เมื่อช่วงค่ำของกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมขับรถออกมาจากออฟฟิศย่านถนนเพชรบุรี ด้วยความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าและหิวโหย พลิกนาฬิกาข้อมือดูเวลา 21.35 น. แล้ว เหนื่อยก็เหนื่อย หิวก็หิว ใจอยากจะแวะข้างทางหาอะไรกินก่อนกลับบ้าน อาจเป็นบะหมี่ร้อนๆ สักชาม ไม่ก็ข้าวหมูแดงหมูกรอบง่ายๆ สักจาน ก็พลันนึกขึ้นได้ว่า รัฐบาลประกาศให้นั่งกินในร้านอาหารได้ถึงแค่ 21.00 น.
ความคิดปั่นป่วนในสมอง เอาไงดีวะ ไม่แน่ใจว่าหลังสามทุ่มเป็นต้นไป ร้านยังเปิดอยู่ไหม นั่งกินไม่ได้แล้วซื้อกลับบ้านได้หรือเปล่า ที่ผ่านมาได้ยินจากคนรอบตัว รวมทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ว่ามีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่รู้ว่าข้อสรุปของมาตรการคืออย่างไรกันแน่
ความเหน็ดเหนื่อยและสับสนชวนให้หวนนึกถึงข่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศห้ามนั่งรับประทานในร้านตั้งแต่เวลา 19.00-06.00 น. โดยให้ซื้อกลับบ้านเท่านั้น ก่อนที่อีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเปลี่ยนแผนกะทันหัน ด้วยการประกาศอนุญาตให้นั่งกินอาหารในร้านได้ถึง 21.00 น. โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 5 มกราคมเป็นต้นไป
ผลที่ตามมาคือถ้อยคำสาปแช่งของผู้ประกอบการร้านอาหาร ตั้งแต่ภัตตาคารหรูยันรถเข็นริมทางต่างพากันก่นด่าถึงความมั่วซั่ว ไร้การวางแผน สื่อสารคลุมเครือไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต่างได้รับผลกระทบอย่างไม่ทันตั้งตัว
ภาพที่เห็นในคืนนั้น บรรยากาศร้านอาหารริมถนนแนวสตรีทฟู้ดที่เคยเป็นสีสันยามราตรีของกรุงเทพฯ เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ร้านอาหารอีสานเจ้าประจำย่านราชเทวีปิดประตูเงียบสนิท รถเข็นขายบะหมี่เกี๊ยวใกล้โรงแรมเอเชียที่เคยแน่นเอี๊ยดทุกโต๊ะ กลับกลายเป็นภาพเด็กเสิร์ฟกำลังพับเก็บเก้าอี้ เช็ดล้างทำความสะอาดตู้กระจก แผงขายยำที่เคยได้รับความนิยมมีคนมามุงต่อแถวซื้อไม่ขาดสาย บัดนี้มีเพียงเด็กเสิร์ฟนั่งก้มหน้าเล่นมือถือกันไม่พูดไม่จา ตลอดเส้นพระรามสี่ สะพานเหลือง ถนนบรรทัดทอง จนถึงเยาวราช ล้วนแล้วแต่เป็นแหล่งของกินขึ้นชื่อ หลายร้านยังเปิดเรียงราย แต่ก็น้อยจนนับหัวลูกค้าได้
“เต็มไปหมด… โต๊ะนะ เต็มไปหมด แต่คนน่ะไม่มี”
“บางช่วงก็นึกว่าร้านเรานี่มัน ‘ร้านจก โต๊ะเดียว’ หรือเปล่าวะ คือตั้งแต่สองทุ่มมีลูกค้ามากินแค่โต๊ะเดียว”
“คนหายไปหมด ทั้งกลัวโควิด ทั้งไม่รู้ว่ามันเปิดหรือปิด นั่งได้หรือนั่งไม่ได้ แต่เราก็ต้องเปิดให้เต็มเวลาเท่าที่เขาอนุญาต เพราะยังต้องจ่ายค่าเช่าที่ จ่ายค่าแรงลูกน้อง”
