‘อองการ์ด แพร็ต อัลเล’

หลายคนที่ไม่เคยดูซีรีส์จากแดนโสมเรื่อง Twenty Five Twenty One ที่กำลังออนแอร์อยู่ในขณะนี้ อาจคาดเดาว่า 3 คำข้างต้นคงเป็นชื่อบุคคลหรือชื่อเรียกของอะไรบางอย่าง แต่หากเป็นคนที่กำลังติดตามซีรีส์เรื่องดังกล่าว ต้องเข้าใจและคุ้นเคยเป็นแน่ เพราะมันคือคำที่กรรมการตัดสินการแข่งขันฟันดาบ (Fencing) ซึ่งเป็นกีฬาหลักในเรื่อง จะต้องพูดทุกครั้ง เพื่อให้สัญญาณนักกีฬาฟันดาบเตรียมตัว ก่อนพุ่งเข้าต่อสู้ทำคะแนนซึ่งกันและกัน

อธิบายแบบรวบรัดที่สุดแบบไม่มีสปอยล์สำหรับผู้ที่ไม่เคยดู Twenty Five Twenty One คือ ซีรีส์ที่มีฉากหลังเป็นเกาหลีใต้ในปี 1998 ที่ทั้งประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤตไอเอ็มเอฟ ทำให้ตัวละครหลักต้องถูกพรากความฝันไป ทั้งพระเอกที่บ้านล้มละลาย ครอบครัวกระจัดกระจายไปคนละทิศ และนางเอกที่มีฝันอยากเป็นนักกีฬาฟันดาบ แต่ชมรมถูกทางโรงเรียนยุบ ทั้งคู่จึงต้องพยายามดิ้นรนหาทางเริ่มต้นใหม่ เพื่อค้นพบทิศทางและการเติบโตบนเส้นทางฝันอีกครั้ง 

การนำเรื่องของกีฬามาเป็นองค์ประกอบในซีรีส์อาจไม่ใช่สิ่งที่แปลก แต่เมื่อกีฬาที่อาจไม่มีใครคาดคิดอย่าง ‘การฟันดาบ’ ถูกเลือกนำมาใช้ดำเนินเรื่อง มันจึงน่าสนใจ และแน่นอนว่าเมื่อกีฬาชนิดนี้ข้องเกี่ยวกับตัวละครหลัก การทำความรู้จัก (แม้ไม่ใช่แฟนกีฬาฟันดาบก็ตาม) ไว้บ้างก็เป็นสิ่งที่สมควร เพราะจะทำให้เราดูอย่างเข้าใจได้มากขึ้น

ในวาระที่ซีรีส์ Twenty Five Twenty One กำลังถูกพูดถึงอย่างมาก และใกล้จะเข้าสู่บทสรุปสุดท้ายแล้ว (ซีรีส์จะออกอากาศ 2 ตอนสุดท้ายวันที่ 2 และ 3 เมษายนนี้) คอลัมน์ Game On สัปดาห์นี้ จึงอยากชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกีฬา ‘ฟันดาบ’ ซึ่งมีประวัติย้อนไปถึงยุคกลางในศตวรรษที่ 15 เลยทีเดียว

 

รากฐานที่มาจากการป้องกันตัว

ในอดีต ดาบถือเป็นอาวุธที่ใช้สำหรับการต่อสู้และป้องกันตัวในชีวิตประจำวัน เชื่อกันว่าการฟันดาบมีถิ่นกำเนิดในสเปน เนื่องจากมีหนังสือสำคัญเกี่ยวกับการฟันดาบเล่มหนึ่งชื่อ Treatise on Arms ซึ่งเขียนโดยนักฟันดาบชาวสเปน ดิเอโก เดอ วาเลรา (Diego de Valera) ระหว่างปี 1458-1471 และเป็นหนึ่งในคู่มือที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่เกี่ยวกับการฟันดาบแบบตะวันตก

