มือซ้ายจิกปลายนิ้วให้เกาะอยู่บนหินที่บางเท่ากระดาษ น้ำหนักทั้งร่างกายถูกกดลงบนนิ้วโป้งเท้าทั้งสองข้าง ที่กำลังอยู่ในท่าเดียวกับนักเต้นบัลเลต์ จิกอยู่บนหินชนิดที่พร้อมจะลื่นออกมาได้ตลอดเวลา จากนั้นคุณต้องใช้แรงทั้งหมดที่มี พุ่งตัวขึ้นไปทางด้านขวา และใช้มือขวาตบเข้าไปในก้อนหินที่แหลมไม่ต่างจากใบมีด เพื่อกดแรงทั้งหมดให้อยู่ในมือขวา

เหล่านี้ คือสิ่งที่คุณต้องพบเจอหากคุณปีนก้อนหินที่ชื่อ Burden of Dreams ซึ่งเป็นหินรูปแบบโบลเดอริง (Bouldering) ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งนักปีนผาหลายรายพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ยากที่สุดในโลก’ ยากจนถึงขนาดที่พูดกันว่ามนุษย์ทั่วไปนั้นจะไม่สามารถทำได้แน่ๆ 

แต่ยิ่งห้าม เหมือนยิ่งยุ ยิ่งพูด เหมือนยิ่งท้าทาย จึงเป็นเหตุให้ตลอดเวลาที่ผ่านมา นักปีนผามากหน้าหลายตา ได้แวะเวียนมาท้าทาย Burden of Dreams อยู่ตลอด แต่เกือบทั้งหมดก็หอบความผิดหวังกลับบ้าน หลังค้นพบว่า พวกเขาไม่สามารถที่จะทำได้แม้กระทั่งการขยับตัวไปจับหินก้อนที่สองด้วยซ้ำ

ทว่าในวันที่ 12 เมษายน 2023 ได้มีชายหนุ่มตัวเล็ก ใส่แว่นเลนส์หนาเตอะ จากเกาะอังกฤษ ชื่อว่า วิลล์ โบซี (Will Bosi) สามารถพิชิตมันได้สำเร็จ และเป็นนักปีนคนที่สองของโลก ที่สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของร่างกาย และเอาชนะหินลูกนี้ได้

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเสียก่อน ว่าการปีนก้อนหินเช่นนี้ของ วิลล์ โบซี (Will Bosi) เป็นส่วนหนึ่งของกีฬา ‘โบลเดอริง’ (Bouldering) หรือการปีนก้อนหินในความสูงที่ไม่เกิน 5 เมตร ซึ่งจะแตกต่างจากการปีนแบบสูงทั้งประเภท Top Rope และ Lead Climbing ที่จะปีนบนหน้าผาหรือกำแพงที่มีความสูงในระดับ 10 เมตรขึ้นไป 

ดังนั้น ในความสูงที่ไม่มาก การปีนผาแบบโบลเดอริง จึงใช้เพียงแค่ร่างกายและรองเท้าปีนผาเท่านั้น ส่วนอุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุจะมีเพียง เบาะกันกระแทก (Crash Pad) ที่เพียงพอต่อการตกในความสูงไม่เกิน 5 เมตร (อย่างไรก็ตาม ผู้ปีนต้องศึกษาและมีเทคนิกในการกระโดดลงเบาะอย่างถูกต้องด้วยเช่นกัน)

ถ้าจะถามว่าความสนุกของโบลเดอริงคืออะไร คงต้องอธิบายว่า หากการปีนแบบใช้เชือกที่ใครหลายคนรู้จัก คือการท้าทายร่างและจิตใจกับความสูง รวมไปถึงฝึกความทนทานของกล้ามเนื้อในการปีนป่ายที่ยาวนาน โบลเดอริงก็คือการปีนขั้วตรงข้าม ที่ฝึกการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เทคนิค และการระเบิดพลังของกล้ามเนื้อในการปีนก้อนหินที่ไม่สูงมากนัก แต่กลับมีความยากในระดับที่ท้าทายขีดจำกัดของมนุษย์ในทุกมิติ 

หากยังมองไม่เห็นภาพ ให้คุณลองนึกในหัวเล่นๆ ว่า โบลเดอริง คือการปีนก้อนหินโดยที่เราต้องใช้นิ้วจับหินที่บางเท่าขอบของบัตรเครดิต 1 ใบ แล้วต้องดึงตัวเองขึ้นในขณะที่ลำตัวอยู่ในมุมขนานกับพื้น 45 องศา นั่นแหละ คือความยากของโบลเดอริง 

