เราพบฟรองซัวส์ รุสโซ ช่วงกลางเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ในช่วงที่กรุงเทพฯ มีนิทรรศการพิเศษ ‘The Residence @STYLE Bangkok’ แม้จะแต่งกายด้วยชุดและโทนสีดำ แต่ก็เห็นความจัดจ้านอยู่ในทีด้วยสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ เขาบอกกับเราและคนที่ได้เข้าชมงานในวันนั้นว่า “คุณดูสิ ฝีมือของคนไทยงดงามเทียบเท่าตะวันตกเลยนะ วางผสมผสานกันได้โดยที่เราไม่รู้สึกแตกต่างเลย”
‘The Residence @STYLE Bangkok’ เป็นนิทรรศการที่จัดแสดงผลงานของนักออกแบบชาวไทยและนักออกแบบระดับสากล รวมถึงศิลปินและแบรนด์ต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์แนวคิดด้านไลฟ์สไตล์ในห้องจัดแสดงที่นำเอาผลงานของศิลปินและนักออกแบบชาวไทยมาวางเคียงคู่กับผลงานของศิลปินตะวันตกที่ได้รับการยอมรับในชื่อเสียงและผลงานอยู่แล้ว รุสโซซึ่งเป็นผู้ออกแบบนิทรรศการชุดนั้นเผยมุมมองสำทับว่า “เราสามารถภาคภูมิใจในผลงานฝีมือชาวไทยได้ จากการจัดแสดงนี้ ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ไม่มีช่องว่างระหว่างงานของไทยกับงานออกแบบคลาสสิกและงานศิลปะจากยุโรปอีกต่อไป”
ถึงตอนนี้ คุณคงสงสัยว่า ฟรองซัวส์ รุสโซ คือใคร ทำไมเราจึงควรลองฟังความคิดก่อนจะเห็นคล้อยตามสายตาของเขา เรามาเริ่มต้นทำความรู้จักกับเขา ก่อนที่จะฟังมุมมองของเขาที่มีต่องานออกแบบและงานฝีมือของช่างชาวไทย
อดีตของชายผู้อยู่เบื้องหลังสไตล์ของแบรนด์ดัง
ฟรองซัวส์ รุสโซ เป็นชาวฝรั่งเศสโดยกำเนิด เขาเกิดและเติบโตในครอบครัวที่ค่อนข้างหัวโบราณ ที่มองว่าการเรียนศิลปะและดีไซน์ไม่ใช่อนาคตที่สดใส บิดามารดาของเขาต่างเป็นด็อกเตอร์ด้านฟิสิกส์นิวเคลียร์ทั้งคู่ แม้จะมีใจรักด้านศิลปะ แต่เขาต้องยอมอยู่กับความน่าเบื่อตลอดหกปีที่ร่ำเรียนวิชาด้านการบริหารธุรกิจที่ Ecole des Hautes Etudes Commerciales แต่เมื่อเป็นหน้าที่แล้ว เขาบอกว่า “แม้จะไม่ชอบก็ตาม คุณก็ต้องทำให้มันเสร็จ”
อย่างน้อย หกปีที่ยาวนานนั้นก็ช่วยยืนยันกับเขาได้ดีว่าตัวเองไม่ชอบเรื่องธุรกิจ เมื่อเรียนจบเขาได้เริ่มทำงานที่ Cartier โดยเขาได้ก่อตั้ง Cartier’s Institut Supérieur de Marketing du Luxe (ISML) เอาไว้ด้วย ต่อมาก็ได้ทำงานกับบริษัทโฆษณาซึ่งเป็นประตูที่พาเขาเข้าสู่โลกของสไตล์และงานดีไซน์ ด้วยสายงานครีเอทีฟทำให้เขาได้มีโอกาสช่วยลูกค้าออกแบบสินค้า ทำแคตตาล็อก ตกแต่งร้าน จนทำให้ได้รู้จักกับรีนา ดูมาส์ สถาปนิกและเจ้าของบริษัทอินทีเรียร์ชื่อดังที่ออกแบบร้านของแอร์เมสทั่วโลก และเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานอินทีเรียร์ดีไซน์ครั้งแรกของเขา ก่อนที่จะออกมาเปิดดีไซน์สตูดิโอของตัวเองในเวลาต่อมา โดยเน้นงานสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์เป็นหลัก
