“ข่าวไอ้คนนั้นอีกแล้ว”
“ทำไมถึงมีข่าวคนแปลก ความเชื่อ ร่างทรง มาให้ดูทุกวันเลยวะ”
“ทำไมสื่อต้องให้พื้นที่คนแบบนี้ หรือกับเรื่องพวกนี้”
“ยิ่งโดนด่าเท่าไร เหมือนกับว่าเราก็จะยิ่งเห็นอะไรแบบนี้มากเท่านั้น”
เคยสงสัยไหมว่าอะไรที่ทำให้คนบางประเภทมักได้ช่วงชิงพื้นที่สื่อ แล้วถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง คนเหล่านั้นมีอะไรโดดเด่น มีความสำคัญอย่างไรต่อสังคม?
From The Desk สัปดาห์นี้ จึงอยากชวนมองภาพรวมของสื่อมวลชนไทยน้อยใหญ่ในปัจจุบัน ควบคู่กับความรู้สึกอัดอั้นตันใจของเสียงเล็กๆ จากเหล่าคนทำสื่อ ที่หวังอยากให้สังคมได้อะไรมากกว่า ‘เรื่องดราม่า’
‘คนแปลก ความเชื่อ ร่างทรง’ เมื่อการเสพสื่อเปลี่ยนไปมากกว่าที่คิด?
ในความทรงจำจางๆ ของผู้เขียน สื่อเมื่อประมาณ 10-20 ปีก่อน กับปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าที่คาดคิด ทั้งที่หลายเจ้าก็เป็นสื่อเก่าร่วมสมัย ในช่วงเวลาที่ทุกคนจะตามข่าวคราวและความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้แค่หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ แม้โทรทัศน์จะมีเพียงไม่กี่ช่อง แต่เรากลับรู้สึกว่ามีความน่าสนใจกว่าสมัยนี้
จากมุมมองและความคิดเห็นส่วนตัว การนำเสนอข่าวทางโทรทัศน์เมื่อก่อนแตกต่างจากปัจจุบันพอสมควร ผู้ประกาศข่าวในไทยจะต้องรายงานข่าวด้วยน้ำเสียงทางการ แต่งตัวเป็นทางการ ไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นต่อเนื้อข่าว เหมือนเวลาดูข่าวต่างประเทศ ที่นักข่าวส่วนใหญ่จะใช้น้ำเสียงจริงจัง เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นตามสคริปต์ ที่ผู้ชมบางส่วนก็มองว่าจริงจังเกินไป ชวนง่วงเกินไป และคงจะมีแต่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่ดูข่าว
เมื่อมองมายังการรายงานข่าวของผู้ประกาศยุคปัจจุบัน เราเห็นความเปลี่ยนแปลงไปมาก สถานีโทรทัศน์หลายช่องเริ่มเปลี่ยนจากการ ‘รายงานข่าว’ เป็น ‘เล่าข่าว’ ใช้น้ำเสียงและภาษาที่เป็นกันเองมากขึ้น บางข่าวเล่าแบบกึ่งทางการ บางข่าวก็เล่าเหมือนเล่าให้คนในบ้านหรือเล่าให้เพื่อนฟัง แถมหลายครั้งตัวของผู้ประกาศเองก็แสดงความคิดเห็นส่วนตัวร่วม เช่น เห็นใจ เศร้าใจ เห็นด้วยกับข่าวหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ตัวเองกำลังรายงาน
นอกเหนือจากวิธีการรายงานของผู้ประกาศข่าว อีกสิ่งที่น่าสนใจคือ ‘การเลือกข่าว’ ของสำนักข่าวหลายช่องที่เริ่มแสดงให้เห็นถึง ‘ความแปลกพิกล’ มากขึ้นเรื่อยๆ จนรู้ตัวอีกทีความแปลกที่ว่านี้ก็กลายเป็นเรื่องปกติ หรือเป็นสิ่งที่สังคมเห็นจนชินชาเสียแล้ว
