ในครึ่งปีที่ผ่านมามีหนังหรือซีรีส์เรื่องไหนที่หลังดูจบ คุณกลับหันย้อนมามองถึงตัวเองมากที่สุด 

สำหรับผู้เขียน Blue Giant แอนิเมชันที่ดัดแปลงมาจากมังงะชื่อเดียวกัน ผลงานกำกับของ ยูซุรุ ทาชิคาวะ (Yuzuru Tachikawa) คือหนึ่งในไม่กี่ผลงานในตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ที่ทำให้รู้สึกและตระหนักถึงบางสิ่งภายในตัวที่เปลี่ยนลงไปอย่างช้าๆ

เล่าโดยย่อ แอนิเมชันเรื่องนี้ถ่ายทอดเรื่องราวของ ได มิยาโมโตะ หนุ่มมัธยมปลาย ช่วงเวลาที่ความฝันยังแรงกล้า ผู้มีเป้าหมายอยากเป็นนักดนตรีแจ๊ซ และเป่าแซกโซโฟนได้เก่งที่สุดของโลก จึงเกิดเป็นเรื่องราวของการต่อสู้ ไล่ล่า เพื่อทำให้ความฝันที่ดูเหนือจริงเกิดขึ้นกับตัวเขา

‘มุมานะ พยายาม และมิตรภาพระหว่างผองเพื่อน’ เหล่านี้เป็นแก่นหลักของแอนิเมชันที่หากพูดกันตรงๆ เราต่างได้พบเจอเรื่องราวทำนองนี้ผ่านหนังและแอนิเมชันจากสื่อบันเทิงในญี่ปุ่น (ที่มีจุดแข็งในการบอกเล่าเรื่องราวประเภทนี้) มาโดยตลอด

ทว่าเส้นเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนสนใจใน Blue Giant กลับเป็นชีวิตของ ซาวาเบะ ยูกิโนริ นักเปียโน หนึ่งในสมาชิกวง JASS ของมิยาโมโตะ ตัวเอกของเรื่อง

หากมิยาโมโตะคือตัวละครประเภทสูตรสำเร็จที่ไต่เต้าจาก 0 ไปถึง 100 ชวนให้ผู้ชมติดตามและเอาใจช่วย ยูกิโนริคือขั้วตรงกันข้าม เขาเป็นนักเปียโนพรสวรรค์ที่เก่งกาจมาตั้งแต่จำความได้ ฝีมือของเขาเป็นที่ยอมรับและพูดถึงอยู่ตลอด จนกระทั่งการเข้ามาของมิยาโมโตะที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด

ทำให้ยูกิโนริไม่ได้กลายเป็นคนที่เก่งที่สุดในดนตรีแจ๊ซอีกต่อไป 

แม้ผู้เขียนไม่ใช่นักดนตรีแจ๊ซ หรือเข้าใจหัวอกของนักดนตรีอย่างถึงเลือดถึงเนื้อขนาดนั้น แต่กับภาวะ ‘ไม่ได้เก่งเหมือนเดิมอีกแล้ว’ ผู้เขียนแทบจะเป็นผู้ประสบภัยในเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งแน่นอนว่า ปัจจุบันในหลายๆ เรื่องก็ยังคงเป็นปมที่แก้ไม่หาย ไม่รู้จะไปหาทางออกจากไหน ยังคงเป็นเหมือนวันที่ยูกิโนริถูกผู้จัดการของคลับแจ๊ซชื่อดังในญี่ปุ่นพูดใส่หน้าว่า

“ใช้ไม่ได้ ไม่น่าสนใจ ไม่แปลกใหม่”

ผู้เขียนในฐานะคนผลิตงานสร้างสรรค์ ในวันนี้ 3 คำดังกล่าวกระแทกหัวใจอยู่ไม่น้อย มันรุนแรงจนถึงขั้นต้องไปลองพยายามค้นหาดูว่า ภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นกับตัวเราได้อย่างไร และจะหาทางออกให้กับมันได้อย่างไรบ้าง 

