุดท้ายเลยนับตั้งแต่การได้เข้าร่วมครั้งแรก

แน่นอนว่าการผ่านเข้ารอบถึง 6 ครั้งหลังสุด ย่อมการันตีได้ว่าทีมฟุตซอลไทยไม่ธรรมดา ถึงแม้ว่าการไปไกลที่สุดของทีมชาติไทยในทัวร์นาเมนต์นี้คือการเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย ในปี 2012 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ในปี 2016 ที่ประเทศโคลัมเบีย รวมถึงในครั้งนี้ที่ลิทัวเนีย

ขณะเดียวกัน หากลองไปดูการจัดอันดับของไทยในเวทีเอเชียและเวทีระดับโลก จะเห็นได้ว่าเราไม่ธรรมดาจริงๆ เพราะในทวีปเอเชีย ทีมชาติไทยอยู่ในอันดับที่สาม เป็นรองเพียงญี่ปุ่นที่อยู่อันดับสอง และอิหร่านในอันดับหนึ่ง ส่วนใน World Ranking หรือการจัดอันดับทั่วโลก ไทยอยู่ในอันดับที่ 18 ซึ่งทีมที่อยู่อันดับสูงกว่าก็เป็นถึงทีมยักษ์ใหญ่อย่างสเปน บราซิล อาร์เจนตินา และอิตาลี

น่าสนใจว่า ขณะที่ทีมลูกหนังไทยกำลังพัฒนาแต่ยังไม่สามารถผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกได้ ทำไมบอลโต๊ะเล็กอย่างฟุตซอลทีมชาติไทย ถึงสามารถทำผลงานได้ดี และมีมาตรฐานที่ต่อเนื่องเช่นนี้

ภาพ: sport.mthai.com

กำเนิดฟุตซอลไทย

แม้ไม่เป็นที่ปรากฏแน่ชัดว่าการเล่นฟุตซอลในไทยมีมาตั้งแต่เมื่อไร แต่นับได้ว่าคนไทยเล่นกีฬาที่มีความคล้ายคลึงกับฟุตซอลมานานแล้ว หรือที่รู้จักกันในนามของ ‘ฟุตบอลโกลหนู’ ที่คนเล่นฟุตบอลทั้งหลายคงมีความทรงจำร่วมผ่านสนามนี้กันมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ซึ่งมีรูปแบบคล้ายฟุตบอล แต่มีการลดขนาดสนามและจำนวนผู้เล่นลงมา

ฟุตบอลโกลหนูนิยมเล่นกันแบบไม่มีผู้รักษาประตู แต่ก็ไม่ได้กำหนดตายตัว แบ่งเป็นสองฝั่ง แต่ละฝั่งมีจำนวนผู้เล่นเท่ากัน ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 5 หรือ 7 คน ที่น่าสนใจคือสนามแข่งขัน ด้วยความที่สนามฟุตบอลโกลหนูเป็นสนามเล็ก ทำให้ผู้เล่นสามารถใช้ที่ว่างใดๆ ก็ได้ที่เอื้ออำนวยในการแข่งขัน แม้กระทั่งสนามบาสเก็ตบอล พื้นที่ว่างใต้สะพานลอยหรือทางด่วน หากเป็นในโรงเรียน อาจจะเป็นสนามวอลเลย์บอลในโรงยิมที่ถอดเอาตาข่ายออกก็ยังได้

ความคุ้นเคยนี้เองอาจจะเป็นจุดหนึ่งที่สำคัญ เสมือนว่าการเล่นฟุตบอลโต๊ะเล็กเป็นพื้นฐานที่อยู่ในสายเลือดของเด็กไทยมาแต่ไหนแต่ไร บวกกับสรีระของคนไทยที่ไม่ได้สูงใหญ่มาก ทำให้มีความคล่องตัวในการขยับร่างกายรับส่งบอล หรือหาจังหวะเล่นในพื้นที่สนามฟุตซอลที่มีขนาดกะทัดรัดได้ดี

ชุดลุยศึกฟุตซอลชิงแชมป์โลกครั้งแรก เวิลด์คัพ 2000

ความนิยมที่เพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันสั้น

ปี 2540 ประเทศไทยมีการจัดการแข่งขันฟุตบอล 5 คนขึ้นเป็นครั้งแรกในชื่อ STAR INDOOR SOCCER 1997 ซึ่งฟุตบอล 5 คนถือเป็นคำที่ใช้เรียกกีฬาฟุตซอลในตอนนั้น ต่อมาจึงมีการจัดการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ทำให้กีฬาฟุตซอลเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน เนื่องจากความสะดวกสบายในการหาสนามเล่น และจำนวนผู้เล่นที่ไม่มากเกินไป

ในช่วงแรกของการแข่งขันฟุตบอล 5 คน แต่ละสโมสรที่ส่งทีมเล่นจะนิยมใช้นักเตะที่เล่นฟุตบอล 11 คน มาลงสนาม เพราะในยุคแรกสมาคมกีฬาฟุตบอลยังไม่ได้มีการห้าม ทำให้หลายคนจึงได้ลงเล่นทั้งฟุตบอลไทยลีกและฟุตซอล ก่อนจะมีการเปลี่ยนกฎในภายหลัง เพื่อให้นักกีฬาเลือกเล่นอย่างใดอย่างหนึ่ง