ปี 2003 รุสโซร่วมมือกับนักออกแบบระดับตำนาน อังเดร พุตแมน ในตำแหน่งประธานร่วมในบริษัทของเธอ ซึ่งโปรเจ็กต์ที่ทำส่วนใหญ่จะเป็นการนำสไตล์ต่างๆ มาผสมผสานกับดีเอ็นเอของแบรนด์ลูกค้าเพื่อถ่ายทอดเป็นสิ่งใหม่ ทั้งคู่ทำงานร่วมกันในโปรเจ็กต์ระดับโลก อาทิ การออกแบบบูติกโฮเทล งานออกแบบร้านของแบรนด์หรูอย่าง LVMH, L’Oreal งานออกแบบบ้านพักส่วนตัว สำนักงานใหญ่ของบริษัทชั้นนำอย่าง Novartis งานเฟอร์นิเจอร์แบรนด์หรู ตลอดหลายต่อหลายแบรนด์ จนถึงงานออกแบบผลิตภัณฑ์และคอลเล็กชันมากมาย ทั้งของ Christofle, Mont-Blanc, Chivas และ Louis Vuitton
ในปี 2005 รุสโซ ได้รับเลือกให้เป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบให้กับเครื่องสำอาง Chanel และใน ปี 2007 เขาออกแบบเก้าอี้ที่ระลึก ฌาคส์ แอลเลอ ให้กับบริษัทเฟอร์นิเจอร์ชั้นนำของอิตาลีอย่าง Poltrona Frau เพื่อเป็นเกียรติแก่ ฌาคส์ แอลเลอ เพื่อนของเขาซึ่งเป็นครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ ของน้ำหอม เครื่องประดับ และนาฬิกาข้อมือ Chanel มานานกว่า 50 ปี
ความคิดที่จะทำแบรนด์ของตัวเองเกิดขึ้นเมื่อเขาอายุ 40 เป็นขวบปีที่ว่ากันว่า ‘เป็นการเริ่มต้น (อีกครั้ง) ของชีวิต’ แต่แทนที่เขาจะเลือกเอาฝรั่งเศสเป็นฐานของการเริ่มต้นครั้งใหม่ เขากลับเลือกเมืองไทย และสร้างแบรนด์ ‘เมซง ทาคุยะ – Maison Takuya’ ที่เขาประกาศอย่างภาคภูมิอยู่เสมอมาว่า “นี่เป็นแบรนด์ไทย ที่ทำโดยคนไทย”
ดีเอ็นเอแบบไทยๆ
ปัจจุบันรุสโซพำนักอยู่ในเมืองไทย เขามีบ้านอยู่ในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ซึ่งที่เชียงใหม่นั้นเป็นทั้งบ้านและโรงงานผลิตเครื่องหนังแบรนด์ ‘เมซง ทาคุยะ’ ที่เปิดตัวเมื่อปี 2008 ปัจจุบันเป็นสินค้าที่วางเทียบคู่กับแบรนด์ไฮเอนด์ระดับโลกในร้านคลับ 21 ภายใต้ป้ายแสดงแหล่งที่มาว่า ‘Made in Thailand’ จากฝีมือช่างคนไทย
“ผมมาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อสิบสองปีก่อน เป็นช่วงที่ผมรู้สึกถึงสัญญาณของความไม่สู้ดีในยุโรป บรรยากาศตึงเครียด ผู้คนเริ่มแตกแยกและทะเลาะกันเอง ซึ่งทุกคนก็คงเห็นแล้วว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับยุโรปในตอนนี้บ้าง ตอนนั้นผมอยากสร้างแบรนด์หรูๆ ของตัวเองสักแบรนด์หนึ่ง หลังจากที่ทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์และสร้างชื่อสร้างพื้นที่ให้กับหลายๆ แบรนด์ในตลาดมาแล้ว เพื่อนของผมคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องประดับแนะนำให้ผมไปเริ่มต้นที่บาหลี แต่ผมดันแวะมากรุงเทพฯ เสียก่อน แล้วก็เกิดตกหลุมรักที่นี่โดยที่ยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับประเทศนี้เลย”
รุสโซบอกว่าเขาตกหลุมรักสีสันและความเงียบสงบของวัดวาอาราม ชอบสีหน้าท่าทางและอารมณ์ของผู้คนบนท้องถนน ซึ่งแตกต่างไปจากผู้คนในบ้านเกิดเมืองนอนของเขา เมื่ออยู่เมืองไทยได้สี่ห้าเดือน เขาได้มีโอกาสไปชมโรงงานจีเวลรีชั้นสูงที่ส่งออกให้แบรนด์ดังทั่วโลก ผลิตโดยช่างคนไทยที่ได้เรียนเทคนิคจากช่างยุโรป จึงเกิดความคิดว่า หากคนไทยทำงานจีเวลรีได้ละเอียดขนาดนี้ เขาก็ต้องทำเครื่องหนังที่นี่ได้เหมือนกัน
