“เราต้องสร้างสวรรค์จากตรงนี้ ตอนนี้ … ไม่ใช่เพียงรอไปถึงที่หมาย” (We have to make heaven here and now … and not just arriving there.)1
บทสนทนาระหว่าง จอร์จ สโตนีย์ ผู้กำกับสารคดีชาวอเมริกัน และเปาโล เฟรเร (Paulo Freire) ผู้เขียนหนังสือ ‘การศึกษาของผู้ถูกกดขี่’2 (Pedagogy of the Oppressed, 1970) หนังสือที่เรียกได้ว่ากลายมาเป็น ‘คัมภีร์’ ไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มนักการศึกษา แต่ขยายกว้างถึงขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือใครก็ตามที่แสวงหาหนทางปลดปล่อยโซ่ตรวนจากการถูกกดขี่ ที่มองในแง่นี้อาจเรียกได้ว่าเกี่ยวข้องกับเราทุกคน ด้วยยากจะมีใครพ้นจากการถูกกดขี่ หรือแม้แต่ตกเป็นผู้กระทำการกดขี่เสียเอง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
บทสนทนาระหว่างสโตนีย์และเฟรเรที่เปิดนำการอบรม ‘การตื่นรู้ของผู้ถูกกดขี่’ ที่วัชรสิทธา3 นำโดย ‘ก๋วย’ – พฤหัส พหลกุลบุตร จากมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) และมหาลัยเถื่อน (หลักสูตรที่กระทรวงศึกษาไม่รับรอง) ชวนถอดทฤษฎีจากหนังสือเล่มนี้ให้กลายมาเป็นการปฏิบัติ เชื่อมการเรียนผ่านตำรามาสู่ประสบการณ์จริง
บทสนทนาระหว่างสโตนีย์และเฟรเรที่ถูกนำมาเปิดห้องเรียนในวันนั้น ไม่เพียงเพื่อให้รู้จักเฟรเรดีขึ้น แต่เพื่อนำไปสู่แนวคิดสำคัญของหนังสือเล่มนี้ ทั้งเรื่องของการเปิดพื้นที่สนทนา, การไม่เพียงพูดหากปฏิบัติจริง, การ ‘สร้างสวรรค์จากตรงนี้ ตอนนี้’ ตลอดจนการแปรความหมายใหม่ของการเคลื่อนไหวทางสังคมอีกมากมาย ที่เฟรเรย้ำชัดว่าเป้าหมายต้องไม่ใช่เพียงปลายทาง
‘วิภาษวิธี’ วิพากษ์ด้วยเสียงจากข้างใน สะเทือนให้ถึงภายนอก
วิภาษวิธี (Dialectics) กระบวนการสร้างพื้นที่สนทนาเปิดกว้าง วิพากษ์ได้ แย้งได้ ถามได้ ความรู้สึกนึกคิดข้างในที่ชัดเจนตามความเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อเพียงความคิดไม่ถูกยัดเยียด เบียดเบียนด้วยคำลวง ข่มขู่ให้เงียบด้วยความกลัวที่ฝังลึก ล่ามตรวนด้วยความเกลียดชัง จนพลั้งเผลอคิดว่านั่นเป็นเสียงที่แท้จริง จนยิ่งส่งต่อเสียงแห่งความเกลียดชัง หรือแม้แต่เงียบเชียบนิ่งเฉยเพราะถูกข่มไว้จนเคยชิน
