ณ หมู่เกาะเบอร์มิวดา ฟลอรา ดัฟฟี (Flora Duffy) คือเด็กหญิงที่เติบโตมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจประกันภัย เธอรักการผจญภัย ชอบวิ่งเล่นรอบเกาะอยู่เสมอ และอาจเป็นเพราะความชอบหรือบรรยากาศของหมู่เกาะนี่เองที่ทำให้เธอรู้จักกับไตรกีฬาเมื่ออายุได้ 7 ขวบ ก่อนจะนำไปสู่การฝึกซ้อมอย่างจริงจังภายใต้กลุ่มที่ชื่อว่า Bermuda Tri-Hedz Junior Triathlon

จุดประสงค์ของการฝึกคือสร้างความสนุกสนานให้เด็กๆ ที่เข้าร่วมโปรแกรมให้ติดอกติดใจในไตรกีฬา เด็กกว่า 50 คนจะวิ่ง ว่ายน้ำ และปั่นจักรยานอยู่บริเวณชายหาด แต่ดัฟฟีเอาจริงกว่านั้น  เธอตั้งอกตั้งใจฝึกซ้อมอย่างจริงจังมากกว่าแค่การร่วมกิจกรรมในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ทั้งความสม่ำเสมอในการฝึกซ้อม การกล้าแข่งขันกับนักไตรกีฬาที่มีอายุมากกว่า สะท้อนถึงความเด็ดขาดแน่วแน่ของดัฟฟีว่าเธอจะไม่เป็นสองรองใครในกีฬาประเภทนี้

ดัฟฟีจริงจังถึงขนาดที่ว่า หากมีใครมาถามว่าโตขึ้นอยากประกอบอาชีพอะไร คำตอบที่ออกจากปากดัฟฟีอยู่เสมอคือนักไตรกีฬา เป็นแชมป์โลก และเป็นคนที่มีเหรียญทองติดตัว 

อะไรที่ทำให้เธอหลงใหลไตรกีฬาถึงเพียงนั้น ดัฟฟีเคยอธิบายว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะบรรยากาศในเบอร์มิวดาเอื้อต่อกีฬาประเภทนี้เป็นอย่างมาก เธอพูดถึงตารางซ้อมส่วนตัวว่า

“ในการฝึกซ้อม ฉันจะตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อมาปั่นจักรยานรอบเมืองแฮมิลตัน (เมืองหลวงของเบอร์มิวดา) เริ่มจากปั่นไปทางทิศตะวันตก เลียบกับทะเลไปจนสุดอู่ของทหารเรือ แล้วจึงค่อยกลับเข้ามาในเมือง ช่วงเวลานั้นจะได้เห็นคลื่นกำลังโต้อยู่กับพระอาทิตย์ที่กำลังไต่เส้นขอบฟ้า ช่วงขากลับพวกเราก็จะมีการปั่นแข่งขันกันเล็กน้อย ก่อนจะไปสิ้นสุดที่ร้านขายของชำเจ้าประจำ เพื่อซื้อวัตถุดิบไปประกอบอาหารเช้ากับครอบครัว

“ช่วงกลางวันที่แดดจ้า ฉันจะไปว่ายน้ำที่ศูนย์กีฬาแห่งชาติ และช่วงเย็นฉันจะเริ่มต้นวิ่งจากบ้านไปสวนพฤกษศาสตร์ในเมืองแฮมิลตัน วิ่งวนอยู่ในนั้น 2-3 รอบ จนกว่าพระอาทิตย์จะตกดิน สุดท้ายจึงกลับมาทำอาหารเย็นกินกับครอบครัวอีกครั้ง”

ภายใต้อุณหภูมิราว 25 องศาเซลเซียส ท้องฟ้าโปร่ง แดดอบอุ่น ไตรกีฬากลายเป็นเส้นทางที่เธอทุ่มเทชีวิตทั้งชีวิตไปกับมัน โดยหวังว่าจะได้เป็นนักกีฬาตัวแทนของหมู่เกาะเบอร์มิวดา ไปแข่งขัน คว้ารางวัล และสร้างชื่อเสียงให้กระฉ่อนไปทั่วโลก 

แม้หมู่เกาะเบอร์มิวดาจะมีสภาพแวดล้อมอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การฝึก แต่องค์ประกอบอื่นๆ ที่จะช่วยพัฒนาให้เป็นนักไตรกีฬาอย่างแท้จริงนั้น บนเกาะอังกฤษถือว่ามีความพร้อมมากกว่า ปี 2003 ดัฟฟีจึงตัดสินใจย้ายมาเรียนต่อใน Kelly College โรงเรียนประจำในอังกฤษที่ขึ้นชื่อเรื่องการสร้างนักไตรกีฬา

ช่วงเวลานั้นถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดในชีวิตของเธอ การเข้าสู่โปรแกรมฝึกซ้อมเพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นนักไตรกีฬาแนวหน้านั้นกัดกินสภาพร่างกายและจิตใจอย่างหนัก ดัฟฟีเล่าว่าช่วงนั้นเธอเคร่งครัดเรื่องการกินมาก เธอกินอาหารแคลอรีต่ำเพื่อรักษาระดับไขมันในร่างกาย แต่สวนทางกับการเผาผลาญที่ใช้ไปกับการฝึกซ้อมมาราธอน ส่งผลให้ร่างกายเกิดสภาวะจำศีล สารอาหารถูกจัดเก็บในรูปแบบไขมัน ไม่ถูกนำออกมาใช้ระหว่างฝึกซ้อม  นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า แม้เธอจะเข้าสู่โปรแกรมฝึกซ้อมเข้มข้น แต่ก็ไม่สามารถรีดศักยภาพร่างกายออกมาได้อย่างเต็มที่ แชมป์แรกของเธอต้องใช้เวลานานถึง 13 ปี และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอวิ่งไม่จบไตรกีฬาในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ปี 2008 ที่กรุงปักกิ่งด้วย 