“มันน่าภูมิใจมากที่เราเป็นแบรนด์แรกที่พิสูจน์ตัวเองได้ว่า กระเป๋าที่ผลิตในประเทศไทย กลายเป็นตัวเลือกของคนระดับสูงในญี่ปุ่นที่ปกติแล้วเขาจะเลือกแต่แอร์เมสเท่านั้น นั่นเป็นรางวัลสำหรับการทำแบรนด์ของเรา”
ชื่อ ‘เมซง ทาคุยะ’ มาจากเมซง ที่แปลว่าบ้าน ในภาษาฝรั่งเศส ส่วนทาคุยะเป็นชื่อที่เขาตั้งเพื่อให้เกียรติกับช่างฝีมือชาวญี่ปุ่นที่มาสอนงานให้กับช่างชาวไทย และชื่อนี้มีความหมายว่ายอดเยี่ยมในเชิงช่าง ครั้งหนึ่งที่แบรนด์ของเขาได้รับรางวัล The best leather item in Japan มีหนังสือที่ตีพิมพ์เกี่ยวกับแบรนด์ส่งเรื่องกลับมาให้เขาตรวจทาน โดยใส่ธงชาติญี่ปุ่นไว้ข้างแบรนด์ เขาแจ้งกลับไปว่าต้องใส่ธงประเทศไทย แต่ทางหนังสือก็ต่อรองว่าขอใส่ธงชาติฝรั่งเศสแทน เพราะธงไทยอาจไม่เหมาะกับการเป็นลักชัวรี่แบรนด์ รุสโซยื่นคำขาดว่าหากไม่ใส่ธงไทย ก็เอาชื่อแบรนด์ของเขาออกจากหนังสือเล่มนี้เสีย
รุสโซยืนยันว่าแบรนด์ของเขาเป็นแบรนด์ไทย เขาเริ่มต้นทำแบรนด์นี้กับผู้ช่วยและช่างไทยสองคน ใช้เวลาสองปีในการฝึกฝนฝีมือช่างไทยอีกนับสิบคน โรงงานของเขาอยู่ในเชียงใหม่ และสินค้าของเขา ‘เมด อิน ไทยแลนด์’ เขาบอกอีกว่า ช่างไทยมีความสามารถในการทำงานด้วยมือ และเรียนรู้ได้เร็วหากมีต้นแบบให้ดู ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดี
“ผมเคยเป็นที่ปรึกษาพิเศษให้กับกรมส่งเสริมการส่งออก ในงาน Thailand’s Gems and Jewelry Industry ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมอัญมณีไทยออกสู่ตลาดโลก ตอนนั้นผมวางคอนเซ็ปต์งานให้เป็น Thailand Magic Hands และงานนั้นทำให้เราเห็นว่าดีเอ็นเอในการทำงานของคนไทย ได้รับการสืบทอดและดัดแปลงมาจากงานแกะสลักในวัด การถักทอ การตกแต่งด้วยฝีมือที่ละเอียดอ่อน จนนำไปสู่คุณภาพที่ยอดเยี่ยมของการผลิตจิเวลรี และงานนั้นทำให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยเป็นที่จดจำและได้รับการพูดถึงมาจนทุกวันนี้โดย ความงดงามของจีเวลรีไม่ต้องถูกแอบซ่อนเอาไว้อีกต่อไป มันเป็นการบอกว่าถึงเวลาแล้วที่แบรนด์ไทยจะเดินหน้าไปสู่ระดับโลก มีมูลค่าในตัวเองด้วยการแปะป้าย ‘Made in Thailand’ และลบภาพลักษณ์ของการเป็นประเทศที่ผลิตของเลียนแบบเสียที”
ทัดเทียมในความต่าง
ล่าสุด รุสโซร่วมงานกับกรมส่งเสริมการส่งออกอีกครั้ง ในนิทรรศการพิเศษ ‘The Residence @STYLE Bangkok’ เขาได้รับโจทย์มาว่า จะมีวิธีไหนที่จะแสดงถึงความก้าวหน้าของแบรนด์ไทยว่าทัดเทียมคู่แข่งในตะวันตกได้ รุสโซเลือกออกแบบนิทรรศการให้เป็นที่พักอาศัย แล้วนำผลงานของนักออกแบบและศิลปินทั้งไทยและต่างชาติมาผสมผสานกัน โดยที่ผู้ชมงานจะไม่จำเป็นต้องรู้ว่า งานแต่ละชิ้นเป็นการออกแบบของใคร
“ไลฟ์สไตล์คือคีย์หลักของทั้งหมด ศิลปะและงานออกแบบที่สร้างขึ้นมา แม้กระทั่งขั้นตอนการพัฒนาการของมนุษย์ที่ดำเนินต่อกันมานับพันๆ ปี มันก็คือความพยายามในการออกแบบเพื่อตอบสนองคุณภาพการใช้ชีวิต งานดีไซน์ต่างจากศิลปะตรงที่ไม่ได้ดูล้ำลึกแต่เน้นประโยชน์ใช้สอย ด้วยแนวคิดว่าจะทำให้ชีวิตในแต่ละวันดีขึ้นได้อย่างไร