ในแง่นี้นั้น วิภาษวิธีดูจะไม่ได้เป็นเพียงกระบวนการกลุ่มหรือระหว่างบุคคลเท่านั้น หากยังเป็นการทำงานข้างในแต่ละบุคคลด้วยเช่นกัน การฟังเสียงตนให้ชัดจนรับรู้ได้ถึงอำนาจภายใน (Power Within) ยอมรับในเสียงของตัวเองมากพอจนเปล่งมันออกมาได้ ไม่กลัวที่จะถาม วิพากษ์อำนาจบาตรสูงอีกต่อไป การเข้าถึงอำนาจภายในที่ทำให้เกิดอำนาจร่วม (Power Sharing) กระจายจากตัวเอง โดยไม่ต้องใช้การกดขี่ ข่มเหงแบบเดิมในการได้มาซึ่งอำนาจเพิ่มเติม
วิภาษวิธีที่ถูกเอ่ยถึงในห้องเรียน ‘การตื่นรู้ของผู้ถูกกดขี่’ ณ พื้นที่ชั้นห้าของวัชรสิทธา ที่ปรากฏให้เห็นเต็มตา ณ แยกราชประสงค์ใน #ม็อบ24มีนา เมื่อ ‘มายด์’ – ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล เปล่งเสียงภายในที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วด้วยบทกลอนกล่าวว่า
“มุ่งหมายตามล่าล้าง ดุจมิ ใช่คน
หมายมุ่งปราบมวลชน ลูกหลาน
จบแล้วซึ่งอดทน กดขี่
ทวยราษฎร์เลิกหมอบกราบ หมดสิ้น กษัตรา
เรียนทูลกษัตริย์แก้ว ตรับฟัง
หากยังอยากหยุดยั้ง ก่อนช้า
มิให้ทุกสิ่งพัง พินาศ ดับสูญ
พสกราษฎร์ทั่วหล้า แซ่ซ้อง ยินดี”
‘คำพูดที่แท้ต้องเป็นคำจริง’ ทฤษฎีที่จริงต้องนำไปสู่การกระทำ
วิภาษวิธีไม่ได้เป็นเพียงทฤษฎี และน่าเสียดายยิ่งหากจะลดทอนเรียกว่า ‘เครื่องมือ’ หากนี่คือวิถีปฏิบัติ ตามที่เฟรเรว่า “คำพูดที่แท้ต้องเป็นคำจริง” (praxis) และแนวคิดทฤษฎีจะมีคุณค่าจริงได้ก็ต่อเมื่อถูกนำมาใช้ปฏิบัติเท่านั้น
ประโยคของเฟรเรที่ทำให้หวนนึกถึงครั้งที่ ‘ไผ่’ – จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา มาร่วมพูดคุยผ่านหนังสือเล่มนี้ที่วัชรสิทธาเป็นครั้งแรก หลังต้องโทษจำคุกนาน 2 ปี 5 เดือน ด้วยคดี ม.112 ในหัวข้อการสนทนาที่ชื่อว่า ‘ก้าวข้ามความโกรธเกลียดในใจ’4 (กันยายน 2562) ที่ตั้งต้นจากความสงสัยของใครหลายคนว่าเขารักษาแววตาแห่งความหวังได้อย่างไรในวันที่ต้องรับผิดเพียงเพราะมุ่งมั่นต่อสู้เพื่อเสรีภาพทางความคิด
ในการพูดคุยครั้งนั้นไผ่กล่าวถึงความ ‘อดทนอดกลั้น’ (tolerance) ในความหมายที่ต่างไปจากที่ภาษาไทยจำกัดความ ความอดทนอดกลั้นที่เฟรเรเองก็ย้ำว่านี่อาจเป็น ‘คุณธรรม’ (virtue) สูงสุด คุณธรรมที่ไม่ได้หมายถึงความดีงามตามข้อจำกัดของภาษา หากเป็นความจำเป็นยิ่งที่วิธีการต้องไม่ขัดแย้งกับเป้าประสงค์ การอดทนอดกลั้นที่ไม่ได้แปลว่ายอมจำนน หากเป็นการอดทนอดกลั้นเพื่อ ‘ก้าวข้าม’ ไปสู่สำนึกใหม่ วัฒนธรรมใหม่ ไม่กระโจนรีบโต้ตอบใช้การกดขี่ย้อนกลับเพียงเพราะมันเร็วกว่า เพียงเพราะเราเคยชินกับวิธีการเช่นนั้น เพราะจะไม่มีสิ่งใดแปรเปลี่ยนเลย หากเรายังติดกับดักใช้การกดขี่ ใช้ความเกลียดในการขจัดวัฒนธรรมการกดขี่ให้หมดไป – จากที่มุ่งหมายจะเปลี่ยนแปลง กลับกลายเป็นผู้กดขี่เสียเอง