ปัจจุบันการกีฬาโบลเดอริง กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนมียิมปีนผาประเภทนี้ผุดขึ้นราวดอกเห็ด โดยภายในแต่ละยิมจะมีการใช้ ‘ตัวจับ’ หรือ ‘Hold’ ที่ทำจากวัสดุประเภทพลาสติก มาจำลองเป็นลักษณะขอบหิน เพื่อให้นักปีนได้ฝึกฝน ซึ่งมีข้อดีคือสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการนำหินจริงๆ มาตั้ง ขณะเดียวกันความยากในการปีน ก็จะมีตั้งแต่ระดับเริ่มต้นที่ใครก็สามารถปีนได้

ทั้งนี้ การปีนโบลเดอริงในหินจริงต้องขอใช้คำว่า เป็นอีกโลกหนึ่งอย่างสิ้นเชิง การจะปีนโบลเดอริงจริงได้ ผู้ปีนต้องมีทักษะในการปีน และมีสภาพร่างกายที่แข็งแรงประมาณหนึ่ง ดังนั้น ในการปีนโบลเดอริงในหินจริง หากเป็นก้อนที่มีความยากมาก จะถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย เป็นเป้าหมาย เป็นความฝัน สำหรับนักกีฬาปีนผาทั่วโลก 

สำหรับ Burden of Dreams ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ก็ถือเป็นสังเวียนประเภทนั้น 

ด้วยระดับความยาก V17 (ระดับ V Scale มีไว้สำหรับเทียบความยากของหินแต่ละก้อน โดย V0-1 จะเป็นระดับสำหรับผู้เริ่มต้น ส่วนนักปีนผาส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับ V4-6 ) ตัวจับเป็นแบบ Crimp (หมายถึงขนาดหินก้อนเล็กและบาง ต้องใช้เพียงแค่นิ้วสำหรับการปีน) รวมไปถึงความห่างกันของตัวจับทำให้การเคลื่อนไหวต่างๆ จะใช้แรงอย่างมหาศาล 

ที่ผ่านมามีนักปีนเพียงคนเดียวในโลกที่สามารถพิชิตได้คือ นาแอล ฮูคาทาวอล (Nalle Hukkataival) นักปีนจากฟินแลนด์ เมื่อปี 2016 จนในปี 2023 ก็ได้มีนักปีนตัวเล็กใส่แว่นเลนส์หนาเตอะจากเกาะอังกฤษ เป็นผู้พิชิตรายที่สอง ซึ่งเขามีนามว่า วิลล์ โบซี

Will Bosi เนิร์ดปีนผา ผู้เลือกใช้สมองก่อนพละกำลัง

  ความจริงแล้วชื่อของ วิลล์ โบซี ถือเป็นที่รู้จักในวงการปีนผามาโดยตลอด เขาคือนักกีฬาจากอังกฤษที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในการแข่งขัน IFSC World Cup เป็นอดีตสมาชิกชมรม GB Climbing ก่อนที่ในช่วงหลังจะเริ่มหันมาสนใจการปีนโบลเดอริง แบบหินจริง โดยเขาฝึกฝนจนสามารถปีนในระดับความยาก V13-V16 มาโดยตลอด

แต่สำหรับ V17 นั่นแตกต่างออกไป โดยเฉพาะ Burden of Dreams ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างมีแบบแผน เพราะด้วยความยากของตัวจับแบบ Crimp ที่หากฝึกไม่ดีพอ อาจจะส่งผลต่ออาการบาดเจ็บที่เอ็นและข้อนิ้วได้ รวมไปถึงการเดินทางจากอังกฤษเพื่อไปปีนที่ฟินแลนด์แต่ละครั้ง มีระยะทาง 3,000 กิโลเมตร รวมไปถึงต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น สิ่งที่ต้องวางแผนวิลล์เป็นอย่างแรกคือ การไปลองปีน Burden of Dreams  เป็นครั้งแรก เพื่อทำความรู้จักกับหินลูกนี้เสียก่อน ซึ่งบทสรุปก็คือ เขาปีนไม่ได้แม้กระทั่งมูฟแรกด้วยซ้ำ 