หลังจากนั้นเริ่มมีการพัฒนาการแข่งขัน การจัดแข่งกีฬาฟุตซอลเริ่มกระจายออกสู่ภูมิภาค เชื่อว่าคอบอลที่ชอบเล่นฟุตบอลหลายคนก็คงมีความทรงจำร่วมกันในการรวมทีมกับเพื่อนเพื่อสมัครลงแข่งขันฟุตซอลระดับเล็กใหญ่ต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นฟุตซอลหมู่บ้าน ฟุตซอลตำบล ไปจนถึงฟุตซอลระดับเขต ขณะเดียวกัน ธุรกิจภาคเอกชนก็เข้ามาสนับสนุนการแข่งขันฟุตซอลเยาวชน จนเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ฟุตซอลไทยพัฒนาจนผ่านเข้าไปเล่นฟุตซอลโลกรอบสุดท้ายที่กัวเตมาลาในปี 2543 ได้สำเร็จ ด้วยระยะเวลาอันสั้น

โฆเซ มาเรีย ปาซอส เมนเดส หรือ ‘ปูลปิส’

สู่ความเป็นมืออาชีพ

เมื่อเข้าสู่ปี 2549 ฟุตซอลไทยจึงได้รับการพัฒนาอย่างจริงจัง มีการวางโครงสร้างทุกระดับ จัดตั้งระบบฟุตซอลลีกขึ้นมาแทนระบบทัวร์นาเมนต์ หลายสโมสรจึงถือกำเนิดขึ้น มีการลงทุนลงเม็ดเงินเพื่อพัฒนาทีมอย่างเป็นระบบและเป็นมืออาชีพ นอกจากจะเป็นพื้นที่ให้นักเตะได้มีหลักแหล่ง มีลีกการแข่งขันให้โชว์ฝีเท้า สามารถยึดเป็นอาชีพได้ ยังมีการจ่ายค่าเหนื่อยที่เปลี่ยนจากเบี้ยเลี้ยงมาเป็นระบบเงินเดือน ปัจจัยเหล่านี้ส่งเสริมให้ลีกฟุตซอลไทยสามารถดึงดูดบุคลากรเก่งๆ ทั้งผู้ฝึกสอนและนักกีฬาในระดับนานาชาติมาเข้าร่วม ทั้งยังเป็นการช่วยยกระดับสโมสรต่างๆ รวมถึงลีกฟุตซอลไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

หลังการพัฒนาและความสำเร็จของฟุตซอลทีมชาติไทยในเวทีใหญ่ ชื่อชั้นทีมชาติไทยจึงขึ้นสู่แถวหน้าของเอเชีย ทำให้ไทยตัดสินใจจ้างโค้ชมีฝีมือดีเข้ามาคุมทีม โดยเฉพาะคนสำคัญที่แฟนฟุตซอลไทยคุ้นชื่ออย่าง โฆเซ มาเรีย ปาซอส เมนเดส หรือ ‘ปูลปิส’ กุนซือชาวสเปน ผู้เข้ามาเป็นโค้ชทีมชาติไทยในปี 2551 ก่อนพาไทยคว้ารองแชมป์เอเชียในปีเดียวกัน ช่วยยกระดับทีมฟุตซอลไทยให้ขยับขึ้นไปสู้กับยักษ์ใหญ่ของโลกได้ รวมถึงพาไทยเข้ารอบสุดท้ายฟุตซอลโลกได้ 2 สมัย 

นอกจากนี้ ปูลปิสยังเป็นคนสำคัญที่วางรากฐานการฝึกซ้อมให้กับโค้ชไทย ร่วมกับหน่วยงานสมาคมกีฬาฟุตบอลที่เข้ามาช่วยเหลือในการจัดการโครงสร้าง อบรมโค้ช ให้ได้ไลเซนส์ตามหลักการสากล เหล่านี้ล้วนสร้างฟุตซอลไทยให้ก้าวสู่ความแข็งแกร่ง

โครงสร้างพร้อมทุกระดับ ผลักดันนักฬารุ่นใหม่ให้เกิดขึ้น

เมื่อฟุตซอลไทยพัฒนาสู่ความเป็นมืออาชีพ มีการบริหารจัดการที่ดี นักกีฬามีลีกให้ลงเล่นอย่างสม่ำเสมอ มีระบบโครงสร้างที่เอื้อต่อการทำเป็นอาชีพ มีสปอนเซอร์สนับสนุน สโมสรอยู่รอดในระยะยาวได้ ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง การแข่งขันฟุตซอลที่กระจายตัวตามภูมิภาคก็เริ่มเข้มแข็งมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนวงการฟุตซอลไทยทั้งระบบให้ก้าวไปข้างหน้าได้พร้อมกัน

ปัจจุบันกีฬาฟุตซอลในประเทศไทยจึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่เยาวชน เนื่องจากมีสนามแข่งที่สะดวกสบาย จำนวนผู้เล่นไม่มากเกินไป ที่สำคัญคือ ฟุตซอลทีมชาติไทยเป็นทีมระดับแถวหน้าในทวีปเอเชีย ชื่อชั้นไม่ได้ขี้เหร่ในเวทีโลก และผลงานที่สม่ำเสมอ จึงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เยาวชนจำนวนมากใฝ่ฝันที่จะติดทีมชาติไทยต่อไปในอนาคตตามนักกีฬารุ่นพี่

เมื่อใดก็ตามที่ความเป็นมืออาชีพเกิดขึ้น พร้อมการสนับสนุนที่ดี นักกีฬาที่ลงสนามทั้งหลาย โดยเฉพาะเยาวชน ก็จะมั่นใจได้ว่าเส้นทางระดับโลกนั้นรออยู่ข้างหน้าแล้ว

 

อ้างอิง

siamsport.co.th/football/other/view/250978

educatepark.com/story/history-of-futsal/

youtube.com/watch?v=94G6N8MVh3U

facebook.com/FutsalThaiOfficial

ftlofficial.com/index.php

Tags: , , ,