‘การสร้างสวรรค์จากตรงนี้ ตอนนี้’ เป้าหมายไม่ใช่เพียงปลายทาง
แม้จะพูดถึงการกดขี่ การวิพากษ์ การขับเคลื่อนสังคม แต่ความพิเศษที่เด่นชัดอย่างหนึ่งในงานเฟรเรคือภาษาที่เรียกได้ว่าค่อนไปทาง ‘โรแมนติก’ นอกจากคำว่า ‘สวรรค์’ ในบทสนทนาข้างต้น เฟรเรยังใช้คำว่า ‘ความรัก’ บ่อยครั้งทั้งในงานเขียน และการสื่อสารสาธารณะของเขา เช่นประโยคที่ว่า ‘การศึกษาคือการกระทำของความรัก’ (Education is the act of love) ความรักในความหมายถึงศรัทธาในคุณค่า ศักยภาพความเป็นมนุษย์ จนวัตถุประสงค์เดียวของการศึกษาในมุมมองของเฟรเรนั้นไม่ใช่เพื่ออื่นใดนอกไปจากการปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นเสรี แนวคิดที่ตรงข้ามกับ ‘การศึกษาแบบฝากธนาคาร’ (Banking Education) ที่ออกแบบ วางแผน ยัดเยียดความคิดให้เพื่อสร้างคนเป็นแรงงาน หาใช่มนุษย์ตามธรรมชาติที่แท้
คงเป็นเรื่องน่าเสียดายหากใครจะตีความถ้อยคำ ‘โรแมนติก’ ของเฟรเรว่าเป็นอุดมการณ์นิยม เลื่อนลอยด้วยข้อจำกัดของการแปลภาษา เมื่อทั้งความรักและสวรค์ของเฟรเรนั้นไม่ได้ดื่นดาษอย่างที่เราเข้าใจ สวรรค์ของเฟรเรไม่ใช่สถานที่ไร้ทุกข์ ปลอดโศก ตรงกันข้าม สวรรค์ของเฟรเรดูจะหมายถึงสภาวะที่ผู้คนได้ใช้ชีวิตอย่างเสรี ไม่ถูกกดขี่ ครอบงำจนสูญเสียความเป็นมนุษย์ที่คิดเองได้ รู้สึกเป็น
เฟรเรไม่ปฏิเสธความอลหม่านในการไปสู่ปลายทางของสวรรค์ ดังที่เฟรเรเน้นย้ำเสมอว่า อนาคตไม่สามารถแยกได้จากปัจจุบัน เป้าหมายไม่สามารถแยกขาดจากวิธีการ และหนทางเดียวในการไปสู่ ‘สวรรค์’ ที่ปรารถนานั้นต้องสร้างจากตรงนี้ ตอนนี้เท่านั้น
ไม่ว่ามันจะคือการเคลื่อนไหวด้วยการ ‘เดิน’ หรือ ‘ปักหลัก’ สร้างพื้นที่อย่างเดินทะลุฟ้า และหมู่บ้านทะลุฟ้าที่ยังดำเนินต่อไปตอนนี้ ด้วยความเชื่อว่าหากจะพูดถึงพื้นที่ประชาธิปไตย ขบวนการเคลื่อนไหวต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการให้ผู้ถูกกดขี่ลุกขึ้นมาพูดด้วยเสียงตนเองได้ หากจะพูดถึงการสร้างอำนาจร่วม กระบวนการต้องไปพ้นจากศูนย์กลางให้ได้