“ยิ่งแปลกยิ่งดัง ยิ่งน่าสนใจยิ่งชวนให้ตามข่าวทุกวัน”
วลีข้างต้นคงไม่ใช่เรื่องโกหก เมื่อสังเกตข่าวที่ยังไม่ได้รับความกระจ่าง เป็นคดีหนึ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดแห่งหนึ่ง ตำรวจได้พบศพเด็กสาวบนเขา ก่อนผู้ต้องสงสัยจะเป็นคนในครอบครัว พ่อ แม่ ลุง ป้า สื่อหลายเจ้าเริ่มรายงานข่าวคดีลึกลับที่ยังหาคำตอบไม่ได้ตามปกติ แต่เมื่อรายงานไปรายงานมา ผู้ชมเริ่มมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เกิดข้อสันนิษฐานมากมายว่าตกลงแล้วใครเป็นผู้ร้ายตัวจริง สุดท้ายจากคดีเล็กๆ ก็เริ่มกลายเป็นที่สนใจไปทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สื่อหลายเจ้าเลือกทำ คือการตามติดชีวิตคนรอบตัวของผู้ตาย ลงพื้นที่เอากล้องไปจ่อหน้าผู้ต้องสงสัยเพื่อดูว่าชีวิตของลุงกับป้าแต่ละวันเป็นแบบไหน ชีวิตของพ่อแม่ผู้เสียชีวิตวันหนึ่งทำอะไรบ้าง ก่อนผู้ประกาศข่าวจะจุดไฟแห่งความสงสัยไว้ทีละน้อยขณะรายงานข่าว บ้างก็รายงานข่าวเหมือนพูดลอยๆ ว่าไม่เชื่อสิ่งที่พ่อแม่ของผู้เสียชีวิตพูด เอนเอียงไปทางลุงกับป้าว่าอาจจะเป็นผู้บริสุทธิ์ แสดงความรู้สึกร่วมเพื่อทำให้ผู้คนที่ดูข่าวไม่รู้สึกเบื่อ และอยากตามติดเรื่องนี้ต่อไปเรื่อยๆ
การให้พื้นที่สื่อกับครอบครัวหนึ่งที่ยังไม่สามารถตัดออกจากการเป็นผู้ต้องสงสัยได้ สร้างความงุนงงแก่สังคมบางส่วน เกิดความสงสัยว่าทำไมคนที่ยังไม่ได้รับการการันตีว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ถึงมีคนจ้างไปออกงานมอเตอร์โชว์ จ้างไปร้องเพลง มีงานเดินแบบ เป็นพรีเซนเตอร์สินค้า กลายเป็นบล็อกเกอร์ ไปจนถึงมีแฟนคลับสร้างแฮชแท็กเป็นของตัวเองอย่าง #Saveลุง… เพราะเชื่อว่าลุงป้าคู่นี้จะต้องไม่ใช่ฆาตกรหรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของเด็กสาวแน่นอน
กลายเป็นว่าชีวิตของลุงป้าร่ำรวยขึ้นมาแบบพลิกผัน เพียงเพราะคดีการเสียชีวิตของหลานสาวที่สำนักข่าวเล่าให้คนทั้งประเทศฟังทุกเมื่อเชื่อวัน ตีคู่ไปกับสำนักข่าวที่ก็ยังคงรายงานชีวิตของคดีที่คนกลุ่มนี้เกี่ยวข้องต่อไป โดยไม่มีใครทราบได้เลยว่า สื่อผู้ที่สร้างปรากฏการณ์นี้ขึ้นมา จะรู้ตัวหรือไม่ว่าได้ทิ้งอะไรบางอย่างไว้ให้กับสังคม
ความแปลกที่ว่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องคดีเด็กเสียชีวิตบนเขาเท่านั้น แต่ยังมองเห็นได้จากข่าวอื่นๆ อีกมากมาย
