เมื่อพูดถึงนวัตกรรม บริษัทที่เรานึกถึงเป็นไปได้มากมาย ตั้งแต่สตาร์ตอัปเพิ่งเกิดใหม่ ทั้งสัญชาติไทย และบริษัทใหญ่ๆ ในต่างประเทศ
แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า บทสนทนาเหล่านั้นจะต้องมีเรื่องราวของกลุ่มบริษัท ‘กาฟา’ (GAFA) อยู่เสมอ
กาฟา เป็นตัวย่อของกลุ่มบริษัท ประกอบด้วย กูเกิล (Google) แอปเปิล (Apple) เฟซบุ๊ก (Facebook) และแอมะซอน (Amazon) ล้วนเป็นกลุ่มบริษัทที่ขยายใหญ่โตอย่างก้าวกระโดด ด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ผสมผสานกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์
การเติบโตของกลุ่มธุรกิจไอทีเห็นได้ชัดเจนมากในช่วงสิบปีหลังมานี้ ปัจจัยหลักหนึ่งคือการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มสมาร์ตโฟนที่แพร่หลาย หากลองนับจำนวนผู้ใช้สมาร์ตโฟนปัจจุบัน พบว่ามีมากถึงกว่า 2.4 พันล้านคน และจำนวนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าแพลตฟอร์มอื่นที่ผ่านมาอย่างคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และแล็ปท็อป
ความใหญ่โตของฐานลูกค้าสมาร์ตโฟน ทำให้กาฟาสามารถคิดหรือทดลองสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ได้ ซึ่งหากประสบความสำเร็จ ก็มีโอกาสขยายได้ถึงหลักพันล้านคนโดยไม่ยากนัก
ตัวอย่างเล็กๆ เช่น เมื่อเฟซบุ๊ก ที่ในขณะนี้มีจำนวนบัญชีผู้ใช้มากกว่า 2 พันล้านบัญชีต่อเดือน ต้องการทดลองเปลี่ยนดีไซน์ของแท็บด้านล่างแอปพลิเคชันของตัวเอง ซึ่งทดลองมากกว่า 50 แบบเพื่อสังเกตผลตอบรับและเรียนรู้พฤติกรรมจากผู้ใช้ได้ทันที
จาก กาฟา บางคนอาจถามถึงบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีชื่อชั้นไม่แพ้กัน เช่น ไมโครซอฟท์ และ ไอบีเอ็ม ทั้งสองบริษัทยังมีบทบาทหลักในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี แต่กำลังเผชิญความท้าทายที่ต่างกันไป มีอย่างหนึ่งที่สองบริษัทนี้เหมือนกัน คือ ‘ตกรถไฟ’ ขบวนที่ชื่อว่า แพลตฟอร์มสมาร์ตโฟน
ก่อนหน้านี้ ในปี 2013 ไมโครซอฟท์ใช้เงินสดเข้าซื้อบริษัทโทรศัพท์มือถือในตำนานอย่างโนเกียเป็นมูลค่าสูงถืง 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยหวังว่าจะเจาะตลาดสมาร์ตโฟน แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ของตัวเองได้ ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และแอปพลิเคชันจากบริษัทอื่นๆ จนในที่สุด ไมโครซอฟท์ต้องยอมขายกิจการโทรศัพท์บางส่วนให้กับ Foxconn เพื่อลดภาระและผลกระทบที่เกิดจากการทดลองทำสมาร์ตโฟนนี้
ด้านไอบีเอ็มที่เคยเป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เป็นบริษัทแรกๆ ที่บุกเบิกธุรกิจคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ยุคเมนเฟรมเมื่อประมาณ 60 กว่าปีที่แล้ว มาจนถึงคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และคอมพิวเตอร์พกพา ไอบีเอ็มไม่ได้มองข้ามแพลตฟอร์มสมาร์ทโฟน แถมยังทดลองปล่อย ไอบีเอ็ม ไซมอน (IBM Simon) ออกมาในปี 1992 โดยถือได้ว่าเป็นสมาร์ตโฟนเครื่องแรกของโลกด้วยซ้ำ แต่ด้วยเทคโนโลยีที่จำกัด ทั้งแบตเตอรีที่อยู่ได้เพียงชั่วโมงเดียว แถมเครื่องยังหนักถึงครึ่งกิโลกรัม จึงยังไม่เหมาะกับการใช้งาน