หรือแม้กระทั่งการอ่านบทกวีกลางแยกราชประสงค์ใน #ม็อบ24มีนา ที่เมื่อเสียงหนึ่งเปล่งออกมาด้วยความกล้า ซื่อสัตย์ต่อสำนึกที่แท้จริง ชัดถ้อยชัดคำ ชัดเจนว่าจะไม่ยอมถูกกดขี่อีกต่อไป เสียงนั้นจะดังมากพอที่จะทำให้ทุกเสียงเงี่ยหูฟังได้ เสียงนั้นจะดังกังวาลสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อไปแม้กวีจะจบลง และหากแม้ข้อเรียกร้อง เป้าหมายปลายทางยังไม่เกิดขึ้น แต่กระบวนการที่สอดคล้องกับเป้าหมายว่าจะผู้คนจะไม่ยอมถูกกดขี่อีกต่อไป จะพูดออกมาให้ความกลัวสะท้าน จะยืนหยัดต่อความคิดที่เชื่อมั่นแม้อำนาจทำให้สั่นกลัว ในแง่นี้นั้น ‘สวรรค์’ ปลายทางที่มุ่งหวัง ดูจะเกิดขึ้นแล้วในระหว่างการสร้างทางนั่นเอง
การ ‘สร้างสวรรค์’ ด้วยวิภาษวิธี เปิดพื้นที่ให้เกิดการวิพากษ์สนทนาตามความจริง ให้ทุกคนคิดเองได้ ยอมรับเสียงตัวเองเป็น ไม่เงียบ สยบยอมต่อความกลัวที่ปิดความคิดก่อนปากจะได้ปริออกมา
การสร้างสวรรค์ด้วยการอดทนอดกลั้น เชื่อมั่นว่ากำลังอยู่ในหนทาง มองโลกตามจริงว่า ‘สวรรค์’ ไม่ได้สร้างเสร็จในไม่กี่วัน มันอาจเป็นกระบวนการรื้อ สร้าง ถอน สลับวนไปตลอดชั่วภพชาติด้วยซ้ำ การสร้างสวรรค์ด้วยการตื่นรู้แล้วว่า ท้ายที่สุดสวรรค์ที่เราเรียกหาคือสภาวะธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ ที่มีเสรีภาพเป็นรากฐานในการให้คิดได้ รู้สึกเป็น
หากปลายทางสวรรค์เป็นเช่นนั้น ระหว่างทางจึงไม่มีทางอื่นใดได้เลย ไม่สามารถใช้การข่มเหงเพื่อแปรเปลี่ยนสำนึกกดขี่ ไม่สามารถเร่งรีบในสิ่งที่เป็นกระบวนการไม่จบสิ้น ไม่สามารถใช้ความชังในการหวังสร้างความรักได้เลย
อ้างอิง
1Olive, Dave. (2012, July 31). Paulo Freire & George Stoney Church Conversation [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=U8aExMg8foA
2เปาโล เฟรเร. การศึกษาของผู้ถูกกดขี่. ภาคิน นิมมานนรวงศ์, นลัท ตั้งพรพิพัฒน์ และวิจักขณ์ พานิช แปล. กรุงเทพมหาานคร: สำนักพิมพ์ปลากระโดด. 2559.
3ติดตามกิจกรรมอบรมและเสวนาของสถาบันวัชรสิทธาเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/vajrasiddha/
4บทความ “บันทึกบทสนทนา ‘ก้าวข้ามความโกรธเกลียดในใจ’ กับ ไผ่ ดาวดิน” (2019, September 26) จาก https://adaybulletin.com/know-lll-pai-daodin-vajrasiddha/41647
Tags: ม็อบ24มีนา, thepathisthegoal, วัชรสิทธา, Fromthedesk, หมู่บ้านทะลุฟ้า, PedagogyOfTheOppressed, PauloFreire, Vajrasiddha