ในศตวรรษที่ 16 ถึง 18 ดาบชนิดเรียวตรงเริ่มเป็นที่รู้จักกันในอิตาลี และศิลปะการใช้ดาบเริ่มแพร่หลายอย่างรวดเร็ว อีกนัยหนึ่ง ดาบสั้นสองคมและโกร่งดาบได้ถูกพัฒนาให้มีส่วนหนาและบางเพื่อเป็นอาวุธในการทำลายเสื้อเกราะ และกลายเป็นเครื่องมือพิสูจน์ความเก่งกาจ เหมือนอัศวินผู้กล้าในสมัยโบราณ และเริ่มมีการพัฒนากลายเป็นศิลปะการใช้ดาบระหว่างสองฝ่าย โดยไม่ประสงค์ที่จะให้คู่ต่อสู้ถึงแก่ชีวิต โดยในยุคนี้ ถือเป็นช่วงของการฟันดาบสมัยใหม่ และเกิดโรงเรียนฟันดาบขึ้นในอิตาลี ฝรั่งเศส และสเปน

 

การต่อสู้ที่พัฒนาสู่การกีฬา

การฟันดาบถูกเปลี่ยนจากการฝึกทหารมาสู่การเป็นกีฬาในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 นำโดย โดเมนิโก อันเจโล (Domenico Angelo) ผู้ก่อตั้งสถาบันสอนฟันดาบ Angelo’s School of Arms ใน Carlisle House เมืองโซโห ลอนดอน ซึ่งมีการสอนศิลปะสมัยใหม่ของการเป็นนักดาบแก่เหล่าขุนนาง เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านฟันดาบคนแรก ที่เน้นย้ำถึงประโยชน์ด้านสุขภาพและกีฬาของการฟันดาบมากกว่าการใช้เป็นศิลปะในการฆ่าฟัน

โรงเรียนของอันเจโลผ่านการบริหารงานโดยครอบครัวของเขามาถึงสามชั่วอายุคน และครองตำแหน่งผู้นำด้านศิลปะการฟันดาบของยุโรปมาเกือบศตวรรษ และเป็นผู้กำหนดกฎสำคัญของท่าทางและการวางเท้า ซึ่งเป็นรากฐานมาสู่การเป็นกีฬาฟันดาบสมัยใหม่ 

ช่วงทศวรรษที่ 1880 สมาคมฟันดาบอย่างเป็นทางการหลายแห่งเริ่มเกิดขึ้นในส่วนต่างๆ ของโลก เช่น สมาคมนักฟันดาบมือสมัครเล่นแห่งอเมริกา ในปี 1891 สมาคมฟันดาบสมัครเล่นแห่งบริเตนใหญ่ ในปี 1902 และสหพันธ์นักฟันดาบแห่งชาติของฝรั่งเศส ในปี 1906

ในเดือนมิถุนายน ปี 1880 การแข่งขันฟันดาบ Grand Military Tournament and Assault at Arms ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ Royal Agricultural Hall ในลอนดอน โดยเป็นการแข่งขันระหว่างทหารรักษาพระองค์กับนายทหาร ก่อนที่สมาคมยิมนาสติกและฟันดาบสมัครเล่นจะจัดทำระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการฟันดาบขึ้นในปี 1896

สู่โอลิมปิกสมัยใหม่ และเอเชียนเกมส์

การฟันดาบเริ่มเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิฤดูร้อนครั้งที่ 1 ประจำปี 1896 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ซึ่งเป็นโอลิมปิกสมัยใหม่ครั้งแรกที่ถูกจัดขึ้น หลังจากหยุดไปเป็นเวลานาน ซึ่งการแข่งขันกีฬาฟันดาบครั้งนี้มีการแข่งขัน 3 รายการ ทั้งหมดเป็นประเภททีมชาย และมีนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขัน 15 คน จาก 4 ประเทศ

  ส่วนในเอเชียนเกมส์ (การแข่งขันรายการหลักในซีรีส์ Twenty Five Twenty One) กีฬาฟันดาบถูกบรรจุเข้ามาในการแข่งขันเมื่อปี 1974 หรือเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 7 ที่กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน แม้อาจจะไม่ได้รับความนิยมเท่ากับกีฬาอื่นๆ แต่ก็เริ่มเป็นที่นิยมและน่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งปัจจุบัน

แต่หากอิงเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับเกาหลีใต้ สมาคมฟันดาบเกาหลีใต้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1947 ส่วนประเทศไทย กีฬาฟันดาบเริ่มเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 1935 และมีการก่อตั้งสมาคมฟันดาบสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ เมื่อปี 1965

 

กฎกติกาเบื้องต้นที่ต้องรู้ เพื่อดูการแข่งขันให้สนุก

ดาบถือเป็นอาวุธสำคัญในการแข่งขัน โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ชนิดคือ 

