โค้งสุดท้ายของการยื่นภาษีปี 2563 ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งขีดเส้นตายไว้ถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ หลังขยายเวลามาตั้งแต่เดือนมีนาคม เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 

ขณะที่หลายคนกำลังทำเรื่องยื่นภาษีออนไลน์อยู่ เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 วงเงิน 3,100,000 ล้านบาท ในวาระแรก หลักใหญ่ใจความคือ ในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลจะจัดสรรเงินจำนวนเท่าไร ให้กับหน่วยงานใด เพื่อนำไปใช้อย่างไรบ้าง

แน่นอนว่าการอภิปรายครั้งนี้เป็นที่จับตามองอย่างไม่กะพริบ เพราะในช่วงวิกฤตโควิด-19 ทุกคนต่างรอดูว่ารัฐบาลจะมีแผนใช้เงินในการฟื้นฟูเยียวยาประเทศอย่างไร บวกกับชื่อเสีย(ง) เกี่ยวกับการใช้เงินอย่างไร้ยุทธศาสตร์ของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ยึดอำนาจประชาชนมาบริหารประเทศนานกว่า 7 ปี (2558-2565) เคยจัดทำงบประมาณมาแล้วทั้งสิ้น 8 ครั้ง และเป็นงบแบบขาดดุลทั้งหมด และได้ชื่อว่า ‘รัฐบาล Very กู้’ เนื่องจากเป็นรัฐบาลที่กู้เงินมากกว่า 3 รัฐบาลรวมกันเสียอีก จนสร้างหนี้ให้กับประเทศไทยมากถึง 5.4 ล้านล้านบาท 

จากการชี้แจงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 มีหลายประเด็นที่ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง  

ไฮไลต์หนีไม่พ้นงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ที่ได้รับจัดสรร 33,712 ล้านบาท แบ่งเป็นงบพิทักษ์รักษาและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ งบถวายความปลอดภัย งบส่วนราชการในพระองค์ งบโครงการตามพระราชดำริและพระปณิธาน และงบอื่นๆ เช่น งบพระราชทานเพลิงศพ งบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 

ประเด็นต่อมาที่ทำเอาหลายคนตาลุกวาวคือ งบประมาณเกี่ยวกับสวัสดิการข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างรัฐ ที่ได้รับจัดสรรสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท หรือเกือบ 40% ของงบประมาณทั้งหมด 

ส่วนงบประมาณของกองทัพก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่หลายคนจับตา โดยในปี 2565 กองทัพบกในภาพรวมมีการปรับลดลง 6,600 ล้านบาท แต่ในรายละเอียดเช่นโครงการเสริมสร้างจัดหายุทโธปกรณ์ กลับมีงบประมาณเพิ่มขึ้น จากปี 2564 ได้รับงบประมาณ 3,132 ล้านบาท แต่ในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 4,937 ล้านบาท ส่วนกองทัพเรือ ในภาพรวมปี 2565 งบประมาณถูกปรับลดลง 1,130 ล้านบาท แต่โครงการเสริมสร้างจัดหายุทโธปกรณ์ซึ่งในปี 2564 มีงบอยู่ที่ 533 ล้านบาท แต่ปี 2565 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1,406 ล้านบาท

แม้ว่างบของกองทัพจะถูกปรับลดเช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ ทว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการปรับลดของหน่วยงานสำคัญในการควบคุมโรคโควิด-19 อย่างกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ‘ไม่สมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่ง’

ยกตัวอย่างเช่น กรมควบคุมโรค ที่มีบทบาทอย่างมากในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ได้รับงบประมาณ 3,565 ล้านบาท ลดลงจากปี 2564 ถึง 479 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.8 % ด้านกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งทำหน้าที่ตรวจเชิงรุก ตรวจคัดกรอง วินิจฉัยเชื้อโรคในห้องปฏิบัติการ เปรียบเสมือนแนวหน้าในการสกัดกั้นโรคระบาด ซึ่งสมควรได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น แต่ปี 2565 งบประมาณกลับลดลงกว่า 144 ล้านบาท 

สรุปได้ว่า งบประมาณด้านการป้องกันประเทศถูกปรับลดลง 10,383 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.9% แต่งบกระทรวงสาธารณสุขที่สำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตของประชาชน กลับถูกปรับลดลงถึง 37,207 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10.8% สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการป้องกันอริราชศัตรู ซึ่งยังไม่มีวี่แววให้เห็น มากกว่าเชื้อโรคที่กำลังกัดกินชีวิตผู้คนอยู่ตรงหน้าเสียอีก

อย่างไรก็ตาม สุดท้าย ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565  ด้วยคะแนนเสียง 269 ต่อ 201 งดออกเสียง 2 เสียง ผ่านฉลุยอย่างสะดวกโยธินเหมือนเช่นทุกครั้ง ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา 

จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมหลายคนถึงรู้สึกโกรธเคืองและไม่ไว้ใจเลยสักนิด ว่าเงินภาษีจากน้ำพักน้ำแรงของพวกเขาจะถูกนำไปใช้พัฒนาประเทศเพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น หรือจะถูกนำไปเสิร์ฟให้กับคนเพียงไม่กี่กลุ่มได้สวาปามกันอย่างอิ่มหนำสำราญ ท่ามกลางความหิวโหยของประชาชนอีกค่อนประเทศ

 

อ้างอิง

https://www.thairath.co.th/news/politic/2107460?cx_testId=0&cx_testVariant=cx_0&cx_artPos=1&cx_rec_section=news&cx_rec_topic=politic&utm_source=REC_WIDGET#cxrecs_s

https://www.ilaw.or.th/node/5875

Tags: , ,