ค่ำคืนหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ผมนั่งอยู่ตรงระเบียงของโฮสเทลเล็กๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สายตาเหม่อมองเงาสลัวของอาคารบ้านเรือนที่อยู่ฝั่งตรงข้าม แม้ดูสวยงาม แต่กลับรู้สึกเงียบเหงาวังเวงชอบกล
ไม่มีแสงไฟระยิบระยับจากโรงแรมน้อยใหญ่ ไม่มีเรือสำราญที่เคยสร้างสีสันบนสายน้ำ ไม่มีเสียงดนตรีจากผับบาร์ วันนี้ทุกอย่างหายไปหมด เพราะมาตรการล็อกดาวน์กรุงเทพฯ ครั้งที่สอง หลังการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19
รู้กันดีว่า ต้นฤดูหนาวปลายเดือนพฤศจิกายนจรดฤดูร้อนเดือนเมษายนถือเป็นช่วง ‘ไฮซีซัน’ หรือฤดูท่องเที่ยวของไทย จากเดิมตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สนามบิน โรงแรม เกสต์เฮาส์ ร้านอาหาร ถนนคนเดิน ผับบาร์ ยันสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในต่างจังหวัด ล้วนเนืองแน่นคึกคักด้วยชาวต่างชาติ ผู้ประกอบการทั้งหลายใบหน้าสดชื่น ยิ้มแย้มกระฉับกระเฉง เตรียมพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว หลังต้องปิดเงียบมาตลอดหกเดือนในฤดูฝน
ทว่าปี 2563 ที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนแปลงทุกอย่างไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เริ่มจากเดือนมีนาคม เมืองพัทยาออกมายอมรับว่านักท่องเที่ยวหายไปเกือบ 100 % ยอดจองห้องพักตามโรงแรม รีสอร์ทต่างๆ ที่เคยสร้างความอุ่นใจ กลับกลายเป็นอีเมลยกเลิกกะทันหัน วัตถุดิบที่กักตุนไว้ในฤดูไฮซีซันแปรเปลี่ยนเป็นขยะ เมื่อไม่มีแขก รายได้ก็หยุดชะงัก สวนทางกับรายจ่าย ทั้งค่าเช่าที่ เงินเดือนพนักงาน ค่าบำรุงรักษาต่างๆ ที่ยังหมุนไปไม่หยุด
ขนาดรายใหญ่ยังเซ นับประสาอะไรกับรายเล็กรายย่อยที่ล้มระเนระนาด ภาพวอล์กกิ้งสตรีทพัทยาปิดไฟมืด ถนนข้าวสารเงียบเชียบเหมือนป่าช้า ถนนนิมมานเหมินท์เชียงใหม่แทบจะไร้คนเดิน เกาะแก่งอันดามันเหลือเพียงหาดทรายว่างเปล่า ไม่มีชาวต่างชาติให้เห็นสักคน
เหลียวมองรอบตัว เพื่อนที่เป็นเจ้าของเกสต์เฮาส์เล็กๆ ในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งไปได้ดีมาตลอดหลายปี วันนี้ต้องปิดตัวลง หันไปสมัครเป็นลูกจ้างทำงานประจำ เพื่อนอีกคนเป็นมัคคุเทศก์ ใช้ชีวิตอยู่ในยุโรปมากกว่าเมืองไทย วันนี้ปักหลักเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว และยังไม่มั่นใจว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน รุ่นน้องอีกคนลงทุนทำโฮสเทลที่ปายมาสี่ปี และกำลังเริ่มอยู่ตัว กลับล้มละลายในชั่วระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน ต้องขายทุกอย่างทิ้งในราคาขาดทุน ก่อนเก็บสัมภาระจากมาอย่างเสียไม่ได้
ยังไม่นับพี่น้องผองเพื่อนอีกหลายคนที่กรุงเทพฯ ทั้งร้านอาหารและบาร์เบียร์ พอเจอโควิดระลอกแรก บางคนล้มทั้งยืนราวกับโดนหมัดน็อก บางคนยังมีแรงลุก แต่พอเจอระลอกสองช่วงปลายปีก็ยกธงขาวยอมแพ้ บางคนกัดฟันสู้ด้วยความทรหด แบกร่างสะบักสะบอมผ่านระลอกแรกและระลอกสองมาด้วยความหวังริบหรี่ หวังว่าจะกลับมาทรงตัวได้ในยกสุดท้ายช่วงฤดูไฮซีซันนี้ แต่พอเจอระลอกสาม จึงไม่ต่างจากโดนขุดหลุมฝัง
ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่สู้ ไม่ใช่ว่าไม่มีกลยุทธ์ในการปรับตัว ทุกคนทุ่มเทชีวิต แก้เกมสารพัดวิธี ไม่ลงทุนเพิ่ม ขอความร่วมมือลดโอที หั่นราคาค่าห้องพักลงกว่าครึ่ง ออกโปรโมชันลดแลกแจกแถม เปลี่ยนมาเป็นขายอาหารแบบเดลิเวอรี ยอมกู้เงินดอกเบี้ยแพงมาจ่ายเงินเดือนพนักงาน บางคนยื้อไม่ไหว จำใจลดเงินเดือนพนักงาน บางคนถึงกับต้องจ้างออกทั้งน้ำตา สุดท้ายไม่อาจสู้ต่อ ต้องปิดกิจการพร้อมหนี้ก้อนใหญ่ ที่ไม่รู้เมื่อไรจะชดใช้ได้หมด
ในวันที่การฉีดวัคซีนยังล่าช้า การบริหารสถานการณ์โควิด-19 ย่ำแย่ ไม่มีมาตรการเยียวยาด้านเศรษฐกิจแก่ธุรกิจรายย่อยหรือเอสเอ็มอีอย่างตรงจุด แต่กลับละเลงงบประมาณไปอย่างไร้แผนการ ขาดยุทธศาสตร์ ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมประชาชนถึงโกรธแค้นรัฐบาลอย่างชนิดไม่มีวันลืม
ชั่วโมงนี้ นาทีนี้ หลายคนทำได้แค่พยุงตัวเองให้มีชีวิตรอดผ่านพ้นวิกฤตไปให้ได้ ด้วยลมหายใจรวยริน และความสิ้นหวังที่ยังมองไม่เห็นหนทางว่าจะดีขึ้น
ดึกแล้ว ผมยังคงนั่งอยู่ริมระเบียงโฮสเทล เหม่อมองไปในความมืดเบื้องหน้าอย่างไร้จุดหมาย พลางถอนหายใจเป็นครั้งที่เท่าไรไม่รู้ เมื่อนึกถึงอนาคตของประเทศ
แม่น้ำเจ้าพระยายามนี้คล้ายแน่นิ่ง หยุดไหล ไร้ชีวิต
Tags: From The Desk, ธุรกิจท่องเที่ยว, การท่องเที่ยว, ท่องเที่ยวไทย, โควิด