สังคมไทยเคยเห็น ‘ข่าวฆาตกรรมหั่นศพ’ อยู่หลายครั้ง แต่มีครั้งหนึ่งที่สื่อบางเจ้าก็เลือกรายงานเรื่องหน้าตาของฆาตกร ชีวิตประจำวันของฆาตกร เข้าไปถ่ายรูปในโรงพักแล้วขอให้ฆาตกรส่งยิ้มหรือชูสองนิ้วให้กล้อง ไม่ได้เล่าเพียงแค่ว่าผู้ต้องหาทำร้ายเหยื่ออย่างไร มีความผิดอย่างไร และอันตรายต่อสังคมอย่างไร
ความน่าสลดหดหู่ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ แต่สังคมส่วนหนึ่งก็พร้อมตอบรับข่าวแบบนี้จนทำให้ฆาตกรรมมีกลุ่มแฟนคลับ ได้รับเสียงชมเชยด้วยเหตุผลใดก็ไม่อาจทราบได้ และพูดถึงหน้าตาของผู้ต้องหา โดยสังคมบางส่วนอาจจะลืมคิดไปว่าครอบครัวเหยื่อที่เป็นผู้สูญเสียจะรู้สึกอย่างไรกับสิ่งเกิดขึ้น
หากไม่ได้มองเพียงแค่ตัวบุคคลที่ถูกสื่อปั้นแต่งให้กลายเป็นคนดังชั่วข้ามคืน แต่รวมถึงเหตุการณ์บางอย่างที่สามารถหยิบมาเป็นข่าวได้ เราจะเห็นว่าทุกช่วงของการรายงานต้องแบ่งเวลาไปให้กับข่าวที่เกี่ยวข้องกับ ‘ความเชื่อ’ เช่น ข่าวคนทรงเจ้า ข่าวคนมีอาการแปลกๆ ที่บอกกับสื่อว่ามีองค์ มีกษัตริย์ไทยในยุคสุโขทัยหรืออยุธยากลับมาเข้าร่างเพื่อคอยชี้นำตัวเอง ชี้นำสังคม และวนเวียนอยู่กับเรื่องพวกนี้หลายข่าวหลายสิบนาที
ข่าวอุบัติเหตุธรรมดาก็สามารถขยายความไปยังเรื่องความเชื่อได้อีก เพราะผู้ประกาศข่าวจะไม่ได้เล่าเพียงแค่ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เสริมเรื่องที่ว่าผู้ประสบอุบัติเหตุรอดเพราะมีของขลัง มีของศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อทางศาสนา คู่ไปกับการรายงานเลขทะเบียนรถหรือทะเบียนบ้านที่เกิดเรื่อง ไปจนถึงข่าวการฝันเห็นเลขของชาวบ้าน
สไตล์การรายงานข่าวประเภทนี้มักเริ่มจากการเล่าแบบกลางๆ แต่ชวนตีความไปในแง่ดังกล่าว คล้ายกับพยายามช่วยใบ้หวยออกอากาศ บางครั้งก็เล่าต่อเนื่องได้หลายวันติดต่อกัน พอข่าวความเชื่อหนึ่งจบ อีกข่าวที่คล้ายกันก็จะพร้อมเล่าต่อทันที
หากมองนอกเหนือจากข่าวที่หลายคนเรียกว่า ‘ข่าวชาวบ้าน’ แล้วมองไปยังข่าวการเมือง จะสังเกตได้ว่าในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแต่ละครั้ง สำนักข่าวหลายเจ้ามักดึง ‘ประเด็นดราม่า’ ที่เกิดขึ้นในสภา มาเล่าแทนแกนหลักสำคัญอย่างเนื้อหาซักฟอกรัฐบาลของนักการเมืองฝ่ายค้าน แต่จะมุ่งความสนใจไปว่านักการเมืองคนไหนด่ากัน คนไหนด่าใคร ด่าว่าอะไร เพราะคิดว่าเรื่องดราม่าเหล่านี้จะดึงความสนใจของผู้คนได้
การให้พื้นที่สื่อคนที่เห็นต่างทางการเมืองในประเทศไทยนั้นเท่าเทียมกันแล้วหรือยัง?