การออกตัวก่อนของไอบีเอ็มกลายเป็นบทเรียนให้กับบริษัทอื่นๆ จนสุดท้าย แอปเปิลเป็นบริษัทแรกที่ผลิตสมาร์ตโฟนที่มากับเทคโนโลยีซึ่งตอบโจทย์ผู้บริโภควงกว้าง จากนั้น ธุรกิจของไอบีเอ็มก็กระท่อนกระแท่น แม้ปัจจุบันจะมีรายได้หลักมาจากการวิเคราะห์ข้อมูลและการให้บริการคลาวด์ (Cloud) แต่ไอบีเอ็มก็ประสบปัญหารายได้ลดลงติดต่อกันเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว
ข้อมูลอันมหาศาล ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ ความสนใจ ความชอบต่างๆ เป็นข้อมูลที่หาไม่ได้จากแหล่งข้อมูลอื่น จุดนี้ทำให้เฟซบุ๊กเป็นต่อบริษัทอื่นๆ ในกาฟาด้วยกันเอง จึงไม่แปลกใจที่ถังเงินรายได้ของเฟซบุ๊กเกิดจากการวิเคราะห์และขายโฆษณา
ย้อนกลับมาที่กาฟา แม้ว่าทั้งสี่บริษัทจะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยี แต่ทั้งสี่บริษัทก็มีจุดแข็ง โมเดลธุรกิจ และแผนการแตกต่างกันไป
หากมองในภาพรวม เริ่มที่กูเกิล กูเกิลเป็นบริษัทที่มีความตั้งใจจัดเรียงข้อมูลที่มีอยู่ในโลกทั้งหมด เพื่อให้คนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้าง สร้างระบบการค้นหา (Search Engine) ที่มีประสิทธิภาพ ลาร์รี เพจ (Larry Page) และ เซอร์เกย์ บริน (Sergey Brin) สองผู้ก่อตั้งกูเกิลเป็นคนริเริ่มแนวคิดนี้ในปี 1998 และเป็นรากฐานสำคัญเพื่อให้กูเกิลไปยังเป้าหมายที่ตั้งใจ นอกจากนั้น การซื้อกิจการยูทูบในปี 2006 และแอนดรอยด์ในปี 2007 ยังเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ทำให้กูเกิลขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจคอนเทนต์และสมาร์ตโฟน ทำให้กูเกิลเข้าถึงข้อมูลได้มากยิ่งขึ้น
ด้านแอปเปิล เป็นบริษัทที่ตั้งใจสร้างระบบนิเวศของตัวเองให้แข็งแรงและตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด การกลับมาบริหารงานของสตีฟ จ็อปส์อีกครั้งในปี 1997 เป็นจุดเปลี่ยนของบริษัท ทำให้แอปเปิลกลับมาโฟกัสธุรกิจถูกจุดอีกครั้ง การเลือกทำผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ไม่กี่ประเภท ผสมผสานกับหลักการการออกแบบที่ค่อนข้างสุดโต่ง ทำให้แอปเปิลก้าวมาเป็นบริษัทชั้นนำ นอกจากฮาร์ดแวร์แล้ว ซอฟต์แวร์ก็เป็นสิ่งที่แอปเปิลเน้นมาก เพื่อให้การทำงานของทุกผลิตภัณฑ์และทุกแพลตฟอร์มของแอปเปิลเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า และหวังว่าลูกค้าจะกลับมาซื้อหรือใช้บริการอื่น เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง
ตัวอักษรที่สามในกาฟา หมายถึง เฟซบุ๊ก ด้วยพื้นฐานโซเชียลเน็ตเวิร์กอันแข็งแรง ที่ไม่ใช่แค่ตัวแอปพลิเคชันของเฟซบุ๊กเอง แต่หมายรวมถึง Whatsapp และ Instagram ถ้านับเล่นๆ โดยนำจำนวนบัญชีผู้ใช้ของทั้งสามแพลตฟอร์มมารวมกัน จะได้ปริมาณกว่า 4 พันล้านบัญชีเลยทีเดียว (!) ข้อมูลอันมหาศาล ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ ความสนใจ ความชอบต่างๆ เป็นข้อมูลที่หาไม่ได้จากแหล่งข้อมูลอื่น จุดนี้ทำให้เฟซบุ๊กเป็นต่อบริษัทอื่นๆ ในกาฟาด้วยกันเอง จึงไม่แปลกใจที่ถังเงินรายได้ของเฟซบุ๊กเกิดจากการวิเคราะห์และขายโฆษณา ที่เฉพาะเจาะจงมากกว่าโฆษณาในยุคดั้งเดิม
