ผลตอบแทนจากการลงทุน ก็ไม่ต่างอะไรกับผลงานอันเกิดขึ้นจากการทำงานทั่วไป โดยอาจกล่าวได้ว่าแบบแรกเป็นผลของการให้เงินทำงาน ส่วนแบบหลังเป็นผลของการใช้แรง (และสมอง) ทำงาน

ในส่วนของการใช้แรงทำงานนั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในภาครัฐหรือภาคเอกชน เมื่อใกล้จะสิ้นปี หลายองค์กรคงมีการเตรียมตัวประเมินผลงานประจำปี เพื่อชี้แจงให้พนักงานในแต่ละระดับทราบถึง ข้อดีและข้อบกพร่องของตัวเอง ตามเป้าหมายการวัดผลงานที่มีการตกลงกันเอาไว้ล่วงหน้า ซึ่งในขั้นตอนการประเมินนั้นต้องมีชี้แจงถึงเป้าหมายกันให้ชัดแจ้ง โดยเฉพาะสำหรับบางองค์กรที่จะนำผลการประเมินไปใช้ในการขึ้นเงินเดือน หรือให้ผลตอบแทนอื่นๆ

แต่ในแง่ของการใช้เงินทำงานนั้น เป็นที่น่าคิดเหมือนกันว่านักลงทุนส่วนบุคคล หรือเจ้าของทรัพย์สิน (Asset owner) ที่ว่าจ้างให้ผู้อื่นบริหารเงินให้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของกองทุนรวม, กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น ให้ความสำคัญกับการประเมินผลตอบแทนจากการลงทุนมากน้อยเพียงใด

การประเมินผลการดำเนินการของกองทุน (Performance evaluation) เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่สะท้อนผลงานของกองทุนในรอบการประเมินที่กำหนด ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยนักลงทุนในการตัดสินใจว่าจ้างหรือทบทวนการว่าจ้างผู้จัดการกองทุนในกรณีของกองทุนส่วนบุคคลหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือใช้ในการตัดสินใจซื้อขายหน่วยลงทุนในกรณีของกองทุนรวม

แต่การประเมินผลงานของผู้จัดการกองทุนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เพียงการดูแค่ผลตอบแทนเป็นบวกหรือลบ และไม่ใช่ดูแค่ผลตอบแทนมากน้อยในระดับที่เราพอใจหรือไม่ แต่การประเมินผลผู้จัดการกองทุนนั้น เป็นศาสตร์ที่ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ซับซ้อนไม่แพ้การประเมินในด้านธุรกิจเฉพาะทางอื่นๆ โดยมีหลักการเบื้องต้นที่พอสรุปให้เข้าใจไม่ยากนักได้ ดังนี้

องค์ประกอบหลักของขั้นตอนการประเมินผลการดำเนินงานกองทุน มี 4 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ 1. การวัดผลตอบแทนจากการทุน (Performance Measurement) 2.การวิเคราะห์ที่มาของผลตอบแทนจากการลงทุน (Performance Attribution) 3. การประเมินผลตอบแทนจากการลงทุน (Performance Appraisal) 4. การนำเสนอผลตอบแทนจากการลงทุน (Performance Presentation)

Performance Measurement

เป็นเรื่องของการวัด ‘ผลตอบแทน’ รวมถึงการวัด ‘ค่าความเสี่ยง’ ของกองทุน โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาคือเรื่องของคุณภาพและความถูกต้องของข้อมูลที่ใช้คำนวณเพื่อหาค่าผลตอบแทนและความเสี่ยงกองกองทุน ซี่งข้อมูลและวิธีการวัดผลนั้น จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรฐานบัญชี, หลักเกณฑ์ของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน, หลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นต้น

Performance Attribution

เป็นการวิเคราะห์ ‘องค์ประกอบ’ ของผลตอบแทนและความเสี่ยง
ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในรอบการประเมินที่ผ่านมา ว่าเป็นผลมากจากปัจจัยใดบ้าง เช่น มองเรื่องของการตัดสินใจลงทุน (Investment decision) ก็ต้องดูว่าผลที่ได้ มาจากการกำหนดสัดส่วนการลงทุนในระดับยุทธศาสตร์ (Strategic asset allocation) หรือการปรับสัดส่วนการลงทุนไปตามสภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา (Tactical asset allocation) หรือ Stock selection เป็นต้น ซึ่งการวิเคระห์ Performance Attribution จะเป็นตัวสะท้อนผลงานของผู้จัดการกองทุนว่าสร้างผลตอบแทนจากปัจจัยใด และสอดคล้องกับนโยบายการลงทุนที่กำหนดหรือไม่ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน หรือ Investment expert ทำเองได้ยาก แต่ก็สามารถหาค่าดังกล่าวได้จากการสอบถามบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน

Performance Appraisal

การประเมิน ‘ผลตอบแทนจากการลงทุน’ เป็นการวิเคราะห์และตีความผลการดำเนินงานในอดีตควบคู่กับข้อมูลในปัจจุบันเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับประเมินความสามารถในการบริหารจัดการลงทุนของผู้จัดการกองทุน ซึ่งก่อนที่จะประเมินผลได้นั้น จะต้องย้อนกลับไปพิจารณารูปแบบของการลงทุนที่เราจ้างผู้จัดการกองทุน ว่ามีการมอบหมายหรือคาดหวังให้ผู้จัดการกองทุนบริหารการลงทุนในรูปแบบใด ซึ่งผู้จัดการกองทุนแต่ละรายอาจมีรูปแบบการจัดการลงทุนที่ต่างกันในรายละเอียด แต่สามารถแบ่งออกเป็นรูปแบบใหญ่ๆได้ดังนี้

  1. บริหารการลงทุนโดยจะสร้างผลตอบแทนแบบ Absolute return หมายความว่ากองทุนตั้งใจจะสร้างผลตอบแทนให้ได้ในระดับที่ตกลงกันไว้ โดยไม่สนใจสภาวะตลาด เช่น 5% ต่อปี เป็นต้น ซึ่งการประเมินผู้จัดการกองทุนที่มีการบริหารการลงทุนในรูปแบบนี้ก็ง่ายและตรงไปตรงมามาก เพียงเราไปดูว่าผลตอบแทนที่ได้นั้นเป็นไปตามที่คาดหวังและตกลงกันไว้ล่วงหน้าหรือไม่ แต่ในประเทศไทย การจัดการลงทุนรูปแบบนี้ยังไม่มีให้บริการมากนัก อาจจะต้องคุยกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเป็นรายไป
  2. บริหารการลงทุนโดยจะสร้างผลตอบแทนแบบ Relative return หมายความกองทุนตั้งใจจะสร้างผลตอบแทนเทียบกับตลาด ซึ่งวัดโดยดัชนีหรือเกณฑ์ชี้วัด (Benchmark) ที่มีการตกลงกันไว้ล่วงหน้า ซึ่งสามารถแตกย่อยได้อีกเป็น 2 แบบ ได้แก่ 1. แบบ Passive management หรือการบริการเชิงรับ ในกรณีนี้ผู้จัดการกองทุนจะสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับตลาดมากที่สุดทั้งขาขึ้นและขาลง 2.2. แบบ Active management หรือการบริการเชิงรุก ในกรณีนี้ผู้จัดการกองทุนจะวิเคราะห์ คาดการ และจัดการลงทุนโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างผลตอบแทนให้ชนะตลาด (เช่น ตลาดมีผลตอบแทน 3% กองทุนมีผลตอบแทน 5% หรือในกรณีตลาดขาลง เช่น ตลาดติดลบ 7% ในขณะที่กองทุนติดลบ 5% ก็จะถือว่าชนะ)

การประเมินผลงานของการลงทุนแบบ Relative return สามารถทำได้ไม่ยาก ถ้ากองทุนของเราตกลงกันไว้แล้วว่าการลงทุนจะเป็นแบบ Passive management ก็ต้องไปดูว่าผลตอบแทนจากการลงทุนนั้น ล้อตามตลาดได้ใกล้ชิดเพียงใด ตัววัดมาตรฐานที่นิยมใช้กันคือ Tracking error ซึ่งวิธีการคำนวณจะคล้ายกับ Standard deviation ซึ่งคณะกรรมการกองทุนควรจะคาดหวังที่จะเห็นค่า Tracking error น้อยๆ ในกรณีของ Passive เพราะถ้ามีค่ามากจะหมายถึงกองทุนนั้นไม่ค่อยเกาะตลาดเท่าที่ควรจะเป็น โดยค่า Tracking error นั้น ทางคณะกรรมการกองทุนสามารถสอบถามได้จากบริษัทจัดการลงทุนเช่นกัน