เรื่องนี้ก็ถกเถียงกันมานานหลายปีและก็ยังคงเป็นความคลุมเครือที่ต่างฝ่ายต่างมองไม่เหมือนกัน ไม่นานมานี้สังคมในโซเชียลมีเดียได้วิพากษ์วิจารณ์คลิปสัมภาษณ์คนคนหนึ่ง บุคคลนี้ได้รับการยืนยันว่าเคยเข้าร่วมการประท้วงขับไล่รัฐบาล เป็นส่วนหนึ่งของม็อบที่ออกมาเรียกร้องให้กองทัพออกมาทำรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
เมื่อคลิปสัมภาษณ์นี้ถูกเผยแพร่ ก็สร้างความสนใจให้กับคนในสังคมได้อย่างไม่ยากเย็น บางคนชื่นชมที่บุคคลนี้ยืนหยัดท่ามกลางเสียงประณามด่าทอ ชื่นชมที่สื่อนำเสนอมุมมองของคนกลุ่มหนึ่งที่มีตัวตนอยู่ในสังคม หลายคนโกรธแค้นบุคคลรายนี้เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยไม่ได้เดินหน้าไปอย่างที่ควรจะเป็น ไม่พอใจที่บุคคลนี้เป็นส่วนหนึ่งของการฉีกรัฐธรรมนูญและทำให้เกิดรัฐบาลเผด็จการ
ตัวสื่อที่สัมภาษณ์บุคคลดังกล่าวก็ได้รับผลกระทบจากความไม่พอใจนี้ ด้วยการต้องรับเสียงคอมเมนต์มหาศาลที่ตั้งคำถามว่า
“ทำไมถึงต้องให้พื้นที่สื่อกับบุคคลนี้”
“สื่อก็มีสิทธิ์เลือกที่จะคุยกับใครก็ได้ แต่สื่อได้คุยกับคนที่ยืนอยู่ตรงข้ามบุคคลนี้บ้างหรือไม่”
“สื่อจะคุยกับทั้งสองฝั่งได้อย่างไร เพราะคนที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามถูกสังหารไปหมดแล้ว พวกเขาเลยไม่มีโอกาสได้มานั่งพูดเรื่องตัวเองแบบนี้บ้าง”
“หรือที่ไม่เอาคนอีกฝั่งมานั่งคุยด้วยเพราะไม่ใช่คนดัง ไม่ใช่คนวงการบันเทิง หรือเพราะชีวิตของคนอีกฝั่งมันสร้างดราม่าได้ไม่มากพอ”
ซึ่งเราสามารถพบเห็นความคิดเห็นทำนองนี้ได้จริงๆ ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่คนไทยนิยมเล่นอย่าง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และติ๊กต่อก
ทั้งหมดนี้เลยเกิดคำถามต่อไปว่า สังคมไทยไม่มีอะไรจะนำเสนอแล้วหรือ เวลาข่าวส่วนใหญ่จึงหมดไปกับการเล่นข่าวความเชื่อ ความแปลก เล่าเรื่องคนแปลกๆ หรือแม้กระทั่งการที่สื่อลงมือสร้างบุคคลและประโคมข่าวเหตุการณ์หนึ่ง จนแหล่งข่าวและเหตุการณ์ที่ว่ากลายเป็นจุดเด่นของสังคม แล้วสื่อที่สร้างเรื่องแบบนี้ขึ้นมาก็จะได้มีวัตถุดิบในการทำงาน กลายเป็นข่าวที่รายงานได้วนไปแบบไม่รู้จบ โดยไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมากมายนักหรือเปล่า
‘สื่อและโลกาภิวัตน์’ ส่วนสำคัญที่ปลดเปลื้อง ‘ความแปลก’ ของสังคม
