‘รถไฟ’ เป็นยานพาหนะที่อยู่คู่กับผู้คนมาหลายยุคสมัย แต่เมื่อถึงคราวปลดระวางก็มักถูกจอดทิ้งไว้อย่างโดดเดี่ยวไร้ค่าโดยไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ล่าสุด ประเทศฝรั่งเศสได้ผุดไอเดียคืนชีวิตให้เศษเหล็กด้วยการนำหัวจักรรถไฟและตู้รถไฟเก่ากว่า 400 ตู้ที่ถูกจอดทิ้งไว้นานกว่า 40 ปี มารีไซเคิลอีกครั้ง
รถไฟดังกล่าวถูกจอดทิ้งไว้ในสุสานรถไฟ เมืองรูอ็อง (Rouen) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส มีความยาวกินพื้นที่กว่า 10 กิโลเมตร ทั้งยังสร้างความเสียหายให้แก่คนในท้องถิ่นเป็นเวลาหลายปี โดยเฉพาะพนักงานรถไฟที่รู้สึกปวดใจไม่น้อย เมื่อเห็นตู้รถไฟเหล่านี้จอดอยู่ทิ้งไว้ถึงสี่ทศวรรษ
ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ทาง SNCF หรือบริษัทรถไฟแห่งชาติฝรั่งเศส จึงเลิกใช้วิธีเดิมแล้วหันมารื้อถอนสุสานรถไฟ 10 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นสถานที่จัดเก็บรถไฟเก่าราว 5,000 คัน ให้กลายเป็นแหล่งวัสดุรีไซเคิลแทน พร้อมตั้งเป้าจะรีไซเคิลรถไฟเก่าให้หมดภายในปี 2028
โดยรถไฟเก่าจะถูกส่งไปแยกชิ้นส่วนในโรงงานเพื่อกำจัดวัสดุอันตรายอย่างแร่ใยหินและสารปนเปื้อนออกไป จากนั้นชิ้นส่วนอื่นๆ อีกเกือบ 81 เปอร์เซ็นต์ ทั้งโลหะ ไม้ กระจก ก็จะถูกรีไซเคิลหรือนำกลับไปใช้ใหม่ในการสร้างรถไฟขบวนอื่นๆ เหลือเพียงขยะที่ไม่เป็นอันตราย เช่น เซรามิกเนื้อขาว (Porcelain) เรซิน และเส้นใยแก้วเพียง 6-7% เท่านั้น
ตามรายงานของ Institute for Scrap Recycling Industries(ISRI) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านอุตสาหกรรมรีไซเคิลพบว่า รถไฟหนึ่งขบวนหนึ่งสามารถให้โลหะได้มากถึง 22 ตัน แบ่งเป็น เหล็ก 15 ตัน อลูมิเนียม 6 ตัน และทองแดง 1 ตัน
นอกจากนี้ การรีไซเคิลเหล็กเพียง 1 ตัน ยังสามารถอนุรักษ์แร่เหล็กได้ถึง 1.1 ตัน ถ่านหิน 635 กิโลกรัม และหินปูน 54 กิโลกรัม อีกทั้งการสร้างผลิตภัณฑ์จากเหล็กรีไซเคิลแทนแร่เหล็กบริสุทธิ์ยังใช้พลังงานน้อยลง 70% ใช้น้ำน้อยลง 40% และลดของเสียจากการทำเหมืองได้ถึง 97%
ดังนั้นการนำรถไฟเก่าไปรีไซเคิลจึงให้ผลดีมากกว่าจอดทิ้งไว้เฉยๆ ซึ่งฝรั่งเศสได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า รถไฟสนิมเขรอะที่สภาพควรทุบทิ้ง ก็สามารถรีไซเคิลได้เกือบ 100% เลยทีเดียว
ที่มา:
– https://www.bart.gov/news/articles/2020/news20200903-0
Tags: ฝรั่งเศส, รีไซเคิล, รถไฟ