1. ดาบฟอยล์ (The Foil) ต้องหนักไม่เกิน 200 กรัม ส่วนที่เป็นใบต้องมีความยืดหยุ่นประมาณ 5.5-9.5 เซนติเมตร ถ้าแขวนของหนัก 200 กรัม ที่กระบังดาบ และใบดาบจะต้องคงตัวไม่ยืดหยุ่นจากปลายดาบ 70 เซนติเมตร สำหรับดาบฟอยล์ไฟฟ้า แสงไฟจะปรากฏเมื่อมีแรงกดที่ปลายดาบมากกว่า 500 กรัม

2. ดาบเอเป้ (The Epee) หรือดาบดวล ต้องหนักไม่เกิน 700 กรัม ใบดาบต้องเหยียดตรงให้มากที่สุด มีความยืดหยุ่นตัวประมาณ 4.5-7 เซนติเมตร (วิธีวัดเช่นเดียวกับดาบฟอยล์) สำหรับดาบเอเป้ไฟฟ้า การฟันจะต้องใช้แรงกดที่ปลายดาบมากกว่า 750 กรัมแสงไฟจึงจะปรากฏ

3. ดาบซาเบอร์ (The Sabre) ต้องหนักไม่เกิน 500 กรัม ใบดาบต้องไม่ยืดหยุ่นหรือตึงจนเกินไป ถ้ามีรอยโค้งต้องโค้งตลอดแนวน้อยกว่า 4 เซนติเมตร และต้องไม่โค้งในทิศทางเดียวกับสันดาบข้างที่ใช้ฟัน

สนามที่ใช้แข่งขันจะต้องเป็นพื้นราบ จะอยู่ในร่มหรือกลางแจ้งก็ได้ ส่วนพื้นสนามอาจปูด้วยไม้แผ่นยาง พลาสติก หรือแผ่นโลหะ โดยจะต้องมีความกว้างเท่ากันตลอด ซึ่งความยาวของพื้นแข่งขันจะขึ้นอยู่กับประเภทของการแข่งขัน แต่อย่างน้อยจะต้องยาว 13 เมตร

ผู้เข้าแข่งขันจะต้องสวมชุดที่ทำจากผ้าเนื้อเหนียวสีขาว ซึ่งจะต้องไม่เรียบลื่นจนปลายดาบลื่นไถลเมื่อแตะถูก ต้องสวมเครื่องป้องกันภายใน (Plastron) และสวมหน้ากาก ถุงมือ ซึ่งต้องบุตรงฝ่ามือเล็กน้อยและยาวเกินศอก เสื้อคอตั้ง อาจไม่จำเป็นที่จะต้องยาวเต็มตัว แต่ต้องป้องกันส่วนใต้แขนได้ และต้องสวมเสื้อเกราะหรือโลหะในการแข่งขันประเภทดาบฟอยล์และเอเป้ ส่วนในประเภทดาบฟอยล์หญิง จะต้องมีเครื่องป้องกันทรวงอกอยู่ข้างในเสื้อเกราะด้วย

สำหรับประเภทชายใช้เวลาแข่งขัน 6 นาที ผู้ชนะคือผู้ทำได้ 5 คะแนนก่อน ส่วนดาบฟอยล์หญิงใช้เวลาแข่งขัน 5 นาที ผู้ชนะคือผู้ที่ได้ 4 คะแนนก่อน ถ้าจบการแข่งขันแล้วได้คะแนนเท่ากัน ประเภทดาบฟอยล์และดาบซาเบอร์จะทำการแข่งขันกันต่ออีกหนึ่งรอบ ผู้ที่ได้คะแนนมากกว่าจะเป็นผู้ชนะ ส่วนประเภทเอเป้จะปรับแพ้ทั้งคู่ โดยการให้คะแนนคือ เมื่อคู่ต่อสู้ฟันโดนเป้าหมายที่กำหนดจะมีแสงสว่างขึ้น แต่จะต้องอยู่ในพื้นที่แข่งขันที่กำหนด รวมถึงคณะกรรมการจะพิจารณาการเคลื่อนที่ที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน

 

อ้างอิง

http://thaifencing.org

http://www.koreaherald.com

https://fencing.sports.or.kr

https://en.wikipedia.org

https://www.siamsporttalk.com

Tags: , , , , ,