เมื่อใครก็ได้หรือเรื่องอะไรก็ได้สามารถกลายเป็นที่สนใจของประชาชน ประเด็นนี้จึงล้อไปกับการเปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่ต้องการจะได้รับความสนใจ อยากมีชื่อเสียง หรือต้องการพื้นที่สื่อเพื่ออะไรบางอย่าง เช่น ถ้าได้พื้นที่สื่ออาจทำให้ขายของได้เยอะขึ้น มีคนสนใจจ้างงานมากขึ้น หรือมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นเพราะได้ออกทีวี เหตุผลมากมายนี้ทำให้คนกลุ่มที่ว่าจะต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้เป็นที่สนใจ เป็นที่จับจ้องของสื่อและคนในสังคม
พฤติกรรมการเสพสื่อในช่วง 10-20 ปีก่อน ก็แตกต่างจากปัจจุบันไม่น้อย จากการรับสารเดิมๆ ที่อยู่เพียงแค่ในหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ โลกาภิวัตน์ทำให้ทุกคนสามารถรับรู้ความเป็นไปทั่วโลกได้ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งการเสพสื่อจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่มีระบบอัลกอริทึมคัดกรองได้ว่าผู้ใช้แต่ละรายสนใจเรื่องอะไรบ้าง ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าในสังคมไทยเต็มไปด้วยความหลากหลาย และในความหลากหลายก็ซ่อนความแปลกประหลาดเอาไว้เหมือนกัน
เมื่อผู้เสพสื่อสามารถกลายเป็นสื่อได้เอง แม้จะไม่มีอิทธิพลมากเท่าสถานีโทรทัศน์ เจ้าของรายการข่าว แต่ผู้คนก็มีพื้นที่ให้แสดงบางอย่างแล้วแชร์ให้ผู้อื่นเห็นได้ตลอดเวลา จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นผู้คนแปลกๆ การกระทำแปลกๆ หรือเหตุการณ์ประหลาดๆ ผ่านตาบ่อยขึ้น และผู้สร้างคอนเทนต์จำนวนมากนี้ก็อาจจะมีหลายคนที่ยอมทำตัวแย่ๆ หรือเน้นแปลกสร้างความรำคาญใจไว้ก่อน เพื่อเรียกร้องแบบหวังผลให้ผู้คนหรือสื่อที่ใหญ่กว่า ส่งเสียงได้มากกว่า มามุงดูการกระทำนั้นแล้วเกิดการวิพากษ์วิจารณ์
หลายครั้งจะเห็นว่าการกระทำแปลกๆ การรายงานข่าวความพิลึกของสังคมไทย จะถูกผู้คนวิจารณ์ไปในเชิงลบ บ้างก็แสดงความเบื่อหน่ายกับการที่เห็นข่าวแบบนี้ทุกวันทั้งวัน ไปจนถึงด่าทอสื่อและเนื้อข่าว แต่เมื่อไรก็ตามที่ยังมีคนสนใจ มีคนชอบ มีคนหัวเราะ มีคนเกลียด มีคนรำคาญ เกิดการแสดงความคิดเห็นโต้เถียงกันไปมา สิ่งเหล่านี้ก็ยังสามารถสร้างความบันเทิงแก่คนดู โหมอารมณ์ให้คนดูคล้อยตาม เกิดความรู้สึกสงสัย สนใจ อินจนเข้าเส้น แล้วก็ต้องติดตามต่อไปเรื่อยๆ แบบไม่รู้จบ
ขณะเดียวกัน สื่อเองก็รู้สึกว่าข่าวพวกนี้เล่นง่าย เล่าง่าย ไม่ต้องใช้กระบวนการคิดหรือทำอะไรมาก เล่าวนไปครึ่งชั่วโมงก็มีคนฟัง มียอดไลก์ ยอดแชร์ จำนวนคอมเมนต์ และยอดรีทวีต แล้วแบบนั้นเราจะเหนื่อยเพิ่มไปเพื่ออะไรในเมื่อก็ได้เอนเกจเมนต์ที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว
