ณ ยามนี้คงไม่มีข่าวการเมืองไทยข่าวใดที่น่าจับตาไปมากกว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
กล่าวคือ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 นี้ จะเป็นวันที่อดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี หลังจากทำการรัฐประหารในปี 2557 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ จะดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ไม่ได้
อย่างไรก็ดี แม้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 จะระบุชัดเจนว่าไม่สามารถเป็นนายกฯ เกิน 8 ปีได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือการตีความระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากมาตรา 158 วรรคสี่ มีข้อยกเว้นว่า ‘ไม่ให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง’
เรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ตอนนี้ จึงเป็นการคาดการณ์ต่างๆ นานาเกี่ยวกับการตีความของศาลรัฐธรรมนูญของวาระนายกฯ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ บทความในเว็บไซต์ ilaw ระบุว่า ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญได้ช่วยค้ำจุนสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ ไว้ อย่างน้อย 3 ครั้ง ได้แก่ คดีถวายสัตย์ไม่ครบ คดีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และคดีบ้านพักหลวง
จึงน่าจับตาว่า หลังวันที่ 24 สิงหาคมนี้ ศาลจะแสดงอภินิหารความเฮี้ยนใดหรือไม่
8 ปี เป็นเวลาที่เนิ่นนาน ถ้าตอนเกิดรัฐประหารคุณอายุ 10 ขวบ ตอนนี้คุณก็กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย (หรือเข้าแล้ว) ถ้าตอนนั้นคุณอายุ 20 ปี ตอนนี้คุณก็ใกล้จะขึ้นเลข 3 หรือหากตอนนั้นคุณอายุ 30 ปี ตอนนี้คุณก็ใกล้จะเข้าสู่ช่วงวัยกลางคนเต็มที
8 ปี ที่ผ่านมา ผมเฝ้าติดตามข่าวสารการเมืองอยู่ใกล้บ้าง ห่างบ้าง บ่อยบ้าง น้อยบ้าง ตามแต่จังหวะและโอกาส เพราะชีวิตยังมีแง่มุมอื่นๆ ให้สนใจอีกมากมาย (แม้สุดท้ายแล้ว แทบทุกเรื่องก็เกี่ยวข้องกับการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ)
และเนื่องจากการงานทำให้ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์ผู้คนจากหลากหลายวงการ หลากหลายช่วงอายุ หลากหลายดีกรีของความมีชื่อเสียง แน่นอนว่าหลายคนก็เป็นบุคคลจากฝั่งแวดวงการเมืองไทย ซึ่งเป็นแวดวงที่ผมมีมุมมองเปลี่ยนไปเยอะมาก จากเมื่อก่อนที่การเมืองไทยไม่ได้เข้มข้นและเป็นหัวข้อในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปอย่างปัจจุบันนี้
อย่างที่ใครหลายคนนิยาม วงการนี้คือ ‘เกม’ ที่มีเรื่องของ ‘อำนาจ’ เป็นเดิมพัน
จนถึงตอนนี้ กลุ่มบุคคลที่ผมรู้สึกอยากมีโอกาสได้สัมภาษณ์ที่สุด คือ กลุ่มคนที่อยู่บนจุดสูงสุดของสิ่งที่เรียกว่า ‘อำนาจ’ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางสังคมของประเทศ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายในการเข้าถึงบุคคลเหล่านั้นก็ตาม เพราะบุคคลเหล่านี้ก็จะมีทีมงานที่คอยสื่อสารหรือตอบคำถามแทนอยู่แล้วเป็นปกติ (หรือไม่ก็ออกทีวีพูดอยู่ฝ่ายเดียว)
ผมใคร่รู้ว่าการยืนอยู่บนจุดสูงสุดของอำนาจนั้นเป็นอย่างไร โดดเดี่ยวหรือไม่ กดดันเท่าไร ยามหลับตาลงก่อนนอนหรือหลังลืมตาตื่นนอน พวกเขาครุ่นคิดถึงสิ่งใด ในเมื่อทุกๆ วันของชีวิตคือการแบกรับน้ำหนักของความคาดหวังทุกรูปแบบที่แตกต่างกันไปจากทุกคนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในประเทศ
ทำไมการที่อยู่ในอำนาจมาเป็นเวลานาน จึงทำให้คนคนหนึ่งอยากเหลือเกินที่จะรักษาอำนาจนั้นไว้ และครองตนอยู่ในอำนาจต่อไป ถึงแม้ว่าอำนาจนั้นจะได้มาอย่างไม่ชอบธรรม และคนเหล่านั้นไม่มีความสามารถเพียงพอในการใช้อำนาจในมือเป็นเครื่องมือเพื่อความยุติธรรม เพื่อความผาสุก แต่ใช้อำนาจเพื่อพวกพ้อง เพื่อประโยชน์ส่วนตน เพื่อทำให้กลไกทางกฎหมายบิดเบี้ยว ปิดหู ปิดตา ปิดใจ ต่อความเห็นต่าง รวบและรักษาอำนาจไปเรื่อยๆ แล้วจุดสูงสุดของการใช้อำนาจของพวกเขาเหล่านั้นคืออะไร
ใช่แล้ว ผมอยากสัมภาษณ์ ‘ผู้นำเผด็จการ’
ผมอยากรู้ว่าการอยู่ในอำนาจสูงสุดเป็นเวลานาน มันเปลี่ยนคนธรรมดาให้กลายเป็นผีบ้าอำนาจที่ไร้ชีวิตจิตใจได้จริงหรือไม่ เหมือนเช่นที่เราได้เห็น ได้ฟัง ได้เรียนรู้ จากผู้นำเผด็จการในประวัติศาสตร์โลกที่โหดร้าย และ(แทบ)ไม่มีใครมีบั้นปลายชีวิตในการนั่งจิบกาแฟ เลี้ยงหลาน อ่านหนังสือ ชื่นชมธรรมชาติ หรือสูดกลิ่นอิสรภาพ เลยสักคน (แต่มักตายกลายเป็นผีอย่างน่าอนาถด้วยการลุกฮือของประชาชน)
แม้จะยังไม่มีโอกาสในการสัมภาษณ์ผู้นำเผด็จการ (แน่ล่ะ ใครจะยอมรับว่าตัวเองเป็นเผด็จการ และถึงมีคนบ้าจี้ให้สัมภาษณ์ ก็คงเป็นการปั้นคำดูดีเพื่อการประชาสัมพันธ์) ที่ยืนอยู่บนจุดสูงสุดของอำนาจ เพื่อคลี่คลายความสงสัยในบุคลิกและความคิดของบุคคลเหล่านั้น แต่อย่างน้อยก็ขอบคุณโลกอินเทอร์เน็ต ที่ทำให้เราค้นคว้าหาความรู้ในสิ่งที่สงสัยได้อยากไม่ยากเย็นจนเกินไป
เป็นเวลาเนิ่นนานที่นักจิตวิทยาพยายามทำความเข้าใจบุคลิกของเผด็จการทางการเมือง ในปี 1939 คาร์ล ยุง (Carl Jung) ได้พบกับฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) และมุสโสลินี (Benito Mussolini) สองผู้นำเผด็จการบันลือโลก ที่กรุงเบอร์ลิน และสังเกตการปฏิสัมพันธ์ของพวกเขา ในภายหลัง เฟรเดอริก แอล. คูลิดจ์ (Frederick L. Coolidge) และแดเนียล แอล. ซีกัล (Daniel L. Segal) นักจิตวิทยาบุคลิกภาพจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด เขียนถึงการพบกันครั้งนั้นว่า “ยุงกล่าวว่า ฮิตเลอร์ไม่หัวเราะ ดูขุ่นเคืองและอารมณ์ไม่ดีตลอดเวลา” นอกจากนี้ ยุงยังมองว่าฮิตเลอร์เป็นคนไร้มนุษยธรรมที่มีจุดประสงค์เดียวคือสร้างนาซีเยอรมนีที่ทรงอำนาจ
ในปี 2007 คูลิดจ์และซีกัล ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาเกี่ยวกับฮิตเลอร์จำนวนห้าคน และขอให้ลองประเมินโดยใช้เกณฑ์วินิจฉัยโรคจิตเวช Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorder หรือ DSM ฉบับที่ 4 (DSM-IV) จากหลักการวินิจฉัยองค์รวม (multiaxial diagnosis) เพื่อให้ประเมินอาการทางจิตเวชได้อยางครอบคลุม โดยไม่ละเลยประเด็นสําคัญ เช่น โรคทางกายหรือปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม ที่อาจทําให้อาการทางจิตเวชยังคงอยู่
ผลจากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญทั้งห้าถือว่าเป็นเอกฉันท์ โดยฮิตเลอร์มีคะแนนสูงมากในระดับความผิดปกติทางบุคลิกภาพดังต่อไปนี้ ความหวาดระแวง ต่อต้านสังคม ความหลงตัวเอง และซาดิสม์ นอกจากนี้ ประวัติบุคลิกภาพของฮิตเลอร์ยังชี้ให้เห็นว่าเขาอาจมีแนวโน้มเป็นโรคจิตเภท ซึ่งรวมถึงอาการหลงตัวเอง และมีความคิดที่วิปลาสสูงเกินไป