เรื่องนี้เป็นการบ้านที่นักปีนจากอังกฤษต้องกลับไปทำต่อ จุดนี้ทำให้วิลล์ ได้ทำสิ่งที่ไม่เคยมีนักปีนผาคนไหนเคยทำ คือการแสกนก้อนหิน Burden of Dreams แบบสามมิติ จากนั้น จึงนำลักษณะหินที่สแกนไปผลิตเป็น Hold พลาสติกในยิม  Lattice HQ ให้เสมือนกับว่ายกหินก้อนนั้น มาไว้ในยิมอันเป็นสถานที่ฝึกฝนของเขา 

แม้จะมีความยากและง่ายคนละแบบ ทั้งเรื่องของผิวสัมผัส สภาพบรรยากาศแวดล้อมในยิม แต่การปีน Hold พลาสติก ยังแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับวิลล์ โดยในช่วงแรกเขาต้องใช้สลิงเพื่อถ่วงน้ำหนักของตัวเองสำหรับการปีนในยิมด้วยซ้ำ

แต่หลังจากการฝึกกว่า 3 เดือน จนสามารถปีนมูฟในยิมอย่างคล่องแคล่ว ก็ถึงเวลาแล้ว ที่เขาจะออกไปเผชิญหน้ากับหินก้อนยักษ์ในฟินแลนด์อีกครั้ง

ในการปีน Burden of Dreams วิลล์แบ่งการปีนเป็น 3 ช่วงคือ มูฟแรกของการเคลื่อนไหวที่เป็นจุดยากที่สุดของการปีน การปีนในช่วงกลางของก้อนหิน และในช่วงบนที่ต้องขึ้นไปยืนบนก้อนหิน (Top Out) โดยในวันแรกเขาฝึกปีนช่วงที่ 2 และ 3 ก่อน ซึ่งในระหว่างการปีนก็ได้ทำการไลฟ์ผ่านอินสตาแกรมส่วนตัว ก่อนจะมีผู้เข้ามาให้กำลังใจเขากว่า 20,000 คน 

วิลล์ให้ความเห็นในการปีนครั้งนี้ว่า ในบางจุดของ Burden of Dreams ถือว่าง่ายกว่าตอนที่เขาปีนกับ Hold พลาสติกในยิมเสียอีก แต่อย่างไรก็ตามส่วนที่ยากกว่าโดยเฉพาะท่าเริ่มนั้น ก็แตกต่างกันอย่างน่าเหลือเชื่อ 

กระทั่งในการปีนวันที่ 2 เขาเริ่มมีพัฒนาการ ในช่วงที่ 2 และ 3 ของก้อนหิน ปรากฏว่า เขาสามารถปีนได้สำเร็จเป็นที่เรียบร้อย แม้จะต้องแลกมาด้วยผิวหนังบริเวณนิ้วที่ถูกก้อนหินขูดออกไป จนเลือดค่อยๆ ซึมออกมาผ่านผิวหนัง แต่เขาก็ไม่ยอมแพ้ กัดฟันพันเทปหยุดเลือดที่นิ้ว มุ่งมั่นฝึกฝนต่อเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

เพราะเขารู้ดีว่า จุดที่เป็นเหมือนบอสตัวฉกาจของหินลูกนี้ เช่น มูฟแรกของการปีน ยังห่างไกลจากความเป็นจริงอยู่มาก

 

“มือซ้ายจิกปลายนิ้วให้เกาะอยู่บนหินที่บางเหมือนกระดาษ น้ำหนักของทั้งร่างกายต้องถูกกดลงบนนิ้วโป้งเท้าทั้งสอง ที่กำลังอยู่ในท่าเดียวกับนักเต้นบัลเล่ต์ จิกอยู่บนหินชนิดที่พร้อมจะลื่นออกมาได้ตลอดเวลา จากนั้นคุณต้องใช้แรงทั้งหมดที่มี พุ่งตัวขึ้นไปทางด้านขวา และใช้มือขวาตบเข้าไปในก้อนหินที่แหลมไม่ต่างจากใบมีด เพื่อให้กดแรงทั้งหมดให้อยู่ในมือขวา” วิลล์ โบซี อธิบายถึงความยากในการปีน Burden of Dreams

ถึงตรงนี้ นักปีนหลายคนมองว่าเป็นเรื่องที่บ้าระห่ำมาก กับการที่มนุษย์เราเดินด้วยเท้าและหยิบจับทุกสิ่งด้วยมือ แต่กลับใช้อวัยวะที่ดูเหมือนจะแข็งแรงเป็นอันดับท้ายๆ ของร่างกายอย่างปลายนิ้ว มาแบกรับน้ำหนักและรับแรงกระแทกต่างๆ ของร่างกาย แต่วิลล์ไม่คิดเช่นนั้น