ข่าวที่หลายคนมองว่าไม่เข้าท่า ก็จะยังคงมีให้เห็นต่อไป เพราะองค์ประกอบทั้งหมดที่ว่ามานั้นเสริมสร้าง ‘เรื่องดราม่า’ ที่สนุกสนานขึ้นกว่าเดิม
มีผู้คนบางส่วนเลือกโต้ตอบการรายงานข่าวที่พวกเขาไม่อยากเห็นด้วยการคอมเมนต์ด่า (ซึ่งก็ให้ยอดกับข่าวนั้นอยู่ดี) และเมื่อเห็นว่าถึงจะด่าไป สื่อหลายเจ้าก็ยังคงเข็นเรื่องที่พวกเขาไม่ต้องการจะเห็นมาให้ดูอยู่ดี ผู้คนไม่น้อยจึงเลือกวิธีใหม่คือการ ‘เมิน’ ข่าวที่คิดว่าไร้สาระ ไม่จำเป็นต่อชีวิต หรือไม่ได้สร้างบางอย่างให้กับสังคม หลีกเลี่ยงการกดไลก์ กดแชร์ รีทวีต หรือคอมเมนต์
ผู้ที่เลือกวิธีเมินข่าวแปลกประหลาดเชื่อว่าหากไม่มีปฏิกิริยาใดๆ กับข่าวนี้ นั่นหมายความว่าพวกเขาจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของการให้แสงให้พื้นที่สื่อแก่ความแปลกเหล่านั้น ตามสูตร ‘เริ่มที่ตัวเองก่อน’ ที่คนไทยชอบสอนชอบใช้กับทุกสถานการณ์
ฐานันดรที่ 4 ในไทย ทำอะไรได้บ้าง?
หลายครั้งหลายหนที่ผู้คนจะเรียกสื่อมวลชนว่าเปรียบเสมือน ‘ฐานันดรที่ 4’ ของสังคม เพราะสื่อมีความสามารถในการนำเสนอข่าวที่มีส่วนชี้นำทิศทางทางการเมืองและสังคม แม้สื่อจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองอย่างเป็นทางการก็ตาม
สื่อสามารถเป็นได้ทั้งกระบอกเสียงของผู้คน กระบอกเสียงของรัฐบาล แฉโจมตีรัฐบาลฉ้อฉล หรือแม้กระทั่งเลือกหยิบจับเหตุการณ์หรือผู้คนแล้วชักนำจัดสรรสังคมให้ไปในทิศทางต่างๆ ได้ไม่มากก็น้อย
ประเด็นนี้ทำให้เกิดความสงสัยใคร่รู้ว่า ตกลงแล้วสื่อในยุคปัจจุบันกำลังนำเสนอสิ่งที่ประชาชน ‘จำเป็นต้องรู้’ ตามที่ควรจะเป็นแล้วหรือไม่ หรือเพียงแค่ว่ากำลังนำเสนอเรื่องราวอะไรก็ได้ แต่เน้นการเล่าทุกวัน วันละหลายครั้งทั้งข่าวเช้า กลางวัน เย็น สร้างความรู้สึกร่วม ความรู้สึกคุ้นเคยผูกพัน เพื่อให้ประชาชน ‘อยากรู้’ เรื่องเหล่านี้มากขึ้นไปเรื่อยๆ แม้สิ่งเหล่านั้นจะไม่ได้จรรโลงใจ หรือมีประโยชน์อะไรเลยแม้แต่น้อย
หากมองนอกจากมุมของประชาชนที่ได้รับสาร ผู้ส่งสารอย่างสื่อสารมวลชนเองก็มีปัญหาในตัวเองอยู่ไม่น้อย เพราะระบบสื่อในประเทศไทยจะเกิดความก้ำกึ่งระหว่างการทำงานคือการรายงานข่าว กับ การสร้างรายได้จากการทำงานซึ่งก็คือข่าว ดังนั้นการวัดยอดส่วนใหญ่จึงผูกติดอยู่กับว่าเรื่องไหนได้รับความสนใจเยอะ ได้ยอดเยอะ ดึงดูดผู้คนและลูกค้าที่จะมาซื้อโฆษณาได้เยอะ แม้เรื่องเหล่านั้นจะไม่ได้สร้างคุณค่าต่อสังคมก็ตาม