“เดอะเรสซิเดนซ์เป็นบ้านที่ผมจินตนาการว่าเป็นบ้านในฝันของผม เป็นบ้านที่ตกแต่งด้วยของที่มีความแตกต่าง และสร้างจุดร่วมระหว่างความคลาสสิกและความโมเดิร์น เช่น งานของ Eileen GRAY ที่วางอยู่ข้างงานออกแบบของรัฐ เปลี่ยนสุข ภาพวาดของ MURAKAMI กับงานผลงานชิ้นมาสเตอร์พีช ของ คามิน เลิศชัยประเสริฐ และผลก็ออกมาชัดเจนว่า ผลงานของนักออกแบบไทยหรือศิลปินไทย อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับงานออกแบบของนักออกแบบชาวตะวันตก ขณะเดียวกันก็มีดีเอ็นเอของความเป็นไทยอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งแตกต่างจากสิบปีที่แล้ว ข้อดีนี้ต้องยกให้การเปิดรับที่กว้างขึ้นด้วยการมีโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นประโยชน์มาก และทำให้งานออกแบบไทยไปถึงระดับโลกแล้ว” อดีตนักออกแบบผู้คร่ำหวอดอยู่เบื้องหลังแบรนด์ดังระดับโลก และครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์แห่งเมซง ทาคุยะกล่าว
ดูเหมือนว่ารุสโซจะให้ความสำคัญกับคำว่า ‘ดีเอ็นเอ’ ก็คำว่าดีเอ็นเอนี้เองที่ทำให้เขาได้รับโอกาสในการตกแต่งแกลเลอรีให้กับน้ำหอม Guerlain ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้ร่วมงานกับ LMVH และอังเดร พุตแมน ครั้งยังอยู่ฝรั่งเศส เช่นเดียวกับที่เขาพูดถึงดีเอ็นเอที่มีอยู่ในช่างฝีมือคนไทย
“คนไทยมีพรสวรรค์ในการจับคู่สี มีทักษะอันน่ามหัศจรรย์ในการทำงานฝีมือ และมีความสามารถในการเลียนแบบ ความสามารถเหล่านี้มีอยู่ในดีเอ็นเอ และยังมีเรื่องของความขยันอดทนซึ่งมีอยู่ในจิตวิญญาณเป็นพื้นฐาน แต่อย่างไรก็ตาม ในการออกแบบไม่จำเป็นต้องแสดงอัตลักษณ์หรือศิลปะของไทยอย่างชัดเจนอยู่ในนั้น เพราะถ้าแสดงออกมาอย่างชัดเจนงานนั้นจะดูน่าเบื่อทันที และถือว่าเป็นความผิดพลาดอย่างสิ้นเชิงหากนำเสนออย่างเด่นชัดจนเกินไป
“นานมาแล้วที่แบรนด์ไทยถูกจำกัดการรับรู้อยู่ในฐานะเป็นของที่ระลึกของนักท่องเที่ยว แต่ตอนนี้พวกเขาสามารถซื้อแบรนด์ไทยที่มีความร่วมสมัยและมีสไตล์ได้มากขึ้น ของที่ระลึกที่ซื้อกลับไปไม่ใช่อะไรที่ต้องเป็นรูปช้างหรือมะขามอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นของที่พวกเขาสามารถซื้อไปวางประดับในบ้านได้ เป็นของตกแต่งได้ เหมือนที่คุณซื้อของฝากจากอิตาลีก็ไม่ใช่อะไรที่เป็นที่ระลึกของซากปรักหักพังของโรมัน หรือซื้อของดีไซน์ฝรั่งเศสที่ไม่ใช่ผ้าพันคอพิมพ์ลายหอไอเฟลนั่นแหละ
“สิ่งที่ยังขาดอยู่ในตอนนี้สำหรับการสร้างแบรนด์ คือการนำแบรนด์เข้าสู่ตลาดในระดับสากล การขายและการกระจายสินค้า รวมไปถึงความชัดเจนในการวางโพสิชั่นของแบรนด์ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะสร้าง หากคุณมีแนวคิดที่แข็งแรงซึ่งฝังรากอยู่ในดีเอ็นเอของคุณอยู่แล้ว กรมส่งเสริมการส่งออกเองก็ได้ทำงานเกี่ยวกับการสนับสนุนแบรนด์ใหม่ๆ ออกสู่ต่างประเทศมาแล้วมากมาย หรือการลงทุนในภาคเอกชนเองก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยพัฒนาแบรนด์ต่อไปได้”
Tags: ฟรองซัวส์ รุสโซ, Maison Takuya, Francois Russo