สิ่งหนึ่งที่ต้องเข้าใจก่อนคือคำว่า เก่ง ไม่เก่ง หรือถนัดและไม่ถนัด สุดท้ายแล้วแต่ละคนก็มีฟิลเตอร์หรือกฎเกณฑ์ที่จะใช้กำหนดแตกต่างกันไป ซึ่งแน่นอนว่าฟิลเตอร์ที่จะใช้วัดเส้นแบ่งทั้ง 2 ขั้วได้ชัดเจนที่สุดคือ การเปรียบเทียบกับคนอื่นว่า เธอเก่งกว่าฉัน ฉันเก่งกว่าเธอกันแน่ 

ในมุมนี้ ผู้เขียนเคยได้ลองค้นหาและพยายามหาคำตอบให้กับตัวเอง โดยเปรียบเทียบกับหนึ่งกิจกรรมที่ทำอยู่ตลอดอย่างการปีนผา จนสุดท้ายได้ค้นพบแล้วว่า วิธีการง่ายๆ ที่จะทำให้ตัวเองเลิกเปรียบเทียบได้ คือการมองคนอื่นเป็นพวกเดียวกับเรา และหันมาเริ่มแข่งขันและเปรียบเทียบกับตัวเองจะดีกว่า 

แต่นั่นก็นำมาสู่อีกความท้าทายหนึ่งคือ การแข่งขันกับตัวเอง ที่ในวันนี้ผู้เขียนได้เจอกับตัว 

ปัจจุบันผู้เขียนกำลังประสบปัญหาอาการบาดเจ็บทางร่างกาย จนทำให้การฝึกซ้อมหรือทำกิจกรรมที่มุ่งมั่นตั้งใจอยู่ออกมาไม่ได้ดีเท่าที่ควร จนเกิดอาการ Fear of Missing Out (FOMO) กล่าวคือนอกจากร่างกายที่ถดถอยลงแล้ว ตลอดเวลาที่บาดเจ็บยังเกิดภาวะทางจิตใจที่มักจะคิดแต่เพียงว่า ตัวเองจะไม่ได้เก่ง มีความสามารถ หรือฟิต เท่ากับตัวเองในเมื่อก่อนแล้ว 

หากจะให้หาต้นตอ คงต้องกลับไปตั้งคำถามว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ตัวเองจำเป็นต้องรู้สึกว่า เป็นคนเก่ง จะอ่อนแอ จะถอยหลังไม่ได้อยู่ตลอดเช่นนี้ 

ในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Neuron อธิบายว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรามีอาการเสพติดความสำเร็จอยู่เสมอ คือสิ่งที่เป็นรางวัลของชีวิตอย่าง โดปามีน (Dopmine) ที่ทำให้เรารู้สึกมีความสุข เพราะหากในมุมกลับกัน สารที่เราได้มาตามธรรมชาตินี้เอง ก็เป็นตัวกระตุ้นให้เราต้องค้นหา ความสำเร็จที่มากกว่าเดิมอยู่เสมอ 

ซึ่งหากเมื่อใดที่เราทำไม่ได้ หรือเพียงแค่รู้สึกทำไม่ได้แล้ว โดปามีนที่เคยได้ลิ้มรสอย่างที่เป็นมา เราก็จะไม่ได้สัมผัสมันอีกต่อไป 

ดังนั้นตัวแปรนี้คือเหตุผลที่ทำให้เรายังไล่ล่าความสำเร็จกันอย่างหน้ามืดตามัว ไม่ยอมลดละ หรือปรานีให้กับตัวเองแม้แต่น้อย 

ในท้ายที่สุด แม้เราจะไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติของชีววิทยา ไปอดกลั้นหรือกระตุ้นการหลั่งสารเคมีของร่างกายได้ แต่การได้รู้เท่าทันภาวะทางอารมณ์ของตัวเอง ก็จะเป็นหนึ่งวิธีที่ทำให้เราสามารถเข้าใจและยอมรับ ความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองในวันนี้ได้มากยิ่งขึ้น

Tags: , , , ,