อย่างไรก็ตาม ดัฟฟีก็ยังเป็นนักกีฬาที่ฝากความหวังได้ ด้วย ความเก่งกาจในไตรกีฬา โดยเฉพาะการปั่นจักรยานที่เปรียบเสมือนจุดแข็งของเธอ ทำให้เธอผ่านการคัดเลือกและได้ลงแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ 2012 ที่กรุงลอนดอน และรีโอเดจาเนโร ปี 2016 

จุดเปลี่ยนสำคัญของดัฟฟีคือการคว้าเหรียญทองในมหกรรมกีฬาของเครือจักรภพ (Commonwealth Games) ในปี 2018 ที่ออสเตรเลีย ทำให้เธอได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งจักรวรรดิอังกฤษ (Officer of the Most Excellent Order of the British Empire: OBE) สำหรับการสร้างชื่อเสียงด้านกีฬาแก่ประเทศเบอร์มิวดา 

ความสำเร็จของเธอส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้ แดน ฮิวโก้ (Dan Hugo) นักไตรกีฬาหนุ่มจากแอฟริกาใต้ที่กลายมาเป็นคู่ชีวิตและโค้ชให้กับเธอในปี 2017 แม้ดัฟฟีจะเคยคว้ารางวัลมากมายจากการแข่งขันไตรกีฬาระดับโลก แต่สำหรับมหกรรมโอลิมปิก เธอไม่เคยได้รับเหรียญใดๆ 

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ในโอลิมปิกเกมส์ ปี 1976 ณ เมืองมอนทรีออล แคนาดา ที่ แคลเรนซ์ ฮิลล์ (Clarence Hill) นักมวยรุ่นเฮฟวีเวตได้รับเหรียญทองแดง ตั้งแต่นั้นมาประเทศเบอร์มิวดาก็ไม่เคยได้สัมผัสกับเหรียญรางวัลจากการแข่งขันโอลิมปิกอีกเลย

ดังนั้นการลงแข่งขันไตรกีฬาที่โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่ผ่านมา จึงเป็นความหวังสำคัญและมีความเป็นไปได้มากที่สุดของประเทศเบอร์มิวดา ทั้งแรงกดดันส่วนตัวของดัฟฟี ทั้งความหวังของเพื่อนร่วมชาติกว่า 7 หมื่นชีวิตที่ส่งแรงเชียร์ข้ามมหาสมุทรไปให้เธอ ช่างท้าทายนักไตรกีฬาหญิงวัย 33 ปีคนนี้เหลือเกิน 

ในวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา พายุโซนร้อนเนพาร์ตักกำลังจะขึ้นฝั่งที่ญี่ปุ่น ฝนตกตลอดวัน พื้นถนนสำหรับวิ่งและปั่นจักรยานนั้นลื่นเฉอะแฉะ แต่ยังคงจัดการแข่งขันไตรกีฬาต่อได้ ในช่วงต้นเป็นกีฬาว่ายน้ำ ดัฟฟีประคองมากับกลุ่มผู้นำแบบเงียบๆ เธออยู่ที่อันดับ 6 แต่ทันทีที่การแข่งขันเดินทางมาสู่ช่วงประชันความเร็วบนถนนด้วยจักรยาน ดัฟฟีเริ่มแผลงฤทธิ์ด้วยรอบขาทรงพลัง เธอทำความเร็ว 38.62 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจนมาเกาะกลุ่มอยู่ในสามผู้นำของในการแข่งขันได้ หลังจากนั้น เธอจึงรีบลงจากรถจักรยานเสือหมอบคู่ใจ แล้วสวมรองเท้าวิ่งมุ่งหน้าไปยังเส้นชัย ก่อนสุดท้ายเธอจะชนะการแข่งขันไปด้วยเวลา 1 ชั่วโมง 55 นาที 36 วินาที 

ชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์นี้ส่งผลให้ชาวเบอร์มิวดากว่า 63,000 คน  ปิดประเทศเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ รวมไปถึง เดวิด เบิร์ต (David Burt) นายกรัฐมนตรีเบอร์มิวดาได้ทวีตแสดงความยินดีกับเธอด้วย 

แน่นอนว่าดัฟฟีเองก็ภูมิใจกับเหรียญทองเหรียญนี้เป็นอย่างยิ่ง มันช่วยปลดล็อกให้ตัวเธอเอง ทั้งยังได้สร้างตำนานให้กับหมู่เกาะเล็กๆ อันห่างไกลในมหาสมุทรแอตแลนติกอย่างเบอร์มิวดาได้สำเร็จ

“ฉันภูมิใจมากที่ได้เป็นชาวเบอร์มิวดาคนแรก และเป็นผู้หญิงคนแรกที่คว้าเหรียญทองในโอลิมปิกเกมส์ หวังว่านี่จะเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนที่บ้านได้เห็นว่าทุกสิ่งสามารถเป็นจริงได้”

Tags: , , , ,