สิ่งที่น่าสนใจคือ คูลิดจ์และซีกัล ได้ศึกษาแบบเดียวกันกับซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein) อดีตผู้นำเผด็จการแห่งอิรัก จากกลุ่ม ‘ผู้หลักผู้ใหญ่’ ชาวอิรักจำนวน 11 คน ที่รู้จักซัดดัมอย่างใกล้ชิดมาเป็นเวลา 24 ปี และได้ผลลัพธ์ที่เป็นเอกฉันท์ คือ ซัดดัมมีคะแนนสูงในระดับความผิดปกติของบุคลิกภาพแบบเดียวกับฮิตเลอร์ ได้แก่ ความหวาดระแวง ต่อต้านสังคม หลงตัวเอง และซาดิสม์ (ซึ่งระดับความซาดิสม์ของซัดดัมสูงกว่าฮิตเลอร์)
เมื่อรวมผลลัพธ์จากการศึกษาทั้งสองกรณี คูลิดจ์และซีกัลได้ตั้งสมมติฐานว่า บุคลิกภาพที่สะท้อนถึงบุคลิกของเผด็จการโดยทั่วไป ได้แก่ ซาดิสม์ ต่อต้านสังคม หวาดระแวง หลงตัวเอง มีอาการทางจิตเภทคือหลงตัวเอง และมีความคิดที่วิปลาสสูง ซึ่งทั้งคู่ใช้คำเรียกว่า ‘Big Six’
นอกจากนั้น ในปี 2009 คูลิดจ์และซีกัล ได้ขยายการวิจัยไปยังเผด็จการแห่งเอเชียอย่าง คิมจองอิล (Kim Jong-il) อดีตผู้นำเผด็จการแห่งเกาหลีเหนือ โดยได้รับการช่วยเหลือจากนักจิตวิทยาเชิงวิชาการชาวเกาหลีใต้ที่ไม่เปิดเผยตัว ผู้เคยฝึกอบรมด้านจิตวิทยาขั้นสูง และเป็นที่ยอมรับของคิมจองอิล ซึ่งเขาตกลงที่จะจัดทำรายงานผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติทางจิตวิทยาของคิมจองอิล
ผลจากการศึกษาคิมจองอิลแสดงให้เห็นความผิดปกติทางบุคลิกภาพ ได้แก่ ซาดิสม์ ต่อต้านสังคม หวาดระแวง หลงตัวเอง และมีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบจิตเภท (เหมือนกันกับเผด็จการคนอื่นๆ เป๊ะ) ที่น่าสนใจคือการศึกษายังพบว่า คิมจองอิลมีความใกล้เคียงกับซัดดัมมากกว่าฮิตเลอร์ โดยเฉพาะความผิดปกติในบุคลิกภาพแบบซาดิสม์ ซึ่งเป็นหัวข้อที่เขาได้คะแนนสูงสุด
อย่างไรก็ดี มีคำเตือนจากการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจบุคลิกภาพของเผด็จการเหล่านี้ว่า ไม่ใช่ทุกคนที่มีความผิดปกติทางบุคลิกเช่นเดียวกับผู้นำเหล่านี้แล้วจะต้องเป็นเผด็จการ หรือฆาตกร หรือผู้ก่อการร้าย และผู้นำเผด็จการคนอื่นอาจมีความผิดปกติทางจิตเวชและบุคลิกภาพที่ต่างกันไป
นอกจากนี้ บุคลิกภาพเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่มันประกอบขึ้นจากอีกหลากหลายปัจจัยในชีวิตของคนคนนั้น ซึ่งการที่จะเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงสารตั้งต้นและปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้คนคนหนึ่งกลายเป็นเผด็จการผีบ้าอำนาจ ก็ต้องศึกษาให้ลึกและละเอียดลงไปอีกมาก
แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เรามองเห็นบางอย่างที่เป็นจุดร่วมของเหล่าเผด็จการบ้าอำนาจเหล่านั้น และความเป็นจริงที่ว่า เมื่อคุณได้ผู้นำที่มีบุคลิกลักษณะคล้ายคลึงกับผลการศึกษาเหล่านั้น โอกาสที่คุณจะได้เห็น ‘ผีบ้าอำนาจ’ ผู้ซึ่งพยายามทุกวิถีทางเพื่อครองอำนาจไว้ในมือให้นานที่สุด ก็มากขึ้นเท่านั้น
ใจจริงผมอยากจะพูดว่า “จะบ้าอำนาจไปเพื่ออะไร จะยึดมั่นถือมั่นในอำนาจไปถึงไหน อีกไม่นานก็ตายห่ากันหมดแล้ว”
แต่ในความเป็นจริง ผมไม่กล้าคิดเช่นนั้น เพราะหากผมเติบโตมาโดยมีปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้มีบุคลิกภาพเช่นเดียวกับการศึกษาที่ได้เล่าไป หรือหากวันหนึ่งผมกลายเป็นคนที่ได้ครองอำนาจบนจุดสูงสุดนั้นแทน ผมอาจจะคิดและปฏิบัติแบบเผด็จการพวกนั้นก็เป็นได้
แล้ววันนั้น ผมก็จะกลายร่างเป็นผีบ้าอำนาจอย่างสมบูรณ์แบบ ความยุติธรรมที่ผมเชื่อและยึดมั่นก็จะเป็นเพียงเรื่องงี่เง่างมงายหลอกเด็กเท่านั้น
เอาเป็นว่า ผมจะภาวนาไม่ให้มันเกิดขึ้นก็แล้วกัน
Tags: dictator, เผด็จการ, Psychology