สารพัดเสียงบ่นของพ่อค้าแม่ค้าในวันที่หน้าตาหมองหม่น วิตกกังวลกับข่าวการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 สิ้นหวังกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐบาลที่ไม่เคยมาถึง ซึมเศร้ากับอนาคตข้างหน้าที่ไม่รู้ว่าจะ ‘ลาก’ ไปได้อีกนานแค่ไหน
เพื่อนหลายคนที่เป็นเจ้าของกิจการ ทั้งร้านอาหาร ร้านเหล้า สปา ฟิตเนส ยันแผงขายเสื้อผ้าในตลาดนัด หลายคนปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ลดจำนวนที่นั่งเพื่อเว้นระยะห่าง ลงทุนซื้อแผงกั้นพลาสติก เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ และเจลล้างมือ แบกรับความเสี่ยงทุกอย่างเพื่อประคองธุรกิจให้ผ่านมรสุมไปให้ได้ หลายคนปรับแผนใหม่ หันมาขายแบบ take away หรือเน้นขายแบบเดลิเวอรี ทั้งส่งเองในละแวกใกล้เคียง ทั้งผูกกับแอปพลิเคชันเจ้าใหญ่ ยอมให้โขกสับด้วยการหักเปอร์เซ็นต์จนแทบไม่เหลือกำไร แต่อีกหลายคนโชคร้ายกว่า เพราะเป็นธุรกิจที่ถูกสั่งปิดเด็ดขาด ก็ต้องก้มหน้ารับชะตากรรม กัดฟันบอกลูกน้องให้แยกย้ายชั่วคราว ก่อนประกาศปิดร้านอย่างไม่มีกำหนด พร้อมหนี้ก้อนใหญ่ที่รอวันชำระสะสาง
ฟังแล้วหดหู่ ในวันที่กิจการของพ่อค้าแม่ค้าตัวเล็กตัวน้อย ต้องเผชิญกับข้อจำกัดและอุปสรรคมากมาย เหมือนนักมวยที่แบกร่างอันบอบช้ำ ต่อยมาหลายยกโดยที่ไม่มีเสียงระฆังช่วยให้พักหายใจ แต่ยังต้องยืนหยัด ยกการ์ดสูงๆ ท่ามกลางหมัดที่ระดมเข้าใส่ไม่ยั้ง จนสองแขนค่อยๆ ตก ด้วยต้านทานแรงอัดไม่ไหว จำใจทิ้งตัวนอนแผ่หลา พ่ายแพ้ไปในที่สุด
ผมลังเลอยู่นาน ดึกแล้วกลับบ้านไปก็ไม่มีอะไรให้กิน ครั้นอยากจะออกไปสังเกตการณ์ตามที่ต่างๆ ไปนั่งพักผ่อนหลังเลิกงาน นั่งทอดอารมณ์ในร้านประจำก็ทำไม่ได้ ในโมงยามนี้อะไรๆ ก็ดูยากลำบากเหลือเกิน ยับยั้งชั่งใจอยู่นานว่าหรือจะเดินเข้าร้านสะดวกซื้อที่ยังคงเปิดสว่างไสวอย่างไม่สะทกสะท้าน ร้านสะดวกซื้อของนายทุนใหญ่เจ้าเดียวที่สยายปีกคลุมสินค้าอุปโภคบริโภคแทบทุกอย่างในชีวิตประจำวันที่กำลังถูกวิจารณ์เรื่องขายหน้ากากอนามัยแพง เรื่องทุ่มเงินหมื่นล้านซื้อโรงงานผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด โดยมีข่าวว่ารัฐบาลไทยจองคิวเป็นลูกค้ารายแรกๆ
เหนื่อยล้า อ่อนแรง คิดแล้วเจ็บใจ ค่ำคืนที่โควิด-19 กำลังระบาด ชีวิตภายใต้รัฐบาลแห่งชาติที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ทางเลือกของประชาชนอย่างเราๆ มีไม่กี่อย่างจริงๆ
Tags: BANGKOK, COVID-19, Editor's Note, Street food