ในส่วนของการประเมินผลงานของการลงทุนแบบ Relative return แบบ Active management ก็ต้องไปดูว่าผลตอบแทนจากการลงทุนนั้นชนะตลาดหรือไม่ และตามที่ตกลงกันไว้ คณะกรรมการกองทุนคาดหวังการชนะในระยะสั้นหรือระยะยาวอย่างไร ซึ่งวิธีการวิเคราะห์นั้นก็ตรงไปตรงมาคือ เปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุนกับผลตอบแทนของดัชนีหรือเกณฑ์ชี้วัด (Benchmark) ที่มีการตกลงกันไว้ล่วงหน้า แต่ที่สำคัญคือคณะกรรมการกองทุนต้องเลือกเกณฑ์ชี้วัดที่มีความเหมาะสม เช่น จัดทำโดยหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับ และเกณฑ์ชี้วัดนั้นควรสะท้อนผลตอบแทนของตลาดให้มากที่สุด เช่น หากเป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทตราสารทุนหรือหุ้น การวัดผลจากการลงทุนควรจะต้องใช้ เกณฑ์ชี้วัดที่ประกอบด้วยผลตอบแทนจากการเปลี่ยนแปลงของราคา และรวมผลตอบแทนจากเงินปันผลด้วย เป็นต้น ซึ่งดัชนี้ประเภทนี้จะเรียกว่า Total Return Index (TRI)

Performance Presentation

การนำเสนอผลตอบแทนจากการลงทุน เป็นการนำเสนอผลสรุปที่ได้จากทั้งกระบวนการวัดผลการดำเนินงานกองทุนในช่วงเวลาที่กำหนด โดยประเด็นที่ต้องพิจารณาคือการนำเสนอผลการดำเนินงานนั้นเป็นไปตามมาตรฐานรายงานการนำเสนอ ผลการดำเนินงานกองทุน หรือไม่ เพราะในบางครั้งอาจเป็นไปได้ว่าการนำเสนออาจไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เช่น การคัดเลือกบางช่วงเวลามานำเสนอ, การคัดเลือกเฉพาะส่วนที่ดีมานำเสนอ, การเปิดเผยข้อมูลไม่ครบถ้วนเพียงพอ หรืออาจมีการการใช้เกณฑ์ชี้วัดที่ไม่เหมาะสมเป็นต้น

การประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนเป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือเรื่องการสื่อสารระหว่างนักลงทุน คณะกรรมการกองทุน กับตัวผู้จัดการกองทุน เพื่อที่แต่ละฝ่ายจะได้เข้าใจตรงกันว่ามีความคาดหวังอย่างไร เนื่องจากการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นเป็นการลงทุนระยะยาว ทั้ง 2 ฝ่ายจึงควรมีความเข้าใจซึ่งกันและกันและมีความคาดหวังที่อีกฝ่ายหนึ่งสามารถส่งมอบให้ได้

การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นเป็นการลงทุนระยะยาว ทั้ง 2 ฝ่ายจึงควรมีความเข้าใจซึ่งกันและกันและมีความคาดหวังที่อีกฝ่ายหนึ่งสามารถส่งมอบให้ได้

นอกจากนี้ การประเมินผลเป็นเรื่องสำคัญก็จริง แต่การเปลี่ยนผู้จัดการกองทุนบ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องดี เนื่องจากอาจทำให้การบริหารกองทุนขาดความต่อเนื่อง ผู้จัดการกองทุนรายใหม่อาจต้องทำการปรับพอร์ตในช่วงแรกและอาจส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของกองทุน เป็นต้น นอกจากนี้การประเมินควรผลควรรวมเรื่องของ คุณภาพในการให้บริการ การใส่ใจให้ความรู้และแก้ปัญหาให้กับสมาชิกและคณะกรรมการกองทุนมาเป็นตัวประกอบด้วย

การประเมินผลเป็นเรื่องดีครับ แต่พึงระลึกเสมอว่าการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการลงทุนระยะยาว ดังนั้นการประเมินผลที่ให้ความสำคัญกับผลตอบแทนในระยะสั้นมากเกินไป อาจไม่ส่งผลดีในระยะยาวก็ได้ครับ

Tags: , , ,