นอกจากนี้ ผู้ที่ควบคุมเจ้าของคลื่นความถี่อย่าง กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ที่แม้จะถูกเรียกว่าเป็นองค์กรอิสระ แต่ก็ยังคงดำเนินนโยบายไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน เลยเป็นเรื่องยากที่สื่อน้อยใหญ่จะสามารถรายงานข่าวในเชิงการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ ข่าวการฉ้อฉลทุจริต หรือการทำบทวิเคราะห์เพื่อเชื้อเชิญให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับสื่อในการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างเต็มที่
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพยายามสืบสาวความผิดปกติอะไรบางอย่าง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทุ่มเทพลังกาย พลังใจ ปะติดปะต่อเรื่องราว และใช้เวลาเก็บรายละเอียดควบคู่กับการลงทุนที่ไม่ใช่เงินจำนวนน้อยๆ ที่บางครั้งยอดพิระมิดของธุรกิจสื่อหลายเจ้า ก็ไม่พร้อมจะทุ่มเงินหรือทุ่มเวลาไปกับงานชิ้นเดียวแต่อาจจะให้อะไรบางอย่างแก่สังคมได้มากขนาดนั้น
ไม่มีใครสามารถการันตีได้ว่าประชาชนจะให้ความสนใจกับข่าวดังกล่าว เพราะบางครั้งมันก็เป็นเรื่องที่เครียดเกินไป ไม่สนุก ไม่ดราม่า ไม่เร้าอารมณ์ หรือสังคมเห็นแล้วก็รู้สึกว่า
“สิ่งที่สื่อนำเสนอแม่งจริงว่ะ แต่แล้วอย่างไรต่อ ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าไอนั่นมันเลว เหตุการณ์นี้มันไม่ปกติ และเราก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี”
มิหนำซ้ำหลายครั้งหลายคน สื่อเหล่านั้นที่ทำงานเชิงสืบสวนหรือชำแหละบางอย่างก็จะถูกเชิญไปตักเตือน ถูกแทรกแซงข่มขู่ ทั้งจากรัฐหรือกลุ่มทุนที่มีผลประโยชน์ร่วมแล้วเดือดร้อนกับการทำข่าวดังกล่าว
ยิ่งในห้วงเวลาที่ประเทศไทยถูกควบคุมด้วยเผด็จการ ผู้มีอำนาจสามารถเข้าควบคุมแทรกแซงการดำเนินงานของสื่อแค่ไหนก็ได้ สามารถหาเหตุผลเข้ามาตรวจสอบ ห้ามปราม ตักเตือน หรือหากไม่แทรกแซงแต่ก็การทำการใดๆ คล้าย ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’ เพื่อข่มขู่ เพื่อนเตือนว่าอย่าล้ำเส้น ซึ่งม่านหมอกที่เต็มไปด้วยความอึดอัดนี้ ก็ดูจะปกคลุมไปทั่วประเทศเสียแล้ว
แม้บางคนจะมองว่าทั้งหมดที่ว่ามาเป็นเรื่องเวอร์วัง กล่าวเกินจริง และเพ้อฝัน แต่ในยุคที่เผด็จการครองเมือง เราก็เห็นวิวัฒนาการที่เสื่อมลงของวงการสื่อและการเสพสื่อของมวลชนได้จริงๆ
Tags: การทำข่าว, สื่อ, การเสพสื่อ, ข่าว, ฐานันดรที่ 4, จรรยาบรรณสื่อ, From The Desk, รัฐบาลเผด็จการ, คนดี, dictatorship era, พื้นที่สื่อ, คนแปลก