ในแวดวงการวิ่ง หากเราจะต้องการพัฒนาตัวเอง นอกจากการอัดโปรแกรมฝึกซ้อมให้เข้มข้น เพิ่มทั้งระยะทางและความเร็วอยู่เสมอ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่นักวิ่งต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง คือจำเป็นต้องเพิ่มการฝึกขนาดไหนจึงจะเป็นผลดี ไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย 

เพราะหลายครั้งเรามักจะเห็นอาการเครื่องพัง ร่างกายได้รับบาดเจ็บ หรือมีการพักฟื้นที่ไม่เพียงพอ (Over Trainning) ทำให้แทนที่การลงแรงกายแรงใจกับโปรแกรมซ้อมที่หนักหน่วง จะมอบผลลัพธ์คือการพัฒนาอย่างไปข้างหน้า กลับเป็นต้องมารักษาซ่อมแซมตัวเอง ในอาการบาดเจ็บจากภาวะที่ฝืนเกินไปจนพอดีตัว 

ทำให้กฎ 10% จึงถูกคิดค้นขึ้นมาในแวดวงการวิ่ง 

ในปี 1980 แพทย์หญิงโจน ออเลียต (Joan Ullyot) แพทย์ นักเขียน และนักวิ่งชาวอเมริกัน เขียนถึง ‘กฎ 10%’ ครั้งแรกในหนังสือ Running free: a book for women runners and their friends (1980) หนังสือสำหรับให้เคล็ดลับในการวิ่งแก่นักวิ่งหญิง (โจน ถือเป็นนักวิ่งหญิงผู้เคลื่อนไหว และผลักดันแวดวงนักกีฬาวิ่งหญิงให้ก้าวหน้าในช่วงเวลานั้น) โดยระบุว่า การออกแบบโปรแกรมวิ่งแต่ละสัปดาห์ให้เข้มข้นขึ้นเพียงแค่ 10% จากสัปดาห์ก่อน ก็เพียงพอแล้วสำหรับพัฒนาการที่จะตามว่า ที่สำคัญคือจะลดความเสี่ยงในการเกิดอาการบาดเจ็บ 

หากสัปดาห์ที่แล้ววิ่งไป 10 กิโลเมตร สัปดาห์นี้ก็วิ่งแค่ 11 กิโลเมตรพอ หากสัปดาห์ที่แล้ววิ่งได้แค่ 5 กิโลเมตร สัปดาห์นี้จะวิ่งเพิ่มมากอีกแค่ 500 เมตร ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะภายใต้แนวคิดของกฎ 10% โจนคาดหวังเพียงแค่ว่า นักวิ่งทุกคนจะสามารถมีพัฒนาการได้อย่างเข้มแข็ง ปลอดภัย ไม่มีอากาการบาดเจ็บ 

แม้จะเป็นพัฒนาการอันน้อยนิด แต่นั่นก็หมายถึงพัฒนาการ ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในวิ่งที่สมาทานกฎของแพทย์หญิงคนนี้ในการซ้อมตลอดหลายปีที่ผ่านมา แม้จะบางครั้งจะเข้มข้นจนล้นกว่า 10% หรือบางครั้งก็อัดเพิ่มจากสัปดาห์ก่อนแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่จนถึงวันนี้ ผู้เขียนก็ยังเป็นนักวิ่งที่มีพัฒนาการ เพราะยังยึดถือกฎนี้ เป็นรูปแบบการฝึกซ้อมมาโดยตลอด

แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนเพิ่งตระหนักว่า กฎ 10% กลายเป็นหลักคิดของตัวเอง ในเวลาหมายมั่นจะพัฒนาเรื่องไหนๆ ก็ตาม 

เพราะในชีวิตของมนุษย์ เราไม่ได้มีแค่เรื่องวิ่งให้ต้องพัฒนา หน้าที่การงาน ความสัมพันธ์ การเงิน รวมถึงความก้าวหน้าในชีวิตด้านต่างๆ ก็ถูกคาดหวังว่าจะต้องดี จะต้องเก่งกว่าตัวเองในเมื่อวานอยู่เสมอ ทำให้บ่อยครั้งผู้เขียนต้องนำกฎ 10% มาปรับใช้ในชีวิต

หากเดือนนี้ออมเงินได้ประมาณนี้แล้ว เดือนหน้าลองเพิ่มสัก 10% ดีไหม หากสุดสัปดาห์นี้อ่านหนังสือได้ตั้ง 50 หน้าแล้ว สัปดาห์หน้าขอเพิ่มอีก สัก 5 หน้าไหวไหม 

เชื่อว่าในมุมหนึ่งหลายคนอาจแย้งว่า เรื่องการพัฒนาตน ฉันทำได้ดีกว่าแค่ 10% อีก จะเพิ่ม 15 20 หรือ 50% ก็ยังไหว โดยหลายคนให้เหตุผลว่า ยังมีแรงกาย แรงใจ พร้อมจะลุยได้มากกว่านี้

แต่ชีวิตมนุษย์ก็ไม่ต่างกับการวิ่งระยะไกล หากจะอัดเต็มแรงกันตั้งแต่ 500 เมตรแรก เราจะทำอย่างไรกับ อีก 40 กว่ากิโลเมตรที่เหลือของการแข่งที่เหลือ ดังนั้นหลักใหญ่ใจความสำคัญของกฎ 10% คือความพอดี ที่ทำอย่างไรให้การพัฒนายังเกิดขึ้นในทุกก้าวของชีวิต ไม่รู้สึกหมดไฟ ยอมแพ้กลางทางไปก่อน 

‘การเดินทางสายกลาง’ แม้หลายคนจะได้ยินคำนี้ผ่านหูมาเกือบแทบทั้งชีวิต แต่เรากลับไม่เคยนำมันมาคิดและออกแบบต่อวิธีการใช้ชีวิตเท่าไรนัก จึงทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า อะไรคือทางสายกลาง ที่มันจะไม่มากและไม่น้อยเกินไป สำหรับการใช้ชีวิต 

สุดท้ายแล้วตัวเลข 10% อาจจะไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกคน บางคนอาจจะมากกว่านั้น หรือบางคนอาจจะน้อยกว่านี้ จนเหลือเพียงหลักหน่วย แต่ถ้าหากหมายถึงพัฒนาการที่ยังเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยที่ไม่รู้สึกเค้นหรือโบยตีตัวเองจนเกินไป

ตัวเลขเหล่านั้นก็อาจหมายถึง Pacing หรือจังหวะความเร็วในการใช้ชีวิตให้พัฒนาก้าวหน้าของตัวคุณ

Tags: , , , ,