สุดท้ายในวันที่ร่างกาย จิตใจ หนังนิ้ว และสภาพอากาศ ที่ถูกต้องมาบรรจบพร้อมกันในวันที่ 12 เมษายน 2023 ขณะที่การปีนครั้งที่ 8 ของวิลล์ เขาสามารถปีนก้อนหินที่ชื่อ Burden of Dreams ตั้งแต่เริ่มจนจบได้สำเร็จ ทั้งสามารถพาตัวเองขึ้นไปยืนอยู่บนจุดสูงสุดของยอดหินลูกนี้ พร้อมประกาศก้องให้โลกได้รับรู้ว่า ร่างกายและจิตวิญญาณของเขาได้ก้าวข้ามขีดจำกัดความเป็นมนุษย์ธรรมดาเรียบร้อย 

เหนือสิ่งอื่นใด คือหัวใจที่แข็งกล้า

“ตอนปีนขึ้นไปมันรู้สึกเหลือเชื่อจริงๆ ตอนแรกผมคิดว่า วันนี้อากาศคงร้อนเกินไปที่จะทำมันได้สำเร็จ แต่สุดท้ายที่ทุกอย่างมันมาบรรจบพร้อมกัน ทั้งร่างกายและจิตใจมันส่งสัญญาณให้ผมรู้สึกว่าวันนี้มันต้องสำเร็จ แล้วมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

“จากประสบการณ์และเวลาทั้งหมดที่ผมทุ่มให้กับการปีนหินก้อนนี้ ผมคิดว่ามันคุ้มค่าแล้วจริงๆ มันยกระดับทุกอย่างในชีวิตของผมขึ้นไปอีก”

หลังจากปีน Burden of Dreams ได้สำเร็จ วิลล์ก็กลายเป็นดาวดวงใหม่ของวงการปีนผา มีสื่อกีฬาหลายสำนักติดต่อขอสัมภาษณ์เขามากมาย แต่ไม่ว่าจะถูกถามถึงเทคนิคในแง่มุมไหน สุดท้ายสิ่งที่เขาตอบยืนยันเสมอคือ การหมั่นเพียร ฝึกฝน และทุ่มเวลากับมันให้มากพอ

“ในความเป็นจริง ความสำเร็จครั้งนี้สำหรับผมมันไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดขึ้น ทุกอย่างมันมีเหตุและผลรองรับ การฝึกฝนที่หนักหน่วงทั้งร่างกายและจิตใจในยิมที่อังกฤษ ระหว่างนั้นผมคิดอยู่เสมอแล้วว่า ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ผมจะปีนหินลูกนี้ได้แน่นอน”

ดังนั้น หากถามถึงเคล็ดลับความสำเร็จครั้งนี้ ‘การเชื่อในกระบวนการ’ คงเป็นคำตอบที่ดี่ที่สุด วิลล์พูดอยู่เสมอว่า หากเขาดั้นด้นจะปีนหินจริงในประเทศฟินแลนด์ เขาคงไม่มีวันปีนมันได้สำเร็จแน่นอน กลับกันการมาปีนผ่านหินจำลองในยิมก่อน ทำให้เขาได้เรียนรู้ เข้าใจ และปรับปรุงทุกกระบวนการของการขยับร่างกาย ให้เข้ากับหินก้อนนี้มากยิ่งขึ้น

และที่สำคัญต้องฉลาดในการวางแผน อย่างที่อธิบายไปในข้างต้นว่า หากวิลล์ดั้นด้นจะปีนตั้งแต่มูฟเริ่มที่ยากที่สุด เขาคงไม่มีวันได้ปีนจบอย่างแน่นอน ดังนั้น การที่เขาเริ่มปีนจากส่วนที่ง่ายที่สุดอย่างช่วงบนของก้อนหินก่อน ทำให้เขาได้เรียนรู้ทุกส่วนของก้อนหิน ให้ร่างกายเริ่มปรับตัว และจนวันที่การปีนหินช่วงแรกสำเร็จ การปีนส่วนที่เหลือก็ ‘ง่ายเหมือนปลอกล้วยเข้าปาก’ เพราะไม่มีอะไรเกินไปกว่าความสามารถของเขาอีกต่อไป

Tags: , , , , , , ,