บริษัทสุดท้ายในกาฟาคือ แอมะซอน ชื่อเสียงของเจฟฟ์ เบโซส (Jeff Bezos) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอที่เชื่อในการลงทุนระยะยาว ส่งผลให้เห็นแล้วในยุคนี้ แอมะซอนใช้เวลากว่า 20 ปี หลังจากขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา ค่อยๆ พัฒนาธุรกิจและบริการจนเป็นอีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่จนกระเทือนวงการค้าปลีกทั้งในและต่างประเทศ หลังจากนั้น ขยายธุรกิจไปยังคลาวด์ และเปิดบริการให้บริษัทอื่นๆ มาใช้ ล่าสุดเข้าซื้อกิจการ Whole foods ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ขายอาหารสดรายใหญ่ ด้วยความหวังว่าจะขยายความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในแพลตฟอร์ม ทั้งหมดนี้เพื่อตอบโจทย์ของของเจฟฟ์ที่อยากทำให้แอมะซอนเป็นบริษัทที่เข้าใจและใกล้ชิดลูกค้ามากที่สุด อยากให้ลูกค้านึกถึงเมื่อต้องการจะหาข้อมูลหรือซื้อของออนไลน์
กาฟาเป็นกลุ่มบริษัทที่น่าเกรงขามหากจะแข่งขันด้วย ทั้งแข่งกันเองในกาฟา และรวมถึงแข่งกันกับบริษัทเล็กใหญ่ในธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การแข่งขันทั้งหมดนี้ก็เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบด้านธุรกิจ ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาเรียนรู้แล้วว่า บริษัทที่พลาดตกรถไฟจะเป็นอย่างไร
เป็นเรื่องตื่นเต้นหากเรามองการขยับขยายของแต่ละบริษัทในกาฟา จริงอยู่ที่ทั้งสี่บริษัทมีจุดแข็ง มีดินแดนของตัวเอง แต่ในโลกเทคโนโลยี กลับดูแคบลงไปทุกวัน ตัวอย่างเช่น แอมะซอนเป็นบริษัทที่บุกเบิกอุปกรณ์ลำโพงอัจฉริยะที่สามารถวางไว้ในมุมห้องครัวหรือหัวเตียง ผู้ใช้สามารถใช้เสียงโต้ตอบกับอุปกรณ์ได้โดยไร้สัมผัส แนวความคิดนี้น่าสนใจและดูเหมือนจะเป็นโอกาสใหม่ในการขยายบริการของบริษัท หลังจากนั้นไม่นาน กูเกิลและแอปเปิลก็เปิดตัวอุปกรณ์อัจฉริยะติดบ้านนี้ เรียกได้ว่าไม่น้อยหน้ากันเลยทีเดียว
และข่าวลือล่าสุด เฟซบุ๊ก ซึ่งอาจไม่ได้สันทัดฮาร์ดแวร์มากเมื่อเทียบกับเจ้าอื่น กำลังออกแบบและผลิตอุปกรณ์ลำโพงอัจฉริยะนี้อยู่ การพลิกตัวของกาฟาก็ส่งผลโดยตรงต่อบริษัทผลิตลำโพงอย่าง Sonos ที่ตั้งใจพัฒนาลำโพงอัจฉริยะของตัวเอง แต่สุดท้ายก็ยอมเปลี่ยนแผนเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด จับมือร่วมกับแอมะซอนเพื่อให้บริการลำโพงอัจฉริยะนี้
ในอนาคตอันใกล้ สมาร์ตโฟนจะยังคงอยู่คู่ชีวิตประจำวันของคนเรา นั่นก็หมายถึงโอกาสที่กาฟาจะขยายธุรกิจต่อไป ตราบใดที่ยังไม่มีแพลตฟอร์มอื่นมาทดแทนสมาร์ตโฟน การขยายธุรกิจอันรวดเร็วของกาฟาทำให้บริษัทเล็กใหญ่ที่อยากสร้างนวัตกรรมเพื่อแย่งชิงพื้นที่ในวงการเทคโนโลยีก็จะมีความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้การสู้รบปรบมือกับบริษัทเหล่านี้ยังเป็นไปได้ ก็คือการเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง มีกลุ่มลูกค้าชัดเจน ที่จะคอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่สร้างขึ้นใหม่ รวมถึง (ถ้าโชคดี) เป็นคนประชาสัมพันธ์ หาลูกค้าใหม่ให้ด้วย จุดนี้เป็นจุดหลักในการแข่งขันในธุรกิจแห่งอนาคต รวมถึงแข่งกับกาฟานั่นเอง
ภาพประกอบหน้าแรก โดย ภัณฑิรา ทองเชิด
Tags: กูเกิล, เฟซบุ๊ก, แอมะซอน, GAFA, กาฟา, แอปเปิล, แพลตฟอร์มสมาร์ตโฟน